วันศุกร์, ธันวาคม 28, 2561

อนาคตประเทศไทย จะฟัง "ป๋าเปรม" หรือฟังเสียง ประชาชน : "ป๋าเปรม" พูดกับ "ลุงตู่" ถึงการวางตัวเป็น "นายกรัฐมนตรี" เมื่อมีฝ่ายค้าน! vs 24 กุมภาพันธ์ อำนาจอยู่ในมือพี่น้องประชาชน!




https://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/748164488893117/

...

พล.อ. เปรมขอให้นายกฯ ทำเป็นตัวอย่าง ในด้าน "เห็นต่างอย่างเป็นมิตร"

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำคณะรัฐมนตรี และผู้นำเหล่าทัพ เข้าอวยพรและขอรับพรเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่แด่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษที่บ้านสี่เสาเทเวศร์

พล.อ.เปรมอวยพรต่อนายกฯ ว่า "ขอให้นายกฯ จำคำนี้ไว้ว่า จะเห็นต่างกับฝ่ายค้านก็โอเค เพราะเห็นต่างกันอยู่แล้ว แต่ต้องเห็นต่างกันอย่างมิตร ผมอยาก ให้นายกฯทำเป็นตัวอย่างว่า ถึงผมเห็นต่างกับคุณ ผมก็เป็นเพื่อนกับคุณ คงจะทำให้ทุกอย่างราบรื่น ขอฝากนายกฯ อาจจะจำไปใช้ตามที่ผมพูดก็ได้ เพราะผมเคยใช้มาแล้วได้ผลดีมาก ทั้งนี้ขอชมเชยนายกฯ ที่บริหารประเทศมาด้วยความโลดโผน และความมุ่งมั่นที่ทำให้ชาติบ้านเมืองของเรามีความสงบสุข คนไทยจะได้หายยากจนไปบ้าง เป็นการกระทำที่ได้บุญ ได้กุศล และเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำประเทศ"

พล.อ.เปรม กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามทุกคนอยากให้คนไทยมีความสุข รวมถึงนายก ฯ ก็ต้องการให้คนไทยมีความสุข จึงขอให้ทำให้คนไทยมีความสุข อย่างน้อยให้มีเงินพอใช้สอย ซึ่งนายกฯ กำลังทำอยู่และเชื่อว่าจะได้ผลพอสมควร ขอให้นายก ฯ และทุกคนมีความสุข มีอายุยืนยาวตลอดไป อีกทั้งขอให้บริหารประเทศด้วยความเป็นมิตรและด้วยความรักคนไทยทำอยู่ขณะนี้ จึงขอให้ประสบความสำเร็จและปรากฎต่อสายตาคนไทยและชาวต่างประเทศตลอด

การเข้าพบครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด สื่อมวลชนที่เข้ามาทำข่าวภายในบ้านสี่เสาเทเวศร์ถูกตรวจเป็นรายบุคคลอย่างละเอียด

ก่อนที่นายกฯ และคณะจะเดินทางมาถึงนายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหว ได้เดินทางมา ที่บริเวณด้านข้างบ้านสี่เสาเทเวศร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำของขวัญมาให้พล.อ.ประวิตร โดยได้มีการกางโปสเตอร์ปฏิทินปี 2562 ที่มีรูปของพล.อ.ประวิตร พร้อมนาฬิกาหรู เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน.สามเสน มาควบคุมตัวนายเอกชัยไว้ ไม่ให้เข้ามาบริเวณด้านหน้าบ้านพัก ก่อนเชิญตัวเข้าไปพูดคุยที่ สน.สามเสน


บีบีซีไทย - BBC Thai

ooo

24 กุมภาพันธ์ อำนาจอยู่ในมือพี่น้องประชาชน ....

ที่มา FB
Phumtham Wechayachai


5 ความล้มเหลว กับ 4ปีกว่าของรัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือก

เวลา 4 ปีกว่า นับตั้งแต่การรัฐประหาร

เป็น 4 ปีแห่งความล้มเหลวที่รัฐบาลจากรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ มิหนำซ้ำยังทำให้ประชาชนและประเทศต้องสูญเสียโอกาส ล้าหลังกว่าประเทศอื่น

ความล้มเหลวนั้นประกอบด้วย

1. ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

การบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางการคลังของประเทศในระยะยาว รัฐทุ่มเทงบประมาณอย่างไม่เหมาะสมเป็นเงินจำนวนมหาศาล จนทำให้เกิดภาวะงบประมาณขาดดุลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันมาก นับเป็นการใช้เงินเกินตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาล คสช. ใช้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีเดียว เท่ากับยอดเงินฯ ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยถึง 2ปีงบประมาณ คือ ปี 2556 รวมกับปี 2557

รัฐบาล คสช. ยังมีแนวโน้มใช้เงินเกินตัวมากขึ้นทุกๆ ปี อย่างก้าวกระโดดจนน่าตกใจ ซึ่งต่างจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่สามารถบริหารให้การขาดดุลงบประมาณลดลงทุกปีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เป็นรัฐบาล หากรัฐบาล คสช.ปล่อยให้แนวโน้มการใช้จ่ายเช่นนี้ดำเนินต่อไป วินัยทางการคลังของประเทศย่อมได้รับความกระทบกระเทือน

ถึงแม้รัฐบาล คสช. จะใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล แต่ผลที่ได้ต่อระบบเศรษฐกิจกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจไทยในยุค คสช. เติบโตในอัตราที่ต่ำมากอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับท้ายๆ ในอาเซียนในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไป

ด้วยแนวคิด ทัศนะ และนโยบายของรัฐที่ส่งผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีอำนาจผูกขาดทางการตลาดของสินค้า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใหญ่ ทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ กำลังซื้อภาคประชาชนลดลง ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ผู้มีรายได้น้อยถูกทิ้งขว้างตามยถากรรม เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ได้รับการแก้ไข เงินที่รัฐบาลใส่ลงในระบบไม่เกิดการใช้จ่าย เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นในรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

2.ความล้มเหลวในการปฏิรูปการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย

จากที่เคยประกาศว่าจะปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง แต่กลับมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ถอยหลังประชาธิปไตยไปไกล ทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง

นับแต่รัฐประหาร เป็นต้นมา ประเทศต้องอยู่ภายใต้ประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน การแสดงออกทางความคิดเห็นถูกปิดกั้น รวมทั้งวางกลไกที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอก ซึ่งประชาชนไม่ได้เลือกเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งไม่มีประเทศใดเคยใช้มาก่อน วางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจโดยให้วุฒิสภามีอำนาจออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. การคงอำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ไว้เพื่อให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจพิเศษเหนือองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังการกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้บังคับเป็นเวลาถึง 20 ปี เป็นการพันธนาการประเทศและประชาชนไว้กับแนวคิดของ คสช.

3.ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น

การปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ เพียงเพื่อสร้างภาพ คสช. และเป็นเครื่องมือของรัฐบาล และ คสช. ที่จะใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อคนในรัฐบาลถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต เช่น กรณีอุทยานราชภักดิ์ กรณีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ตั้งบริษัทในค่ายทหาร นำเงินราชการลับไปใส่ในบัญชีภรรยา แม้แต่กรณีนาฬิกาหรู ของรองนายกรัฐมนตรี กลับมีการปกป้องพวกพ้องอย่างเห็นได้ชัด ละเลยที่จะดำเนินการ ขณะที่ผู้ร้องเรียนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ บางคนถูกดำเนินคดี ส่วนองค์กรตรวจสอบต่างๆ ก็มุ่งช่วยเหลือปกปิด หรือทำให้ล่าช้า และสุดท้ายก็เงียบหายไป ภาพความล้มเหลวที่ชัดเจนคือผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเกี่ยวกับดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทย (CSI) เดือนธันวาคม 2560 พบว่า สถานการณ์คอรัปชั่นเพิ่มมากขึ้น ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอรัปชั่นของประเทศไทย (CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ปรับตัวในทิศทางตกต่ำลง เมื่อเทียบกับห้วงเวลาก่อนการรัฐประหาร

4.ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชน

นับแต่รัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีอย่างต่อเนื่อง การออกคำสั่งให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหาและไม่ต้องมีหมายของศาล เรียกบุคคลที่เห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์ ไปปรับทัศนคติ ดำเนินคดีกับบุคคลที่เรียกร้องให้ตรวจสอบการทุจริต หรือเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง มีคำสั่งให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร จำกัดและริดรอนสิทธิ เสรีภาพในการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางเฟสบุ๊คของบุคคล เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนในการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ใช้กฎหมายและคำสั่งที่ตนเองออกใช้บังคับเพื่อเป็นเครื่องมือในทางการเมือง

5.ล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

จากที่รับปากต่อประชาชนว่าจะเข้ามาชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหา และจะอยู่ไม่นาน แต่กลับอยู่ยาวถึง 4 ปี และมีแนวโน้มจะมุ่งสืบทอดอำนาจต่อไป โดยยกตนว่าเป็นคนดี ด่าว่า และกล่าวร้ายนักการเมือง และปฏิเสธว่าตนไม่ใช่นักการเมือง แต่สุดท้ายมายอมรับว่าตนเป็นนักการเมือง และยังไปชักชวนนักการเมืองมาร่วมรัฐบาล เพื่อพยุงอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อไป ประกาศว่าจะคืนประชาธิปไตยใน 15 เดือน แต่ผ่านมา 48 เดือน ประชาธิปไตยยังมืดมน ทั้งๆ ที่ได้ประกาศต่อสาธารณชน และรับปากต่อผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อนั้นเมื่อนี้ แต่สุดท้ายก็เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วถึง 4 ครั้ง การกระทำและพฤติการณ์ส่อว่าได้เสพติดอำนาจ และวางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป เริ่มตั้งแต่การวางกลไกในรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี และที่มาและอำนาจของ ส.ว. การทุ่มเทงบประมาณเพื่อนโยบายต่างๆ ที่มีลักษณะหวังผลทางการเมือง ล่าสุดมีการดูดนักการเมืองจากค่ายต่างๆ เพื่อมาร่วมงานกับตนเอง อันแตกต่างจากการประกาศครั้งแรก เมื่อเข้ามายึดอำนาจ

โดยสรุปแล้วสิ่งที่ คสช. และรัฐบาลทำในช่วง 4 ปี คือ การใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด การทำทุกวิถีทางเพื่อการสืบทอดอำนาจ คสช.ต้องการสร้างรัฐเผด็จการโดยใช้ระบบราชการเป็นกลไก ทำให้กลไกภาคประชาชนและพรรคการเมืองอ่อนแอ ใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และการแต่งตั้งคนในองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เพื่อปกป้องและเอื้อต่อตนเอง

ดังนั้น 4 ปีของ คสช. คือ การนำประเทศไปสู่อนาคตที่มืดมน และสิ้นหวัง จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องช่วยกันนำระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนมา และไม่ยอมให้เผด็จการทำลายประชาธิปไตยอีกต่อไป

24 กุมภาพันธ์ อำนาจอยู่ในมือพี่น้องประชาชน ....

-ภูมิธรรม เวชยชัย-
27 ธันวาคม 2561


Phumtham Wechayachai


เรื่องเกี่ยวข้อง...




ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ หม่อมอุ๋ย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เขียนบทความเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ Thaipublica ระบุถึง 8 เหตุผลที่ตนไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย โดยเหตุผลทั้ง 8 ข้อดังกล่าวได้แก่
.
1. ช่วง 3 ปีหลัง รัฐบาลขาดวินัยการคลังตลอดเวลา
2. พล.อ.ประยุทธ์และพวก ใช้กลเม็ดกฎหมาย พยายามจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งหากตั้งได้สำเร็จ อาจทำให้กิจการน้ำมันของประเทศถดถอย
3. รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินนโยบายต่างประเทศเอาใจจีนมากเกินไป ไม่มีการถ่วงดุลกับมหาอำนาจอื่น และอาจทำให้ไทยมีปัญหาได้ในอนาคต
4. 4 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ทำให้เห็นว่าทหารมีอภิสิทธิ์เหนือพลเรือน
5. พล.อ.ประยุทธ์สนิทสนมใกล้ชิดกับนายทุนบางรายเกินไป
6. พล.อ.ประยุทธ์ไม่กล้าตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะกลัวเสียคะแนนนิยม
7. ปีหน้าจะมีการจัดประชุม ASEAN ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ คนไทยอาจต้องอับอาย ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมครั้งนี้
8. พล.อ.ประยุทธ์มักพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เยาวชน
.
อ่านบทความเรื่อง “8 เหตุผลที่ผมไม่ต้องการให้ พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีก” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่นี่ https://goo.gl/ahjK7w
ooo