Thanapol Eawsakul
13h·
ระหว่างมีชัย. ฤชุพันธ์กับรัฐธรรมนูญ 2560 คุณคิดว่าอะไรจะมีอายุยืนยาวกว่ากัน
...
อีกไม่นานรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่คนอย่างมีชัย ฤชุพันธุ์( 2481 อายุ 86 ปี) ได้วางยาเอาไว้ก็จะหมดบทเฉพาะการ
ขณะที่การเลือกวุฒิสภาก็เป็นไปด้วยความยุ่งยาก ทั้งนี้ก็เป็นหมากกลที่คนอย่าง มีชัย. ฤชุพันธุ์ ได้วางไว้
แต่ทุกสิ่งในการเมืองไทยคือความเป็นอนิจจลักษณะ
เกิดขึ้น. ตั้งอยู่. และดับไปทั้งสิ้น
เพียงแต่ว่า จะดับไปเมื่อใด
คุณคิดว่า ระหว่างมีชัย. ฤชุพันธุ์ กับรัฐธรรมนูญ 2560
ใครจะมีอายุยืนยาวกว่ากัน
.....
“บันทึกไว้กันลืม” เปิดไดอารี่ “มีชัย ฤชุพันธุ์”
กว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ’60
https://www.matichon.co.th/politics/news_2660545
.....
“บันทึกไว้กันลืม” เปิดไดอารี่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” กว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ’60
วันที่ 6 เมษายน 2564
มติชนออนไลน์
4 ปี ครบรอบการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560
รัฐธรรมนูญฉบับถูกร่างขึ้นในช่วงที่คสช.มีอำนาจ บริหารประเทศ หลังยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก่อนประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน จนนำไปสู่การแปลงรูป เปลี่ยนร่างคสช.ไปสู่การฟื้นระบบราชการ วางกลไกสืบทอดอำนาจ จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังสามารถครองอำนาจอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน
แม้ระยะเวลา 2 ปี หลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ จะมีความพยายามในการรื้อทิ้งแก้ไข แต่ด้วยกลไกตามบทบัญญัติที่ถูกวางไว้อย่างแน่นหนา รัดกุม การจะฝ่าด่านเสียงเห็นด้วยแบบมี “เอกภาพ” ของสมาชิกรัฐสภา จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยในสังคมที่มีความคิดต่างหลากหลายเช่นนี้
แน่นอนทั้งหมด เป็นประสบการณ์ล้วนๆของ นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ เนติบริกรคนสำคัญ ผู้ที่ถูกมอบหมาย ให้มารับหน้าที่นี้อีกครั้ง ในวัยเกือบๆ 80 ปี
จาก “นักกฎหมายหนุ่ม” ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ที่ถูก นายสมภพ โหตระกิตย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการกฤษฎีกา สั่งให้ติดสอยห้อยตามเข้าไปในสนามเสือป่า เพื่อเข้าไปร่างแถลงการณ์เตรียมการสำหรับการยึดอำนาจโค่นล้ม รัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ในเดือนตุลาคม 2520 เรื่อยมาจนมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 นายมีชัย ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องทั้งออกหน้า และลับหลังกับรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารเกือบทุกฉบับ
เช่นเดียวกับ รัฐธรรมนูญนี้
ใน “บันทึกไว้กันลืม” ที่ นายมีชัย เขียนไว้ในหนังสือ “ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560″ บันทึกความทรงจำ ของ 21 กรรมการกรธ. ยอมรับแต่ย่อหน้าแรกๆว่า มีส่วนเป็นผู้การันตี อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่า มีบารมีพอที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ หลังจากอ้างเรื่องอายุ ปฏิเสธการรับตำแหน่ง
แต่พอเกิดเหตุหักกันเองสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เห็นชอบ ร่างฉบับบวรศักดิ์ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีคือ “ใบสั่ง” จากผู้มีอำนาจ จนเกิดวลีอมตะที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” จึงทำให้ต้องมีชุดใหม่มารับไม้ต่อ
“เคราะห์กรรมมาถึงตัวเราอีกแล้วหรือนี่” เป็นประโยคแรกที่ นายมีชัย ระบุว่า แวบขึ้นมาในใจทันที เมื่อมีผู้ใหญ่ของคสช.โทรมาบอกว่า อยากให้รับหน้าที่เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ รับไม้ต่อจากชุดอ.บววรศักดิ์
“ผมได้ตอบผู้ใหญ่ท่านนั้นไปว่า ผมขอคุยกับนายกฯ ก่อน และเมื่อนายกฯ กลับจากต่างประเทศ ก็เชิญผมไปพบเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558 พร้อมกับบอกว่า ขอให้ไปช่วยเป็นประธาน กรธ. ผมถามท่านว่ามีความจำเป็นขนาดไหนที่ผมจะต้องไปทำ ท่านตอบว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจหลีกเลี่ยง เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เมื่อท่านตอบเช่นนั้น ผมก็หมดทางเลี่ยง ในฐานะคนไทยผมจะปฏิเสธได้อย่างไร ที่มีความรู้เป็นตัวเป็นตนอยู่ทุกวันนี้ก็ได้อาศัยทุนรัฐบาลไปเล่าเรียนมา บุญคุณนั้น ผูกพันอยู่ชั่วชีวิตที่จะต้องทดแทนต่อแผ่นดิน”
ถือเป็นการตอบรับ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ ขอร้อง พร้อมๆ “ตีกรอบ” ให้นายมีชัยไว้ 5 เรื่อง นอกเหนือไปบัญญัติ 10 ประการ ที่ถูกระบุไว้ใน มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ดังนี้
1.สากลยอมรับ แต่ต้องเป็นไทย 2. กลไกปฏิรูปและปรองดอง 3. ป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ 4. ปราบโกง และ 5.กลไกการมีประชาชนมีส่วนร่วม
กรธ.เริ่มต้นทำงานวันแรกในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 จากนั้น 3 เดือนเศษ ร่างเบื้องต้นก็ทำเสร็จ ในวันที่ 29 มกราคม 2559 ก่อนส่งให้ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น
ร่างแรกที่ออกมา “ไม่ถูกใจคสช.” เพราะ “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. เลขาธิการคสช. ได้ทำจดหมายเสนอปรับปรุงบทเฉพาะกาล บีบกรธ.ให้เปิดทางนายกฯคนนอกในช่วงเปลี่ยนผ่าน-ล็อคเก้าอี้ 6 ส.ว.ให้ผบ.เหล่าทัพ
“ข้อเสนอแนะจากคสช. มีข้อเสนอและข้อห่วงใยหลายประการ บางประการก็เสนอให้เปลี่ยนหลักการใหม่ในร่างที่จัดทำไปแล้ว กรธ.แต่ละคนก็หน้าหมองคล้ำ หวั่นวิตกกันไปต่างๆนานา เกรงว่าผมจะมาบังคับ กรธ.ให้ต้องแก้ไขไปตามข้อเสนอของคสช.ทั้งหมด ผมได้อธิบายให้กรธ. ฟังว่าคสช. ในฐานะที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ย่อมมีความเป็นห่วงกังวลถึงอนาคตของประเทศ และมีสิทธิเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ
“เรื่องใดที่กรธ. เห็นว่า มีเหตุมีผลอันสมควร และเป็นประโยชน์ก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะปฏิเสธ แต่ถ้าเรื่องใดที่กรธ.คิดว่า แก้ไขแล้วก่อให้เกิดผลเสีย หรือขัดต่อระบบโดยรวมที่กรธ.วางไว้ หรือกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน กรธ.ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไข และชี้แจงให้คสช.เข้าใจ ผมเชื่อว่า คสช.พร้อมที่รับฟังเหตุผล”
แฟ้มภาพ
แน่นอน กรธ.ยอม 2-3 ประเด็น แต่ได้แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เปิดทางให้สนช. แม่น้ำอีกสายของคสช. ตั้ง “คำถามพ่วง” ในการประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ถามประชาชนในสิ่งที่คสช.ขอมาแทน
นี่จึงเป็นที่มาทำให้ เสียงส.ว.เป็นปัจจัยสำคัญของการตั้งรัฐบาล เพราะซีกพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 พ่ายแพ้พรรคพลังประชารัฐ พรรคอันดับ 2 ในเกมรวมเสียง ทำให้ได้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง
นายมีชัย เล่าว่า เดิมตอนแรกที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ หลังชุดนายบวรศักดิ์ถูกคว่ำ ได้เสนอให้มีการทำ “ประชามติ” ด้วย
แต่ คสช.ลังเล เพราะมองว่า เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก และสิ้นเปลือง แต่คณะผู้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้พยายามอธิบายถึงความคุ้มกับการดำเนินการ เพราะจะไม่มีใครมากล่าวหาในภายหลังว่า คสช.เป็นผู้ทำเอง การทำประชามติจะได้ไปอธิบายให้ประชาชน หากเข้าใจเขาก็จะเป็นเกราะให้แก่ผู้ร่างและคสช.ได้
จนในที่สุด คสช.จึงเห็นดีเห็นงามด้วย แม้จะมีความกังวลอยู่บ้างก็ตาม
แต่ นายมีชัย ก็ยอมรับเช่นกันว่า ได้มาพบภายหลังว่า ข้อเสนอการทำประชามติ ได้สร้างความยากลำบาก เหนื่อยยากแสนสาหัสให้แก่ กรธ.เป็นอย่างมาก แต่ยังเคราะห์ดีที่องค์ประกอบของ กรธ.ได้ช่วยทำให้ความลำบากและเหนื่อยยากนั้น ผ่านพ้นมาได้ วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เมื่อผลประชามติมีผู้เห็นชอบกว่า 16 ล้านเสียง กรธ.ทุกคนจึงดีใจ โล่งใจ เสมือนยกภูเขาออกจากอก
จากนั้น ระหว่างเตรียมการลงมือทำกฎหมายลูก วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่เชื่อถือได้บอกว่า รัชกาลที่ 9 สวรรคตแล้ว
“เหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจ
“ผมนั่งสะอื้นอยู่พักใหญ่ จึงสามารถเล่าให้ที่ประชุมฟังได้อย่างกระท่อนกระแท่น พวกเราทุกคนต่างคนต่างก็นั่งนิ่งก้มหน้า สมองว่างเปล่า ขาวโพลน หมดปัญหาที่จะคิดอ่านอะไรได้ต่อไป จึงบอกเลิกประชุม”
นายมีชัย เล่าว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดินขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขึ้น 2 เรื่อง คือ “คำปรารภ” ในร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดรับกับแผ่นดินใหม่ กับ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์นั้น ร่างตามประเพณีที่อยู่ในรัชกาลที่ 9
“กรธ.หลีกเลี่ยงการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 2 อย่างที่สุด นานๆ จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมเล็กๆน้อยๆ แต่การแก้ไขเพิ่มเติม มิใช่เกิดจากความคิดขึ้นเองของผู้ร่าง หากแต่เกิดจากการบอกเล่าของท่านราชเลขาธิการ หรือองคมนตรี และเมื่อแก้ไขก็จะต้องส่งกลับไปให้ท่านราชเลขาธิการ หรือองคมนตรีได้ตรวจทานว่า ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่”
“แต่มีการผลัดแผ่นดินก่อนที่ขบวนการตรารัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จ บทบัญญัติทั้งปวงในหมวด 2 จึงเป็นการร่างตามประเพณีที่มีอยู่ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับประเพณีที่จะเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลใหม่ แต่กระบวนการได้ล่วงเลยไปถึงขั้นนายกฯได้นำร่างทูลเกล้าฯ จึงไม่มีช่องทางดำเนินการอย่างใดได้”
จึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้
โดย สนช.มีมติ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 เห็นชอบกับมาตรา 39/1 ใจความว่า “หากกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวันให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้นและประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน”
“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวนับเป็นทางออกที่แก้ไขปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนไปได้
“ที่สำคัญได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายกฯ เป็นผู้ดำเนินการแก้ไข เพราะก่อนจะขอรับร่างคืนมา นายกฯ จะต้องเป็นผู้เข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชข้องสังเกตว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใด จึงเป็นผู้รู้ดีว่า จะต้องแก้ไขอย่างไร” นายมีชัย ระบุ
นายมีชัย ยังเล่าด้วยว่า ก่อนหน้านั้นนั้นระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ ได้พบกับ ฟองสนาน จามรจันทร์ หรือ แม่หมอสมัครเล่น เธอพบหน้าแล้วบอกว่า การทำประชามติจะผ่านอย่างน่าแปลกใจ แต่เมื่อผ่านแล้วจะต้องแก้ไขถึง 3 หน จึงจะใช้ได้
“ผมฟังคุณฟองสนานแล้วก็นึกขำอยู่ในใจว่าผ่านประชามติแล้ว จะมาแก้ไขอะไรกันได้อีก ถ้าจะแก้ไขต้องแก้ไขเมื่อประกาศใช้แล้ว”
แต่เมื่อผ่านประชามติแล้ว นายมีชัย บอกว่า มีการแก้ไขถึง 3 ครั้งจริงๆ ครั้งแรก เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ครั้งที่สอง เป็นการแก้ไขคำปรารภเพื่อให้เป็นปัจจุบัน ครั้งที่สาม เป็นการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามข้อสังเกตที่พระราชทานมา
“เราได้ทราบข่าวด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณให้ประกอบพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งตรงกับวันจักรี”
นายมีชัย บอกว่า ในรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ มีการประกอบพระราชพิธีอย่างใหญ่เพียงแค่ 5 ครั้ง โดยรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นครั้งที่ 5 เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 และเป็นฉบับเดียวที่ผ่าน 2 รัชกาล โดยร่างในรัชกาลที่ 9 และมาประกาศใช้ในรัชกาลที่ 10
ทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของรัชกาลที่ 10 ด้วย
(https://www.matichon.co.th/politics/news_2660545)