วันพุธ, เมษายน 17, 2567

ชาวเกาหลีเหนือวัย 37 จาก "ผู้แปรพักตร์" สู่ "นักการเมือง" ปาร์ค ชุง ควอน บอกกับบีบีซีว่า ตนเองไม่เคยคิดเข้าสู่การเมือง แต่เมื่อพรรคพลังประชาชนหรือพีพีพี ติดต่อเข้ามา ก็รู้สึกว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบแทนสังคม



นักวิจัยขีปนาวุธชาวเกาหลีเหนือ คว้าเก้าอี้ สส. ในเกาหลีใต้

ปาร์ค ชุง ควอน (คนกลาง) วัย 37 ปี เดินทางไปเกาหลีใต้ในปี 2009 หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่เขาทำงานเกี่ยวกับการสร้างขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

ฟรานซ์ เหมา และ ซังมิน ฮัน
บีบีซีนิวส์
15 เมษายน 2024

สมัยยังหนุ่ม ปาร์ค ชุง ควอน ช่วยพัฒนาขีปนาวุธให้กับเกาหลีเหนือซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา เพื่อนำไปใช้ยิงข่มขู่ชาติตะวันตก แต่ตอนนี้ เขากำลังนั่งอยู่ในสภานิติบัญญัติของเพื่อนบ้านฝั่งประชาธิปไตย ในฐานะสมาชิกผู้แทนราษฎร (สส.) ของเกาหลีใต้ เมื่อสามารถคว้าชัยการเลือกตั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้

เมื่อผู้คนอพยพออกจากระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม พวกเขาต่างฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า รวมถึงโอกาสครั้งใหม่ที่ดีกว่าเดิม จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริง หากพวกเขาจะกลายมาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติหรือแม้กระทั่งประธานาธิบดี แต่สำหรับชาวเกาหลีเหนือวัย 37 ปีคนนี้ มันเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เพราะเขาคือผู้หลบหนีออกจากเกาหลีเหนือคนที่ 4 ที่กลายมาเป็น สส. ในเกาหลีใต้

“ผมมาถึงเกาหลีใต้แบบตัวเปล่า” เขาบอกกับบีบีซีเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “และตอนนี้ ผมกำลังเข้าสู่เวทีการเมือง”

“ผมมองว่าทั้งหมดนี้มันคือพลังของเสรีประชาธิปไตยของเรา และผมคิดว่ามันเป็นไปได้เพราะประชาชนของเราทำให้มันเกิดขึ้น มันเป็นทั้งปาฏิหาริย์และคำอวยพร”

นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของความก้าวหน้า ในทัศนะของผู้จับตามองความเคลื่อนไหวของชาวเกาหลีเหนือ

รศ.แซนดรา ฟาหย์ ผู้ศึกษาชีวิตชาวเกาหลีเหนือ จากมหาวิทยาลัยคาร์ลตันในออตโตวา ประเทศแคนาดา บอกว่า “มีชาวเกาหลีเหนือหลายหมื่นคนที่เลิกสนับสนุนการกดขี่ พวกเขาต่อต้านการกดขี่ของระบอบเผด็จการด้วยชีวิตของพวกเขา บางคนแพ้พ่าย แต่ยังมีบางคนที่ยังไม่แพ้ และโลกกำลังได้รับประโยชน์จากพวกเขา”

“ใครจะเข้าใจความสำคัญของการเป็นตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้ดีไปกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในโลกที่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้าม”

ปาร์ครอดพ้นจากเงื้อมมือของรัฐบาลเกาหลีเหนือเมื่อ 15 ปีก่อน เมื่อเขามีอายุเพียง 23 ปี โดยไม่ได้บอกแผนการให้พ่อแม่รวมถึงสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ รับรู้ เขาบอกว่ามันเสี่ยงเกินไป และหากพวกเขารู้ ก็อาจทำให้ทั้งหมดตกอยู่ในอันตรายได้

เขาใช้เวลา 3 ปีสุดท้ายฝังตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยป้องกันอาณาจักร ขณะนั้นปาร์คถูกมองว่าเป็นหนึ่งในนักศึกษาชั้นยอดซึ่งเป็นคนรุ่นต่อไปที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในเมืองหลวง แต่ตัวเขาเองเติบโตขึ้นมาในภาคเหนือของเกาหลีเหนือช่วงปี 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความอดอยากครั้งใหญ่ของประเทศ มีผู้คนนับล้านเสียชีวิต ส่วนผู้ที่สิ้นหวังต่างหันไปหาสินค้าในตลาดมืด

แต่ตัวปาร์คเองได้สัมผัสกับชีวิตนอกประเทศเมื่อศึกษาอยู่ในประเทศจีน โดยเขาได้รับชมรายการโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ซึ่งถูกลักลอบนำเข้ามา ทำให้ตนเองได้เริ่มพิจารณาแนวคิดใหม่ ๆ ภายในหัวของเขา

เขาบอกกับสื่อของเกาหลีใต้ว่า เมื่อตนเองจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เขาก็ตระหนักว่า “ระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือนั้นผิดและคดโกงมากขนาดไหน” ดังนั้น เขาจึงบ่มแผนเอาไว้และรอจังหวะที่เหมาะสม

แล้วโอกาสนั้นก็มาถึงเมื่อเข้าสู่เดือน เม.ย. ปี 2009 ในขณะนั้นเกาหลีเหนือเพิ่งประสบความสำเร็จจากการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปลูกแรกได้ ซึ่งมันเป็นอาวุธที่เขาใช้เวลาสร้างนานนับปี เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้คนทั้งประเทศ “อยู่ในบรรยากาศการเฉลิมฉลอง” เขาเห็นว่านี่คือจังหวะที่เปิดช่องให้เล็ดลอดออกนอกประเทศได้ ปาร์คจึงอาศัยเสียงโห่ร้องยินดีเหล่านั้นช่วยกลบร่องรอยจนสามารถออกจากเกาหลีเหนือได้ในเช้าวันรุ่งขึ้น

การหลบหนีเป็นอีกบทพิสูจน์อันทารุณของชีวิต เขาเลือกเดินทางออกไปจีนซึ่งเป็นเส้นทางที่เร็วกว่าแต่มีค่าใช้จ่ายแพงมากถึง 7,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 250,000 บาท) เพื่อแลกมากับหนังสือเดินทางปลอมอันแสนห่วยที่ทางนายหน้าจัดหามาให้

แต่ในการให้สัมภาษณ์กับ NK NEWS ปีที่แล้ว เขาระลึกถึงความทรงจำช่วงนั้นและบอกว่าตนเองรู้สึกได้ว่าอาจได้รับอิสระแล้ว เมื่อตระหนักว่าได้เดินทางมาถึงแม่น้ำทูมันทางฝั่งจีน โดยเขามีความรู้สึกทั้งอิสระและสูญเสียในเวลาเดียวกัน และทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็น “เด็กกำพร้านานาชาติ”


ยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

อีกช่วงหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาเกิดขึ้นในเวลาต่อมา เมื่อได้รับหนังสือเดินทางเกาหลีใต้ มันเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดของเขา

เมื่อเทียบกับผู้แปรพักตร์คนอื่น ๆ จากทางเหนือซึ่งมีจำนวนประมาณ 35,000 คน ที่เข้ามาตั้งรกรากในเกาหลีใต้ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ถือว่าปาร์คปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ของเขาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยภูมิหลังของเขาที่มาจากครอบครัวชนชั้นนำและการศึกษาชั้นยอดของเขา

ปาร์คได้รับการยอมรับให้เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศ นั่นคือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ทำให้เขาได้รับปริญญาเอกสาขาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมาได้เข้าทำงานในบริษัทฮุนได สตีล ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานที่ทุกคนหมายปองและเป็นกลุ่มบริษัทที่มีอิทธิพลอย่างมากในเกาหลีใต้ จากนั้นไม่นาน พรรคของประธานาธิบดีก็มาเคาะประตูบ้านของเขา และเชิญชวนให้ลงการเมือง


ปาร์คบอกกับบีบีซีว่า ตนเองไม่เคยคิดเข้าสู่การเมือง แต่เมื่อพรรคพลังประชาชนหรือพีพีพี (People Power Party – PPP) ติดต่อเข้ามา ก็รู้สึกว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบแทนสังคม


คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เพิ่งตราหน้าว่าเกาหลีใต้เป็นรัฐศัตรู

ในฐานะผู้แทนหมายเลข 2 ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรครัฐบาล เขาเพิ่งได้รับการการันตีเก้าอี้ สส. ในการเลือกตั้งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของคะแนนเสียงที่ได้ในรอบนี้ถือว่าแย่มากสำหรับประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ซึ่งไม่เป็นที่นิยมของประชาชนอีกต่อไป รวมถึงพรรคของเขา

แต่ปาร์คเองกำลังก้าวไปข้างหน้าและมีแผนการที่ใหญ่กว่านั้น ขณะนี้เขาได้รับเลือกเป็น สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยก่อนหน้านี้พบว่ารัฐสภาของเกาหลีใต้มี สส. เป็นชาวเกาหลีเหนือมาแล้ว 2 คนแล้ว ซึ่งทั้งคู่มีโปรไฟล์เป็นบุคคลสำคัญ เช่น แท ยงโฮ ซึ่งเป็นผู้แทนจากย่านหรูของเขตกังนัม รวมทั้งยังเคยเป็นเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำสหราชอาณาจักร และตัดสินใจแปรพักตร์เมื่อสมัยดำรงตำแหน่งที่ลอนดอนในปี 2016

อีกคนคือนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชื่อว่า จี ซึงโฮ เขาเสียแขนและขาซ้ายไปตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นในปี 1996 เมื่อเขาและครอบครัวที่หิวโหยกำลังขโมยถ่านหินจากรถไฟ โดยเขาเป็นลมและตกลงไปในช่องว่างระหว่างตู้รถไฟ ล้อรถไฟทับขาขาด ต่อมาเขาหลบหนีจากเกาหลีเหนือด้วยไม้ค้ำยืน

ผู้แทนเหล่านี้พยายามปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้แปรพักตร์ให้ดีขึ้น เนื่องจากหลายคนบอกว่าถึงแม้พวกเขามีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าในเกาหลีใต้ แต่ลึก ๆ แล้วยังรู้สึกว่าตนเองถูกปฏิบัติราวกับเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ

นั่นจึงผลักดันให้จีลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2020 โดยรณรงค์หาเสียงเรื่องสิทธิของชาวเกาหลีเหนือ หลังจากมีกรณีผู้แปรพักตร์ถูกส่งกลับไปยังเกาหลีเหนือ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าลักลอบขนของเถื่อน

หนึ่งปีก่อนหน้านี้ แม่และลูกสาวชาวเกาหลีเหนือที่ยากจนถูกพบเสียชีวิตในอพาร์ทเมนท์กลางกรุงโซล โดยมีรายงานว่าอดอาหารตาย

ปาร์คกล่าวว่าหนึ่งในเป้าหมายของเขาคือการปรับปรุงความช่วยเหลือที่มีให้ชาวเกาหลีเหนือ เมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงเกาหลีใต้ และเขาพยายามผลักดันให้มันเป็นการช่วยเหลือตลอดอายุขัย โดยปาร์คกล่าวว่าตั้งแต่เกิดโรคระบาดขึ้นทำให้การอพยพของผู้มาใหม่หยุดชะงักลง ดังนั้นควรมีการจัดสรรงบประมาณด้านนี้ขึ้นมาใหม่

ส่วนตัวแล้วเขายังต้องการทิ้งรอยประทับไว้ในนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีด้วย โดยตัวเขาเองสนับสนุนท่าทีอันแข็งกร้าวของประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างเต็มที่ในการจัดการกับคิม จองอึน และการยั่วยุด้วยขีปนาวุธที่เพิ่มขึ้นของเขา

ในขณะที่บางคนบอกว่าเกาหลีเหนือมีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อท่าทีของประธานาธิบดียุนที่ใฝ่หาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดต่อสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แต่ปาร์คกลับปฏิเสธทฤษฎีดังกล่าว

“บางคนคิดว่าภัยคุกคามสงครามเพิ่มขึ้นตั้งแต่มีรัฐบาลที่นำโดยยุน แต่มันไม่จริง การยั่วยุนั้นแข็งแกร่งขึ้นภายใต้ทีมบริหารประเทศก่อนหน้านี้” เขาบอกกับบีบีซี

ปาร์คชี้ว่าการยิงขีปนาวุธและการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือนั้นเพิ่มมากขึ้นในช่วงการบริหารของประธานาธิบดีมุน แจอิน ซึ่งพยายามหาแนวทางที่ประนีประนอมมากขึ้นในการมีส่วนร่วมกับเกาหลีเหรือ แต่เขาเห็นว่าไม่ควรดำเนินการด้วยท่าทีเอาอกเอาใจอีกฝ่าย โดยปาร์คโต้ว่า “การปิดกั้นการยั่วยุของเกาหลีเหนือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และนั่นจะนำไปสู่การลดภัยคุกคามจากสงคราม”

เขาเชื่อว่าในที่สุดแล้วจะเกิดการรวมตัวระหว่างสองฝั่งคาบสมุทรขึ้น แม้ว่าในปีนี้ทางคิม จองอึน เพิ่งตราหน้าว่าเกาหลีใต้เป็นรัฐศัตรู และมีรายงานว่าเขาจะระเบิดซุ้มประตูขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสองเกาหลีที่จะมารวมกันในอนาคต

ปาร์คเองไม่ได้สิ้นหวัง เขามุ่งมั่นที่จะ “มีบทบาทเป็นสะพานเชื่อม” ในรัฐบาลเกาหลีใต้

“ผมต้องการช่วยให้ชาวเกาหลีใต้มองระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือและคนเกาหลีเหนือแยกออกจากกัน เพื่อส่งเสริมความคิดที่เอื้อต่อการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว”

https://www.bbc.com/thai/articles/cljdk4weeryo