“คงต้องใช้เวลาอีกนานทีเดียว
เศรษฐกิจของประเทศไทยจึงจะฟื้นตัวเต็มที่” บทความ ‘นิคเคอิ’
วิเคราะห์สุขภาพไตแลนเดียขณะนี้ ทั้งที่มีสัญญานการเติบโตให้เห็นบ้างแล้วในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา
“ดัชนีชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างหนึ่งก็คือ
การส่งออก ที่เพิ่มขึ้น ๑๒.๒ เปอร์เซ็นต์ มาเป็นมูลค่า ๗๑๙,๔๐๐ ล้านบาทเมื่อเดือนกันยายน
อันเป็นเดือนที่ ๗ ของการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนั้นเป็นผลพวงจากการส่งออกไปสู่จีนเพิ่มขึ้น
๑๒ เปอร์เซ็นต์ในปีนี้”
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เมื่อเดือนที่แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศยกระดับประมาณการจีดีพีสำหรับปี
๖๑ และ ๖๒ ไปเป็น ๓.๘ เปอร์เซ็นต์ จากเดิมซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ ๓.๕ และ ๓.๗
ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ทั้งที่การส่งออกกระเตื้อง
แต่นักวิเคราะห์นิคเคอิกลับบอกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ลืมตาอ้าปาก ก็เพราะตัวเลขผลประกอบการของสี่แบ๊งค์ใหญ่ๆ
ของไทย ลดลงติดต่อกันมาเป็นไตรมาสที่สองเข้านี่แล้ว อัตรากำไรหดตัวเมื่อเดือนกรกฎา-สิงหาที่ผ่านมาอยู่ที่
๑๔ เปอร์เซ็นต์
ธนาคารกรุงเทพฯ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกสิกร แจ้งผลประกอบการสะสมสุทธิอยู่ที
๓๓,๖๐๐ ล้านบาท ตามรายงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ ๑๙-๒๐ ตุลาคม
มีธนาคารกรุงเทพฯ
แห่งเดียวที่เห้นกำไรในไตรมาสนี้ แต่ก็เพิ่มขึ้นแค่ ๑.๒ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐนั้นรายได้ลดลงไปถึง ๓๒ เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้เพราะมีหนี้เสียก้อนใหญ่
บทความนิคเคอิซึ่งเขียนโดย ยูกาโกะ โอโนะ
เผยว่าในไตรมาสที่สองของปีนี้ธนาคารกรุงไทยโอนเงินไปอุดหนี้เงินกู้ของ ‘เอเนอร์จี้เอิ๊ร์ธ’ บริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายถ่านหินในประเทศไทย
เป็นมูลค่าถึง ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท เนื่องจากกรุงไทยเป็นผู้คำประกันหลักของเอเนอร์จี้เอิ๊ร์ธ
นั่นทำให้หนี้เสียรวมของธนาคารกรุงไทยอยู่ที่
๙๘,๐๐๐ ล้านเมื่อสิ้นเดือนกันยายน มากที่สุดในบรรดาสี่แบ๊งค์ใหญ่ของไทย
นิคเคอิบอกว่าอัตราเพิ่มของหนี้เสียกรุงไทยเวลานี้อยู่ที่ ๑๓.๘ เปอร์เซ็นต์
เป็นที่ทราบกันว่าในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา
รัฐบาล คสช. พยายามโหมหนักทั้งจากปากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายสมคิด
จาตุศรีพิทักษ์ ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นแน่ในปีหน้า “เราเดินมาถูกทางแล้ว” ขณะที่ในระดับชาวบ้านเห็นกันแต่ข้าวยากหมากแพง
การค้าปลีกกำลัง ‘ตายหยังเขียด’ งานบริการหงอยเหงา กระทั่ง ‘หมอนวด’ (แผนทันด่วน) ยังต้องนั่งตบยุง
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ซื่อตรงต่อข้อมูลความเป็นจริงสรุปว่า
สถานการณ์เช่นนี้ของเศรษฐกิจไทยตกอยู่ในภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย”
นั่นคือกิจการที่ทำกำไรเป็นบรรดาทุนใหญ่ ซีพี ไทยเบฟ สหพัฒน์ ฯลฯ เหล่านี้ที่ คสช.
ดึงเข้าไปเป็นหุ้นส่วนประชารัฐ พากันขายคล่อง ในขณะที่ธุรกิจรากหญ้า โชห่วย ซาเล้ง
ล้วนกินแกลบ
ธนวัตร เรือนบันเทิง
นักวิเคราะห์การเงินประจำเมย์แบ๊งค์ กิมเอ็ง เซเคียวริตี้ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นกับนิคเคอิว่า
“พวกธนาคารระมัดระวังกันมากเวลาพิจารณาปล่อยกู้ ทั้งที่มีกระแสเงินสะพัดอยู่เต็มเปี่ยม”
เพราะพวกธนาคารเหล่านั้นรอให้เศรษฐกิจ ‘trickle-down’*
ผลกำไรหล่นจากหิ้ง เมื่อทุนใหญ่อิ่มตัวแล้วจะหล่นไหลลงไปหาทุนเล็กและธุรกิจรากหญ้า
เมื่อนั้นการตื่นตัวทางธุรกิจจึงจะเริ่มขยับเขยื้อนกันใหม่
ซึ่งในสถานการณ์ของไทยคาดว่าคงอีกนานพอดู
ความโศกาอาดูรจากการไว้ทุกข์ของพสกนิกรเป็นเวลาหนึ่งปีกำลังจะผ่อนคลายลงเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงในหลวงองค์ก่อน
“แต่ไม่ได้หมายความว่าท้องฟ้าแจ่มใสทางเศรษฐกิจจะตามมา” นิคเคอิว่า
“ราชพิธีราชาภิเษกในหลวงองค์ปัจจุบันอาจทำให้บรรยากาศกระชุ่มกระชวยขึ้นบ้าง
แต่ก็ยังไม่มีการกำหนดวันแน่นอนเมื่อไร” ข้อสำคัญหากจะมีเลือกตั้งปลายปีหน้า
น่าจะมีการอัดฉีดชุดใหญ่กันอีกครั้ง คงทำให้ภาพลักษณ์เศรษฐกิจไทยดูสดใสอีกหน
เพียงแต่ว่า คสช. อัดฉีดมาหลายหนแล้ว ทั้งให้พวกทหารที่ร่วมในการยึดอำนาจ
พวก สนช. สปท. กรธ. ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (ผู้น้อยเขาบอกรอหน่อย)
ที่อัดฉีดฐานรากก็มี ให้บัตรเครดิตซื้อของ ‘ธงฟ้า’
อากู๋ เจ้าสัว ร้องฮ้อกันอยู่เดี๋ยวนี้
ดูท่าเงินกองคลังสำหรับจับจ่ายรายวันจะหดหายไปเยอะ
ขูดเลือดปูไปแล้วได้ไม่เท่าไหร่ กำลังจะถอนขนห่านโอ๊คก็คงได้ไม่มาก ภาษีบาปก็เก็บแล้ว
ปีนี้งดจ่ายประกบกองทุนประกันสังคมยังไม่พอ
กำลังทำท่าจะปรับอัตราหักสะสมเพิ่ม ไม่รู้จะพอให้
คสช.เอาไปกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่อีกไหมนี่
*(หมายเหตุ : https://en.wikipedia.org/wiki/Trickle-down_effect)