วันพุธ, มีนาคม 27, 2567

ช่วยกันหาตัวแทนครอบครัว เตรียมไป "สมัครเพื่อโหวต" เลือกสว. "1 บ้าน 1 ผู้สมัคร"


iLaw
9h·

สนามการคัดเลือก #สว67 มีความท้าทายมากเพราะวิธีการที่จะใช้คัดเลือกที่ไม่เคยใช้มาก่อนที่ใดในโลก และกำลังจะทดลองจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยอาจเรียกระบบนี้แบบสั้นๆ ได้ว่า เป็นระบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” ในหมู่ผู้สมัคร ซึ่งไม่ใช่การเลือกตั้งที่ประชาชนทั่วไปมีสิทธิออกเสียงและมีส่วนร่วมในการตัดสิน
การออกแบบให้ผู้สมัครต้องจับสลากเพื่อแบ่งสายและเลือกไขว้ข้ามกลุ่มทำให้วางแผนคาดการณ์ใดๆ ล่วงหน้าไม่ได้ ข้อเสียของระบบนี้ คือ ทำให้ผู้ผ่านการคัดเลือกไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริงของคนกลุ่มใดเลย แต่ก็กลายเป็นข้อดี คือ สำหรับผู้ที่มีอิทธิพลเส้นสายและอิทธิพลทางการเงิน ก็ไม่ง่ายที่จะเอาเปรียบผู้สมัครคนอื่นได้ ระบบนี้จึงยังเปิดกว้างให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาได้หลากหลาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความหมายกับผลลัพธ์ได้มาก
แม้คนไทยจำนวนหลายล้านคนจะถูก “กันออก” จากระบบการคัดเลือกสว. ไม่ให้มีส่วนร่วมในฐานะผู้สมัครได้ ด้วยตัวกรองคุณสมบัติที่เข้มข้น แต่ทุกคนยังสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่างเพื่อมีส่วนร่วมในกระบวนการสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ตัวอย่างเช่น การหาตัวแทนผู้สมัครบ้านละหนึ่งคน
เนื่องจากคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครเขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า ห้ามทุกคนลงสมัครสว. พร้อมกันกับสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุพการี หมายถึง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ตามกฎหมาย คู่สมรสตามกฎหมาย และบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมพี่น้องหรือญาติคนอื่นๆ) ซึ่งกติกานี้เขียนขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครหนึ่งคนจัดการให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวไปสมัครพร้อมกันเพื่อลงคะแนนเลือกตัวเอง ดังนั้น หากสมาชิกในครอบครัวเดียวกันมีความประสงค์จะลงสมัครพร้อมหลายคน ไม่ว่าจะสมัครเพื่อจะเป็นสว. หรือสมัครเพื่อโหวต หรือสมัครเพื่อจับตา จึงต้องพูดคุยตกลงกันส่งตัวแทนไปสมัครได้เพียงหนึ่งคน
ผู้สมัครหนึ่งคนจึงมีสถานะคล้ายกับเป็น “ตัวแทนของครอบครัว” ที่จะเข้าไปทำหน้าที่สำคัญ ทั้งการลงคะแนน การจับตา หรือการทำหน้าที่เป็นสว. หากได้รับเลือก สมาชิกคนอื่นในครอบครัวที่อาจไม่มีคุณสมบัติและสมัครไม่ได้ ก็สามารถนำข้อมูลไปเปิดบทสนทนาระหว่างกันภายในครอบครัวและส่งตัวแทนของครอบครัวไปลงสมัครสว. หนึ่งคนในรอบนี้เพื่อใช้สิทธิแทนคนที่สมัครไม่ได้ โดยสมาชิกในครอบครัวอาจจะช่วยกันทำการบ้านศึกษาข้อมูลของผู้สมัครคนอื่นๆ ว่าควรจะตัดสินใจลงคะแนนอย่างไรก็ได้
ดูเพิ่มเติมว่า เราสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง (https://www.ilaw.or.th/articles/22551)
ถ้ายังไม่เข้าใจระบบการเลือกที่จะเกิดขึ้น ดูที่นี่นะ (https://www.ilaw.or.th/articles/6002)