วันพุธ, มีนาคม 27, 2567

ส่วนหนึ่งของบทความ รีวิว 2475 แอนิเมชั่น - ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ อาจเป็นหนังที่สร้างขึ้นมาเพื่อปลอบประโลม ตบหลังลูบไหล่คนที่ยังอยากเชื่อ อยากได้ยินในสิ่งที่ไม่มีใครพูดให้พวกเขาฟังอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้…”


ARM WORAWIT @armupdate

ส่วนหนึ่งของบทความ รีวิว 2475 แอนิเมชั่น

“…ก็อยากชวนตั้งคำถามว่า ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาที่มีคน ‘เห็นแย้ง’ สิ่งที่คุณๆ ชื่นชมหรือเชิดชู ก็เห็นขู่จะเอาพวกไปทำร้ายร่างกาย -และบางกรณีก็ไปทำร้ายร่างกายจริงๆ- หรือแม้แต่ยื่นฟ้องเอากฎหมายปิดปาก ฯลฯ อย่างนี้จะยังเรียกว่าเปิดกว้างให้ถกเถียงกันได้หรือไม่..”


“…คนอย่างลุงดอนที่เที่ยวมาทำตัวใจกว้าง บอกว่าความเห็นต่างนั้นอยู่ร่วมกันได้ หรือแม้แต่ทำทีเป็นผู้ถูกกระทำทั้งที่เป็นฝ่าย ‘มีซีน’ ในประวัติศาสตร์กระแสหลักตลอด ชวนให้นึกประโยคอื่นใดไม่ออกจริงๆ นอกจากคำว่า “ขอบคุณนะคะที่กล้าจะสอน”

“…คำตอบจึงอยู่แค่ ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ อาจเป็นหนังที่สร้างขึ้นมาเพื่อปลอบประโลม ตบหลังลูบไหล่คนที่ยังอยากเชื่อ อยากได้ยินในสิ่งที่ไม่มีใครพูดให้พวกเขาฟังอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้…

” คลิกอ่าน https://the101.world/2475-dawn-of-revolution/
.....
๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ : ขอบคุณนะคะที่กล้าจะสอน



พิมพ์ชนก พุกสุข 
20 Mar 2024

101 World

ผู้เขียนได้ยินข่าวคราวการทำแอนิเมชั่น ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ (2024) ก็เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง หลังมีการปล่อยตัวอย่างหนังซึ่งทีมงานแถลงว่า เป็นโปรเจ็กต์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากกลุ่มคนที่สนใจศึกษาเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กำกับโดย วิวัธน์ จิโรจน์กุล ที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินผลงานลำดับก่อนของเขาจากเพลง ‘ผีกาก้า’ เมื่อหลายปีที่แล้ว

และเมื่อพิจารณาจากการที่ตัวหนังมี ปราชญ์ สามสี และ ปัณฑา สิริกุล เป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ เราคงไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนพูดถึงท่าทีของหนังว่ามีน้ำเสียงแบบใด เพราะทั้งสองต่างก็ออกตัวว่าเป็นฝั่งขวาผ่านผลงานการเขียนทั้งโพสต์บนอินเทอร์เน็ตและหนังสือ เลยไม่น่าแปลกใจแม้แต่น้อยที่หนังจะมอง ‘คณะราษฎร’ ผู้ก่อการปฏิวัติเป็นกลุ่มที่เข้ามาทำลายความสุขสงบในแผ่นดินสยามทั้งปวง และในทางกลับกัน ก็มองว่าอีกฝั่งเป็นเหยื่อที่แสนผ่องแผ้วเหลือเกิน



‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เป็นแอนิเมชั่นความยาวสองชั่วโมงที่ให้ดูทางเว็บไซต์ยูทูบ หนังเปิดเรื่องด้วยบรรยากาศการประท้วงในปี 2563 กลุ่มเด็กหนุ่มสาว ตี๋, เมเจอร์และเบิ้ม เดินทางไปยังห้องสมุดวชิรญาณเพื่อหาข้อมูลประกอบการทำรายงานเรื่องความเป็นมาของรัฐธรรมนูญไทยตามที่อาจารย์สั่ง พวกเขาได้เจอ ลุงดอน ชายที่ดูเหมือนจะเป็นบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดซึ่งแนะนำหนังสือให้พวกเขา ก่อนจะแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ที่ดูจะเป็น ‘ประวัติศาสตร์อีกด้าน’ ให้ผู้มาเยือนฟัง ฝ่ายหลังจึงแสดงความเห็นจากข้อมูลที่พวกเขา ‘ได้รับมา’ แย้งกลับไปจนกลายเป็นการสนทนาว่าด้วยประวัติศาสตร์ 2475 ของคนสองรุ่น โดยหนังยังมีน้ำเสียงเชื้อเชิญ (และบางจังหวะก็เป็นการ ‘ท้าทาย’) ให้คนรุ่นใหม่ที่ดูไม่เชื่อข้อมูลจากลุงดอน เอาข้อมูลอื่นมาคัดง้างได้ตลอดเวลา

หนังไม่ปิดบังสายตาที่มีต่อคนรุ่นใหม่ เมเจอร์เป็นเด็กสาวใจร้อนที่บ่นอาจารย์ตั้งแต่ห้านาทีแรกของเรื่องที่ส่งให้เธอมาค้นหาข้อมูลในห้องสมุดเก่าๆ ที่ “ระบบการค้นหาก็ไม่มี” ทั้งที่เนื้อหาต่างๆ นั้นหาอ่านและดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ตก็ได้ ตี๋มีท่าทีท้าทายลุงดอนตลอดเวลา ขณะที่เบิ้มก็เป็นคนหมกมุ่นกับอินเทอร์เน็ตและการไลฟ์ ทั้งสามสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องอภิวัฒน์สยามกับลุงดอน และแน่นอนว่าล้วนถูกลุงลึกลับ ‘ตบเกรียน’ ด้วยข้อมูลอีกด้านที่พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อน!

ทั้งนี้ พ้นไปจากเรื่องข้อมูลต่างๆ แล้ว หากพูดถึงในเชิงการทำภาพยนตร์ความแม่นยำใดๆ คงหาจาก ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ไม่ได้มากนัก หลายอย่างเป็นข้อจำกัดจากเรื่องทุนและประสบการณ์การทำแอนิเมชั่นที่แน่นอนว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะปั้นแอนิเมชั่นออกมาสักเรื่อง พ้นไปจากเรื่องลายเส้นและการเคลื่อนไหวเรียบๆ หรือกระทั่งเทคนิคการคัตรับหน้าตัวละครที่กระโจนกลับไปกลับมาจนไม่รู้ว่าหนังอยากให้สายตาของคนดูอยู่ตรงไหน อุปสรรคสำคัญของแอนิเมชั่นเรื่องนี้คือมันแทบไม่มีชั้นเชิงการเล่าใดๆ นอกจากโยนข้อมูลย่อหน้าใหญ่ๆ ให้ตัวละครลุงดอนอ่าน 25 นาทีแรกของเรื่องจึงมีแค่เสียงลุงดอนเกริ่นเรื่องพระปรีชาสามารถของราชวงศ์จักรีที่ปกครองแผ่นดินสยามมาหลายชั่วอายุคน ผ่านงานภาพแบบกระจกสี (stained glass) เพื่อเน้นย้ำถึงยุคสมัยการล่าอาณานิคมจากตะวันตกซึ่งสยามประเทศหลุดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นก็จากความเฉลียวฉลาดแหลมคมของกษัตริย์องค์ก่อนๆ และการ ‘อ่านเกมขาด’ ของชนชั้นนำไทยในยุคนั้นว่าพวกยุโรปมุ่งแสวงหาสิ่งใด

ทันทีที่แอนิเมชั่นออกฉาย แน่นอนว่ามันเต็มไปด้วยเสียงชื่นชมว่าเต็มไปด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริง ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งด้านหนึ่ง หนังนำเสนอข้อมูลพื้นฐานบางอย่างที่ถูกบันทึกไว้ตามหน้าประวัติศาสตร์ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคมเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้มายาวนานที่สุด หรือคณะราษฎรจัดประชุมก่อตั้งคณะก่อนการปฏิวัติหลายปีที่ปารีส

กระนั้น เราก็ต้องมาแยกระหว่างข้อเท็จจริงหรือ fact ที่ปรากฏในเนื้อหา กับความเห็นหรือ opinion ของตัวหนังที่ปรากฏผ่านน้ำเสียงและสายตาต่อชนชั้นนำกับคณะราษฎร ดังที่กล่าวไปว่า ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เริ่มเรื่องด้วยการเชิดชูความสามารถของเหล่ากษัตริย์ในการปกปักษ์รักษาแผ่นดินช่วงที่ตะวันตกล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นประเด็นที่ ธงชัย วินิจจะกูล เขียนถึงไว้ใน ‘โฉมหน้าราชาชาตินิยม’ (2559) ว่า “ประวัติศาสตร์นิยมฉบับยกย่องเชิดชูกษัตริย์สยามราวกับว่าเป็นผู้นำในการต่อต้านเจ้าอาณานิคม กล่าวกันว่าเอกราชของสยามดำรงอยู่ได้เพราะความเป็นผู้นำและความสามารถทางการทูตที่ฉลาดล้ำของกษัตริย์เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัชกาลที่ 5 ความสำเร็จทางการทูตได้รับการยกย่องเกินจริงเพื่อการบริโภคกันเองภายในประเทศไทย เป็นที่รู้กันดีว่าสยามไม่ได้เสี่ยงที่จะสูญเสียเอกราชถึงขนาดที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยอ้าง” (หน้า 30)

เทียบกันกับสายตาที่หนังมีต่อคณะราษฎร เมื่อหนังตัดไปเล่าเรื่องขวบปี 2475 ที่เกิดการรัฐประหารนั้น หนังก็ฉายภาพคณะราษฎรด้วยท่าทีราวกับละครคุณธรรมใน TikTok ที่คนดูรู้ว่าใครเป็นตัวร้ายตั้งแต่เดินเลี้ยวเข้าซอย (ยังไม่ต้องพูดถึงการวาดให้ปรีดีมีสีหน้าเหมือนวายร้ายจากหนังเชยๆ ที่อมยิ้มด้วยสีหน้าเหี้ยมเกรียมตลอดเวลา) ด้วยซาวด์แทร็กสุดระทึกและงานภาพที่เล่าเรื่องราวกับว่า ปรีดี พนมยงค์ ประธานกลุ่มปฏิวัติ เป็นผู้ชักใยบงการความวุ่นวายทั้งปวง ผ่านภาพที่ใช้หมากรุกเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ (และการ ‘เดินหมาก’ ของปรีดี) กับหมึกยักษ์ที่ปรากฏตัวแทบทุกครั้งที่เราได้เห็นนายปรีดีบนจอจนเหมือนจะมาเร่ขายหมึกมากกว่าก่อการปฎิวัติ ซึ่งน่าสนใจที่หนังใช้หมึกยักษ์หรือ octopus เป็นสัญลักษณ์ของปรีดี เพราะเดิมทีนั้น หมึกยักษ์เคยถูกใช้เป็นภาพแทนการรุกราน ขยายอำนาจของกลุ่มคอมมิวนิสต์รัสเซียยุคสงครามเย็น สอดรับกับข้อเท็จจริงที่ว่าครั้งหนึ่ง ปรีดีเคยถูกฝั่งขวากล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ -ซึ่งก็ดูจะเป็นสิ่งที่แอนิเมชั่นเรื่องนี้พูดถึงอยู่เป็นระยะ

นอกจากนี้ นายทหารที่อยู่ฝั่งปฏิวัติยังถูกฉายภาพผ่านหนังให้เป็นพวกหัวรุนแรง เช่น มีฉากใช้ปืนจ่อคนที่ยังลังเลในการเข้าร่วมการปฏิวัติว่าจะ “อยู่ด้วยกันหรือไม่” ความเชยเฉิ่มเหล่านี้ไม่เพียงแต่บอกสายตาที่คนทำหนังมีต่อคณะราษฎร แต่ยังสะท้อน ‘รสนิยม’ ในการเล่าเรื่องและเสพสื่อต่างๆ ด้วย

ในทางกลับกัน ผู้ที่หนังจับจ้องด้วยสายตาอ่อนโยน เห็นใจตลอดเวลา คือรัชกาลที่ 7 (ให้เสียงโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช ที่ทำให้เรารู้ว่านักแสดงที่เก่งกาจไม่ใช่ว่าจะพากย์เสียงได้ดีทุกคน) และย้ำอยู่บ่อยครั้งว่า แม้จะไม่เกิดการปฏิวัติ แต่พระองค์ก็พร้อมพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ผองชาวไทยอยู่แล้ว (นำมาสู่วลีที่อยู่ติดตัวคณะราษฎรในหน้าประวัติศาสตร์เรื่อยมาอย่างการ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’) บทความ ‘การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน’ โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ระบุว่า “คำกล่าวที่บอกว่ารัชกาลที่ 7 ทรงเตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องจริง ปัญหาอยู่ที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้มีเนื้อหาที่มุ่งปรับเปลี่ยนการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ยังคงมุ่งรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ที่อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นสูงไว้ เพียงแค่ตั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนได้ และให้มีสภาที่มาจากการแต่งตั้งเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการบริหารราชการ”



‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ โดย คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ระบุถึงช่วงเวลาก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้ว่า “ขณะที่โลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำปี ๒๔๗๒ ข้อวิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พุ่งสู่ขีดสูงสุด เมื่อกลุ่มนักธุรกิจเสนอให้รัฐบาลช่วยประคับประคองระบบเศรษฐกิจ ทว่า พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารถแบบเสียดสี ‘ฟังดูตามนี้ก็แปลว่าต้องการให้รัฐบาลทำ 5 Year Plan [แผนห้าปี] อย่าง Soviet [โซเวียตรัสเซีย] นั่นเอง’ และใน พ.ศ. ๒๔๗๐ รัฐบาลของพระองค์กำหนดให้การสอนวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นความผิดทางอาญา” (หน้า 164)

“คณะราษฎรยึดอำนาจได้อย่างง่ายดาย แต่ในเบื้องลึกสถานการณ์ไม่ราบรื่น ช่วงค่ำของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้นเอง พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและผู้ใกล้ชิดประชุมกันเพื่ออภิปรายกันว่า ‘จะยอมทำตามข้อเรียกร้องของคณะราษฎรหรือจะต่อสู้’ ฝ่ายทหารในที่ประชุมต้องการเคลื่อนกำลังจากเขตภูธรเพื่อยึดพระนคร พระปกเกล้าฯ ทรงปฏิเสธกระทำการใดๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงจนมีการสูญเสียเลือดเนื้อ และทรงตัดสินพระทัยที่จะร่วมมือกับคณะราษฎร แต่ฝ่ายนิยมเจ้าก็ได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่จะยึดอำนาจคืน” (หน้า 166)

ขณะที่หนังพยายามฉายให้เห็นช่วงเวลาก่อนหน้าการเปลี่ยนอำนาจ ที่ฝั่งผู้ปฏิวัติดูหัวรุนแรง เจ้าอารมณ์และเอาแน่เอานอนไม่ได้ (เช่น หลายคนไม่ทราบแผนการทั้งหมด หรือตอบคำถามของชนชั้นนำเรื่องอนาคตหลังการปฏิวัติไม่ได้) ฝั่งสถาบันฯ กลับดูสงบนิ่งและสุขุมกว่า ครุ่นคิดถึงประชาชนเป็นหลักเสมอ

ถึงที่สุด จะคิดเห็นอย่างไรกับตัวหนังก็เรื่องหนึ่ง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ วาดภาพอุดมการณ์แบบ ‘ขวา’ ไว้ในแบบที่ชาวอนุรักษนิยมอยากเห็น (และอาจจะวาดภาพตัวเองเป็นแบบนั้น) นั่นคือเต็มไปด้วยผู้คนที่ยึดมั่นในหลักการ, ยืนเหยียดหลังตรง, ขึ้นหรือลงจากอำนาจอย่างสง่าผ่าเผย และตอบโต้กับผู้รุกรานหรือศัตรูด้วยความแน่วแน่ กล้าหาญต่อจิตวิญญาณของตัวเอง ทั้งลักษณะน่าเกรงขามแบบ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ หรือในลักษณะนุ่มนวลหนักแน่นอย่างรัชกาลที่ 7

ในทางกลับกัน ตัวละครฝั่งคณะราษฎรกลับเต็มไปด้วยคนที่มีบุคลิกขี้ขลาด, ไม่กล้าปะทะ หรือเจ้าเล่ห์เจ้ากล เหลี่ยมจัดอย่างที่หนังถ่ายทอดผ่านตัวละครปรีดีตลอดทั้งเรื่อง อันจะเห็นได้จากฉากที่ตัวละครทั้งสองฝั่งถกเถียงกันเรื่องร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี และการโต้กลับโดย ‘สมุดปกขาว’ ที่พยายามชี้ให้เห็นว่า ร่างเค้าโครงการของปรีดีนั้นมีลักษณะใกล้เคียงกับของรัสเซีย (ซึ่งแน่นอนว่าสมาทานแนวคิดคอมมิวนิสต์)

‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ เล่าถึงช่วงเวลานี้ว่า “นายปรีดีได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ มีข้อเสนอหลักชักชวนให้นำที่ดินทั้งหมดกลับมาเป็นของชาติโดยสมัครใจ ข้อเสนอดังกล่าวทำให้พระราชวังตระหนักตกใจ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระญาติว่า ‘ฉันฉุนเหลือเกิน อยากเล่นบ้าอะไรต่างๆ จัง แต่กลัวนิดหน่อยว่าพวกเจ้าจะถูกเชือดคอหมดเท่านั้น…เราอยู่ที่นี่ก็คิดแปลนอะไรกันต่างๆ จนหัวยุ่งเสมอ’ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์สมุดปกขาว ความเรียงฉบับยาวตอบโต้เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี โดยทรงเห็นว่า ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ ของนายปรีดีเป็น ‘อันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลิน ก็ตอบไม่ได้'” (หน้า 167)



หนังเล่าไปถึงช่วงเวลาการสิ้นสุดของคณะราษฎรและความเห็นที่ไม่ตรงกันของ ‘สี่ทหารเสือ’ อันเป็นต้นธารของความแตกแยกและล้มเหลวของคณะราษฎร ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็ไม่อาจนำพาชาติไปได้ไกลดังที่หวังได้ ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ พยายามชี้เห็นว่าความละโมบต่ออำนาจและความไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ตลอดจนไม่เข้าใจประเทศชาติและชาวไทย (ได้เท่าสถาบันพระมหากษัตริย์) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คณะราษฎรล้มเหลว

บทความ ‘การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน’ ชี้ว่า “งานวิชาการทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ 2475 หลายชิ้นในระยะหลังกลับชี้ให้เห็นว่า สาเหตุหลักที่ทำให้การปฏิวัติ 2475 ล้มเหลวในการสถาปนาประชาธิปไตย เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของคณะราษฎรที่ประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเดิมในระบอบเก่ามากเกินไป แทนที่จะผนึกรวมอำนาจให้เป็นปึกแผ่นและผลักดันนโยบายของตนเองอย่างเต็มกำลัง การประนีประนอมนี้น่าจะเกิดจากความรู้สึกไม่มั่นคงในฐานอำนาจของฝ่ายนิยมระบอบใหม่ บวกกับความรู้สึกที่ไม่อยากหักหาญกับชนชั้นสูงในระบอบเก่า โดยเชื่อว่า หากแสวงหาความร่วมมือน่าจะผลักดันระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยได้ราบรื่นมั่นคงกว่า” และ “การโจมตีคณะราษฎรแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าหวงแหนอำนาจและยึดอำนาจจากกลุ่มเจ้านายและขุนนางไปเป็นของกลุ่มตน โดยไม่พิจารณาความพยายามของขุนนางในระบอบเก่าที่ต้องการรวบอำนาจกลับไปไว้ที่ชนชั้นเจ้านายและขุนนางเช่นกัน จึงเป็นการมองประวัติศาสตร์แบบไม่รอบด้าน”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าพิศวงที่สุดสำหรับผู้เขียน คือท่าทีที่หนังมีต่อประวัติศาสตร์ 2475 เพราะหนังเล่ารายละเอียดราวกับข้อมูลที่ได้มานั้นเป็นข้อมูลกระแสรองซึ่งไม่มีใครเคยพูดถึง หรือแทบไม่ได้รับการบันทึกไว้ ทั้งที่ความจริงแล้ว รายละเอียดที่ปรากฏในหนังซึ่งมีลักษณะเชิดชูชนชั้นนำไทย ก็อยู่ในแบบเรียนของเด็กชั้นมัธยมศึกษาหรือฐานข้อมูลของราชการมายาวนานเหลือเกิน ยกตัวอย่างแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (หลักสูตรปี 2551) ก็ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้ว่า “ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งรับแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (หน้า 109)

จะพบได้ว่าคนที่ไม่เคยมีตัวตนในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก คือคณะราษฎรด้วยซ้ำ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าถ้าจะต้องมีตัวตนดังเช่นในแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ก็ต้องถูกมอบให้รับบทเป็น ‘วายร้าย’ ขณะที่อีกฝั่งคือเหยื่อผู้ถูกกระทำ ชวนให้คิดว่าสำหรับคณะราษฎรและอาจจะรวมถึงเรื่องราวการต่อสู้ของคนสามัญทั้งปวง ลำพังแค่จะถูกรัฐไทยยอมรับว่ามีตัวตนในการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยากและกินเวลาหลายปีเต็มที ทั้งแม้เมื่อถูกมองเห็น ก็อาจถูกบิดเส้นเรื่องให้กลายเป็นตัวร้ายอยู่ร่ำไป

หนังทิ้งท้ายด้วยฉากที่เด็กทั้งสามคนเดินออกจากห้องสมุด ตี๋ตั้งคำถามว่า หากคณะราษฎรล้มระบอบกษัตริย์ได้จริงๆ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เมเจอร์จึงตอบว่า “ก็คงเหมือนตอนที่รัชกาลที่ 7 เสด็จต่างประเทศมั้ง เหลือแต่คณะราษฎรปกครองประเทศ สุดท้ายก็แย่งอำนาจ กำจัดกันเอง” (ราวกับว่า ‘เจ้านาย’ และชนชั้นนำไม่เคยเลื่อยขาเก้าอี้เพื่อชิงอำนาจกันเองเลยแม้แต่ครั้งเดียว โถ่)

ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่ากลุ่มเป้าหมายของหนังคือใคร จะว่าดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้ทำความรู้จัก ‘ประวัติศาสตร์อีกด้าน’ ก็ไม่น่าใช่เพราะเต็มไปด้วยช่องโหว่ด้านข้อมูลให้โต้แย้ง หรือจะเป็นเด็กน้อยตัวเล็กๆ ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะยังนึกไม่ออกว่าทำไมเด็กๆ ทั้งหลายต้องเลือกมาการ์ตูนที่เล่าเรื่องแข็งทื่อเป็นซากไม้ซุง แทนที่จะเอาเวลาไปเอาใจช่วยสกีบีดีทอยเล็ตทางยูทูบ กอปรกับหน่วยงานทหารหลายแห่งเชิญชวนให้พลทหารและครอบครัวเข้าร่วมรับชมแอนิเมชั่น จนเกิดภาพสุดคัลต์ของเหล่าพลทหารที่นั่งหลังตรง เท้าชิดดูการ์ตูน

คำตอบจึงอยู่แค่ ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ อาจเป็นหนังที่สร้างขึ้นมาเพื่อปลอบประโลม ตบหลังลูบไหล่คนที่ยังอยากเชื่อ อยากได้ยินในสิ่งที่ไม่มีใครพูดให้พวกเขาฟังอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้

ทว่า สิ่งที่เห็นจะ ‘น่าเอ็นดู’ และแสนเศร้าที่สุดคือการที่ตัวละครฝั่งขวาอย่างลุงดอน พูดปิดท้ายเรื่องด้วยประโยคว่า “ความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันได้ คือความสวยงามของประชาธิปไตย” แล้วก็ชวนให้นึกถึงทุกครั้งที่มีความพยายามจะเสนอความเห็นต่างสวนทางต่อสิ่งที่รัฐไทยคิด ไม่มากก็น้อยหากไม่ได้รับแรงสะเทือนทางจิตใจ ก็อาจไปไกลถึงขั้นบาดเจ็บและล้มตาย แค่เพราะคิดไม่เหมือนสิ่งที่รัฐอยากให้คิดหรือเป็นในสิ่งที่รัฐไม่อยากให้เป็น หรือกระทั่งท่าทีของหนัง (และเหล่ากองเชียร์) ที่เชื้อเชิญให้คนที่ไม่เห็นด้วยเอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยน (เพราะรู้สึกว่าหนังช่าง ‘แม่นยำและลงลึก’ ด้านข้อมูลเสียเหลือเกิน) ก็อยากชวนตั้งคำถามว่า ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาที่มีคน ‘เห็นแย้ง’ สิ่งที่คุณๆ ชื่นชมหรือเชิดชู ก็เห็นขู่จะเอาพวกไปทำร้ายร่างกาย -และบางกรณีก็ไปทำร้ายร่างกายจริงๆ- หรือแม้แต่ยื่นฟ้องเอากฎหมายปิดปาก ฯลฯ อย่างนี้จะยังเรียกว่าเปิดกว้างให้ถกเถียงกันได้หรือไม่

คนอย่างลุงดอนที่เที่ยวมาทำตัวใจกว้าง บอกว่าความเห็นต่างนั้นอยู่ร่วมกันได้ หรือแม้แต่ทำทีเป็นผู้ถูกกระทำทั้งที่เป็นฝ่าย ‘มีซีน’ ในประวัติศาสตร์กระแสหลักตลอด ชวนให้นึกประโยคอื่นใดไม่ออกจริงๆ นอกจากคำว่า “ขอบคุณนะคะที่กล้าจะสอน”

https://www.the101.world/2475-dawn-of-revolution/