วันเสาร์, ตุลาคม 21, 2560

คณะทำงาน UN ว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) เรียกร้องปล่อยตัว “ศศิพิมล-เธียรสุธรรม” สองผู้ต้องขังคดี 112 ชี้เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ





คณะทำงานฯ UN เรียกร้องปล่อยตัว “ศศิพิมล-เธียรสุธรรม” สองผู้ต้องขังคดี 112 ชี้เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ


19/10/2017
By TLHR


คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ได้รับรองความคิดเห็นในกรณีของศศิพิมล (สงวนนามสกุล) และกรณีของเธียรสุธรรม (สงวนนามสกุล) หรือ “ใหญ่ แดงเดือด” สองผู้ขังคดีตามมาตรา 112 ในการประชุมครั้งที่ 79 ระหว่างวันที่ 21-25 สิงหาคม 2560 โดยคณะทำงานฯ ลงมติเห็นว่าการควบคุมตัวทั้งสองคนเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งสองคนโดยทันที



ภาพกรณีศศิพิมล (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)


ศศิพิมล-เธียรสุธรรม: สองผู้ต้องขังคดี 112 ที่ได้รับโทษสูงอันดับต้นๆ


คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการของสหประชาชาติ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นการควบคุมตัวโดยพลการ (Arbitrary Detention) รวมทั้งเป็นกลไกที่เปิดรับข้อร้องเรียนรายกรณี โดยก่อนหน้านี้คณะทำงานฯ เคยมีความเห็นที่เป็นทางการต่อกรณีผู้ต้องขังตามมาตรา 112 ว่าเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ มาแล้วทั้งหมด 4 กรณี ได้แก่ กรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข (ปีพ.ศ.2555) กรณีปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (ปีพ.ศ.2557) และภรณ์ทิพย์ มั่นคง (ปีพ.ศ.2558) สองนักกิจกรรมในคดีเจ้าสาวหมาป่า และกรณีของพงษ์ศักดิ์ (ปีพ.ศ.2559) (ดูเพิ่มเติมในรายงาน)

ส่วนในกรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรมนั้น เป็นสองกรณีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ล่าสุด ที่คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดย ได้จัดทำรายงานความคิดเห็นที่เป็นทางการออกมาอีกสองฉบับ (ความคิดเห็นอันดับที่ 51/2017 รับรองเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 และความคิดเห็นอันดับที่ 56/2017 รับรองเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560)

สำหรับกรณีของศศิพิมล หรือก่อนหน้านี้รายงานในชื่อ “ศศิวิมล” แม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสองคน อดีตพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เธอถูกกล่าวหาจากกรณีการใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำพิชัย” โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 จำนวน 7 ข้อความ แม้เธอยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหว่านล้อมและกดดันให้ยินยอมรับสารภาพ โดยไม่มีญาติหรือทนายความอยู่ด้วย ก่อนจะมีการสั่งฟ้องต่อศาลทหาร โดยเธอไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้ต่อมาได้ยินยอมรับสารภาพในชั้นศาล ก่อนที่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ศศิพิมลได้ถูกศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาจำคุก 56 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 28 ปี และจนถึงปัจจุบันเธอยังถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำ (ดูเรื่องราวในคดีของศศิพิมล)

ส่วนกรณีของเธียรสุธรรม หรือ “ใหญ่ แดงเดือด” นักธุรกิจในกรุงเทพฯ ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 5 ข้อความ โดยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 เขาและภรรยาถูกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ปอท. จับกุมตัวจากบ้านพักไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 ก่อนที่ภรรยาจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนเขาถูกควบคุมตัวต่อ ก่อนจะถูกนำตัวมาแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 โดยไม่ได้รับการประกันตัว หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 เธียรสุธรรมถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุก 50 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 25 ปี จนถึงปัจจุบันยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำเช่นกัน (ดูเรื่องราวในคดีของเธียรสุธรรม)

ในทั้งสองกรณีนี้ จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาเนื่องจากเกิดขึ้นในขณะการประกาศกฎอัยการศึก และทั้งสองกรณีนับได้ว่าเป็นคดีที่ศาลทหารมีการลงโทษจำคุกสูงเป็นอันดับต้นๆ เท่าที่เคยมีมาในข้อหาตามมาตรา 112 โดยนอกจากกรณีของพงษ์ศักดิ์ ที่ถูกศาลทหารพิพากษาจำคุก 60 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี ซึ่งคณะทำงานฯ ของสหประชาชาติเคยมีความเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวโดยพลการมาก่อนหน้านี้แล้ว ล่าสุดยังมีกรณีของ “วิชัย” จากกรณีการปลอมเฟซบุ๊กและโพสต์ข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 จำนวน 10 ข้อความ ได้ถูกศาลทหารพิพากษาจำคุก 70 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 35 ปี





คำชี้แจงของรัฐบาลไทย

ภายใต้กลไกการรับข้อร้องเรียนรายกรณี หลังจากคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการได้รับข้อร้องเรียนและได้พิจารณาข้อมูลแล้ว จะมีการสอบถามกลับไปยังรัฐบาลต่างๆ ที่ถูกร้องเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ชี้แจงกลับมา ในระยะเวลา 60 วัน ก่อนจะมีการส่งคำชี้แจงดังกล่าวไปยังผู้ร้องเรียนสำหรับให้ความเห็นกลับมาอีกครั้ง แล้วคณะทำงานฯ จึงจะจัดทำความเห็นจากข้อมูลต่างๆ ดังกล่าว

ในกรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรมที่มีการร้องเรียนไป ทางคณะทำงานฯ ได้สอบถามกลับมายังรัฐบาลไทยเช่นกัน แต่ในกรณีของศศิพิมล ทางรัฐบาลไม่ได้มีการตอบกลับใดๆ ต่อข้อร้องเรียนที่คณะทำงานฯ สอบถามไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560

ส่วนในกรณีของเธียรสุธรรม คณะทำงานฯ ได้สอบถามไปยังรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 และรัฐบาลไทยได้ชี้แจงกลับมาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 โดยยืนยันว่าประเทศไทยสนับสนุนและให้คุณค่ากับเสรีภาพในการแสดงออกที่เป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม สิทธินี้ไม่สมบูรณ์และจะต้องแสดงออกภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ไม่กระทบต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสามัคคีในสังคม หรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น ตามข้อ 19 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

คำตอบของรัฐบาลไทยยังระบุว่าการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นไปตามหลักการดังกล่าว โดยที่สถาบันกษัตริย์ถือได้ว่าเป็นเสาหลักของสังคมไทย และกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์มีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เช่นเดียวกันกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งสิทธิในการแสดงออกของประชาชน

ต่อมา ผู้ร้องเรียนที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อได้ระบุข้อมูลเพิ่มเติมกับคณะทำงานฯ ว่าคำชี้แจงของรัฐบาลไทยเป็นไปในลักษณะเดิมซ้ำกับคำชี้แจงในกรณีอื่นๆ ที่มีการสื่อสารกับผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงานฯ ต่างๆ ของสหประชาชาติก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดถึงเหตุผลว่าทำไมจึงควรเชื่อว่าการดำเนินคดีบุคคลตามมาตรา 112 ซึ่งได้รับการลงโทษอย่างต่อเนื่องโดยการจับกุม คุมขัง และถูกจำคุกอย่างยาวนาน เป็นการสอดคล้องกับข้อ 19 ของกติกา ICCPR และรัฐบาลก็ไม่ได้อธิบายถึงการใช้ศาลทหารต่อพลเรือน ซึ่งขัดแย้งกับข้อ 14 ของกติกานี้

ผู้ร้องเรียนยังแสดงความกังวลว่าการละเมิดสิทธิผ่านมาตรา 112 ยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการลงโทษจำคุกอย่างรุนแรงจากศาลหลังการรัฐประหาร 2557 โดยยกตัวอย่างถึงกรณี “วิชัย” ที่ศาลทหารมีการกำหนดโทษสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา



การประชุมทบทวนการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ที่เจนีวา รอบของประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2560


คณะทำงานฯ UN ชี้การควบคุมตัว ‘ศศิพิมล-เธียรสุธรรม’ เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ


จากข้อมูลของผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ทั้งสองคน คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการได้จัดทำความเห็น โดยพิจารณาว่ากรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรมมีลักษณะเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ และขัดต่อกติกาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทั้งสองกรณี

คณะทำงานฯ พิจารณาเห็นว่าการลิดรอนอิสรภาพในกรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรม จากกรณีข้อกล่าวหาเรื่องการโพสต์ข้อความโดยการใช้กฎหมายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิในการมีเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งได้รับการรับรองตามข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

คณะทำงานฯ ระบุว่าไม่สามารถเห็นได้ว่าการลิดรอนอิสรภาพของทั้งสองคนตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) เป็นความจำเป็น หรือเหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์ที่กำหนดยกเว้นไว้ในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกได้ ตามข้อ 19 (3) ของกติกา ICCPR

คณะทำงานฯ เห็นว่ากฎหมายไม่ควรมีการกำหนดโทษที่รุนแรงขึ้น บนพื้นฐานอัตลักษณ์ของบุคคลเพียงอย่างเดียว กรณีถ้าทั้งสองคนได้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทบุคคลจริงๆ การดำเนินการก็ควรเป็นไปภายใต้การหมิ่นประมาทในทางแพ่งมากกว่าความผิดในทางอาญา ซึ่งมาตรการนี้เพียงพอสำหรับการปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

คณะทำงานฯ ได้อ้างอิงถึงความคิดเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 34 (2554) ซึ่งเห็นว่ารูปแบบในการแสดงออกในลักษณะที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ ยังไม่เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมมากเพียงพอให้ต้องกำหนดบทลงโทษทางอาญา แม้ว่าบุคคลสาธารณะก็ย่อมอาจได้รับประโยชน์จากข้อบทในกติกา นอกจากนั้น เป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่บุคคลสาธารณะทุกคน รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดอย่างเช่น ประมุขของรัฐและรัฐบาล จะสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทิศทางตรงกันข้าม

คณะทำงานฯ ยังอ้างอิงถึงความคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของสหประชาชาติ ที่เห็นว่าสิทธิในการมีเสรีภาพการแสดงออกนั้น รวมไปถึงการแสดงออกถึงมุมมองหรือความเห็นที่เป็นการขัดใจ หรือทำให้สะทกสะท้าน อาทิเช่น ข้อกล่าวอ้างเรื่องการปกป้องความมั่นคงของรัฐหรือการตอบโต้การก่อการร้าย ไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการให้ความชอบธรรมกับการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ยกเว้นรัฐบาลจะอธิบายได้ว่าการแสดงออกนั้นตั้งใจยุยงให้เกิดความรุนแรงอย่างชัดแจ้งอย่างไร หรือมีความเชื่อมโยงทางตรงและโดยทันทีระหว่างการแสดงออกนั้น กับความเป็นไปได้หรือการเกิดขึ้นของความรุนแรงนั้นอย่างไร

การพิจารณา ‘ศศิพิมล-เธียรสุธรรม’ ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

ขณะเดียวกัน คณะทำงานฯ ยังเห็นว่ากรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรมเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ในรูปแบบที่ขัดต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) ตามข้อ 14 ของกติกา ICCPR ทั้งด้วยการถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งไม่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร การถูกพิจารณาคดีโดยปิดลับ การไม่สามารถเข้าถึงทนายความได้ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขัดต่อสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย และยังถูกละเมิดสิทธิในการไม่ถูกบังคับให้รับสารภาพโดยไม่ยินยอม

อีกทั้ง ทั้งสองคนยังไม่สามารถอุทธรณ์คดีได้ ขัดต่อสิทธิในการได้รับการทบทวนคดีโดยศาลที่สูงขึ้นไป คณะทำงานฯ ชี้ว่าสิทธิในการได้รับการทบทวนคดีและโทษที่ได้รับนี้ จะต้องได้รับการเคารพแม้จะอยู่ใน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ก็ตาม

คณะทำงานฯ ยังเห็นว่าการถูกควบคุมตัวในระหว่างการพิจารณาคดีควรจะเป็นข้อยกเว้น มากกว่าเป็นระเบียบที่เกิดขึ้นประจำ การควบคุมตัวระหว่างการพิจารณานี้ควรจะพิจารณาบนฐานบุคคลแต่ละคน ภายใต้เหตุผลและความจำเป็นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ทั้งหมด เช่น จุดประสงค์เรื่องป้องกันการหลบหนี, การแทรกแซงพยานหลักฐาน หรือการกระทำความผิดซ้ำ และควรระบุปัจจัยที่เกี่ยวข้องในกฎหมาย โดยไม่ควรรวมถ้อยคำคลุมเครือและกว้างขวาง อย่าง “ความมั่นคงของสาธารณะ” และไม่ควรทำให้การคุมขังระหว่างสอบสวนกลายเป็นข้อบังคับสำหรับจำเลยทุกคนที่ถูกกล่าวหาในความผิดเฉพาะเดียวกัน โดยปราศจากการพิจารณาถึงสถานการณ์รายบุคคลนั้นๆ

ในกรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรม คณะทำงานฯ เห็นว่าศาลทหารไม่สามารถอ้างเรื่องการมีอัตราโทษรุนแรงมาใช้ปฏิเสธการประกันตัวได้ โดยไม่ได้ชี้ให้เห็นสถานการณ์รายบุคคลที่กล่าวอ้างว่าจะทำให้พวกเขาหรือเธอหลบหนีตามที่ถูกให้เหตุผลไว้ ทั้งที่เป็นภาระของรัฐเองที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความจำเป็นของการควบคุมตัวในระหว่างการพิจารณาคดีรวมทั้งคณะทำงานฯ ยังเห็นว่าการปฏิเสธการประกันตัวนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในคดีมาตรา 112 โดยคณะทำงานฯ ระบุตัวเลขหลังรัฐประหารว่ามีประมาณ 6% ของผู้ต้องหาในคดีนี้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา

นอกจากนั้น ในกรณีของเธียรสุธรรม คณะทำงานฯ ยังเห็นว่าการละเมิดอิสรภาพนั้นเกิดขึ้นโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย โดยเขาถูกจับกุมตัวไปจากบ้านโดยไม่มีการแสดงหมายจับ และถูกควบคุมตัวภายในมณฑลทหารบกที่ 11 ระหว่างวันที่ 18 ถึง 22 ธันวาคม 2557 โดยญาติหรือทนายความไม่สามารถเข้าพบได้

อีกทั้ง การที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวภรรยาของเธียรสุธรรมไปด้วยนั้นเข้าข่ายเป็นการละเมิด โดยตามความเห็นของคณะทำงานฯ มาตรการปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวของผู้ต้องสงสัยเสมือนกับเป็นผู้ต้องสงสัยเอง ไม่ควรจะดำรงอยู่ในสังคมประชาธิปไตย หรือแม้แต่ใน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ก็ตาม

การใช้มาตรา 112 มีความคลุมเครือ-ตีความกว้างขวาง

นอกจากการพิจารณาถึงสองกรณีดังกล่าว คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ยังแสดงความกังวลถึงการใช้กฎหมายมาตรา 112 ภายหลังการรัฐประหาร ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) เปิดเผยเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ระบุว่ามีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยจากช่วงปี 2554-2556 มีจำนวนอย่างน้อย 119 กรณี แต่ในช่วงปี 2557-2559 มีตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 285 กรณี ทั้งในระหว่างการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบของประเทศไทย (UPR) ในเดือนพฤษภาคม 2559 สถานการณ์ในเรื่องการจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพการแสดงออก โดยเฉพาะการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นี้ เป็นประเด็นที่คณะผู้แทนฯ หยิบยกขึ้นมาแสดงความกังวลต่อไทยอย่างมาก

คณะทำงานฯ ยังอ้างอิงไปถึงข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observation) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ในการประชุมทบทวนรายงานการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ของประเทศไทย ซึ่งได้มีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ถูกคุมขังและฟ้องร้องในข้อหาตามมาตรา 112 ตั้งแต่หลังรัฐประหาร และยังมีการลงโทษจำคุกที่รุนแรง โดยบางกรณีถูกลงโทษจำคุกหลายสิบปี ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการคุมขังบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา เป็นการละเมิดต่อข้อ 19 ของกติกา ICCPR ซึ่งประเทศไทยมีพันธะต้องปฏิบัติตาม

คณะทำงานฯ ยังแสดงความกังวลต่อความคลุมเครือ และการถูกตีความอย่างกว้างขวาง ในนิยามของคำว่า “หมิ่นประมาท” ภายใต้ข้อหามาตรา 112 ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นว่าความคลุมเครือ การตีความอย่างกว้างขวาง และการลงโทษอย่างรุนแรงดังกล่าว จะทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว ทำให้ผู้คนเซ็นเซอร์ตนเอง และส่งผลเป็นการระงับยับยั้งการถกเถียงที่มีความสำคัญต่อประโยชน์สาธารณะ

คณะทำงานฯ เน้นย้ำถึงรูปแบบของการควบคุมตัวโดยพลการในกรณีที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมายมาตรา 112 ของไทย โดยเห็นว่าภายใต้บางสถานการณ์ การแพร่กระจายของการคุมขังอย่างกว้างขวางหรืออย่างเป็นระบบ หรือการลิดรอนอิสรภาพอื่นๆ ตามข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างรุนแรง อาจนับเป็น “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” (crimes against humanity) ได้

ในตอนท้ายรายงานทั้งสองฉบับ คณะทำงานฯ เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวศศิพิมลและเธียรสุธรรมโดยทันที พร้อมให้การชดเชย-เยียวยาจากการควบคุมตัวโดยพลการที่เกิดขึ้น และยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) โดยเรียกร้องให้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จากสมยศถึงพงษ์ศักดิ์: ย้อนดูความเห็นคณะทำงาน UN ว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการในคดี 112

ประมวลภาพรวมหนังสือผู้รายงานพิเศษ UN ทวงถามไทยเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุค คสช.

เปิดหนังสือผู้รายงานพิเศษ UN ถามรัฐบาลไทยกรณีละเมิดสิทธิ “ไผ่” และคดี 112


ooo

Thailand: Lèse-Majesté in UN spotlight as more detentions declared arbitrary






11/10/2017
Source: fidh

Once again, Thailand’s infamous Article 112 or "lèse-majesté" law has been strongly condemned by the UN in the latest opinions by their Working Group on Arbitrary Detention (WGAD). FIDH and its member organisations Union for Civil Liberty (UCL) and Internet Law Reform Dialogue (iLaw) submitted the cases of Sasiphimon Patomwongfangam and Thiansutham Suthijitseranee to them in March 2016. On 24 August 2017, the WGAD declared their detention arbitrary and called on the Thai authorities to release them immediately.

FIDH and its Thai member organisations continue to work to end the abuse of lèse-majesté prosecutions and bring cases before the UN’s working bodies which have now declared six lèse-majesté detentions as arbitrary. The WGAD also urged the Thai government to bring Article 112 of the Criminal Code into conformity with Thailand’s commitments under international human rights law.

Read more on the cases here

See also: UN body slams ongoing violations of civil and political rights