วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 26, 2560

มองอาเจะห์แล้วหันมามองไทย นำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาปรับใช้กับภาคใต้บ้านเรา

มองอาเจะห์  มองไทย

ชำนาญ จันทร์เรือง

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมและคณะทำงาน “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทย (Transitional Justice, Thailand)” ได้มีโอกาสไปร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการของ Transitional Justice Asia Network เกี่ยวกับเรื่อง The Role of Truth in Strengthening Peace in Asia ที่อาเจะห์ อินโดนีเซีย โดยมีผู้เชียวชาญจากประเทศต่างๆ ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการปัญหาความขัดแย้ง เช่น ติมอร์ตะวันออก, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา, เกาหลีใต้, พม่า, อินโดนีเซีย และอดีตผู้เชี่ยวชาญประจำสหประชาชาติมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

ผมอยากไปอาเจะห์มานานแล้วด้วยเหตุสำคัญในสองเรื่อง เรื่องแรกคืออาเจะห์ถูกคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเมื่อ 26 ธันวาคม 2004 จนมีผู้เสียชีวิตกว่าสองแสนคน เรื่องที่สองคือการที่อาเจะห์มีความขัดแย้งกับรัฐบาลอินโดนีเซียจนถึงขั้นการใช้อาวุธและมีผู้เสียชีวิตเกือบสามหมื่นคน แต่สามารถยุติปัญหาและดำเนินการจัดการตนเอง (Self Determination) ได้สำเร็จ

อาเจะห์มีอธิปไตยเป็นของตนเองมาตั้งแต่ปี 1840 โดยการประกาศของ Sayyed Maulana Abdul Aziz Shah อาเจะห์ผ่านความรุนแรงมาอย่างยาวนานตั้งแต่การต่อสู้กับดัชท์ ที่พยายามใช้กำลังเข้ายึดครองอาเจะห์ให้เป็นอาณานิคมของตนแต่ไม่สำเร็จ แต่หลังจากที่อินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชเมื่อ 17 สิงหาคม 1945 อินโดนีเซียได้ถือโอกาสผนวกรวมเอาอาเจะห์ไปเป็นส่วนหนึ่งของตน และในปี 1976 ขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ (Free Aceh Movement หรือ Gerakan Aceh Merdeka-GAM) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธได้ประกาศปลดปล่อยอาเจะห์ในสมัยของรัฐบาลทหารซูฮาร์โต ต่อมาในปี 1989 กองทัพอินโดนีเซียประกาศให้อาเจะห์เป็นเขตการปฏิบัติการทางทหาร (Daerah Operasi Militer-DOM) ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการสังหารเข่นฆ่า จับกุมคุมขัง และทรมานประชาชนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามได้มีการพยายามเจรจากันมาตลอด จนสุดท้ายได้มีการลงนามระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับ GAM เรียกว่าข้อตกลงเฮลซิงกิ (Helsinki MOU) ในปี 2005 ซึ่งเกิดภายหลังที่เกิดสึนามิ โดยหลายฝ่ายเข้าใจว่าเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้สำเร็จ ซึ่งแท้ที่จริงมิได้เป็นเช่นนั้น แต่เหตุการณ์สึนามิก็เป็นส่วนสำคัญที่เป็นตัวเร่ง (catalyst) ทำให้ให้การตกลงทำได้เร็วและง่ายขึ้น

ข้อตกลงเฮลซิงกิตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะยึดหลักสันติวิธีและหลักประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีการนิรโทษกรรมให้แก่นักโทษหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับ GAM ทั้งหมด และกำหนดให้อาเจะห์เป็นเขตปกครองตนเองที่มีอำนาจในการปกครองและบริหารกิจการสาธารณะของอาเจะห์ในทุกด้าน ยกเว้นด้านการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ การเงิน และเสรีภาพในการนับถือศาสนา

นอกจากนั้นยังกำหนดให้รายได้ที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเลของท้องถิ่น นั้นจะจัดสรรให้แก่อาเจะห์ในอัตราส่วนร้อยละ 70 ซึ่งคล้ายคลึงกับร่าง พรบ.ระเบียบบริหารเชียงใหม่มหานครฯหรือร่าง พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเองฯ ที่เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเองได้รณรงค์กันมาโดยตลอด

อีกทั้งยังมีข้อตกลงในการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน (Human Rights Court) และคณะกรรมการแสวงหาความจริงและสมานฉันท์ (Truth and Reconciliation Commission) การปฏิรูปสถาบัน (Institutional Reform) ขึ้นมาอีกด้วย ส่วนการที่อาเจะห์ใช้กฎหมายชารียะห์ในปัจจุบันนั้นไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในข้อตกลงตั้งแต่แรกแต่อย่างใด แต่เป็นการขยายความมาใช้ในภายหลัง

เหตุที่ทำให้อาเจะห์กลับคืนสู่สันติภาพได้สำเร็จ

1)    ผู้นำต้องมีความมุ่งมั่นในการเจรจา

ประธานาธิบดียุทโธโยโนและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่างมุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อที่ยุติสงครามที่เกิดขึ้นให้ได้ด้วยสันติวิธี โดยพยายามโน้มน้าวกองทัพให้สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพด้วยตนเอง ซึ่งแม้ทางกองทัพจะลังเลในช่วงแรกแต่ก็เห็นด้วยในท้ายที่สุด

2)    ผู้นำต้องมีความจริงใจ

รัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มจากการเปิดพื้นที่ทางการเมือง ให้ทุกฝ่ายมีช่องทางแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกต่างๆ อย่างอิสระ เพื่อให้ฝ่ายที่มีความคับข้องใจได้รู้สึกว่ารัฐบาลได้ยินเสียงของตน หรือส่งสัญญาณว่าต้องการจะพูดคุยกับกลุ่มขบวนการที่สนใจจะคุย โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะและต้องไม่มองว่าคู่เจรจาคือศัตรู แต่เป็นเพื่อนร่วมชาติที่แตกต่างในด้านความเชื่อ หรือมีเป้าหมายที่แตกต่างจากเรา

3)    ตัวกลางต้องมีประสิทธิภาพ

การเจรจาที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในประเทศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคู่เจรจา ต้องเป็นประเทศที่มีประสบการณ์และมีความมุ่งมั่นที่จะให้เกิดความสำเร็จอย่างแท้จริง โดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและต้องอยู่ห่างไกลกับพื้นที่ที่ทำการเจรจา ซึ่งในกรณีนี้เริ่มที่เจนีวาและมาสำเร็จที่เฮลซิงกิ

แต่ของไทยเราทำที่มาเลเซียซึ่งมีความสัมพันธ์กับรัฐไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกันมาเลเซียมีประชาชนที่มีเชื้อสายมลายูเช่นเดียวกับคู่เจรจาของรัฐไทย ย่อมเป็นการยากที่จะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งผู้แทนของอาเจะห์ที่มาร่วมประชุมฯ ให้ข้อสังเกตแบบขำๆ แต่ผมเห็นว่าเป็นความจริงคือ “อย่าเจรจาในเขตพื้นที่อาเซียนด้วยกัน

4)   ต้องมีการนำ “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice)มาใช้เป็นเครื่องมือ
การค้นหาความจริง (Truth Seeking) การเยียวยา (Reparations) การสอบสวน (Prosecutions) และการปฏิรูปสถาบัน (Institutional Reform) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของ “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่อาเจะห์อย่างเหมาะสม

แม้ว่าในบางเรื่องอาจจะยังทำไม่สำเร็จเพราะตกลงกันไม่ได้ในเรื่องเล็กน้อย เช่น เรื่องธง (flag) ที่จะใช้เป็นธงประจำอาเจะห์ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลกลางเห็นว่ารูปแบบออกไปทางกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายมากไปหน่อย หรือเรื่องเพลง (Hymn) ก็ยังไม่ได้ทำ เป็นต้น แต่จะเห็นได้ว่า กว่าที่อาเจะห์จะอยู่ในสภาพปัจจุบันได้ต้องผ่านประสบการณ์มาอย่างยาวนาน กอรปกับได้เกิดเหตุการณ์สึนามิเข้ามาเป็นตัวเร่งให้การเจรจาสำเร็จด้วยเหตุที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ไม่มีทางที่จะเกิดสันติได้หากตราบใดยังมีการใช้กำลังอาวุธเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน

เมื่อมองอาเจะห์แล้วหันมามองบ้านเรา จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ของเรา แทบจะไม่แตกต่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ก่อนที่จะเกิดสันติภาพเลย

ฉะนั้น จึงควรที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้หันมาพิจารณากันจริงจัง ลดทิฐิมานะ ลดความระแวงซึ่งกันและกัน

นำบทเรียนที่เกิดขึ้นในอาเจะห์และประเทศอื่นที่ผ่านเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้วมาปรับใช้ เช่น กรณีบังสาโมโรในฟิลิปปินส์และกรณีศรีลังกาที่จบลงด้วยการเจรจา หรือกรณีติมอร์ตะวันออกที่มุ่งแต่ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามจนจบลงด้วยการเสียดินแดนไปในที่สุด
----------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2560