วันอาทิตย์, มีนาคม 31, 2567

ในเยอรมนี ถ้าผู้พิพากษาบิดกฎหมาย มีความผิด ติดคุก 1-5 ปี และอาจถูกปลดออก กฏหมายแบบนี้ ประเทศไทยควรมีอย่างยิ่ง เพื่อป้องกัน "ธง"


เยอรมนี มีเรื่องเล่า
18h ·

เล่าเรื่อง...Rechtsbeugung กฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดในการบิดกฎหมายของผู้พิพากษา
.
TL;DR:- สรุป ในเยอรมนีถ้าผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออนุญาโตตุลาการบิดกฎหมายในการดำเนินการหรือตัดสินคดี ถือเป็นความผิดอาญามีโทษจำคุก 1-5 ปี และจะเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง ผู้พิพากษาจะอ้างว่าไม่รู้หลักกฎหมายไม่ได้ และในเยอรมนีถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าพรรคการเมืองที่ต้องการแก้กฎหมายอาญาบางมาตราถือว่าล้มล้างการปกครองและตัดสินให้ยุบพรรค ถือว่ากระทำความผิดอาญา
.
บ่อยครั้งเวลาที่ผู้เขียนพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการเมืองและกฎหมายไทย แล้วมักจะได้ยินคำว่า Rechtsbeugung (อ่านว่า เร็คซ-บอย-กุ้ง) จากที่ปรึกษาฯ ซึ่งส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่าเป็นกฎหมายที่น่าสนใจและสำคัญอย่างมาก แม้ว่าที่ปรึกษาฯ จะบอกว่าถึงเยอรมนีจะไม่มีกฎหมาย Rechtsbeugung นี้ ระบบยุติธรรมเยอรมันก็จะไม่ล่มสลาย เพราะระบบยุติธรรมเยอรมันนั้นอยู่ได้ด้วยหลายองค์ประกอบที่ทำงานประสานกัน แต่การที่มีกฎหมาย Rechtsbeugung นี้เป็นเหมือนเกราะป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินบังคับใช้กฎหมายใช้กฎหมายไปในทางที่ไม่ถูกต้อง หลังจากรู้สึกผิดที่ผลัดวันประกันพรุ่งมานาน กอปรกับช่วงนี้มีเหตุให้ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเวลาที่ดี จึงจะนำเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายนี้มาเล่าสู่กันฟัง หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านและผู้ที่สนใจเรื่องกฎหมายเยอรมันค่ะ
.
คำว่า Beugung ในภาษาเยอรมันนั้นแปลว่า bending หรือการบิด การงอ ทำให้บิดโค้ง ส่วน Rechts คือกฎหมาย Rechtsbeugung จึงแปลได้โดยไม่สามารถบิดความหมายเป็นอื่นใดได้อีกว่า “การบิดกฎหมาย” นั่นเอง
.
ในเยอรมนี ถ้าพูดถึง Rechtsbeugung คนจะเข้าใจว่านั่นเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง เพราะว่าเป็นชื่อของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 (Strafgesetzbuch (StGB) § 339 Rechtsbeugung) ที่ระบุไว้ว่า “ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออนุญาโตตุลาการที่บิดกฎหมายในการดำเนินการทางกฏหมายหรือพิจารณาคดีเพื่อให้เป็นคุณหรือโทษแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถือว่ามีความผิด และต้องได้รับโทษจำคุก 1 ถึง 5 ปี”
.
แม้ว่าโทษจำคุกนั้นอาจจะสามารถรอลงอาญาได้ แต่ทว่าตามกฎหมายเกี่ยวกับผู้พิพากษาเยอรมัน Deutsches Richtergesetz (DriG) มาตรา 24 วรรค 1 ระบุไว้ว่าผู้พิพากษาที่ต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 1 ปีในคดีที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าการดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลง แปลว่าถ้ามีความผิดจากการบิดกฎหมาย แม้จะได้รับโทษขั้นต่ำสุดคือจำคุก 1 ปี ความเป็นผู้พิพากษาก็สิ้นสุดลงทันที แม้โทษจำคุกนั้นอาจจะได้รับการรอลงอาญา
(อ้างอิง https://www.gesetze-im-internet.de/drig/__24.html)
.
ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามกฎหมายเกี่ยวกับสถานะการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ (Beamtenstatusgesetz – BeamtStG) มาตรา 24 (1) 1 ก็ระบุไว้เช่นเดียวกันว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 1 ปีในคดีที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐนั้นสิ้นสุดลง
(อ้างอิง https://www.gesetze-im-internet.de/beamtstg/__24.html)
.
แนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง Rechtsbeugung หรือการทำให้การบิดกฎหมายเพื่อให้คุณหรือให้โทษกับคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนั้นเป็นความผิดทางอาญามีในเยอรมนีมายาวนานกว่า 150 ปีแล้วค่ะ โดยมีระบุอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาของจักรวรรดิ์เยอรมัน (Strafgesetzbuch für das Deutsche Reich) ปี 1871 มาตรา 336 ซึ่งระบุไว้ว่าข้าราชการและอนุญาโตตุลาการที่บิดกฎหมายในการดำเนินการหรือตัดสินคดีเพื่อให้คุณหรือโทษกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถือว่ามีความผิด มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี
(อ้างอิงจาก https://de.wikisource.org/.../Strafgesetzbuch_f%C3%BCr...(1871 )
.
แนวคิดเกี่ยวกับกฎหมาย Rechtsbeugung นี้มีไว้เพื่อปกป้องกระบวนการยุติธรรมจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจาก “ภายในระบบยุติธรรม”เอง เพราะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรม รักษาไว้ซึ่งความรับผิดชอบต่อหน้าที่และการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดของผู้พิพากษารวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกว่าเป็นการเตือนสติเพื่อป้องกันการใช้กฎหมายโดยมิชอบจากภายในตัวผู้ใช้อำนาจเองเลย
.
นอกจากนี้ ก่อนการเข้ารับตำแหน่งของผู้พิพากษา จะต้องมีการสาบานตนในศาลตามกฎหมายเกี่ยวกับผู้พิพากษาเยอรมัน (Deutsches Richtergesetz, DriG) มาตราที่ 38 โดยจะต้องกล่าวคำสาบานตนว่า “ข้าพเจ้าขอสาบานว่าจะปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาอย่างซื่อสัตย์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งตรงต่อกฎหมาย ตัดสินด้วยความรู้และสติรู้ผิดชอบ โดยไม่คำนึงถึงตัวบุคคล และจะรับใช้เพียงความจริงและความยุติธรรมเท่านั้น”
(อ้างอิง https://www.gesetze-im-internet.de/drig/__38.html)
ซึ่งรัฐธรรมนูญเยอรมันนั้นปกป้อง คุ้มครองประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงเยอรมนีเป็นประเทศที่มี Rule of law ผู้พิพากษาที่มีความรู้ ความชำนาญทางด้านกฎหมาย มีความเข้าใจ มีสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ และได้สาบานตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงมักทำหน้าที่ของตนเองบนหลักการที่ถูกต้อง
.
แม้ว่า Rechtsbeugung นั้นจะนับเป็นคดีที่เกิดขึ้นไม่มากในเยอรมนีเมื่อเทียบกับคดีประเภทอื่นๆ แต่ผู้พิพากษาก็เป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ย่อมทำผิดพลาดได้ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ จึงทำให้การดำเนินคดีกับผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่บ้างเป็นระยะๆ ซึ่งผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างบางเคสมาให้อ่านกันนะคะ
.
กรณีที่ 1 - ในช่วงโควิดระบาด รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการระบาดของโรค มีการออกกฎหมายบังคับใช้มาตรการต่างๆ เช่น การใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง การตรวจหาเชื้อไวรัส ฯลฯ ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีการบังคับใช้ในโรงเรียน ซึ่งผู้พิพากษาคนหนึ่งในรัฐ Thüringen (ภายหลังพบว่าเขาเป็นกลุ่มต่อต้านมาตรการป้องกันการระบาดและไม่เชื่อเรื่องการระบาดของโรค) ประกาศว่ากฎหมายเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการระบาดของรัฐนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีคำพิพากษาให้โรงเรียน 2 แห่งไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ซึ่งต่อมาศาลในระดับที่สูงขึ้นไปได้กลับคำพิพากษานั้น และเขาถูกพักงานและถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน Rechtsbeugung ศาล Landgericht มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีฐานบิดกฎหมายใน 2 เคส แต่ให้รอลงอาญา ผู้พิพากษาคนนี้จะยื่นอุทธรณ์ต่อในศาลระดับสูงระดับประเทศ ซึ่งถ้าคดีถึงที่สุดและศาลสูงระดับประเทศมีคำพิพากษายืนตามศาล Landgericht แม้ผู้พิพากษาคนนี้จะไม่ได้ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แต่ก็ทำให้สิ้นสุดอาชีพผู้พิพากษาตามกฎหมายเกี่ยวกับผู้พิพากษาดังที่ผู้เขียนได้อธิบายไปด้านบน ซึ่งนอกจากจะทำให้ต้องออกจากงานแล้ว เงื่อนไขการได้บำนาญตามตำแหน่งผู้พิพากษาสิ้นสุดลงไปด้วย
(อ้างอิง https://www.brak.de/.../rechtsbeugung-querdenker-richter.../)
.
กรณีที่ 2 - ศาลสูงระดับรัฐ Erfurt ได้มีคำพิพากษาให้จำคุกพิพากษาคนหนึ่ง (อายุ 60 ปี) ในความผิดฐาน Rechtsbeugung เป็นเวลา 16 เดือน เนื่องจากผู้พิพากษาคนนี้ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เขาปล่อยให้ผู้ที่ทำผิดกฎจราจรพ้นผิดไปเพราะไม่ได้สนใจข้อมูลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งให้เพื่อประกอบการพิจารณา ศาลสูงระดับรัฐต้องกลับคำพิพากษาของเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เขาก็ไม่ได้สนใจและยังคงพิจารณาคดีแบบเดิม แม้ว่าผู้พิพากษาคนนี้จะถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดในศาลก่อนหน้า แต่ศาลสูงระดับประเทศกลับคำตัดสินนั้น ทำให้ต้องมีการพิจารณาคดีกันใหม่ โดยให้มีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมด้วย สุดท้ายศาล Landgericht ก็มีคำพิพากษาใหม่ จำคุก 16 เดือน โดยให้รอลงอาญา แม้จะรอลงอาญาแต่เมื่อคดีถึงที่สุด ผู้พิพากษาคนนี้ก็ต้องจบอาชีพผู้พิพากษาและหมดสิทธิในบำนาญตามตำแหน่งผู้พิพากษาไปด้วย
(อ้างอิง https://www.lawblog.de/.../bewaehrungsstrafe-fuer-richter/)
.
กรณีที่ 3 - ผู้พิพากษา (อายุ 37 ปี) ถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินให้มีความผิดฐาน Rechtsbeugung โทษจำคุก 3 ปี 10 เดือน ไม่รอลงอาญา เนื่องจากไม่สนใจเร่งทำคดีในความรับผิดชอบของตัวเอง ระหว่างการดำเนินคดีพบว่ามีแฟ้มเกี่ยวกับคดีในความรับผิดชอบของผู้พิพากษาคนนี้ถูกเก็บไว้ในกล่องสำหรับขนย้ายและถูกนำไปไว้ที่ชั้นใต้ดิน จิตแพทย์ให้ความเห็นว่าเธอมีความสามารถและสติสัมปชัญญะครบถ้วน สามารถรับผิดชอบต่อหน้าที่ได้ ทำให้ศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษอย่างหนัก ผู้พิพากษาคนนี้อุทธรณ์ ซึ่งภายหลังศาลสูงระดับประเทศมีคำพิพากษาว่าผู้พิพากษาคนนี้มีความผิดฐาน Rechtsbeugung จริง แต่ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาการลงโทษใหม่ เพราะว่า Rechtsbeugung ในกรณีของผู้พิพากษาคนนี้เคสส่วนหนึ่งไม่ใช่การบิดกฎหมายในลักษณะ active แต่เป็นการละเว้นไม่ทำหน้าที่ โทษจึงไม่ควรหนักเท่ากับการตั้งใจกระทำการบิดกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าจะมีการลงโทษที่เบาลง แต่อาชีพผู้พิพากษาก็จะสิ้นสุดลงอย่างแน่นอน
(อ้างอิง https://www.zeit.de/.../richterin-liess-akten-einfach...)
และ https://www.bundesgerichtshof.de/.../DE/2023/2023091.html )
.
ที่ปรึกษาฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า Rechtsbeugung นั้นเป็นกฎหมายที่ใช้สำหรับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจทางกฎหมาย การทำผิดกฎหมาย การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อาจจะไม่ใช่ Rechtsbeugung ทุกกรณีไป
ผู้เขียนจึงถามว่าถ้าหากมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเสนอนโยบายให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 90 เกี่ยวกับการดูหมิ่นประธานาธิบดี (Verunglimpfung des Bundespräsidenten) ในการหาเสียงเลือกตั้ง แล้วศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันพิพากษาว่าการเสนอให้แก้กฎหมายอาญาที่ให้ความคุ้มครองประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขของประเทศนั้น ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง เป็นการล้มล้างการปกครองของเยอรมนี ต้องยุบพรรคการเมืองนั้น แบบนี้ถือว่าเป็น Rechtsbeugung หรือไม่?
.
ที่ปรึกษาฯ มองบนนิดนึงก่อนตอบว่า ไม่น่าถาม ถ้าเป็นแบบนี้ ในเยอรมนีถือว่าเป็นอาชญากรรม 3 เด้งเลยทีเดียว เพราะ
1) ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ตัดสินเกินขอบเขตอำนาจของตัวเอง เนื่องจากความผิดฐานล้มล้างการปกครองนั้นเป็นกฎหมายอาญา มาตรา 81 (Hochverrat gegen den Bund) การพิจารณาพิพากษาว่าใครทำผิดในคดีอาญาหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรม ไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
2) ความผิดฐานล้มล้างการปกครอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 (1) นั้นระบุไว้ว่า บุคคลที่กระทำความผิด จะต้องใช้กำลัง หรือข่มขู่ว่าจะใช้กำลัง
1. เพื่อทำลายการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือ
2. เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
จะต้องได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือไม่ต่ำกว่า 10 ปี
การเสนอว่าจะแก้กฎหมายอาญาจึงไม่ใช่ความผิดฐานล้มล้างการปกครองในเยอรมนี เพราะการแก้กฎหมายของพรรคการเมืองไม่ใช่การใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ถ้าทหารทำรัฐประหารแล้วแก้รัฐธรรมนูญสิถึงจะเรียกว่าการล้มล้างการปกครองในเยอรมนี
3) การยุบพรรคการเมืองในเยอรมนีไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มาจากประชาชน เป็นส่วนสำคัญของการเป็นประชาธิปไตย การจะยุบพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ถือว่าซีเรียสมาก ต้องเข้าเกณฑ์จริงๆ จึงจะสามารถยุบได้ ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญใช้มา เยอรมนีเคยยุบพรรคการเมืองไปเพียง 2 พรรคเท่านั้น และผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันทุกคนก็รู้ดีว่าไม่ควรยุบพรรคการเมืองด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง (อ่านความเห็นผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันที่พูดให้คนไทยฟังเกี่ยวกับการยุบพรรคได้ในลิงค์ด้านล่างค่ะ )
และตามกฎหมาย ผู้กระทำความผิดฐานล้มล้างการปกครองเป็น “บุคคล” ไม่ใช่ “พรรค” พรรคการเมืองล้มล้างการปกครองไม่ได้ แต่สมาชิกพรรคการเมืองอาจจะสามารถทำได้ จึงเป็นความผิดของตัวบุคคล ไม่ใช่ความผิดของพรรค ต่อให้มีสมาชิกพรรคบางคนหรือบางกลุ่มพยายามจะล้มล้างการปกครองก็ไม่ใช่เหตุผลในการยุบพรรคการเมือง
.
ดังนั้น ถ้าหากเป็นในเยอรมนี แล้วศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการที่พรรคการเมืองมีนโยบายว่าจะแก้กฎหมายอาญาที่ปกป้องคุ้มครองประธานาธิบดีในฐานะประมุขของประเทศ ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง และทำการยุบพรรคนั้น อย่างน้อยผู้พิพากษามีความผิดฐาน Rechtsbeugung บิดกฎหมายในการตัดสินคดีเพื่อให้โทษแก่พรรคการเมือง ซึ่งมีโทษจำคุก 1-5 ปี และต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างแน่นอน
.
ที่ปรึกษาฯ ย้ำว่าการแก้กฎหมายไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ในเยอรมนี ไม่ว่าจะประเทศไหนๆ การแก้กฎหมายก็ไม่ควรกลายเป็นการล้มล้างการปกครองไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการรัฐประหารไม่ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ศาลกลับเห็นว่าการแก้กฎหมายต่างหากล่ะที่เป็นการล้มล้างการปกครอง มองมาจากดาว Makemake ก็รู้ว่า...จิงโจ้
.
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หาอ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อด้านล่างนี้นะคะ
การยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน
(https://www.facebook.com/.../pfbid0fnWjC8TQD6uibFatonfrTs...)
ความเห็นจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง
(https://www.facebook.com/GermanyStories/posts/pfbid02c7E176ZPfzQFYnQHPB6w8gP8sHeXu8wyv3ipHokAoZk9zzh6E1AhsKui6RfhquZ6l)
กฎหมายปกป้องประมุขประเทศของเยอรมนี
(https://www.facebook.com/.../pfbid02XyqTzrBQgrUpBeCJWm2rk...)
กว่าจะเป็นนักกฎหมายเยอรมัน (การศึกษาด้านกฎหมายในเยอรมนี เพื่อเป็นผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ)
(https://www.facebook.com/GermanyStories/posts/pfbid0485EsbmxtgGvSLyn2qTRkppMF1Rwmuq6WtEKWy9jkQDQXT4hQFaDMxzB6khmwg4jl)
.
Photo credit: (https://tinyurl.com/2bfwfe5y)
.....

ที่มา
https://www.facebook.com/photo/?fbid=822454026594810&set=a.467252262114990