Thai dictator Prayut Chan-ocha is on the cover of @TheEconomist magazine’s prestigious #WorldIn2019 publication.— Andrew MacGregor Marshall (@zenjournalist) December 20, 2018
Unfortunately for him, he is depicted as a Pinocchio mask, because of his repeated lies. 🤣 pic.twitter.com/Vjbwy7Dt1B
โลกปี2019 นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ ชี้ฝ่ายประชาธิปไตยหวนรุก
ข่าวสดออนไลน์
20 ธันวาคม 2561
โลกปี2019 – นิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ สื่อมวลชนอังกฤษชื่อดังด้านวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ เผยแพร่ฉบับพิเศษ “เดอะ เวิลด์ อิน 2019” หรือ โลกในปี 2562 หน้าปกเป็นภาพวาดลายเส้นเลียนแบบผลงานภาพวาดกายวิภาค วิทรูเวียนแมน – The Vitruvian Man ของลีโอนาร์โด ดาวินชี ในวาระครบรอบชาตกาล 500 ปีของยอดจิตรกรเอกและนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีท่านนี้ เพื่อสะท้อนบุคคลและเหตุการณ์สำคัญของโลก
ภาพลายเส้นดังกล่าว นอกจากมีใบหน้า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา นายวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสซียแล้ว ยังมีภาพ แพนด้า พีน็อกคิโอ กัญชา และการส่งยานไปดวงจันทร์ เพื่อประกอบบทวิเคราะห์ในเล่มด้วย

เนื้อหาในเล่มที่เกี่ยวข้องกับภาพดังกล่าว เป็นบทวิเคราะห์โดย เอ็ดเวิร์ด แม็กไบรด์ บ.ก.ดิ อีโคโนมิสต์ เอเชีย หัวข้อ Democracy bounces back หรือ ประชาธิปไตยฟื้นคืน มองภาพรวมของประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชีย ว่าหลังจากเผด็จการหรือผู้นำอำนาจนิยมเป็นฝ่ายรุก ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยถอยไปตั้งรับมานาน ปี 2562 ถึงเวลาที่ฝ่ายอำนาจนิยมต้องกลับไปตั้งรับบ้าง
ภาพประกอบของบทความนี้เป็นรูปพีน็อกคิโอ พร้อมคำบรรยายว่า Thai Elections: true or false? เพื่อสะท้อนที่การเลือกตั้งของไทยที่เลื่อนมาหลายครั้งหลายหน หลังจากเหล่าทหารปกครองมานาน 5 ปี จนถึงปี 2562 ก็ยอมให้มีการเลือกตั้งในที่สุด

บทวิเคราะห์ระบุว่า แม้ว่าการเลือกตั้งจะเต็มไปด้วยจุดบกพร่องมากมาย เพราะเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มุ่งตัดกำลังผู้สมัครที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับความคาดหมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.จะอยู่ในอำนาจต่อไป แต่เหล่านายพลจำเป็นต้องรับมือกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ดี ดังนั้นจึงยากที่จะหลบเลี่ยงประชาธิปไตย
สำหรับประเทศอื่นๆ ที่มีชื่ออยู่ในบทความนี้ ได้แก่ อินเดียและอินโดนีเซีย ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย จะมีการเลือกตั้ง สองชาตินี้รวมกันมีประชากรเป็นอันดับที่ห้าของโลก ดังนั้นคะแนนเสียงของคนสองประเทศนี้จะแสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตย แม้่จะไม่ใช่ในสภาพสมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยก็ยังคงมีอยู่ และมีพัฒนาการอยู่ทั้งสองประเทศ
ด้านปากีสถาน ที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งที่กองทัพสนับสนุนให้นายอิมราน ข่าน ชนะไปเมื่อเดือนสิงหาคม กองทัพจะต้องประหลาดใจว่าความตึงเครียดกับรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อนายข่านต้องการแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ใช่หุ่นเชิด นอกจากนี้ชาวปัชตุนที่เลือกเขามาเริ่มโกรธแค้นที่ถูกกองทัพละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามมาตรการต่อต้านผู้ก่อการร้าย
ชะตาเดียวกันนี้จะเกิดกับผู้บัญชาการกองทัพของฟิลิปปินส์ ที่นายร็อดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งอยู่ และจะผ่านเส้นทางบริหารครึ่งทางจากวาระ 6 ปี ในเดือนมิถุนายน 2562 เขาจะพบว่าการชักจูงให้สมาชิกสภาเห็นชอบด้วยเป็นเรื่องยากขึ้น และการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะคว้าน้ำเหลว
ด้านบังกลาเทศและกัมพูชา หลังจากฝ่ายอำนาจนิยมกวาดล้างผู้วิพากษ์วิจารณ์จนเหี้ยน เพื่อให้มั่นใจว่าชนะเลือกตั้ง การกดขี่นั้นจะลดดีกรีลง นางชีก ฮาสินา และ นายฮุน เซน ผู้นำของสองประเทศนี้จะไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องอีก และทั้งสองต้องคอยลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศที่มีต่อรัฐบาลของตนเอง จึงอาจมีเรื่องเขย่าหัวใจที่จะได้เห็นนักการเมืองที่ต้องขังบางคนได้ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวัน
อย่างไรก็ตาม คงจะไม่มีข่าวดีไปเสียทั้งหมด สำหรับชาวโรฮิงยาที่หนีตายจากพม่าไปยังบังกลาเทศ มาตลอดปี คงไม่มีสถานการณ์บรรเทาได้
และสำหรับผู้ที่คิดถึงการเจรจาต่อรองอาวุธนิวเคลียร์กับอเมริกา ไม่มีใครในเกาหลีเหนือที่โง่พอจะลงคะแนนต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ในการเลือกตั้งจัดฉากในปี 2562 การทำร้ายประชาชนคนธรรมดาของเกาหลีเหนือจึงจะดำเนินต่อไปโดยไม่ลดน้อยลง