วันจันทร์, ธันวาคม 10, 2561

เลือกตั้ง 62 : 5 กลไกอาวุธทางกฏหมาย ที่สามารถใช้ถอดถอน ส.ส.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พ้นจากตำแหน่งได้ โดยคนของ คสช. แต่งตั้งเป็นส่วนใหญ่




ที่มา FB

iLaw


การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 กำลังเดินหน้าไปตามกติกาที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางเอาไว้ และแม้ว่าประชาชนจะสามารถเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นสมาชิกของรัฐสภาได้ แต่ รัฐธรรมนูญ 2560 หรือรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ยังวางกลไกไว้อีกหลายอย่าง ที่จะเป็นอาวุธทางกฎหมายเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พ้นจากตำแหน่งได้
.
อ่านบทความได้ที่ : https://ilaw.or.th/node/5029
.
นอกจากนี้หากพิจารณากลไกการตรวจสอบนักการเมืองทั้งหลาย จะพบว่า องค์กรที่มีบทบาทในการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่กระบวนการรออกกฎหมาย การกำกับ การตรวจสอบ พิจารณาและออกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ถูกดำเนินการโดยคนส่วนใหญ่ที่ คสช. แต่งตั้งและไว้วางใจ มาดูกันว่า มีกลไก คสช. ใดบ้างที่สามารถใช้จัดการกับนักการเมืองได้
#เลือกตั้ง62





ศาลรัฐธรรมนูญ+ป.ป.ช.+ศาลฎีกานักการเมืองฯ ชี้กรณีไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ของคสช.

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “ยุทธศาสตร์ คสช.” เป็นกลไกที่ รัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560 กำหนดว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและหน่วยงานของรัฐต้องเดินตามแผนยุทธศาสตร์ที่ คสช. เขียนขึ้นนี้ หากไม่ทำตามมีโทษและมีกระบวนการตีความบังคับใช้ที่ค่อนข้างซับซ้อน

หากคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งออกนโยบายหรือทำงานไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและวุฒิสภา (ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.) ทราบ และให้วุฒิสภาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดําเนินการ

ทั้งนี้ ให้ ป.ป.ช. พิจารณาและมีมติให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แล้วส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิจารณาตาม มาตรา 81 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) มาตราดังกล่าวระบุว่า หากศาลฎีกานักการเมืองฯ ประทับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หากต่อมามีพิพากษาว่า ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ หมายความว่า ผู้นั้นไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และไม่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่า ฝ่าฝืนแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ยังอาจถูกฟ้องฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามมาตรา 172 ของ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ที่ระบุว่า เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งหรือผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระหว่างโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทังปรับ

อ่านขั้นตอนการบังคับใช้แผนยุทธศาสตร์ คสช. ต่อได้ที่https://ilaw.or.th/node/4844





ป.ป.ช.+ศาลฎีกา ชี้กรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันร่างมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาเป็นครั้งแรก แม้ว่า ชื่อเต็มๆ คือ มาตรฐานทางจริยธรรมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 แต่เมื่อจัดทำเสร็จแล้วไม่เพียงใช้บังคับกับศาลและองค์กรอิสระ แต่จะใช้บังคับกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้ง ส.ส. ส.ว. และ คณะรัฐมนตรี ด้วย

มาตรฐานทางจริยธรรมถูกจัดทำขึ้นและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2561 มีความยาวเพียงห้าหน้า แนวคิดของมาตรฐานทางจริยธรรม คือ การกำหนดกรอบการทำหน้าที่ และการวางตัวของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยใช้ถ้อยคำที่กว้างขวางในการกำหนดความเป็น “คนดี” ที่จะมาเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งยังเปิดช่องให้ตีความได้หลากหลายและยังไม่มีตัวอย่างการบังคับใช้ให้เห็นมาก่อน ตัวอย่างเช่น กำหนดว่า ต้อง "ถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน" "ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน" เป็นต้น

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235(1) กำหนดให้ ป.ป.ช. สามารถยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งมาตราดังกล่าวกำหนดให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริง หากมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เห็นว่าผู้นั้นมีพฤติการณ์หรือกระทำความผิด ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย

พ.ร.ป.ป.ป.ช. ก็กำหนดอำนาจหน้าที่ใหม่ขึ้นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 87 กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย (ไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) หากศาลฎีกาฯ รับฟ้องแล้ว ให้นำมาตรา 81 มาใช้ ซึ่งกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ทันที หากมีคำพิพากษาว่ามีความผิด ให้ผู้ต้องคำพิพากษาพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้ ส่งผลให้ผู้ที่ถูกคำพิพากษาไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ได้

อย่างไรก็ตาม มาตรา 86 ยังกำหนดว่า หากศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ก็ให้ผู้ถูกกล่าวหากลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ และได้รับเงินเดือนเสมือนหนึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลาที่ต้องหยุดพักไป





ส.ว.+ป.ป.ช.+ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้กรณีแปรญัตติให้ตนเองมีส่วนใช้งบประมาณ ตามมาตรา 144

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 ระบุว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ในการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ ห้ามไม่ให้ ส.ส. ส.ว. หรือคณะกรรมาธิการเสนอ แปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใดๆ ให้ตัวเองมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่ายไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

หาก ส.ส. หรือ สมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เห็นว่า มีการฝ่าฝืนการกระทำดังกล่าว ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่ามีความผิด ให้การเสนอ การแปรญัตติ เป็นอันสิ้นผล ถ้าผู้กระทำการเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ให้สิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย

หาก ครม. เป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการหรือรู้ว่า มีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่ไม่สั่งยับยั้ง ครม. จะต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้อยู่ในที่ประชุมขณะมีการลงมติ

นอกจากนี้ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ยังได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ในส่วนที่ 3 หมวดที่ 3 ชื่อว่า การดำเนินการกรณีฝ่าฝืนมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีมาตรา 88 กำหนดหลักการไว้เช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบเรื่อง ให้สอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน อำนาจหน้าที่ส่วนนี้ของ ป.ป.ช. จึงเป็นบทบาทที่มีผลโดยตรงต่อความเป็นไปทางการเมือง ในการถอดถอน หรือเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลทีเดียวทั้งชุด และไม่ให้ผู้นำทางการเมืองจากการเลือกตั้งสามารถกลับมาสู่อำนาจเดิมได้อีกเลยตลอดชีวิต

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มีการเขียนเรื่องดังกล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า ห้าม ส.ส. ส.ว. หรือ กมธ. เสนอแปรญัตติหรือการกระทำการใด ๆ ที่มีผลให้ตัวเองมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่ายไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพียงแต่ว่าร่างรัฐธรรมนูญในอดีตกำหนดไว้แค่ว่า ถ้ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเพื่อยกเลิกการกระทำนั้นๆ แต่ไม่ได้มีการระบุโทษของผู้กระทำเอาไว้ถึงขั้นถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมือง





กกต.+ส.ว.+ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบการขาดคุณสมบัติ

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 ระบุให้ กกต. หรือ ส.ส. รวมกันห้าสิบคน หรือ ส.ว. รวมกันยี่สิบห้าคน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคุณสมบัติของนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้ หากเห็นว่า ผู้ใดขาดคุณสมบัติก็สั่งให้พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองได้

คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 101 และ 111 เช่น ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องไม่เป็นข้าราชการ ต้องไม่เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง ต้องไม่เคยทำผิดฐานทุจริต ต้องไม่แทรกแซงสื่อ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนเลือกตั้ง ต้องไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ฯลฯ

น่าสนใจว่า สิทธิในการเสนอเรื่องเพื่อถอดถอนนักการเมือง ในรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ทั้งเป็นสิทธิของ ส.ส. ส.ว. และ กกต. เท่านั้น ขณะที่สิทธิในการเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองโดยประชาชน 20,000 รายชื่อ ที่เคยถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ 50,000 คน ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้ถูกตัดออกไป

นอกจากกลไกใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาในการเลือกตั้งปี 2562 แล้ว กลไกตามระบบเดิมที่เคยใช้สำหรับการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ยังคงทำงานอยู่ เช่น อำนาจของ ป.ป.ช. ที่จะไต่สวนกรณีมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกานักการเมืองฯ หรืออำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจและลงมติถอดถอนได้ เป็นต้น





อำนาจศาลฎีกา ลงโทษ ส.ส. ย้อนหลังได้ หากพบการทุจริตการเลือกตั้ง

หากมีการพบว่าในเขตเลือกตั้งใดมีการทุจริต ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ‘ศาลฎีกา’ มีอำนาจสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ และหากใครถูกตัดสินว่า ทุจริตเลือกตั้ง ศาลฎีกาจะสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

โดยก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง หรือภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้า กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น หรือพบหลักฐานแต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นการกระทำของผู้ชนะเลือกตั้งในเขตนั้นหรือไม่ ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา (มาตรา 132 133 และ 138 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.)

หากศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตนั้น และส่งให้เพิกถอน “สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” หรือ “เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ถ้าผู้ถูกตัดสินเป็น ส.ส. ให้สิ้นสุดสมาชิกภาพด้วย สำหรับการพิจารณาของศาลฎีกาให้นำสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของ กกต. เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้