วันอาทิตย์, ธันวาคม 30, 2561

แด่ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลักสี่ งุบงิบย้าย ที่ถูกลืม





แด่อนุสาวรีย์ที่ถูกลืม
เช้านี้ (28 ธ.ค.) อนุสาวรีย์หลักสี่ หายไปแล้ว...

(1) เมื่อวานนี้ มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง
ว่าด้วยการ “ย้าย” อนุสาวรีย์หลักสี่
ออกจากที่ตั้งเดิม ไปไว้ที่ “หนองบอน” ที่อยู่ห่างออกไป 40 กิโลเมตร เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า
ซึ่งก็น่าประหลาดใจมาก เพราะแทบไม่มีใครรู้ล่วงหน้า
จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีใครแถลงเหตุผลที่ต้องย้ายอย่างเป็นทางการ
ผมเอง ตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นอนุสาวรีย์หลักสี่แล้ว เพราะย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2534
และจากห้องนอนผม มองลงไปก็เห็นอนุสาวรีย์นี้ ตั้งตระหง่านตั้งแต่เด็ก
คุณปู่ผม มักจะบ่นเสมอว่า ทางการเวนคืนที่ไปทำอนุสาวรีย์หลักสี่ ทั้งที่ที่ของคุณทวด (นายณรงค์ เล็บนาค) ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านผมปัจจุบัน ควรจะมีอาณาบริเวณมากกว่านี้...

(2) อันที่จริง อนุสาวรีย์หลักสี่ หรือชื่อเต็มๆว่า อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มีความเป็นมาที่น่าสนใจ
ปี 2476 หลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียง 1 ปี
ฝ่าย “ระบอบเก่า” นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช พระญาติของในหลวง รัชกาลที่ 7 และอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม นำกำลังจากอีสาน มายึดอำนาจพวกคณะราษฎร
ซึ่งขณะนั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกฯ และเพิ่งทำรัฐประหารนายกฯคนแรก อย่างพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่แปรพักตร์ ไปอยู่กับพวก “ระบอบเก่า” ได้ไม่นาน
ส่วนหนึ่งเพราะไม่พอใจ “เค้าโครงเศรษฐกิจฯ” ของปรีดี พนมยงค์ ด้วยเห็นว่าเป็นแบบ “คอมมิวนิสต์” เกินไป
เวลานั้น ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช รวมพวกเจ้านายที่มีอำนาจเดิม มาตั้งเป็นกลุ่มก้อน ชื่อ “คณะกู้บ้านกู้เมือง”
เรียกร้องให้คณะราษฎร ซึ่งเป็นพวก “ระบอบใหม่” คืนอำนาจให้พระมหากษัตริย์
เมื่อเรียกร้องไม่สำเร็จ ก็รวมตัวกันก่อกบฏ โดยมีทั้งปืนใหญ่ เครื่องบิน และกำลังทหาร ครบถ้วน
น่าจะเป็นการยึดอำนาจ ครั้งที่อลังการที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
สมรภูมิใหญ่ที่สุด และสมรภูมิสุดท้าย คือที่ “ทุ่งบางเขน” ที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่
แต่ผลลัพธ์ก็คือ “ฝ่ายเจ้า” แพ้ พระองค์เจ้าบวรเดช ต้องหนีออกนอกประเทศ
และความพ่ายแพ้ของระบอบเก่าในกบฏบวรเดช ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ ในอีก 2 ปีถัดมา
น่าเสียดายที่เรื่องกบฏบวรเดช ถูกกล่าวถึงในแบบเรียนประวัติศาสตร์น้อยมาก..

(3) ฝ่ายรัฐบาล ตัดสินใจสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อรำลึกถึง 17 ทหาร-ตำรวจ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ไว้ที่ทุ่งบางเขน เมื่อปี 2479
แน่นอน นี่คือสถาปัตยกรรมแบบ “คณะราษฎร” ที่ชัดเจน คือไม่ได้บูชาบุคคลใดเป็นพิเศษ แต่กล่าวถึงเรื่องของชาติ ประชาชนในชาติ
และมีรัฐธรรมนูญสีทองอยู่สูงสุด
หลังจากนั้น อีกเพียง 5 ปี สถาปัตยกรรมคณะราษฎรอีกชิ้นก็ถือกำเนิดใกล้เคียงกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
คณะรัฐมนตรีของจอมพลป.พิบูลสงคราม มีมติให้สร้างวัด ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
หากมีรัฐธรรมนูญ มีชาติ แล้ว ก็ต้องมีสัญลักษณ์ว่าด้วยศาสนา
ปี 2485 วัดพระศรีมหาธาตุ ก็ถือกำเนิดขึ้นกลางทุ่งบางเขน
หลังจากนั้น พอคณะราษฎรตาย ก็มีการนำอัฐิ ของคณะราษฎร ไปบรรจุไว้ในผนังด้านในเจดีย์
ทำให้จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีใครปฏิเสธ ความเป็นวัดของคณะราษฎรได้ เพราะอัฐิยังอยู่ครบ!
ขณะเดียวกัน หากใครผ่านมาทุ่งบางเขน ที่นี่ก็นับเป็น “ประชาธิปไตย complex”
เพราะต้องเจอทั้งวัดพระศรีฯ ที่รำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
และเจออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่รำลึกถึงเหตุการณ์ “ปราบกบฏ” อยู่คู่กันมาตลอด 76 ปี

(4) เป็นที่รู้กันว่าการจราจรบริเวณนี้ค่อนข้างสาหัส หลังจากเมืองขยายมาทางทิศเหนือ มีหมู่บ้านจำนวนมากขึ้นใหม่บริเวณรามอินทรา สายไหม และแจ้งวัฒนะ
วงเวียนบางเขน ถูกเปลี่ยนเป็นสี่แยกอยู่ระยะหนึ่ง และกลับมาเป็นวงเวียนใหม่อีกรอบ
ราวๆ ปี 2543-2544 กรมทางหลวงขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์
ปี 2553 ก็สร้างสะพานข้ามแยก จากแจ้งวัฒนะ ไปรามอินทรา อนุสาวรีย์ถูกเขยิบไปข้างๆ เพื่อหลีกให้สะพานข้ามแยก
กลายเป็นอนุสาวรีย์เดียว ที่มีสะพานข้ามให้รถวิ่งกันขวักไขว่อยู่ด้านบน
ที่น่าสงสารไปกว่านั้นคือ จากที่อยู่ตรงกลาง เด่นเป็นสง่า พอโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเริ่มขึ้น เมื่อปี 2559
อนุสาวรีย์ก็โดนขุดย้ายไปอยู่ริมๆ เสียเลย
เหตุเพราะสถานีรถไฟฟ้า จะอยู่ตรงกลางแทน เนื่องจากสำนักงานเขตบางเขน ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่สร้างสถานีรถไฟฟ้า
และแม้สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งตัวชานชาลา และชั้นขายตั๋ว จะเสร็จเกือบทั้งหมดแล้ว
อยู่ดีๆ ก็มีข่าวว่า จะย้ายตัวอนุสาวรีย์ออกจากพื้นที่ ไปไว้ที่อื่น
ไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการว่า เพราะเหตุใดต้องย้ายอนุสาวรีย์
ไม่มีข่าวว่าจะย้ายไปนานแค่ไหน หรือจะย้ายออกไปถาวร
บทจะย้ายก็สร้างคอกมากั้นล้อมรอบไว้ แล้วเอารถยกออกไปเลย

(5) “ระบอบเก่าและระบอบใหม่นี้จะต้องรบกันไปอีกนานจนกว่าระบอบใดจะชนะ และผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วยจะต้องรบกันไปอีกและแย่งกันระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้”
จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้เมื่อปี 2483 หรือ 4 ปี หลังอนุสาวรีย์นี้สร้างเสร็จ
ใจผมภาวนาให้เป็นเพียงการย้ายชั่วคราว เพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูเท่านั้น
ไม่ควรจะเป็นเรื่องการเมือง หรือเรื่องการทำลายความสำคัญของคณะราษฎร
เหมือนที่อาคารบางหลัง หรือหมุดคณะราษฎร หายไปก่อนหน้านี้
แม้ใครจะมองคณะราษฎรว่าดีหรือเลว แต่ในแง่หนึ่ง อนุสาวรีย์แห่งนี้คือโบราณสถาน
และเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครไปลบล้างได้ ไม่ว่าอนุสาวรีย์จะอยู่ที่นี่หรือไม่อยู่
และไม่ว่าที่สุดแล้ว “ระบอบเก่า” หรือ “ระบอบใหม่” จะเป็นผู้ชนะ

//////

— at อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลักสี่.


Supachat Lebnak

...