ประเด็นร่าง กม.แรงงานของพรรคก้าวไกล ที่ว่าโดนรัฐบาลคว่ำอย่างไม่ยี่หระกับอะไรทั้งสิ้น รวมทั้งนโยบายเดิมของพรรคเพื่อไทยที่เคยหาเสียงว่าจะต่อสู้เพื่อผู้ใช้แรงงานนั้น อาจมีความสับสนอยู่บ้าง ดังที่ ส.ส.เดียร์ พยายามโต้ สุทธิชัย หยุ่น
ขัตติยา สวัสดิผล เขียนทวิตเตอร์โต้ว่า ‘หยุ่น’ สื่อสารผิด “พรรคร่วมรัฐบาลรับร่างกฎหมายฉบับของ ส.ส.วรรณวิภา ไม้สน ซึ่งเป็น ส.ส.จากพรรคก้าวไกล มาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ” ไม่แน่ใจว่าไม่ทราบคุณวรรณวิภาอยู่ก้าวไกลหรือเปล่า
ที่จริงไม่มีใครผิดทั้งคู่แหละ สุทธิชัยยืนกรานว่ารัฐบาลคว่ำร่าง ‘ทางการ’ ของพรรคก้าวไกล ซึ่งเสนอโดยเซีย จำปาทอง ที่เรียกว่า “ทำงาน-พักผ่อน-ใช้ชีวิต” หลักใหญ่ๆ อยู่ที่ให้นับการจ้างงานเป็นรายเดือน เท่ากับ ๓๐ วันรวมทั้งวันหยุด วันนักขัตฤกษ์
ทั้งนี้ให้ถือว่าการทำงาน ๑ สัปดาห์เท่ากับ ๔๐ ชั่วโมง หรือ ๕ วัน และให้ลาหยุดได้ปีละ ๑๐ วัน ซึ่งเก็บสะสมไว้ได้ถ้ายังไม่ใช้ (รวมแล้วไม่เกิน ๑ ปี) นอกนั้น ก็มีเรื่องสถานที่ทำงานต้องมีห้องสำหรับพนักงานให้นมลูกและปั๊มนมเก็บ
ส่วนฉบับที่เสนอโดย วรรณวิภา ไม้สน นั้นมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘สิทธิลาคลอด’ คือแก้ไขกฎหมายปัจจุบันจากลาคลอดได้เพียง ๙๘ วัน เพิ่มเป็น ๑๘๐ วัน และให้คู่สมรสลาได้ด้วย ๙๐ วัน นอกนั้นเชื่อว่ารวมเอาประเด็นหลักของฉบับเซียไว้ด้วย
แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้นไม่มีร่างกฎหมายเรื่องนี้ของตนเอง มีแต่ สส.เดียร์ที่ประกาศว่าสนับสนุนสิทธิลาคลอดเพิ่มเป็น ๑๘๐ วัน แต่เพื่อไทยยอมให้เหมาเอาร่างของพรรคภูมิใจไทยเป็นร่างของรัฐบาล จึงเกิดความลักลั่น เพราะแย้งกับจุดยืนของ ส.ส.เดียร์
@thestandardth รายงานจุดยืนของรัฐบาลผ่าน กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส. ภูมิใจไทย ซึ่ง “กล่าวถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ที่ให้ปรับค่าแรงตามอัตราเงินเฟ้อทุกปี อาจกระทบผู้ประกอบการ SMEs” ก็โดน ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายโต้
“เลิกมุดหัวอยู่หลัง SME ต้นทุนแรงงานเป็นเพียงต้นทุนส่วนหนึ่งของ SME...เวลาแรงงานเรียกร้องสิทธิขึ้นมา คุณก็เอาแต่โหน SME ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ” สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี ลุกขึ้นอภิปรายหลังจากร่างฉบับเซียถูกตีตก
จะว่าจุดยืนเรื่องแรงงานของพรรคเพื่อไทย เป็นไปตามที่มีคนทำกร๊าฟฟิคเปรียบเทียบ ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ว่าเพื่อไทยไม่เอาไหนเลย ทั้งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ลาหยุด หรือทำงาน ๕ วันต่อสัปดาห์ ก็ใช่
ดังนี้ หากไม่อยากถูกตราหน้าว่าเป็นพวกเดียวกับกระสือสูบเลือดแรงงาน ก็ต้องรีบปรับกระบวนแก้ไขเสียก่อนที่จะไปถึงวาระสอง วาระสาม เพราะร่างสองฉบับที่ผ่านวาระแรกแล้วนั้น ไม่มีทางปรับให้เข้ากันได้เลย
(https://twitter.com/malaniyomc/status/1765575414368571777, https://www.matichon.co.th/politics/news_4459038 และ https://thestandard.co/mfp-hope-for-labor-protection-act/)