"บิ๊กบัง" อยากเห็นประเทศก้าวหน้า แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาคอร์รัปชัน วอนนายกฯ ยึดตามโรดแม็ป ผ่อนปรนพรรคการเมืองทำกิจกรรมบ้าง
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.60 ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) บางเขน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (อดีต ผบ.ทบ.) และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า ยืนยันว่าตนมีความรักและห่วงใยประเทศที่สุด ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นในวันหน้าคือ อยากเห็นประเทศชาติเจริญก้าวหน้า เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเร็ว อะไรที่ยังก้าวไปไม่ถึงก็อยากให้รัฐบาลเร่งทำ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน การปฏิรูปสังคม และความยุติธรรมต่างๆ รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว ส่วนกองทัพตนได้ฝาก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่า อยากเห็นกองทัพเป็นที่รักของประชาชน ดังนั้นต้องมองให้เห็นแก่นแท้ว่าประชาชนมีปัญหาอะไรบ้าง และอะไรบ้างที่จะทำให้ประชาชนรักกองทัพ เพราะไม่เช่นนั้นในอนาคตกองทัพจะเหนื่อยมากขึ้น ซึ่งพลังอำนาจของชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าสังคมยังแตกแยกกันอยู่
เมื่อถามว่า ขณะนี้เข้าสู่โรดแม็ปช่วงโค้งสุดท้ายของ คสช. อยากฝากอะไรบ้าง พล.อ.สนธิ กล่าวว่า โรดแม็ปที่ทำไว้ทุกข้อถือเป็นสิ่งที่ดี และขอให้รัฐบาลและ คสช.ทำตามนั้น และเร่งทำให้เร็ว โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะตอนนี้มีข่าวออกมามาก โดยเฉพาะความมั่นคงของธนาคาร ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อาจจะอยู่ต่อ 5 ปีนั้น ขอให้นายกฯ ยึดโรดแม็ปและทำให้ได้โดยเร็ว ส่วนจะเรียกร้องให้ คสช.ยกเลิกคำสั่งที่ห้ามนักการเมืองจัดการประชุมและจัดกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าหากผ่อนปรนบ้างก็คงจะดี เพื่อให้พรรคการเมืองได้มีโอกาสพูดคุย หาข้อเสนอแนะแนวทาง แต่รัฐบาลและ คสช.จะต้องดูอย่างรอบคอบ.
ที่มา
http://www.thairath.co.th/content/1086195
ooo
อย่าฝันหวานไปนัก.
การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้กับการทำให้คนในคสช.ได้เป็นนายกฯคนนอกหลังการเลือกตั้ง คือ เรื่องเดียวกัน
จากนี้ไป โจทย์ใหญ่ของคสช. คือ การใช้เวลาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทำให้แน่ใจว่า พรรคการเมืองทั้งหลายโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นั่นก็หมายความว่า ยังจะเกิดอะไรต่อมิอะไรขึ้นอีกมาก ทั้งการออกกฎหมายลูก เตรียมองค์กรตามรัฐธรรมนูญและการจัดการกับพรรคการเมืองและนักการเมือง
ทั้งการกระทำต่อชื่อเสียง คะแนนนิยม องค์กรและบุคลากร รวมทั้งการสร้างฐานการเมืองสนับสนุนผู้นำคสช.ให้กว้างและเข้มแข็งมากขึ้นๆ
ผมเป็นคนหนึ่งที่คิดว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า คนนอกมีโอกาสเป็นนายกฯมากกว่าสส.จากพรรคการเมืองมาก แต่ฟังความเห็นนักการเมืองกับคอการเมือง รวมถึงประชาชนที่ได้คุยกันมาบ้างก็รู้สึกว่า หากคนนอกได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ใช่จะบริหารงานได้ราบรื่นง่ายดาย รัฐบาลอาจจะไม่มีเสถียรภาพเอาเสียเลยด้วยซ้ำ สถานการณ์น่าจะต่างจากสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบเมื่อ 30 กว่าปีก่อนอย่างมาก
เมื่อก่อนนี้ พรรคการเมืองในสภามีหลายพรรค พรรคที่ใหญ่ที่สุดมีสส.อย่างมากก็ประมาณหนึ่งในสามของสส.ทั้งหมด แต่ในระยะหลังพรรคการเมืองมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก ถึงแม้ระบบเลือกตั้งจะหาทางป้องกันไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก แต่ก็คงไม่เกิดสภาพเบี้ยหัวแตกอย่างในอดีตอีกแล้ว
ดังนั้น หากพรรคการเมืองใหญ่แค่พรรคเดียวไม่ร่วมรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่ใช่จะอยู่ได้แบบสบายเหมือนในอดีต การต่อรองในรัฐบาลก็จะดุเดือดเข้มข้น พลาดนิดเดียวรัฐบาลก็ล้มได้เหมือนกัน ยิ่งรัฐบาลนายกฯคนนอกต้องคอยเอาใจสว.250 และพรรคการเมืองต่างๆ โดยไม่ต้องคอยตอบสนองความต้องการของประชาชน ความมั่นคงทางการเมืองก็จะยิ่งน้อย
นอกจากนั้น ในปัจจุบันดูจะไม่ง่ายนักที่พรรคการเมืองต่างๆจะไปสนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
กลายเป็นว่า ถ้าพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ถูกกำกับด้วยยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปจนทำอะไรไม่ได้ และคงอยู่ได้ไม่นานก็จะถูกกลไกในรัฐธรรมนูญจัดการให้พ้นหน้าที่ไป ถ้าเป็นรัฐบาลนายกฯคนนอกก็จะเจอปัญหาอีกแบบ คือ ต้องเจอกับการต่อรองในฝ่ายรัฐบาลและยังขาดทั้งเสถียรภาพในสภาและขาดความชอบธรรมทางการเมืองอีกด้วย
เรามาถึงจุดนี้ก็เพราะ คสช. ต้องการระบบที่ตนเองสืบทอดอำนาจได้แน่ๆเต็มๆไปเลย แต่พอร่างรัฐธรรมนูญกันออกมาแล้วกลับครึ่งๆกลางๆไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังที่ตั้งใจ เรื่องก็เลยจะไม่ง่ายอย่างที่วางแผนเอาไว้
อย่างที่ผมกล่าวแล้ว คงมีความพยายามทำอะไรอีกมากเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้แต่ต้น ถ้าทำจนแน่ใจว่าเป็นไปตามแผนได้เร็ว การเลือกตั้งก็อาจไม่ล่าช้านัก แต่ถ้าทำอย่างไรก็ยังไม่อาจแน่ใจเสียทีว่า คนนอกจะได้เป็นรัฐบาลและบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น เราอาจเห็นการเลือกตั้งเลื่อนออกไปเรื่อยๆก็ได้
ถึงอย่างไร โรดแม็ปก็เป็บแบบปลายเปิดอยู่แล้ว เคยบอกว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่แบบชัดๆลงไปเสียเมื่อไหร่
แต่ก็อยากจะเตือนเสียหน่อยว่า ใครก็ตามที่คิดจะมาเป็นนายกฯคนนอก โดยคิดว่า อะไรๆจะง่ายไปเสียหมดเหมือนตอนมีมาตรา 44 อยู่ในมือนั้น อย่าได้ฝันหวานไปเลย
ที่น่าเป็นห่วง คือ จากระบบที่เขาออกแบบกันไว้นี้ หลังการเลือกตั้งประเทศก็ยังไม่มีเสถียรภาพและความเชื่อมั่นจากนานาประเทศก็อาจไม่เกิดขึ้น เพราะเขาก็รู้อย่างที่เรารู้เหมือนกัน
ที่มา FB
Chaturon Chaisang