วันศุกร์, ธันวาคม 21, 2561

คสช. มรึงคิดอะไรอยู่... ป่าเป็นของพ่องมึงเหรอ ถึงตัดแจกง่ายๆ - รัฐบาลใจป้ำสุดๆ จ่อเฉือนป่าอนุรักษ์ 5.9 ล้านไร่แจกประชาชนเป็นของขวัญปีใหม่




รัฐบาลใจป้ำสุดๆจ่อเฉือนป่าอนุรักษ์ 5.9 ล้านไร่แจกปชช.เป็นของขวัญปีใหม่ ขีดเส้นอยู่ก่อนมติครม. 66/2557 ของคสช.ไฟเขียวให้อยู่ต่อได้ คาดทำกฎหมายเสร็จภายในรัฐบาลนี้ ด้านมูลนิธิสืบฯ เห็นดีด้วยเชื่อแค่ 5.9ล้านไร่ไม่กระทบป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 80 ล้านไร่

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายอดิศร นุชดำรงค์ รองปลัดทส. พร้อมด้วยนางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตัวแทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินภายใต้นโยบายของ คทช.





นางรวีวรรณ กล่าวว่า คทช.ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 884 พื้นที่ 70 จังหวัด เนื้อที่ 1.3 ล้านไร่ โดยปัจจุบันได้ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 140 พื้นที่ ใน 57 จังหวัด รวมเนื้อที่ 4 แสนกว่าไร่ และจัดคนลงพื้นที่จำนวน 52,362 ราย 66,733 แปลง นับว่าดำเนินการไปแล้วร้อยละ 15.84 ของพื้นที่เป้าหมาย โดย คทช.ได้ดำเนินการภายใต้กรอบการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาที่ดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ การส่งเสริมในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อให้ชุมชนได้มีรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน มีการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น

นางรวีวรรณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 26 พฤศจิกายน 2561 ได้เห็นชอบในหลักการพื้นที่เป้าหมาย และกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย และทํากินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท ตามที่ทส. เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งในการดําเนินงานดังกล่าวราษฎรถือครองในเขตพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท จะได้รับการตรวจสอบและรับรองการอยู่อาศัย หรือทำกินในพื้นที่ป่าไม้อย่างถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายและมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง

เลขาธิการสผ. กล่าวว่า โดย คทช.ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย จำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3,4,5 ก่อน มติครม. 30 มิถุนยายน 2541 กลุ่มที่ 2 ชุมชนในเขตป่าสงวนฯ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3,4,5 หลัง มติครม. 30 มิถุนยายน 2541 และต้องปฏิบัติตามคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 กลุ่มที่ 3 ชุมชนในเขตป่าสงวนฯ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ก่อน มติครม. 30 มิถุนยายน 2541 และชุมชนในเขตป่าสงวนฯ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 หลัง มติครม. 30 มิถุนยายน 2541 และต้องปฏิบัติตามคําสั่งคสช. ที่ 66/2557 กลุ่มที่ 4 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ก่อน และ หลัง มติครม. 30 มิถุนยายน 2541 และกลุ่มที่ 5 ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน ประกอบด้วย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เมืองและสิ่งก่อสร้างถาวร

นางรวีวรรณ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาความกังวลว่าจะมีการเปลี่ยนมือจากชาวบ้านสู่นายทุนหรือผู้มีอิทธิพลเหมือนอดีตที่ผ่านมา คทช.มีการป้องกันการเปลี่ยนมือโดยมีการระบุเป็นแปลงย่อยว่าใครทำกินอยู่ในส่วนพื้นที่ไหนไว้อย่างชัดเจน มีสมุดพกเป็นหลักฐานเพื่อสามารถอาศัยและทำกินตกทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งในการส่งเสริมให้มีการปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเป็นการรักษาหน้าดินอีกด้วย

“แนวทางของคทช. ไม่ได้ส่งเสริมให้คนเข้ามาอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องการแก้ปัญหาและต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับระบบนิเวศ และรักษาป่าเดิมไว้ ไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติมอีก ซึ่งคทช. มีความชัดเจนในการจำกัดเนื้อที่ป่า และต้องอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าภายในเงื่อนไขที่รัฐได้กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้คนอยู่ในป่าได้อย่างถูกกฎหมาย เราจึงจำเป็นต้องปลดล็อกกฎหมายบางตัว เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เรื่องพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นต้น ถือเป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ ไม่ต้องระแวงว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจับกุมฐานรุกป่าอีก ” เลขาธิการ สผ. กล่าว

ด้านนายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินและชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานฯ กล่าวว่า จากการสำรวจภาพถ่ายดาวเทียมในปี 2557 ทราบว่ามีราษฎรครอบครองที่ดินก่อนมติครม. 30 มิถุนยายน 2541 จำนวน 3.6 ล้านไร่ และครอบครองหลังมติ ครม. 30 มิถุนยายน 2541 อีก 2.3 ล้านไร่ รวมเป็น 5.9 ล้านไร่ ซึ่งตามมติครม. 26 พฤศจิกายน 2561 ได้เห็นชอบในแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทํากินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท ซึ่งจะมีการแก้กฎหมายพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพื่ออนุญาตให้ราษฎรอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูลธรรมชาติภายในป่าอนุรักษ์ได้เป็นครั้งแรกของประเทศ

นายวีระยุทธ กล่าวต่อว่า โดยกรมอุทยานฯ มีหลักการจัดการที่ดินที่ชัดเจน ซึ่งชุมชนที่จะได้รับการพิจารณาต้องเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม ไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลภายนอก มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินและยอมรับร่วมกัน ซึ่งจะให้เป็นสิทธิทำกินไม่ได้ให้เอกสารสิทธิแต่อย่างใด ส่วนชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เปราะบางทางธรรมชาติ หรือพื้นที่ล่อแหลมถูกคุกคาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาภาคเหนือ กรมอุทยานฯ ต้องดูว่าการทำกินแบบเดิมกระทบต่อระบบนิเวศหรือไม่ หากมีผลกระทบต้องให้ชุมชนปรับตัวในเรื่องทำกิน การปลูกพืชต่างๆ หรืออาจต้องย้ายลงมาไม่ให้กระทบกับพื้นที่เปราะบาง ให้อยู่ได้เท่าที่จำเป็น ที่สำคัญต้องอยู่อาศัยและทำกินภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องพิจารณาตามความเหมาะสมในพื้นที่และชุมชนนั้นๆ ทั้งนี้จากการสำรวจพื้นที่ที่มีราษฎรครอบครองที่ดินหรือมีร่องรอยการอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนจำนวน 5.9 ล้านไร่ พบว่าในปัจจุบันบางพื้นที่ถูกแผ้วถางเป็นพื้นที่รกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็ต้องขอคืนให้รัฐ อย่างไรก็ตามในการแก้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมติ ครม. 26 พฤศจิกายน 2561 จะแล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้





ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ต่อเนื่องจากความล้มเหลวของมติ ครม.30 มิถุนยายน 2541 ซึ่งในตอนนั้นรัฐให้ใช้ที่ดินโดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน การสำรวจตัวเลขก็ไม่มีความสมบูรณ์ทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน แต่นโยบายนี้เป็นนโยบายที่มีขอบเขตการใช้พื้นที่ชัดเจนระหว่างชุมชนและพื้นที่ป่าที่ต้องอนุรักษ์ซึ่งข้อมูลมีความละเอียดมากในแต่ละพื้นที่ ซึ่งตนได้เห็นบางส่วนแล้วและคิดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปีหน้า จึงคิดว่าเป็นโยบายที่ดีและสนับสนุน ทั้งนี้จัดสรรที่ทำกินภายใต้คำสั่ง คสช.ที่ 66 /2557 ถือว่าทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน นักสิทธิมนุษยชน นักอนุรักษ์ และชาวบ้านเห็นพ้องกันว่าเหมาะสม เพราะคงไม่สารถย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ป่าได้ แต่จะทำอย่างไรให้อยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน และไม่ทำลายป่า ตนมองว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 5.9 ล้านไร่ที่นำไปเข้าโครงการ เมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 80 ล้านไร่ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก