อีกแค่สองวันก็จะถึงวันเริ่มงานพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพ
ร.๙ ๒๕-๒๙ ตุลาคมกันแล้ว ดูท่าจะมโหฬารอลังการยิ่งกว่างานฉลองทรงครองราชครบ ๖๐ ปีของพระองค์
เมื่อมิถุนา ๔๙ เสียอีก
การนี้โฆษกกระทรวงต่างประเทศ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ
แจ้งว่าจะมีราชอาคันตุกะ ตัวแทนพระราชวงศ์ต่างประเทศ ๑๔ แห่งมาร่วม
พร้อมกับตัวแทนผู้นำประเทศ ๓๒ แห่ง โดยระบุมี ๑๘ บุคคลสำคัญต่างชาติ
(ดูรายชื่อที่ https://www.posttoday.com/social/general/521102)
ด้วยเป็นงานยิ่งใหญ่มีความสำคัญยิ่งยวดเช่นนี้
จึงมีการเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ ไม่ให้เสียชื่อที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทหาร
มีการปิดถนนต่างๆ
รายรอบพระบรมมหาราชวังและทุ่งพระสุเมรุกว่ายี่สิบแห่งตั้งแต่วันนี้ (๒๓ ต.ค.)
กระนั้นพสกนิกรผู้มีความจงรักภักดีเป็นล้นพ้น
ได้รับโอกาสให้เข้าเฝ้าชมริ้วขบวนบริเวณริมทางเท้าถนนมหาราช สนามไชย
เรื่อยไปถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง “เฉพาะฝั่งตรงข้าพระบรมมหาราชวังเท่านั้น”
ทั้งนี้ต้องผ่านการคัดกรองตามจุดต่างๆ
เสียก่อน และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดซึ่ง น.ส.เสาวรีย์
อัมภสุวรรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหารกรมประชาสัมพันธ์ แจ้งไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบและสำรวม ๘ ประการ
ได้แก่ ใช้สีดำไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า
หมวก แว่นตา ผ้าพันคอ ร่ม และรองเท้าหุ้มส้น
แต่เมื่อริ้วขบวนอันมีพระบรมวงศานุวงศ์ดำเนินผ่าน ให้ถอดหมวก ถอดแว่นตา และเก็บร่ม
ส่วนใครอยากถ่ายภาพก็ได้
ให้ใช้กล้องธรรมดาหรือโทรศัพท์มือถือ ห้ามใช้กล้องใหญ่ เลนซ์ซูมและขาตั้ง
หารู้ไม่ว่ากล้องของโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ
เดี๋ยวนี้ซูมได้ชนิดเห็นรูขนบนหน้าเลยละ
เขายังแนะนำให้พกเฉพาะสิ่งของจำเป็นเท่านั้น
เช่นยา น้ำดื่มและอาหาร ห้าม “พกพาอาวุธ และวัตถุอันตรายเข้าพื้นที่เป็นอันขาด”
สำหรับเสื้อผ้าที่สวมใส่สั่งให้ “งดสวมใส่ยีนส์
เสื้อผ้ารัดรูป เสื้อแขนกุด เสื้อสายเดี่ยว” เขาคงหมายถึงบลูเดนิม หรือกางเกงผ้า jean
เฉพาะสีน้ำเงิน ไม่ห้ามสีดำ สีเทา มั้ง
ส่วนสไตล์รัดรูปน่ะถ้าเป็นกางเกงเดี๋ยวนี้แฟชั่นรัดรูปทั้งนั้น ไม่ว่าหญิงชาย
ไม่รู้ใช้ได้ป่าว
ข้อที่ว่าให้อยู่ในอาการสำรวม
งดหยอกล้อ นั่นก็เป็นธรรมดา แต่ที่ให้งดเปล่งเสียงถวายพระพรว่า “ทรงพระเจริญ” ในระหว่างชมริ้วขบวนนี่น่าจะไม่ธรรมดา
แต่ไม่เป็นไร ที่นี่ประเทศไทย
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง
“๘ ข้อควรปฏิบัติ ๗ ข้อห้าม” ที่ http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/777686)
เรื่องน่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับทางปฏิบัติสำหรับพสกนิกรทั่วไประหว่างพระราชพิธี
๕ วัน ใครมีงานแต่ง งานกฐิน การบุญ
ตรงกับช่วงนี้โดยทั่วไปทางการยอมให้จัดกันได้เป็นปกติ “หากมีมหรสพสมโภช
ก่อนเริ่มงานมีการให้แขกยืนถวายความอาลัย”
แต่ทนาย อานนท์
นำภา เล่าว่า “หลายพื้นที่เจ้าหน้าที่ห้ามจัดเด็ดขาด
ซึ่งผมเห็นว่าไม่ใช่ความพอดี” เขาคงหมายถึงสิ่งที่ยกย่องกันเป็นปรัชญาแห่ง
ร.๙ ในเรื่องของความพอดีและพอเพียง
โดยเฉพาะจุดเด่นของพระราชพิธีครั้งนี้อยู่ที่พระเมรุมาศอันตระการตา
เกินกว่าพอดีและพอเพียง ที่เพจ ‘สยามมานุสติ’
เขียนถึง
“ประเด็นใหม่ที่สื่อต่างชาติหยิบมาวิจารณ์
ก็คือค่าใช้จ่ายสำหรับพระราชพิธี (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าไม่ทราบมาได้ยังไง)
แล้วก็มาค่อนแคะประมาณว่าขัดแย้งกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียง” เพจเฟชบุ๊ค Warat Karuchit ชี้ว่า
“การเขียนเช่นนี้
แสดงว่าคนต่างชาตินั้นไม่ได้มีความเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเลย
จึงสักแต่เขียนไปเช่นนั้น ถึงได้ไปมีการตีความผิดๆ ว่าหลักการเศรษฐกิจพอเพียงนี้อยากกดหัวคนไทยให้ไม่ต้องการรวย
หรืออยากให้คนไทยไปทำไร่ไถนา”
เขาสาธยายต่อไปว่า “เรื่องค่าใช้จ่ายไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่คำว่า ‘สมพระเกียรติ’ โดยอยู่ในบริบทที่สามารถใช้ได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนจนเกินพอดี”
ถ้าเป็นกระทรวงการคลัง
ซึ่งมีหนังสือ ‘ด่วนที่สุด’ ส่งถึง “ผู้ว่าราชการจังหวัด
ปลัดกระทรวง อธิบดี เลขาธิการ ผู้อำนวยการ อธิการบดี และผู้บัญชาการ” ทั้งหลาย กรณีการเบิกจ่ายงบประมาณหลวงไว้ตั้งแต่ต้นปีแล้วว่า
“เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายตามภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธี...ได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
เหมาะสม ประหยัด และสมพระเกียรติ...”
พอดิบพอดีกับที่เพจ ‘I
Love My King’ อ้างถึง ข้อความบนเฟชบุ๊คของประดาผู้จงรักภักดีมากล้นรำพันรายหนึ่ง
ว่าไม่ให้ใช้คำ “งดงาม สวยงาม” กับเมรุมาศที่จะใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เขาบอกว่าต้องใช้คำว่า ‘สมพระเกียรติ’ แทน จึงจะเหมาสม “เพราะการชมนั้นเปรียบเสมือนว่า
เป็นการอยากได้อยากมี ตามความเชื่อนั้นเชื่อว่า จะทำให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก”
จึงน่าจะสรุปความงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง
ซึ่งมีรายงานเบื้องต้นว่ารัฐบาล คสช. ใช้งบประมาณหลายพันล้านนี้ว่า “สมพระเกียรติ
ไม่ได้อยากได้อยากมี เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น”
This is Thailandia.