
เบื้องหลัง! อจ.หนุ่ม สวมชีวิต "คนไร้บ้าน" 16 เดือน วิจัยปริญญาเอก
17 พ.ย. 2559
ที่มา PPTV Thailand
“เป็นเรื่องเป็นข่าว” ได้พูดคุยกับ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ลงพื้นที่ ทำวิจัย ด้วยการใช้ชีวิตเป็น คนไร้บ้าน ทั้งในสนามหลวง กรุงเทพมหานคร , กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่กรุงมะนิลา ซึ่งเป็นพื้นที่น่าสนใจ เพราะมีคนไร้บ้านมาก 40,000 – 50,000 คน
ภาพที่ ดร.บุญเลิศ ลงพื้นที่เป็นคนไร้บ้านแบบจริงๆ บริเวณ ตึกแถวแห่งหนึ่ง ในกรุงมะนิลา ที่ใช้นอนประจำ จนคนไร้บ้านแถวนั้นจะรู้ และไม่มานอนทับที่ ใช้เวลาทำวิจัยด้วยการลงภาคสนามทั้งหมด 16 เดือน โดยเช่าห้องพักไว้เก็บของ และออกจากห้อง เช้าวันจันทร์ ก็กลับมาห้องพักอีกครั้งช่วงเย็นวันอาทิตย์ สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ เพื่อ คลุกคลี สร้างความไว้ใจ และได้ข้อมูลจริงๆ

การยังชีพของคนไร้บ้าน ในฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่จะตระเวนกินอาหารฟรีตามโบสถ์ โดยมีการทำตารางไว้เลย ว่าโบสถ์ไหนจะแจกอาหารมื้อไหน วันใด ส่วนใหญ่ 1 โบสถ์ จะบริจาค 1 ครั้ง ส่วนสถานที่ ดร.บุญเลิศ ฝากท้องไว้บ่อยที่สุด เป็นโบสถ์ศาสนาซิกข์ ที่แจกอาหารบ่อยสุดเกือบทุกคืน

“สิ่งที่ชัดเจนที่สุดในฟิลิปปินส์ คือ ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การจ้างงานแย่กว่าเมืองไทยมาก การว่างงานสูงถึง ร้อยละ 7 การว่างงานแฝง คือ คนจ้างงานไม่เต็มที่ ร้อยละ 20 รวมทั้ง ขาดการบังคับใช้กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ ตามกฎหมายอยู่ที่ 460 เปโซ ประมาณ 300 บาท แต่คนทำงานจริง ซึ่งผม เคยไปทำงานในร้านอาหารที่นั่น แต่ค่าแรงเพียง 100 เปโซ หรือ ต่ำกว่า 1 ใน 4 ของค่าแรงขั้นต่ำ เพราะเจ้าของไม่จำเป็นต้องจ่ายให้สูงเพราะคนว่างงานสูง คุณไม่อยากทำก็จ้างคนอื่นได้ การว่างงาน จึงเป็นปัญหาสำคัญ” ดร.บุญเลิศ กล่าว

ขณะที่ประเทศไทย ถือว่า มีจำนวนคนไร้บ้าน เมื่อเทียบกับ จำนวนประชากรทั้งประเทศ ถือว่าน้อย กว่าชาติอื่น แต่สาเหตุที่พวกเค้าออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อน เพราะต้องการมีอิสระ ไม่อยากเป็นลูกน้อง หรือทำตามคำสั่งใคร การที่ภาครัฐจะแก้ไขให้คนไร้บ้านหมดไปทำได้ยาก ต้องดูแลเขาอีกแบบหนึ่ง เช่น สวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างที่หลับที่นอนปลอดภัย ส่งเสริมให้คนไร้บ้านดูแลกันเอง พร้อมรับฟังเสียงจากพวกเค้าว่าต้องการอะไร

ชมรายการ เป็นเรื่องเป็นข่าว ตอน ฮือฮา! นักวิจัย ลงทุนใช้ชีวิตเร่ร่อน กว่า 1 ปี ขอข้าววัด กินนอนข้างถนน ได้ที่นี่