มติ ป.ป.ช. เรื่องนาฬิกา ที่น่าอับอาย
29 ธันวาคม 2561
โดย อานนท์ มาเม้า คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
สำนักข่าวอิศรา
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 ตัดสินว่า ไม่มีมูลที่จะดำเนินการกับพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ
ผมได้อ่านเอกสารข่าวสำนักงาน ป.ป.ช. และติดตามข้อมูลจากสื่อมวลชน ตลอดจากการตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตลอดแล้ว พบว่า มติ ป.ป.ช. ดังกล่าวมีปัญหาใหญ่ 3 ประการ ได้แก่ 1. ปัญหาการไม่ตั้งประเด็นชี้มูลให้ถูกต้อง 2. ปัญหาการอ้างหลักกฎหมายทรัพย์สินที่ผิดอย่างร้ายแรง และ 3. ปัญหาการกล่าวอ้างเรื่องที่ไม่เป็นประเด็น
1. ปัญหาการไม่ตั้งประเด็นชี้มูลให้ถูกต้อง
หากว่ากันอย่างตรงไปตรงมา กรณีนี้คือการพิจารณาว่าพลเอกประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็รู้อยู่ ถึงขนาดตัดสินดังปรากฏในท่อนท้ายการแถลงข่าวว่า “ไม่มีมูลเพียงพอ” ว่าพลเอกประวิตรมีพฤติการณ์ดังกล่าว
แต่ทว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ตั้งประเด็นและวินิจฉัยตามประเด็นดังกล่าวเลย หากแต่พร่ำพรรณนาในข้อเท็จจริงว่า พลเอกประวิตรยืมนาฬิกาจากเพื่อนจริงหรือไม่ แล้วก็สรุปว่ายืมจริง เมื่อสรุปว่ายืมจริง ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของพลเอกประวิตร จากนั้นก็ลงท้ายตัดสินว่า ไม่มีมูลเพียงพอว่าจงใจยื่นบัญชีฯ เท็จ
นั่นแสดงให้เห็นถึงการไม่ตั้งประเด็นให้ถูกต้อง
เมื่อหลักกฎหมายที่เป็นประเด็นต้องชี้มูลมีอยู่ว่า พลเอกประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่ เพราะฉะนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีหน้าที่กำหนดประเด็นในข้อกล่าวหาเรื่องนาฬิกาไปตามลำดับ ดังนี้ว่า (1) นาฬิกาที่อยู่ในการครอบครองของพลเอกประวิตรเป็นสิ่งที่ต้องระบุในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่
ถ้านาฬิกาใช่สิ่งที่พลเอกประวิตรมีหน้าที่ต้องแสดงในบัญชี ดังนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไป คือ (2) พลเอกประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่
แต่เราก็ไม่พบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งประเด็นตามลำดับในหลักกฎหมายเลย
สำหรับประเด็นแรกที่ว่า นาฬิกาที่อยู่ในการครอบครองของพลเอกประวิตรเป็นสิ่งที่ต้องระบุในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก้าวข้ามประเด็นนี้ แล้วไปวินิจฉัยว่า เมื่อยืมก็ไม่มีมูล ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการชี้มูลที่ตื้นเขินมาก
เพราะแม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. “เชื่อว่าพลเอกประวิตรยืมจริง” ก็ยังไม่ทำให้พลเอกประวิตรพ้นหน้าที่ที่จะต้องระบุนาฬิกาดังกล่าวในบัญชี กล่าวคือ นาฬิกาในกรณีนี้ แม้ “ยืม” มา ก็ยังคงเป็น “สิ่งที่ต้องแสดงในบัญชี”
ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องแสดง “ทรัพย์สิน” และ “หนี้สิน” และนาฬิกาที่แม้ยืมมา ก็ยังคงเป็น “ทรัพย์สิน” ของพลเอกประวิตร และ “หนี้สิน” ของพลเอกประวิตรไปพร้อมกัน
ในมุมของการที่นาฬิกาซึ่งยืมมาเป็น “ทรัพย์สิน” นั้น อธิบายในทางกฎหมายได้ดังนี้ว่า ทรัพย์สินมีนิยามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 ซึ่ง “สิทธิครอบครอง” จัดอยู่ในนิยามของการเป็นทรัพย์สินด้วย ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการเป็น “ทรัพย์สินของพลเอกประวิตร” จึงไม่ใช่แค่สิ่งที่เป็น “กรรมสิทธิ์” ของพลเอกประวิตรเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงสิทธิอื่น ๆ ที่มีสถานะเป็นทรัพย์สินด้วย ซึ่งรวมทั้ง “สิทธิครอบครอง”
เมื่อนาฬิกาอยู่ในการครอบครองของพลเอกประวิตรจากการที่ยืมมา พลเอกประวิตรจึงมีสิทธิครอบครองในนาฬิกาซึ่งถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของพลเอกประวิตร ที่ต้องระบุในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยโดยไม่อาจปฏิเสธได้
เพราะฉะนั้น ต่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เชื่อว่า นาฬิกาไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของพลเอกประวิตร แต่ก็หนี้ไม่พ้นในฐานะเป็นสิทธิครอบครองซึ่งก็ยังเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ยังอยู่กับพลเอกประวิตร
หรือหากจะมองในมุมเรื่อง “หนี้สิน” ก็ยังไม่หลุดอีก เนื่องจากแม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเชื่อว่า พลเอกประวิตรยืมนาฬิกาจากเพื่อนมาจริง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็คงจะลืมไปเสียแล้วว่า นาฬิกาดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็น “หนี้สิน” ของพลเอกประวิตรอยู่เสมอ เพราะ “การยืม” ทำให้เกิด “หนี้สิน” โดยเป็นหนี้สินของผู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ดังปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ หนี้ที่บุคคลซึ่งเป็นผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้ยืม
ด้วยเหตุดังกล่าว นาฬิกาที่ยืมมาจึงเป็น “หนี้สิน” ด้วยอยู่ในตัว อันเป็น “สิ่งที่ต้องแสดงในบัญชี”
ทั้งหมดดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ตั้งประเด็นไว้เลยสักนิด ได้แต่พร่ำพรรณาหมกมุ่นอยู่กับการเป็นของยืมเพื่อน แล้วก็พาออกทะเล ไปลงมติสรุปประเด็นโดยไม่ได้ตั้งประเด็นอย่างที่พึงต้องกระทำ
จากที่ได้อธิบายมา สรุปว่า แท้จริงแล้วนาฬิกาที่ยืมมาเป็นสิ่งที่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่แสดง ย่อมเป็นการไม่ยื่นบัญชีฯ ที่ถูกต้อง ซึ่งย่อมต้องพิจารณาในประเด็นถัดไปว่า พลเอกประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่
ต่อประเด็นนี้ ผมเห็นว่า พลเอกประวิตรใช้นาฬิกาดังกล่าวอยู่ในความเป็นจริงทั้งเป็นของมีมูลค่าสูงมากสะดุดตาสะดุดใจ จะไม่รู้ว่ามีสิ่งดังกล่าวเป็นทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงได้อย่างไร
หากจะอ้างว่าลืม ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยโดยสำนึกแบบมาตรฐานวิญญูชนหรือคนทั่วไปที่มีเหตุมีผล
แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่พบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้จัดเรียงประเด็นตามลำดับดังที่กล่าวมาทั้งหมดแต่อย่างใดเลย ซึ่งทำให้หลักกฎหมายที่เป็นประเด็นต้องชี้มูล ถูกละเลยไป
2. ปัญหาการอ้างหลักกฎหมายทรัพย์สินที่ผิดอย่างร้ายแรง
ความตอนหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อธิบายว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือเพื่อตน แล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็รวบรัดว่า จึงต้องด้วยบทสันนิษฐานว่าเพื่อนพลเอกประวิตรเป็นเจ้าของนาฬิกา
ผมในฐานะผู้สอนกฎหมายทรัพย์สิน นอกจากกฎหมาย ป.ป.ช. อ่านความตอนนี้แล้ว ก็ถึงกับหดหู่ใจมาก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องความรู้พื้นฐานทางกฎหมายทรัพย์สิน
ต่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ต้องรู้ทฤษฎีเรื่องสิทธิครอบครอง (possession) กับเรื่องกรรมสิทธิ์ (ownership) เพียงแค่อ่านหนังสือในตัวบทออก ก็ไม่ควรเลยเถิดว่ามาตรา 1369 ให้สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าของ เพราะตัวบทใช้คำว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน” ไม่ได้บัญญัติว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์”
ขอเรียนให้ความรู้ว่า มาตรา 1369 ดังกล่าวให้สันนิษฐานว่ามี “เจตนา”ยึดถือเพื่อตน เพื่อประกอบกับการ “ยืดถือ” อันทำให้ครบองค์ประกอบของการมี “สิทธิครอบครอง” ทั้งนี้ เพราะในทางทฤษฎี สิทธิครอบครองต้องมีครบ 2 องค์ประกอบดังกล่าว โดยในทางทฤษฎีเรียกองค์ประกอบเป็นภาษาละตินว่า corpus (ยึดถือ) กับ animus (เจตนายึดถือเพื่อตน) แต่หลักกฎหมายนี้ไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ประการใด เป็นคนละเรื่องกันเลย หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เหลือบดูหัวหมวดของมาตรา 1369 สักนิดก็จะเห็นว่าเป็นหมวดว่าด้วยสิทธิครอบครอง ไม่ใช่หมวดว่าด้วยกรรมสิทธิ์นอกจากการเข้าใจผิดในหลักกฎหมายดังกล่าวอย่างร้ายแรงแล้ว การปรับข้อเท็จจริงกับตัวบทมาตรา 1369 ก็มีปัญหา ข้อเท็จจริงตามข่าว นาฬิกาอยู่ในการยึดถือของพลเอกประวิตร เพราะฉะนั้น พลเอกประวิตรต่างหากที่จะถูกปรับเข้าตัวบทมาตรา 1369 ว่าเมื่อยึดถือจึงถูกสันนิษฐานว่ามีเจตนายึดถือเพื่อตน แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กลับปรับบทประหนึ่งว่าเพื่อนพลเอกประวิตรเป็นผู้ยึดถือแต่เพียงคนเดียว จึงปรับผลทางกฎหมายในมาตราดังกล่าว (แบบผิด ๆ ไปให้สันนิษฐานเป็นเจ้าของ) โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เหมือนหลับตาไม่เห็นว่าพลเอกประวิตรยืดถือใส่ออกงานต่าง ๆ อยู่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่เพื่อนพลเอกประวิตรตาย คนตายจะยึดถือทรัพย์สินแล้วถูกปรับเข้าตัวบทมาตราดังกล่าวได้อย่างไร นี่เป็นการปรับบทของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ดูแล้วสับสนอย่างยิ่ง
จากที่เห็น ผมเชื่อว่า นักศึกษาปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ น่าจะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมาตรา 1369 ดังกล่าว ดีกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.
3. ปัญหาการกล่าวอ้างเรื่องที่ไม่เป็นประเด็น
ตอนท้ายของมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีประโยคแพลมขึ้นมาว่า เพื่อนพลเอกประวิตรไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม ซึ่งไม่ได้เป็นข้อความที่เกี่ยวกับประเด็นในการชี้มูลแต่อย่างใดเลย ที่ประชาชนอยากรู้คือ พลเอกประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่ และนี่ต่างหากคือประเด็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องตั้งหลักให้มั่นในการทำหน้าที่ ไม่ใช่เลี้ยวออกไปกล่าวถึงเรื่องอื่น ประชาชนไม่ได้อยากรู้ว่าเพื่อนพลเอกประวิตรผุดผ่องหรือไม่
ผมคิดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องไปเรียนรู้เรื่องจับประเด็นเสียใหม่
เหตุที่ผมจั่วหัวว่า มติ ป.ป.ช. นี้ น่าอับอาย เพราะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 คน ที่มีชื่อว่า นายปรีชา เลิศกมลมาศ นายณรงค์ รัฐอมฤต นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ทำให้เกิดมติที่มีปัญหาใหญ่ 3 เรื่องดังที่กล่าวมา
ปัญหาใหญ่ทั้ง 3 สะท้อนศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชื่อว่า “องค์กรอิสระ” เพราะทำให้เห็นว่า
1. ไม่มีศักยภาพในการตั้งประเด็นชี้มูลให้ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การไต่สวนข้อเท็จจริงและปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องกับเรื่องที่ต้องชี้มูลด้วย จึงทำให้ยากที่จะฝากความหวังในการทำหน้าที่ และทำให้ประชาชนอาจไม่เชื่อว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจะสำเร็จผลได้อย่างถูกต้องเป็นธรรมได้ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้
2. ไม่มีแม้กระทั่งความรู้พื้นฐานทางกฎหมายในเรื่องที่ตนพยายามแสดงให้ปรากฏ เป็นเรื่องที่น่าอดสูในภูมิความรู้ที่มี
3. ไม่มีความสามารถที่จะอยู่ในประเด็นที่เป็นหัวใจของเรื่อง แต่กล่าวนอกเรื่องนอกราว ทั้งที่การจับประเด็นเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนทำงานเกี่ยวกับกฎหมายต้องมีโดยปฏิเสธไม่ได้ การไร้ศักยภาพซึ่งสะท้อนให้เห็นจากมติ ป.ป.ช. ครั้งนี้ ทำให้รู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเสียดายภาษีอากรจากประชาชนทั้งหลายที่ต้องเสียไปเป็นเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทน เสียดายที่ประเทศเรามีรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ถูกร่างอย่างเข้มข้นและโฆษณาสาธยายในคุณสมบัติเสียเหลือเกิน แต่ก็มาตกม้าตายที่คนใช้กฎหมายที่มีอำนาจกฎหมายอยู่ในมือ
เมื่อวาน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาพูดหลังมีการวิพากษ์วิจารณ์มติดังกล่าวว่า เวลาจะพิสูจน์การทำงาน ป.ป.ช.
ผมอยากถามว่า พิสูจน์อะไร
เอาเข้าจริงระยะเวลาในการตรวจสอบเรื่องนาฬิกาที่เสียไปพร้อมกับทรัพยากรของรัฐในระหว่างการตรวจสอบ ทั้งผลมติที่ชี้มูลมา ย่อมพิสูจน์แล้วในสายตาประชาชน มองไปยังอนาคตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพวกท่าน เกรงว่าอยู่ไปก็เป็นภาระและหายนะ ที่ทำลายความหวังของคนในชาติมากไปกว่านี้ ถ้าคิดเฉพาะ ณ ปัจจุบัน สำหรับในสายตาของผม พิสูจน์แล้วว่า น่าอับอาย
ooo
.เลขาฯ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จี้ให้ ป.ป.ช. ตอบคำถาม 4 ข้อ หลังมีข้อกังขาจากกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่ง ป.ป.ช. มีมติ 5:3 ชี้มูลว่าไม่ผิด— ภูฟ้า ❝ สารขัณฑ์ ❞ (@phufa2012) December 28, 2018
.
อ่านเพิ่มเติม : https://t.co/DG8DFpmQ9D pic.twitter.com/jcyCTDkjI3