วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 02, 2560

“นักบริหารธุรกิจหลายคนคาดหวังว่าการทำมาค้าขายในประเทศไทยจะกระเตื้องได้ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น" :นิเคอิ รีวิว

นิเคอิรีวิวย้ำเศรษฐกิจไทยยังติดปลัก ยากฟื้นจนกว่าจะถึงเลือกตั้ง ดัชนีองค์ประกอบการผลิตอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมยังคงลดลงต่อเนื่อง จาก ๕๐.๓ เมื่อเดือนกันยายนเป็น ๔๙.๘ ในเดือนที่แล้ว

“การอ่านตัวเลขเหนือ ๕๐ แสดงว่าเศรษฐกิจขยายตัว ถ้าต่ำกว่า ๕๐ ลงไปหมายความว่ากำลังหดตัว”

รายงานเรื่องดัชนีการจัดการใบสั่งจ้างผลิตของประเทศไทย หรือ พีเอ็มไอ ในเดือนตุลาชี้ว่า ความต้องการให้ประเทศไทยผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงหดตัวต่อไปอีกเดือน

“อาการซบเซาของความคาดหวังทางธุรกิจทำให้กระแสใบสั่งซื้อหดหาย เช่นเดียวกับการจ้างงาน” เบอร์นาร์ด อาว นักเศรษฐศาสตร์ประจำไอเอชเอสมาร์กิตผู้จัดทำดัชนีพีเอ็มไอ อธิบายเพิ่มเติมว่า

“ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนมูลภัณฑ์ทั้งในส่วนวัถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จแล้ว ยังคงลดน้อยลงไปกว่าเดิม ทำให้มีรายงานว่าจะมีการตัดค่าใช้จ่ายลดต้นทุนกันอีก” (ซึ่งหมายถึงจะมีโรงงานเลิกจ้างหรือปิดกิจการเพิ่มขึ้น)


เป็นสภาพการณ์ที่ไม่สวยอย่างยิ่งในภาวะน้ำท่วมยืดเยื้อแถบภาคกลางรายรอบกรุงเทพฯ มาสามสี่เดือนแล้ว (และนี่ฝนกำลังกระหน่ำหนักในภาคใต้ ยังไม่รู้ว่าความเสียหายชนิดไหนจะเกิด)

พื้นที่อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สิงห์บุรีและชัยนาท ล้วนแต่เต็มไปด้วยนิคมอุสาหกรรมและโรงงานประกอบสินค้า ซึ่งอาจมีเครื่องสูบน้ำ กระสอบทรายกั้น หรือสร้างบนที่ถมสูง แต่จะทนได้นานต่อไปอีกเท่าไรในเมื่อการขนส่งและคนงานเดินทางทุลักทุเล หรือกระทั่งหยุดชะงัก

เช่นนี้เป็นการย้ำซ้ำเติมสิ่งที่บทความอีกชิ้นของนิเคอิเมื่อสามสี่วันก่อน ว่าการลงทุนจากต่างประเทศพากันเมินไทยไปหาประเทศเพื่อนบ้าน
“บริษัทญี่ปุ่นบางแห่งกำหนดหลักการใหม่ ไทยแลนด์พลัส ๑สำหรับการผลิต โดยแบ่งจากประเทศไทยไปไว้ที่ประเทศใกล้เคียงอย่างกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์”

นิเคอิชี้ว่ารัฐบาล คสช. ของไทยพยายามแก้ไขด้วยการเน้นการลงทุนด้านไฮเทค


แต่เมื่อวานนี้ (๑ พ.ย.) วันแรกที่รัฐบาลเริ่มลงมือใช้ระบบไฮเทคในด้านบริการคมนาคม ให้ผู้มีรายได้น้อยใช้บัตรคนจนจ่ายค่าตั๋วรถเมล์และรถไฟ ปรากฏว่าระบบอีเล็คโทรนิคในการอ่านบัตร ล่ม ไม่เป็นท่า

รถโดยสาร ขสมก. ติดสติ๊กเกอร์ สีเขียวข้อความว่า “รถคันนี้รองรับระบบอีทิคเก็ต และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ...แต่เมื่อขึ้นไปบนรถแล้วกลับพบว่า เครื่องอีดีซีบางส่วนยังไม่พร้อมใช้งาน จึงทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจในการใช้บริการ”

ด้าน รฟท. “เปิดให้ประชาชนใช้บริการซื้อบัตรโดยสารผ่านบัตรสวัสดิการตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมีประชาชนเข้ามาต่อแถวรอรับบริการเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้บัตรเกิดปัญหาขึ้นในทุกช่องทางที่มีการเปิดให้ใช้สวัสดิการจำนวน ๒๒ ช่องทาง”

ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยชี้แจงว่า “ยอมรับว่าขณะนี้ระบบการใช้บัตรสวัสดิการในการซื้อตั๋วรถไฟบริเวณหัวลำโพงเกิดปัญหาระบบล่ม เนื่องจากมีผู้เดินทางเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก รวมทั้งระบบรูดบัตรที่นำมาใช้เป็นระบบซิมการ์ด ซึ่งเป็นระบบที่ไม่สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจำนวนคราวละมากๆ”


เจตนาในการใช้ระบบอีเล็คโทรนิคนั่นมิใช่ต้องการให้เกิดความรวดเร็ว และรับงานจำนวนมากในเวลากระชั้นชิด ชนิดที่แรงงานคนไม่สามารถทำได้มิใช่หรือ นี่คือความไม่พร้อม สักแต่ว่าคิดจะทำแล้วไม่สำเร็จ

หากไม่มีสื่อต่างประเทศคอยรายงานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ประชาชนฐานรากที่ คสช. ใช้เงินสามสี่ร้อยพยายามยัดปาก คงต้องมะงุมมะงาหราทนรับกรรมความเดือดร้อนที่เกิดจากน้ำมือพวก รปภ. ริจะเป็นซีอีโอกันไม่รู้อีกนานเท่าไร

บทความขึ้นปกของนิเคอิรีวิวพูดถึง หัวเลี้ยวหัวต่อ ของประเทศไทยเมื่อสิ้นยุคพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ในตอนหนึ่งว่า

“ช่องว่างที่ถ่างออกไปมากขึ้นของภาวะมีอันจะกินกับไม่มี ภายใต้การครองเมืองของคณะทหาร” ซึ่งนิเคอิยกเอารายงานของเครดิตสวีส ปี ๒๕๕๙ มายันว่าความมั่งมีในประเทศไทย ๕๘ เปอร์เซ็นต์กระจุกอยู่กับคนรวย ๑ เปอร์เซ็นต์
อันทำให้ไทยติดอันดับ ๓ ในจำนวน ๓๘ ประเทศที่ถูกสำรวจเรื่องช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจน เป็นรองแค่รัสเซียกับอินเดียเท่านั้น...ฮูเรย์

“ความไม่เท่าเทียมเช่นนี้นี่เองทำให้ระบบการเมืองของประเทศไทยสั่นคลอน”

บทความนิเคอิอ้างด้วยว่าภาวะเหล่านั้น “ทำให้คนไทยธรรมดาๆ จำนวนมากปักหลักยึดมั่นกับพี่น้องอดีตนายกฯ และนโยบายประชานิยมของเขาทั้งสอง”

ยูกาโกะ โอโนะ ผู้เขียนบทความอ้างคำของปราณี สตรีวัย ๕๔ แม่ลูกติดชาวเชียงใหม่ผู้ที่เศรษฐกิจมั่งคั่งยั่งยืนของพวก คสช. ทำให้เธอติดหนี้หลานแสน เปลี่ยนจากอาชีพแม่ค้าขายน้ำพริกไปเป็นแม่ครัวรับจ้าง ว่า

“ชั้นอยากให้ทักษิณกลับมา เขาต้องสามารถคิดหามาตรการแก้ไขและทำให้พวกเรากินดีอยู่ดีกันได้อีก”

สำหรับยิ่งลักษณ์ ยูกาโกะชี้ว่าการหนีออกนอกประเทศเมื่อเดือนสิงหาคม “ทำให้เกิดข้อกังขาต่อสถาบันต่างๆ ของไทย รวมทั้งตุลาการ เป็นเครื่องยืนยันระบบการเมืองของประเทศที่หักพัง”

และ “ความไม่มั่นคงทางการเมืองจะเหนี่ยวรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ขณะนี้ลดฮวบไปจากที่เคยเฟื่องฟูช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๕๐”

ขนาดว่า ไพร้ซ์วอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ทำนายไว้ในปีนี้ว่า ถึงปี ๒๕๙๓ อัตราวัดอัตตภาพเศรษฐกิจไทยจะลดเหลือแค่ ๒.๖ เปอร์เซ็นต์ (มิใยที่แบ๊งค์ชาติจะฝันเฟื่องว่าปีหน้ายัน ๓.๗-๓.๘ ก็ตาม)

“นักบริหารธุรกิจหลายคนคาดหวังว่าการทำมาค้าขายในประเทศไทยจะกระเตื้องได้ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างราบรื่น” (ไม่ถูก กปปส.ปิดหน่วยเลือกตั้งเพื่อกวักมือเรียกทหารอีก)

ราชิฟ แมงกัล หัวหน้าผู้บริหารใหญ่ของ ทาละสตีล (ประเทศไทย) บอกกับนิเคอิว่า มูลเหตุหลักอันหนึ่งที่การลงทุนเอกชนจากต่างประเทศหดหาย เกิดจากความไม่แน่นอนใจว่าทหารจะอิ่มกับการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จเมื่อไร

“ถ้ามีการประกาศกำหนดเลือกตั้งขึ้นเมื่อไร ความระแวงก็จะผ่อนคลาย เมื่อนั้นการลงทุนธุรกิจจะเริ่มคึกคัก”