วันเสาร์, ตุลาคม 28, 2560

ปล้นหาแดก มีงี้ด้วยหรอฟะ... คลังเตรียมออกกฎหมายดึงเงินฝากไม่เคลื่อนไหว 10 ปีเข้าคลังหลวง-คาดได้เงินเป็นหมื่นล้าน





คลังออกกฎหมายดึงเงินฝากไม่เคลื่อนไหว 10 ปีเข้าคลังหลวง-คาดได้เงินเป็นหมื่นล้าน


27 ตุลาคม พ.ศ.2560
มติชนสุดสัปดาห์

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน หากบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปถูกปิดบัญชีและนำเงินมารวมไว้ในบัญชีที่ดูแลโดยกรมบัญชีกลาง นำเข้าเป็นเงินคงคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังมีแนวคิดนำเงินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย และกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลสามารถบริหารจัดการเงินดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างแหล่งเงินเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลในการใช้เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ โดยคาดว่าเงินในบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปรวมกันระดับหมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังยกร่างกฎหมายดังกล่าว ขอเชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 24 ตุลาคมถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ทางแฟกซ์ 0-2618-3366 อีเมล fpo.hearing@gmail.com

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ในปัจจุบันยังไม่ได้หลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหว จึงจำเป็นต้องยกร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมา มี 4 หมวด รวม 13 มาตรา มีสาระสำคัญคือ การกำหนดนิยามประเภทของเงินฝาก เงินบาท และเงินตราต่างประเทศในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ทั้งของบุคคลที่มีถิ่นฐานในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเงินฝากประจำทุกประเภท เงินฝากที่ประชาชนนำมาใช้เพื่อประกันหนี้กับสถาบันการเงินผู้รับฝาก เงินฝากที่ถูกยึดหรืออายัดซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดี สำหรับบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว หมายถึงบัญชีที่ไม่มีการฝาก-ถอนหรือโอน เป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ภายใน 3 เดือนก่อนวันสิ้นปี สถาบันการเงินต้องตรวจสอบบัญชีเงินฝาก หากพบไม่เคลื่อนไหวตามกำหนด ให้แจ้งให้เจ้าของบัญชีหรือทายาทเพื่อดำเนินการฝาก-ถอนหรือโอนเงิน หรือปิดบัญชีภายในวันสิ้นปี หากไม่ดำเนินการในเวลาที่กำหนด ให้สถาบันการเงินปิดบัญชีนำส่งข้อมูลและเงินมายังกรมบัญชีกลาง ซึ่งกรมบัญชีกลางจะเปิดบัญชีเรียกว่า “บัญชีเพื่อการบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน” เพื่อรับโอนเงินดังกล่าว โดยเงินจะถูกนำไปรวมกับบัญชีเงินคงคลัง

อย่างไรก็ตาม หากมีการเรียกร้องเงินคืนจากผู้มีสิทธิหรือทายาท ให้กรมบัญชีกลางตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและจำนวนเงินที่จะคืน โดยให้แจ้งสถาบันการเงินตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนของบุคคลนั้นภายใน 15 วันทำการนับแต่ได้รับคำขอ