วันเสาร์, มีนาคม 30, 2567

อำนาจของสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกปิดกั้นมากกว่าสองชั้น ชั้นแรก สว.ตู่ตั้ง ชั้นสองสำนักเลขาฯ รัฐสภา และชั้นสามศาลรัฐธรรมนูญนั่นละ

ว่าไปแล้วกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.๒๕๖ ให้นำไปสู่การเลือกตั้ง สสร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง มีการ ปิดกั้นอำนาจ มากกว่า ๒ ชั้นตามที่ ส.ส.ธีรัจชัย (ก้าวไกล) อภิปราย แต่มีชั้นที่สามหมกเม็ดอยู่ด้วย

คือนอกจากปิดกั้นโดย สว.ตู่ตั้ง ที่งดออกเสียง ๑๗๐ คน และปิดกั้นโดยข้าราชการประจำ ที่สำนักเลขาธิการรัฐสภา ที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ไม่ยอมบรรจุร่างของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเข้าวาระประชุม อวดรู้ตีความศาลรัฐธรรมนูญว่าสั่งให้ทำประชามติก่อน

การประชุมรัฐสภาเมื่อ ๒๙ มีนา “มีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัย” ว่าสภาฯ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาลงมติได้เลยว่า สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร.เลย หรือว่าต้องไปทำประชามติก่อน

เช่นนี้ทำให้กระบวนการทั้งหมดต้องผ่านประชามติ ๓ ครั้ง คือก่อนทำอะไรทั้งสิ้น ก่อนมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ และหลัง สสร.ทำรัฐธรรมนูญเสร็จ ซึ่งร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลคล้ายคลึงกัน โดยให้มีการทำประชามติเพียงสองครั้ง ก่อนและหลังสภาร่างฯ

ดูจากผลการลงมติให้ส่งถามศาลรัฐธรรมนูญก่อนนั้น จำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งล่างและบน ๖๖๔ คน เห็นด้วย ๒๓๓ คน หลักใหญ่ๆ เป็นพรรคเพื่อไทยและรวมไทยสร้างชาติ ไม่เห็นด้วย ๑๐๓ เสียงเป็นพรรคก้าวไกลและฝ่ายค้านบางส่วน

แต่ที่งดออกเสียง ๑๗๐ รายไม่พ้นพวก สว.ที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยแม้แต่น้อย กลุ่มนี้เองที่ปิดกั้นอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่างฉบับใหม่ของสภาผู้แทนฯ ที่ไปคล้องจองกับสำนักเลขาฯ และประธานรัฐสภาที่เต้นตาม

สมกับที่ ส.ส.ธีรัจชัย พันธุมาส อภิปรายว่า ขอให้ประธานสภากล้าหาญกว่านี้ ในการยืนยันอำนาจของเราเอง “ความสง่างามของประธานสภาไปไหน กลัวอะไรนักหนา ถ้าเป็นตัวของตัวเองและมั่นใจในอำนาจนิติบัญญัติสามารถยื่นญัตติเข้าพิจารณาได้เลย

หยุดขี้ขลาดได้แล้ว...ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญหรอกครับ” และถ้าว่าตามที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.ก้าวไกลอีกคนอภิปรายว่า “การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกแต่งตั้งจากกลุ่มคนที่ไม่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐

จะไม่เป็นคุณต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/pfbid02F6zeakwLS9l และ https://www.facebook.com/iLawClub/posts/pfbid02J7wXB1oPDUl)