วันเสาร์, ตุลาคม 28, 2560

"กานต์ จันทน์ดี" แจงเรื่องที่ยังมีคนเข้าใจผิดต่อ "จูลี ปาเยต"ข้าหลวงใหญ่ประจำแคนาดา ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ...




ภาพประกอบ: จูลี ปาเยต (กลาง) ข้าหลวงใหญ่ประจำแคนาดา ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ (คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, กรมประชาสัมพันธ์)


ข้าหลวงใหญ่ “จูลี ปาเยต” ไม่ใช่ประมุขแคนาดา, ได้ตำแหน่งมาเพราะ นายกฯ เป็นคนเสนอชื่อ


โดย กานต์ จันทน์ดี
GM LIVE.com

ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ได้เดินทางมาร่วมพระราชพิธีฯ และได้รับความสนใจเป็นพิเศษก็คือ “จูลี ปาเยต” (Julie Payette) ข้าหลวงใหญ่ประจำแคนาดา

ในสื่อโซเชียลมีการกล่าวอ้างว่าเธอคือ “ประมุขสูงสุดของแคนาดา,” “เทียบเท่ากับประธานาธิบดี,” มีอำนาจ “รับรองและวีโต้กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา” และสามารถ “สั่งปลดนายกฯ ได้” ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิด!




แคนาดาเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประมุขของประเทศคือ“กษัตริย์หรือราชินีแห่งเครือจักรภพอังกฤษ” ซึ่งปัจจุบันก็คือ ราชินีเอลิซาเบธที่ 2 โดยมี “ข้าหลวงใหญ่ประจำแคนาดา” เป็นผู้ใช้อำนาจแทน แต่ก็เป็นตำแหน่งที่นายกรัฐมนตรีของแคนาดาเป็นผู้เสนอชื่อแต่งตั้ง

และบทบาทของข้าหลวงใหญ่ก็จำกัดอยู่แต่เพียงเรื่องของพิธีการเท่านั้น

“กฎหมายรัฐธรรมนูญ (1867) ของแคนาดามอบอำนาจสูงสุดให้กับราชินี อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ อำนาจดังกล่าวจะถูกใช้โดยนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ข้าหลวงใหญ่จะกระทำการตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล แต่มีสิทธิที่จะให้คำแนะนำ ส่งเสริม หรือเตือน ด้วยเหตุนี้ข้าหลวงใหญ่จึงสามารถให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์แต่ประมุขของรัฐบาล[นายกรัฐมนตรี]ได้” เว็บไซต์สำนักเลขาธิการข้าหลวงใหญ่ประจำแคนาดาระบุ

แล้วข้าหลวงใหญ่จะ “รับรอง-วีโต้” กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา และ “สั่งปลดนายกฯ” ได้หรือเปล่า?

โดยตำแหน่งแล้วข้าหลวงใหญ่คือผู้แทนของประมุขตัวจริงคือ “ราชินี” อำนาจตัดสินใจที่แท้จริงก็ควรจะเป็นของราชินีไม่ใช่ตัวข้าหลวงใหญ่เอง แต่ Letters Patent, 1947 (ออกโดยกษัตริย์จอร์จที่ 6) ก็ได้กำหนดให้ข้าหลวงใหญ่มีอำนาจจัดการกิจการภายในแคนาดาได้อย่างกว้างขวาง

แต่ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นเพียงโครงสร้างความสัมพันธ์ในเชิงพิธีการเท่านั้น แคนาดาไม่ใช่อาณานิคมของอังกฤษ อำนาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ราชินี หรือข้าหลวงใหญ่ แต่ตำแหน่งเหล่านี้ยังคงมีความสำคัญในทางจารีตประเพณีและประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ดี ยังมีคนเข้าใจผิด และคิดว่าอำนาจของระบอบกษัตริย์ตามจารีตประเพณียังเหนือกว่าอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมิใช่แต่คนไทยเท่านั้นที่เข้าใจเช่นนี้ ในอดีตก็เคยมีชาวแคนาดาลักไก่หวังใช้อำนาจของ “ราชินี” ในการล้มล้างอำนาจของรัฐสภาแคนาดามาแล้ว

บุคคลผู้นี้เป็นชาวเมืองมอนทรีออลนามว่า ชองตัล ดูปุยส์ (Chantal Dupuis) เธอได้เขียนจดหมายไปถึงราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2011 เรียกร้องให้ประมุขของประเทศปลด “สตีเฟน ฮาร์เปอร์” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นออกจากตำแหน่ง

“ด้วยฝ่าบาททรงเป็นประมุขของประเทศ หม่อมฉันไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกเสียจากจะขอพระกรุณาจากฝ่าบาทให้ถอดถอน สตีเฟน ฮาร์เปอร์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งแคนาดา เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยของแคนาดาได้ตกอยู่ในภาวะอันตรายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์” ฎีกาของดูปุยส์กล่าว (Huffington Post)

ดูปุยส์อ้างว่า ฮาร์เปอร์ละเมิดรัฐธรรมนูญมากมาย ข้าหลวงใหญ่หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลต่างก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของฮาร์เปอร์อย่างเบ็ดเสร็จไม่มีใครคิดจะทำหน้าที่อันถูกต้องสมควรของตน

“ในฐานะชาวแคนาดา หม่อมฉันใคร่ขอพระกรุณาให้ฝ่าบาททรงแทรกแซงเพื่อปกป้องพสกนิกรชาวแคนาดา และสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพวกเราด้วยเถิด”

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นราว 3 เดือน (กุมภาพันธ์ 2012) สำนักพระราชวังบัคกิงแฮมก็ได้ออกหนังสือตอบกลับปฏิเสธคำร้องขอของดูปุยส์

“ฝ่าบาทได้ทรงรับทราบความเห็นตามที่ท่านได้แถลงมา แต่เราขออธิบายว่า องค์ราชินีไม่มีทางที่จะปลดนายกรัฐมนตรีหรือยุบรัฐสภาแคนาดาถามที่ท่านเรียกร้อง” โซเนีย โบนิชี(Sonia Bonici) เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์แห่งพระราชวังบัคกิงแฮมตอบกลับไปยังดูปุยส์

คำปฏิเสธดังกล่าวอาจจะมิได้ระบุว่าองค์ราชินีไม่มีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้น แต่โดยจารีตประเพณีตามรัฐธรรมนูญ และการเคารพต่อหลักความรับผิดต่อประชาชนของรัฐบาล ราชินีซึ่งทรงมีฐานะเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจกระทำการตามที่ดูปุยส์ร้องขอได้

...

เรื่องเกี่ยวข้อง...


...




ดูเหมือนสื่อไทยให้ความสนใจกับท่านจูลี พาแย็ต (Julie Payette) มาก ซึ่งเป็นคนที่เก่งกาจสามารถ เหมาะสมกับตำแหน่ง Governor General และผู้แทนพระองค์ของแคนาดา แต่มีข้อเท็จจริงบางอย่างที่น่าจะคิดเองเออเอง อย่างที่บอกว่า “กระทั่ง 13 ก.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี "จัสติน ทรูโด" ก็ได้ประกาศว่าพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 แห่งแคนาดา ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งให้ "จูลี พาแย็ต" เป็นผู้สำเร็จราชการคนต่อไป” (https://mgronline.com/entertainment/detail/9600000109026)

ความจริงคือผู้ดำรงตำแหน่งนี้เป็น “political appointee” นักการเมืองเป็นคนเลือก คนแต่งตั้งเป็นควีนก็จริง แต่เป็นไปตามความเห็นของนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่จู่ ๆ ควีนจะ “อนุมัติแต่งตั้ง” ใครก็ได้ (เชื่อมั้ย ควีนอาจไม่รู้จักคุณจูลี พาแย็ตมาก่อนก็ได้) “การแต่งตั้ง” มันเป็นแค่ “ธรรมเนียม” “The Governor General is appointed by the Queen on the advice of the Prime Minister.” ลองไปอ่านดู อย่ามโน (https://lop.parl.ca/ParlInfo/pages/govgeneral.aspx?Menu=GG)

ข้อดีอย่างหนึ่งที่สื่อไทยกลับไม่เขียนถึงคือ ในแคนาดา เขาแต่งตั้งคนตามคุณธรรมความสามารถ และเขาเลือกคนอายุยังไม่มากอย่างคุณจูลี พาแย็ต (54 ปี) ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมมาก ๆ ไม่ได้แต่งตั้งพวกที่เตรียมเข้าโลงแต่ได้ดีเพราะเป็น “คนของคนนั้นคนนี้” อันนี้สื่อไทยน่าจะเน้น ๆ นะ

ควรทราบอีกอย่างว่า ชาวแคนาดาส่วนใหญ่ (53%) เชื่อว่าควร “ตัด” ความสัมพันธ์กับราชวงศ์อังกฤษเสีย หลังการสวรรคตของควีนองค์ปัจจุบัน และความนิยมต่อสถาบันกษัตริย์ในหมู่ชาวแคนาดาลดลงเรื่อย ๆ แม้แต่คนที่ดูซีรีย์ของ Netflix เรื่อง "The Crown" ยังบอกว่าควรตัดความสัมพันธ์กับราชวงศ์อังกฤษเลย (http://bit.ly/2yQ4rqI)

เขามีความดีที่เราควรเลียนแบบ แต่อย่าเอามโนทัศน์ของเราไปมองกิจการในประเทศอื่นครับ บางทีมันไม่ตรงเท่าไร

ปล. เพิ่งเห็นว่ามีคนบอกว่าคุณจูลี พาแย็ตปลดนายกฯ แคนาดาได้ 55555++++++ (แถมมมีคนเชื่ออีกแน่ะ ฮาจริง ๆ)

Royal Family support by Canadians waning, poll indicates http://www.cbc.ca/1.3072469

Pipob Udomittipong