วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2567

เปิดตัว 29 ว่าที่ผู้สมัคร สว. ฟังเหตุผล “คนธรรมดา” อยากเข้าไปในวุฒิสภาเพื่ออะไร



เปิดตัว 29 ว่าที่ผู้สมัคร สว. ฟังเหตุผล “คนธรรมดา” อยากเข้าไปในวุฒิสภาเพื่ออะไร

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
27 มีนาคม 2024

บุคคลจากหลากหลายแวดวงเปิดตัวพร้อมลงสมัครรับเลือกเป็น สว. โดยหนึ่งในเป้าหมายที่ทำให้พวกเขาอยากเข้าไปทำหน้าที่ในวุฒิสภาคือ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถือเป็น “จุดยืนของแต่ละคนที่อาจเห็นพ้องต้องกันมากที่สุด”

ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 29 คน เข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 2516 ช่วงเช้าวันนี้ (27 มี.ค.) ก่อนประกาศเจตนารมณ์พร้อมลงชิงเก้าอี้ สว. ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ อดีตข้าราชการ อดีตผู้พิพากษา ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม หมอ ศิลปิน นักเขียน และนักข่าว

หนึ่งในนั้นคือ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้ประกาศตัวเป็นคนแรก ๆ ว่าขอลงสมัคร สว. เพื่อ “เข้าไปแก้และรื้อรัฐธรรมนูญ”

“ผมเห็นว่าระบบกฎหมายในประเทศไทยวันนี้ ผิดเพี้ยนไปจากหลักการประชาธิปไตย ถูกบิดผันไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง เอื้อต่อผู้มีอำนาจ จนประชาชนโดยทั่วไปเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระที่ไม่ได้ทำงานเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร แต่กลับกลายเป็นกลไกเครื่องมือหนึ่งของฝ่ายบริหาร” พนัส อ่านคำแถลงจุดยืนของเขาในระหว่างร่วมเปิดรายชื่อผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. 42 คน ทว่ามีเพียง 29 คนที่มาเปิดหน้าต่อสื่อมวลชน โดยมีเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญเป็นผู้ประสานงาน

นักกฎหมายวัย 82 ปี ซึ่งผ่านการทำหน้าที่ สว. ปี 2543 และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ฉบับปี 2540 ยืนยันว่า การลงสมัครเป็น สว. ชุดใหม่ มิได้เป็นไปเพื่อแสวงหาอำนาจ แต่มุ่งหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อผลักดันและยืนยันหลักการประชาธิปไตย

พนัส ตระหนักดีว่า ระบบการคัดเลือก สว. ในปัจจุบัน ยังไม่ยึดโยงกับประชาชนเพียงพอ ไม่สามารถทำให้ได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชนที่หลากหลายครบถ้วน แต่ “การลงสมัครครั้งนี้เป็นหนทางเดียวเท่าที่มีในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามหลักการประชาธิปไตย”


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (ขวา) มอบดอกไม้ให้กำลังใจ พนัส ทัศนียานนท์ ในโอกาสประกาศตัวลงสมัคร สว.

จุดต่าง สว. 2 ชุด จาก “ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” VS “ผู้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ”

นอกจาก พนัส ยังมีผู้ประกาศตัวลงสมัคร สว. อีกหลายรายประกาศจุดยืนสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ หรือ “ปิงปอง” โปรดิวเซอร์เพลง และอดีตศิลปินวง “ละมุนแบนด์” ซึ่งปัจจุบันเปิดช่องยูทิวบ์ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับดนตรี กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีกติกาที่ค่อนข้างประหลาด อาจไม่จำเป็นต้องมีความรู้อะไรมาก เราก็รู้สึกได้ว่ามันประหลาด ณ วันนี้ สว. ชุดเก่ากำลังจะหมดวาระลง ตอนนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ภาคประชาชนจะเข้ามาแก้ไขที่ต้นเหตุได้

“เราเข้ามาสมัคร สว. ไม่ได้เพื่อมาเป็น สว. ไม่ได้มาเพื่อตำแหน่งทางการเมือง แต่ต้องการเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงกติกาของประเทศนี้ให้มีความเป็นสากล และถูกต้องในสายตาของประชาชนมากขึ้น” ศิริศักดิ์ กล่าว

เช่นเดียวกับ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวประชาไท และผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ ที่บอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เธอ “มุ่งมั่น” และเป็น “จุดสำคัญแน่ ๆ” ในการเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย และเหมือนจะเป็นจุดยืนของแต่ละคนที่อาจเห็นพ้องต้องกันมากที่สุด แต่ไม่ใช่จุดยืนร่วมกันของผู้ประสงค์จะลงสมัคร สว. ที่มาเปิดตัวในวันนี้

จีรนุช ซึ่งตั้งใจลงสมัครในกลุ่มสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ถ้าดูในรอบหลายปีที่ผ่านมา เวลาไปพูดในสภา สว. ที่บอกว่าจะไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญเลย ไม่เคยได้ยิน แต่เขาบอกว่าจะแก้ได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไข.... จึงเชื่อว่าเวทีของรัฐสภาควรเป็นเวทีที่พูดคุยกันได้และหาข้อสรุปเพื่อนำประเทศไปในทิศทางที่ต้องการได้มากที่สุด

“ยินดีต้อนรับความหลากหลาย สายอนุรักษนิยมก็ยังเป็นความหลากหลายหนึ่งในสังคมไทย” จีรนุช กล่าว

ด้าน หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) เดอะอีสานเรคคอร์ด ผู้เสนอตัวลงสมัคร สว. กลุ่มสื่อสารมวลชนเช่นกัน เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็น “รัฐธรรมนูญที่พิกลพิการ” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปแก้ไข อาจไม่เรียกว่ารื้อ แต่ต้องทำให้มันดีขึ้นเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย


มีชัย ฤชุพันธุ์​ และรัฐธรรมนูญที่เขายกร่าง

รัฐธรรมนูญ 2560 จัดทำขึ้นในบรรยากาศหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดยมีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เป็นผู้ยกร่าง ก่อนนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ 7 ส.ค. 2559 ทั้งนี้ในช่วงจัดทำรัฐธรรมนูญ เลขาธิการ คสช. ได้ส่งหนังสือถึงประธาน กรธ. ขอให้ปรับปรุงเนื้อหารัฐธรรมนูญจากร่างแรกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ หนึ่งในประเด็นที่ คมช. ให้ปรับแก้คือ ให้มี สว. 250 คน, มาจากการคัดสรรหรือแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ, มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี, ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมและ ผบ.เหล่าทัพ 6 คน เป็น สว. โดยตำแหน่ง พร้อมระบุชัดเจนว่า สว. “มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

กรธ. เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “รายการคุณขอมา” และเป็นที่มาของการเขียน “บทเฉพาะกาล” กำหนดให้มี สว. 200 คนซึ่งมีที่มาตามความประสงค์ของ คสช. แต่ขอทดสอบระบบ สว. กลุ่มอาชีพที่บัญญัติไว้ใน “บทหลัก” 50 คน ทำให้ สว.ชุดเฉพาะกาลกลายเป็น “สว. ลูกผสม”

ในขณะที่ สว. ชุดปัจจุบัน 250 คน ถือเอาภารกิจ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เป็นหน้าที่ แต่ว่าที่ผู้สมัคร สว. ชุดใหม่หลายคนในกลุ่มนี้ ประกาศว่าขอเข้าสภาเพื่อไป “รื้อ-แก้ไขรัฐธรรมนูญ” จึงน่าสนใจว่าพวกเขาประเมินแรงต้านของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างไร

หทัยรัตน์ กล่าวว่า เธอโดนฝ่ายความมั่นคงติดตามตัวในพื้นที่ภาคอีสานมาตลอด โดนตามจนชิน ตอนนี้ก็กลายเป็นเพื่อนกันไปแล้ว “ถามว่าเรากลัวไหมว่าเขาจะสกัดกั้นเรา ก็ต้องบอกว่ากลัว แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด เราต้องการเข้าไปทำหน้าที่ในสภาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล แต่ถ้าที่สุดแล้วไม่ได้เข้าไป เราก็จะเอาข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์กระบวนการเลือก สว. มาเขียนหนังสือเล่มใหม่ เพราะกระบวนการมันซับซ้อนมาก ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามีความเคลื่อนไหวในการขายตัว อย่างน้อยก็เขียนบทความได้ชิ้นหนึ่ง”

ขณะนี้ บก.บห. เดอะอีสานเรคคอร์ด อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะลงสมัครที่อำเภอใด ซึ่งเธอเลือกสมัครได้ทั้ง อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู, อ.เมือง จ.ขอนแก่น, อ.เมือง จ.อุดรธานี และเขตหลักสี่ กทม.

เธอระบุว่า ได้ยินข่าวว่าบางพื้นที่เริ่มมีความเคลื่อนไหวในกระบวนการ “จัดตั้ง” และเตรียมการ “บล็อกโหวต” แล้ว ซึ่งในสายสื่อมวลชน มีฝ่ายการเมืองไปหาบุคลากรจากเครือข่ายวิทยุชุมชนซึ่งมีทุกจังหวัด ส่วนกลุ่มสตรี และกลุ่มการสาธารณสุข ก็ดำเนินการผ่านกลไกอาสาสมัครที่ค่อนข้างเข้มแข็งและลงลึกทั้งระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังได้ยินข่าวด้วยว่า มีผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษาลงพื้นที่เพื่อขอให้อดีตข้าราชการครูลงสมัครแล้วไปโหวตเลือกตัวเอง

ขณะที่ พนัส ประเมินแรงต้านของชนชั้นนำเก่าว่า ขึ้นอยู่กับการคัดเลือก ถ้าแรงต้านจากภาคประชาชนมีมาก ผลที่ออกมา เขาก็ไม่ได้เป็นเสียงข้างมากใน สว. แต่ถามว่าเขาจะใช้วิธีใด อันนี้ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ จึงเรียกร้องเชิญชวนให้คนที่รักประชาธิปไตยออกมาลงสมัคร สว. กันให้เยอะ ๆ ไม่เช่นนั้นจะต้านทานเขาไม่ได้แน่นอน


หทัยรัตน์ พหลทัพ บอกว่าใช้เวลาตัดสินใจเป็นเดือนว่าจะมาเปิดตัวก่อนหรือไม่ เนื่องจากกังวลเรื่องการถูกสกัดกั้น

มนุษย์ประวัติศาสตร์


กระบวนการเลือก สว. ชุดใหม่ 200 คน จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. นี้ แทน สว. ชุดเฉพาะกาล 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ สว. ต้องผ่านระบบ “เลือกกันเอง” ของแต่ละกลุ่มอาชีพรวม 20 กลุ่ม และ “เลือกไขว้” กลุ่มอาชีพที่จับสลากแล้วอยู่ในสายเดียวกัน โดยคนที่จะหลุดเข้าสภาสูงได้ต้องเป็นผู้ถูกเลือกถึง 3 ระดับจากอำเภอ จังหวัด และประเทศ

ด้วยกระบวนการที่แม้แต่ผู้จัดการเลือกอย่างเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังยอมรับว่า “ซับซ้อนที่สุดในโลก” และถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกของโลก ทำให้ผู้สมัคร สว. รุ่นแรกถูกมองว่าเป็น “มนุษย์ประวัติศาสตร์”

สำนักงาน กกต. เคยทดสอบระบบนี้มาแล้วในการเลือก สว. ชุดเฉพาะกาลเมื่อปี 2561 โดยจัดให้มีการเลือก สว. กลุ่มอาชีพ 10 กลุ่ม เพื่อเฟ้นหา 200 คน ก่อนส่งรายชื่อให้ คสช. เคาะเหลือ 50 คนสุดท้าย เข้าไปทำหน้าที่ในสภาสูงร่วมกับ สว. อีก 194 คนที่มาจากการเลือกของคณะกรรมการสรรหาซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. และอีก 6 คนเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพ (ผบ.เหล่าทัพ) ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็น สว. โดยตำแหน่ง

ภารกิจแรกของ สว. ชุดดังกล่าวคือ ร่วมลงมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 ส่วนภารกิจล่าสุดของ สว. ชุดนี้คือการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โดยไม่ลงมติ ซึ่งวุฒิสภาชุดนี้ไม่เคยยื่นญัตติเช่นนี้เลยตลอดวาระของรัฐบาลประยุทธ์



ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ. และอดีตรองอธิการบดี มธ. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ไม่เคยคิดว่าจะเข้ามาสู่กระบวนการนี้ได้ เพราะถ้าจะทำงานการเมืองต้องหาเสียง แต่พอดูรายละเอียดการสมัครเป็น สว. เขาห้ามหาเสียงเลย ก็รู้สึกว่ามันประหลาด แต่เมื่อลองมองในมุมกลับว่า ถ้าอย่างนั้นเราต้องใช้ชื่อเสียงของแต่ละคนที่มี เราเป็นครูบาอาจารย์ก็มีลูกศิษย์ลูกหา เคยให้สัมภาษณ์สื่อบ้าง คนก็คงพอรู้จัก และมีจุดยืนทางการเมืองในระดับหนึ่ง

“ถ้าพอช่วยตรงนี้ได้ ก็คงเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ คงไม่มีอีกแล้ว จากนี้เขาคงต้องเปลี่ยนระบบใหม่เพราะมันไม่เวิร์กหรอก ส่วนเราก็น่าจะเป็นมนุษย์ประวัติศาสตร์ เพราะคงไม่มีที่ไหนในโลกที่ทำแบบนี้” ศ.ดร.ธเนศ กล่าว

อาจารย์ธเนศ เป็นอีกคนที่เปิดหน้า-เปิดตัวลงสมัคร สว. เพราะต้องการเข้าไปเป็นกลไกเล็ก ๆ ในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เขาหวังว่าจะมีส่วนช่วยเคลื่อน “อิฐก้อนแรกที่ขวางกั้นพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย” ออกไปได้

เมื่อมองผ่านสายตาของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ศ.ดร.ธเนศ เห็นว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2557 ที่ฝ่ายอำนาจเก่าใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการรักษาอำนาจและระเบียบการปกครอง พยายามต่อต้านการเปลี่ยนแปลง โดยยอมรับการเปลี่ยนแปลงแบบจารีตเท่านั้น แต่ต่อต้านเปลี่ยนแปลงแบบก้าวหน้า เป็นประวัติศาสตร์ที่สมควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด

เขากล่าวว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2566 ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จำนวน 14 ล้านเสียง แสดงให้เห็นว่าคนจำนวนมากในประเทศต้องการความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง ท่ามกลางความไม่น่าเป็นไปได้ มันมีประสบการณ์ที่เป็นจริง เพิ่งเกิดขึ้น และพิสูจน์ว่าพรรคและการเมืองแบบอุดมการณ์ใหม่มันมีที่ทาง ส่วนตัวจึงคิดว่าต้องมีคนมาเป็นโหวตเตอร์ให้ สว. แล้วช่วยกันผลักดันความเปลี่ยนแปลงนี้

“ผมคิดว่าถ้าเราลงสมัคร น่าจะมีคนจำนวนมากเห็นด้วย ก็เลยหวังว่าคนพวกนี้ต้องกระจายไปทั่วประเทศ จะเลือกในกลุ่ม ไขว้กลุ่มอย่างไร ยังไงต้องเจอกันบ้าง หากทำได้ก็จะเกิดสิ่งน่าอัศจรรย์ในกระบวนการคัดสรร สว. ที่เขาคิดว่าวางแผนมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ไม่ประสบความวามสำเร็จ ไม่เป็นตามนั้น คนคิดต้องช็อกแน่” ศ.ดร.ธเนศ วัย 75 ปี กล่าว


ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ระบุว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะลงสมัคร สว. แต่ที่เข้ามาเพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ด้วยระบบสุดซับซ้อน จึงไม่มีอะไรการันตีว่าคนมีชื่อเสียงจะไม่นำต้นทุนที่สั่งสมมาทั้งชีวิตมาทิ้งในสนามนี้ จากตั้งใจเข้าไปเป็น สว. เพื่อการเปลี่ยนแปลง บางคนอาจกลายเป็น สต. (สอบตก) หากไม่ผ่านค่ายกลทางกฎหมาย-การเมือง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์ธเนศ ผู้เกษียณอายุราชการแล้ว บอกว่า ไม่รู้สึกกังวลเรื่องการต้องเสียโปร์ไฟล์ เพราะคนทั่วไปคงจำตัวเขาไม่ได้ได้อยู่แล้ว ส่วนคนที่รู้จักในฐานะอาจารย์และนักประวัติศาสตร์ เชื่อว่าจะเข้าใจว่ามันมีความจำเป็นต้องทำ เพราะส่วนตัวไม่เคยมีความคิดอยากเป็นนักการเมือง หรือเป็น สว. ไม่มีความคิดกระเดียดไปทางนั้นเลย แม้ตอนเป็นผู้บริหารคณะและมหาวิทยาลัยก็ไม่เคยสะสมหรือสร้างเครือข่ายใด ๆ จึงคิดว่าไม่ว่าสอบได้หรือสอบตก ก็คงจะรอดพ้นจากคำครหาต่าง ๆ

ด้าน พนัส วัย 82 ปี หัวเราะร่วนแทนคำตอบเมื่อถูกถามถึงการได้เป็น “มนุษย์ประวัติศาสตร์” จากการลงสมัคร สว. ด้วยระบบที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกในโลก แต่เขายอมรับว่า “กังวลแน่นอน” กับกระบวนการที่อาจเกิดขึ้น

“แต่ถ้าสุดท้ายถ้าเขามาบล็อกผมได้ เราก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นความผิดของเรา ไม่ได้ทำให้ผมเสียชื่อเสียง เรารู้อยู่แล้วว่าระบบมันเป็นอย่างนี้ โอกาสเกิดปัญหาแบบนี้มี ซึ่งตอนนี้ข้อมูลก็เริ่มออกมาแล้ว” พนัส บอกกับบีบีซีไทย

เปิดตัวเพื่อให้เกิดปรากฏการณ์ ไม่ได้จัดตั้งกลุ่ม



สำหรับผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. รายอื่น ๆ ที่มาเปิดตัวในวันนี้ อาทิ ศาตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., ศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ อดีตอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่, นพ.จักรพงษ์ นะมาตร์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย อดีตรองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.), นคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษา, อดิศร พร้อมเทพ อดีตอธิบดีกรมประม, สรศักดิ์ สมรไกรสรกิจ อดีตนักการทูต กระทรวงการต่างประเทศ, คอรีเยาะ มานุแช ทนายความสิทธิมนุษยชน, ถนัด ธรรมแก้ว หรือ “ภู กระดาษ” นักเขียน

บรรดาผู้ร่วมเปิดตัวลงสมัคร สว. ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการพบปะและแนะนำตัวซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การจัดตั้งกลุ่มโดยบุคคลหรือกลุ่มองค์กรใด ซึ่งหลายคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่มารวมตัวกันเพราะต้องการ “สร้างปรากฏการณ์” เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนคนธรรมดาที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายออกมาสมัครเป็น สว. และเป็นโหวตเตอร์

นอกจากนี้ พนัส ยังเลขาธิการ กกต. ให้ชี้แจงและตอบให้ชัดเจนว่า คำว่า “ห้ามฮั้วกัน” หมายคืออะไร อย่าพูดลอย ๆ ไม่ใช่ให้ทำไปก่อน แล้วมาสอยทีหลัง ซึ่งตามความเข้าใจของนักกฎหมายรายนี้คือมีการขนคนไปลงสมัครในระดับอำเภอ

ก่อนหน้านี้ ประธาน กกต. ระบุว่า การเปิดตัวผู้สมัคร สว. “ทำได้ เพราะเป็นเรื่องปกติหากแสดงความสนใจก็บอกได้ ไม่มีใครห้าม”

https://www.bbc.com/thai/articles/cz7zxyl74k1o