วันจันทร์, มีนาคม 25, 2567

Share memory วัฒน์ วรรลยางกูร จาก เพจ Nithiwat Wannasiri


Thiti Meetam
March 22, 2022
·
ตำบลช่อมะกอก กลั่นจากสายเลือด ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ น้ำผึ้งไพร
คือรักและหวัง มนต์รักทรานซิสเตอร์ ฉากและชีวิต และสิงห์สาโท
ฝันให้ไกลไปให้ถึง กระท่อมเสรีภาพ จากลานโพธิ์ถึงภูพาน กวีปราบกบฏ
คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก ฯลฯ
ข้างต้นเป็นรายชื่อแค่ 1 ใน 3 ของรวมเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี เพลง และสารคดีที่วัฒน์ วรรลยางกูร ประพันธ์ขึ้นในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา
หลายเรื่องเขียนในป่า หลายเรื่องเขียนในเมือง ยังไม่นับงานหนังสือพิมพ์อธิปัตย์และมาตุภูมิ นสพ.ฝ่ายประชาธิปไตย ที่ทำในช่วงปี 2517 และ 2524
ทั้งบทบาทในฐานะสหายร้อย แห่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ทำงานด้านวิทยุกระจายเสียงบนเทือกภูพาน ในช่วงปี 2519
ทั้งสิ้นทั้งปวงย้ำว่า เส้นทางตั้งแต่เด็กที่เติบโตมากับเรือกสวนไร่นาจากราชบุรี ผ่านเหตุการณ์ร้อนหนาวจนเข้าสู่วัย 60 ปี ย่อมได้รับเกียรติจากบรรณพิภพ
1.
ผ่านไปปีเศษที่นักเขียนรางวัลศรีบูรพาจากลุ่มน้ำภาคกลางตะวันตก เพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตแต่ต้องลี้ภัยการเมืองหลังรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.2557 ต้องไกลบ้าน ไกลครอบครัว ถูกถอนพาสปอร์ต ถูกอายัดบัญชี มีหมายจับคดี 112
กระทั่งคณะบรรณาธิการนิตยสารไรท์เตอร์ เปิดร้านเดอะ ไรท์เตอร์ ซีเคร็ต ริมถ.นครสวรรค์ ข้าง สน.นางเลิ้ง จัดงานระลึกถึงเขาแทนอ้อมกอดของภราดรภาพ
"โทษฐานที่เขียน" คือประเด็นที่นิตยสารไรท์เตอร์นำมาขึ้นปกฉบับที่ 36 มีนักเขียนในอดีตที่มุ่งมั่นในหลักการสิทธิและเสรีภาพ ทั้งนักเขียนไทยและต่างประเทศที่ประวัติศาสตร์บันทึกว่าถูกผู้มีอำนาจจับกุมคุมขัง ถูกคุกคามไล่ล่า และถูกฆ่าตาย
ราวกับประวัติศาสตร์ไม่ได้หนีเคลื่อนไปไหน เพราะการลี้ภัยยังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
ขอคัดลอกบางทัศนะในบทสัมภาษณ์มาไว้ที่นี่ “...คิดถึงผัดกะเพราที่เมืองไทย ประเทศอื่นใช้ไม่ได้ ไปกินที่เวียดนามก็แหยะ กินที่เขมรก็ใส่ตะไคร้ กินที่ลาวก็ใส่หอมหัวใหญ่ มันฆ่ากะเพราทิ้งหมด คิดถึงประเทศไทยก็ตรงนี้”
“ความรู้สึกตอนวันที่ 22 พ.ค. 2557 เหมือนความรู้สึกตอนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 สมัยโน้นเข้าป่าเพราะโดนเขาไล่ฆ่า สมัยนี้โดนเขาไล่จับ เหมือนเข้าป่าอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่มีป่าให้เข้าแล้ว ฐานทัพภูพานที่เคยอยู่กลายเป็นไร่มันสำปะหลัง เป็นรีสอร์ทหมดแล้ว ก็เลยต้องออกนอกราชอาณาจักรไทย”
2.
ร้านเดอะ ไรท์เตอร์ ซีเคร็ต จุคนได้ประมาณ 30-40 คน มิตรสหายหลากวัยคับร้านพอดี ต่างมุ่งความสนใจเป็นที่ต้นเสียง-วจนา วรรลยางกูร ลูกสาวคนเล็กในทั้งหมด 3 คนของวัฒน์ วรรลยางกูร ที่กำลังเปลือยชีวิตครอบครัววรรลยางกูรให้ฟัง
“สมัยเป็นเด็กอนุบาล พ่ออ่านหนังสือให้ฟังตลอด และหลายครั้งที่พยายามจะหัดอ่านเอง เพราะเห็นพี่ๆ นอนอ่านกันสนุกสนาน เราหยิบหนังสือมาอ่านกลับหัว แกล้งว่าอ่านเป็น ทั้งที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก”
“ครั้งหนึ่งที่พ่อไปทำฟันที่โรงพยาบาล พาลูกๆ ไปด้วยกันหมด ระหว่างรอต่างคนต่างหยิบหนังสือของตัวเองมานั่งอ่าน จนพยาบาลสงสัยว่าทำไมเด็กๆ ลูกพ่อถึงอ่านหนังสือ ชีวิตพ่อแต่ละวันมีกิจกรรมสำคัญ 3 อย่าง คือ 1.อ่านหนังสือ 2.เขียนหนังสือ 3.ทำกับข้าวและดื่ม ดื่มหนักแค่ไหน ตีสี่ตีห้าพ่อก็ลุกมาวิ่ง นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทั้งที่ดื่มหนัก แต่ทำไมยังแข็งแรง ยังไม่นับการเดินสายพบปะชาวบ้านมิตรสหายที่เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยกันบ่อยหลังรัฐประหาร ปี 2549 เป็นต้นมา”
“ส่วนเพลง พ่อเปิดทูล ทองใจ ศรคีรี ศรีประจวบ เพลงที่ครูไพบูลย์ บุตรขันแต่งเกือบทั้งหมด และหลายครั้งที่เป็นเพลงสนุกสนาน พ่อไม่อายที่จะนุ่งผ้าขาวม้าตัวเดียวเต้นหน้ากระจกบ้าง เต้นรอบม้านั่งบ้าง บางครั้งมีเพื่อนมาที่บ้าน พ่อจะแกล้งเปิดเพลงเสียงดังและเต้นในบ้านคนเดียว จนเพื่อนต้องแอบชะโงกหน้าดูจนอายไปเอง”
วจนา พาย้อนไปสมัยที่แม่ (อัศนา วรรลยางกูร) ยังมีชีวิตอยู่ เป็นช่วงที่พ่อเริ่มมีชื่อเสียงว่าพ่อเป็นนักเขียน แม่เป็นนายช่าง หลายครั้งระหว่างที่พ่อนั่งเขียนหนังสืออยู่ในบ้าน แม่ปีนหลังคาขึ้นไปซ่อมหลังคาบ้าน แม่ดูแลงานครัวได้ ดูแลต้นฉบับให้พ่อ ติดต่อประสานงานสำนักพิมพ์ให้ แม่เป็นลูกคนจีนที่พอมีฐานะ
“พอมาอยู่กับพ่อที่ต้องสู้ชีวิตเขียนหนังสือหารายได้ แม่จึงต้องแกร่งกว่าเดิม มีอยู่ช่วงหนึ่งที่แม่ไปเรียนทำไวน์กระเจี๊ยบ ทำสาโท สาเหตุก็เพราะพ่อชอบดื่ม”
“พ่อเป็นเสาหลักคนเดียวต้องส่งลูกเรียน 3 คน วันที่เราส่งงานละครธีสิสจบมหาวิทยาลัย พ่อมาดูด้วย พอแสดงละครจบ พ่อไปยืนร้องไห้หลังต้นไม้ข้างนอก พ่อคงภูมิใจที่ตัวเองเขียนหนังสือส่งลูกเรียนจนจบได้ จากนั้นเขาก็เหมือนกลับไปเป็นหนุ่มอีกครั้ง ออกไปชุมนุมทางการเมือง หลายวันถึงกลับบ้านสักครั้ง”
อย่างที่ทราบกันดีชื่อของวัฒน์ วรรลยางกูร ขึ้นทำเนียบป้ายแดงของผู้มีอำนาจ มาตั้งแต่นปช.ยกพลมาชุมนุมกลางเมืองตั้งแต่ปี 2552-2553 เพลง “ในสายธาร” ที่จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.ขับร้องบนเวทีชุมนุม ก็มาจากการประพันธ์ของนักเขียนรักการดื่มคนนี้
“ตอนที่พ่อเคลื่อนไหวทางการเมือง หลายครั้งต้องลงไปที่หมู่บ้านเล็กๆ บางที่มีชาวบ้านรอพ่อ 4-5 คน จ่ายค่าน้ำมันเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่นักเขียน แต่พ่อก็ทำ ด้วยความเชื่อว่าชาวบ้านตื่นขึ้นทุกวัน แต่ด้วยสีที่เปื้อน ความเป็นเสื้อแดงนี้เองที่สร้างผลกระทบ คนเสื้อแดงก็ไม่ได้เห็นด้วยกับพ่อทั้งหมด นักเขียนสายก้าวหน้าหลายคนเห็นด้วย แต่ไม่มีใครอยากเสี่ยง เหมือนเป็นการถีบหัวส่งจากสมาคม เหลือแค่เพื่อนไม่กี่คนที่รองรับในทางที่พ่อเชื่อ”
“วันที่พ่อตัดสินใจออกนอกประเทศ ไม่ได้คุยกันล่วงหน้า เพราะรู้สึกได้อยู่แล้วว่าอย่างไรถึงยามคับขันเขาก็ต้องไป มันเป็นชีวิตของเขา พูดในฐานะลูกในฐานะครอบครัว ก็ต้องอยากให้เขาอยู่บ้าน เพราะพ่อเป็นคนติดบ้าน ชอบเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว เราอยากเห็นนิยายเล่มใหม่ของเขา อันนี้อาจเป็นความเห็นแก่ตัวของเรา เราเหงาก็โทรหาได้ แต่พ่ออยู่ต่างที่คนเดียว เขาอาจจะเหงากว่าเดิม ช่วงหลังเห็นบ่นๆ ว่าอยากทำโรงเรียนกวี กับโรงหมักไวน์ ไม่รู้จะเป็นไปได้เมื่อไหร่”
3.
วจนาปิดท้ายด้วยการอ่านจดหมายของพี่ชายคนกลาง หรือ วสุ วรรลยางกูร ที่เขียนถึงพ่อในวันไกลบ้านให้ฟังว่า “ตอนสมัยประถมครูให้วาดภาพอาชีพที่อยากเป็น เพื่อนบางคนวาดภาพทหาร ตำรวจ พ่อค้าแม่ค้า ต่างกันไป ผมคนเดียวในห้องที่วาดภาพว่าโตขึ้นอยากเป็นนักเขียน ทั้งๆที่ไม่รู้เลยว่าอาชีพนักเขียนคืออะไร รู้แต่พ่อบอกว่าพ่อเป็นนักเขียน ผมรู้สึกว่ามันเท่ดีที่ไม่มีใครในห้องรู้ว่ามันคืออะไร จนทุกคนเริ่มสนใจ ครูก็ด้วย จนมีวันนึงครูถึงกับจัดโปรแกรมยกทั้งคลาสเรียนมาที่บ้านดูการทำงานของอาชีพนักเขียน นั่งดูพ่อเขียนหนังสือเสียอย่างนั้น
“ภาพเพื่อนๆนับสิบมุดโต๊ะพ่อ เกาะตามหน้าต่าง ปีนโอ่งน้ำ เพ่งดูพ่อเขียนหนังสือ และบรรยายว่าเขาเขียนอะไรบ้างส่งให้ที่ไหน ยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำ จำได้ดีว่าวันนั้น แม่ไปเหมานมเปรี้ยวและขนมจากร้านค้ามาแจกเพื่อนๆทุกคน ผมยิ้มไม่หุบเลยล่ะวันนั้น”
“ก่อนจะนอนเรามักได้ฟังนิทาน นิทานอีสป หรือนิทานจากหนังสือนิทานส่วนใหญ่แม่จะเป็นคนเล่า แต่นิทานเกี่ยวกับชีวิตนักศึกษาในป่าแม่มักให้พ่อเล่า พ่อก็จะเล่าอย่างออกรสออกชาติถึงวีรกรรมต่างๆ และมักตบท้ายด้วยการทำเสียงสิงโตให้เรากลัวเพื่อไล่เข้านอนพร้อมกับหัวเราะร่วน เรากลัวเสียงโฮกๆ ของพ่อในความมืด และก็หัวเราะกันคิกคักเพราะมันไม่เหมือนเสียงสิงโต
“รายได้ของอาชีพนักเขียนไม่ได้มีความแน่นอนนัก แม่บอกผมบ่อยๆว่าให้ประหยัดเพราะการเงินของที่บ้านไม่ค่อยดี ผมคิดว่าไม่เดือดร้อนอะไรตราบใดที่มีข้าวกิน จนกระทั่งถึงวันที่เงินเป็นปัญหาในครอบครัวสำนักพิมพ์จ่ายเงินเดือนช้า ปัญหาก็มาถึง”
“พ่อทะเลาะกับแม่ใหญ่โต ด้วยชนวนอะไรก็จำไม่ได้ แม่วิ่งออกไปร้องไห้นอกบ้าน ตุ๋ยกับเตยตามไปดูแม่ ผมนั่งอยู่กับพ่อ พ่อเมา เรานั่งกันอยู่อย่างนั้น พ่อร้องไห้พร่ำโทษถึงปัญหาต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ผมไม่รู้ว่าควรทำยังไง ไม่รู้จะปลอบพ่อยังไง นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นพ่อร้องไห้”
“พ่อมีเรื่องให้นึกถึงและจดจำเยอะ นึกแล้วก็มีทั้งเรื่องขำๆหลายเรื่อง อย่างเช่นตอนเย็นๆค่ำๆ พอเริ่มกรึ่มได้ที่ พ่อจะต้องเปิดหนังมิสเตอร์บีน หรือไม่ก็ชาลี แชปลิน ดูไปก็ขำไปจากนั้นก็ต้องทำท่าประกอบ เต้นบ้าๆบอๆ ในชุดผ้าขาวม้าผืนเดียว ทำท่าเดินแบบชาลี เรียกเสียงฮาจากลูกๆ แม่ยืนทำกับข้าวใกล้ๆมักส่ายหัวให้พร้อมรอยยิ้ม”
“พ่อปลูกฝังนิสัยการอ่านหนังสือด้วยการเอาหนังสือมาโยนให้เสมอ ทั้งหนังสือที่เขาเขียนเอง และหนังสือที่พ่อเก็บไว้หรือแม้แต่บางทีก็มาอ่านให้ฟัง พ่อพยายามอ่าน'ปรัชญาชีวิต'ให้ฟังทุกวันตอนบ่ายปิดเทอมหน้าร้อน ให้จดบันทึกการฟัง แลกกับการได้ออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านตามใจ”
“วันที่แม่จากไปครบ 100 วัน เราไปลอยอังคารกันที่แม่น้ำแควน้อย พ่อว่ายน้ำอยู่พักใหญ่ ดำผุดดำว่ายอยู่อย่างนั้น ทั้งเมาไวน์ ทั้งว่ายน้ำจนเหนื่อย พ่อเดินขึ้นมาที่หาดทราย หยิบอัฐิแม่แล้วเดินลงไปในน้ำ โปรยมันไปกับสายลมและผืนน้ำ ปากก็พร่ำพูดบางอย่าง จับใจความไม่ได้ พ่อร้องไห้ จากนั้นก็ดำลงไปในน้ำน้ำตาของพ่อคงไหลรวมกับน้ำในแม่น้ำเพื่อส่งแม่”
4.
หลายคนปาดน้ำตาเมื่อวจนาอ่านจดหมายจบ หนึ่งในนั้นที่ไม่ขวยเขิน คือ บินหลา สันกาลาคีรี ที่นั่งฟังอยู่ข้างๆ บินหลาหยิบกระดาษซับน้ำตา ก่อนแลกเปลี่ยนว่า “ครั้งหนึ่งตอนที่ผมอยู่เชียงใหม่ ผมพา อาปุ๊ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ลงมากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นช่วงที่อาปุ๊ต้องฟอกไต แต่อาปุ๊ไม่ขอเข้าโรงพยาบาล เลยหาโรงแรมเพื่อนอนฟอกไต แล้วผมก็ออกไปธุระข้างนอก เมื่อกลับมาช่วงค่ำเปิดประตูเข้าไป ภาพที่เห็นคือควันโขมงเต็มห้อง อาปุ๊นอนสูบบุหรี่อย่างสบายใจอยู่บนเตียง ที่ปลายเตียงมีพี่วัฒน์กับพี่เนาว์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นั่งคุยกันไปหัวเราะกันไป ซึ่งภาพแบบนี้คงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว”
บินหลา ยกตัวอย่างผลงานของวัฒน์ ว่า “เพลงที่พูดถึงภูพานมีมาก หรืออาจจะมากที่สุดในบรรดาภูทั้งหมดในเมืองไทย แต่เพลงที่ถูกจดจำและทรงพลังสำหรับผมมี 2 เพลง คือ 1.ภูพานปฎิวัติ ของจิตร ภูมิศักดิ์ และ 2.จากลานโพธิ์ถึงภูพาน ของพี่วัฒน์”
“ต้องยอมรับว่าแรงบันดาลในการเขียนหนังสือของผม ส่วนหนึ่งมาจากการอ่านงานพี่วัฒน์ ทั้งยังเคยเอางานของพี่วัฒน์มาผ่าตัดถึงโครงสร้างเนื้อหา ตัวละคร การเชื่อมโยงที่มาที่ไปก็ทำมาแล้ว”
“ผมไม่ได้สนิทสนมกับพี่วัฒน์เป็นการส่วนตัว ในชีวิตนี้นับประโยคที่สนทนากันได้ไม่เกินหนึ่งร้อยประโยค และในทางความคิดทางการเมืองหลายเรื่อง ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่ผมมีความเคารพพี่วัฒน์มากขึ้นทุกวัน” บินหลาจบการระลึกถึงด้วยน้ำตาไหลเป็นทางยาว ก่อนยกไวน์ครึ่งแก้วหมดพรวดในครั้งเดียว
5.
หลังฝนซา เหลือเพียงกลิ่นชื้น ถ้อยสนทนาหลากรสหลายเสียงในร้านเดอะ ไรท์เตอร์ ซีเคร็ต เปลี่ยนเป็นเสียงเพลง มิตรสหายหลายคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดช่วยกันขับกล่อมบทเพลงด้วยกีตาร์และฮาร์โมนิการ์
ธีร์ อันมัย อาจารย์นักเพลงสายประชาธิปไตยที่เดินทางมาจากอุบลราชธานี เพื่อเปิดตัวหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ของเขา ในชื่อตะวันออกเฉียงเหนือก่อนหน้า 1 วัน ก็สู้อุตส่าห์ขับร้อง “ฝนแรกหลั่งมา ท้องฟ้าเรืองรุ่ง แดดจับสายรุ้ง วาดโค้งกับท้องฟ้าคราม...” จากเพลงฝนแรก ของวัฒน์ ด้วยเสียงปากเปล่าให้จับใจยิ่งขึ้น
สักพักคณะบรรณาธิการไรท์เตอร์ก็เปิดคลิปวีดิโอที่ส่งตรงมาจากแดนไกล วัฒน์นั่งอยู่ใต้ร่มไม้ เสียงลมซ่าเข้ามาผ่านกล้อง ลำโพง เขาดูผอมลงเล็กน้อย
“สวัสดีมิตรน้ำหมึกชาวไรท์เตอร์ ขอบคุณน้ำใจและสปิริตที่แสดงความห่วงใยในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพ เมื่อวานนี้ระหว่างที่ผมลงไปช้อนกุ้งฝอยเพื่อเอามาผัดกับสายบัว ผมคิดว่าเรากำลังทำอะไร เลยคิดไปถึงนิยายเจ้าชายน้อยของอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี เจ้าชายน้อยเดินทางไปยังดาวที่มีพระราชาซึ่งชอบออกคำสั่ง เจ้าชายน้อยบอกว่าท่านจงออกคำสั่งกับฉันสิ พระราชาก็บอกว่าการออกคำสั่งต้องมีเหตุผล ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปสั่งให้นายพลกลายเป็นนกนางแอ่นทะเล”
“แต่บางประเทศก็มีคำสั่งแปลกๆ ที่สั่งให้กวีเป็นนกกระเด้าลม กวีแห่งประเทศพิสดารพันลึก วันๆ ต้องประดิดประดอยท่ากระเด้าลม ต้องคอยคิดท่าให้มันแปลกใหม่ สละสลวย ชวนประทับใจ เมื่อกวีเป็นนักกระเด้าลมแล้วก็ได้บำเหน็จรางวัล แต่ผมโชคดีที่ไม่ต้องหมกมุ่นในการคิดท่ากระเด้าลม”
“หน้าที่กวีตามจริงไม่ใช่นามธรรมยิ่งใหญ่อะไร ผมช้อนกุ้ง ขึ้นไปหาหน่อไม้บนภูเขา หมักสาโทกินเอง ก็เป็นหน้าที่กวี แม้ไม่โอ่อ่านัก แต่ก็ไม่น่าเบื่อที่ต้องคอยผลิตท่ากระเด้าลม หวังว่าความรู้สึกของผมคงไม่ทำความเดือดร้อนให้กับมิตรน้ำหมึกที่มีน้ำใจถึงกัน” วัฒน์กล่าวจบด้วยความสุภาพ
พิมพ์ครั้งแรก : ประเทศเทา, ตุลาคม 2018
.....

The People
March 22, 2022
·
วัฒน์ วรรลยางกูร : ด้วยรักและอุดมการณ์
.
หากอุดมการณ์คือสิ่งที่คนเราเชื่อถือยึดมั่น วัฒน์ วรรลยางกูร ก็เป็นนักเขียนที่ไม่เคยคลายมือจากอุดมการณ์ที่เขาศรัทธา ตลอดทั้งชีวิต สองสิ่งที่เขามุ่งมั่นทำมาอย่างแน่วแน่ได้แก่ หนึ่ง การเขียนหนังสือ และสอง การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม
.
#จาก วัฒนู บ้านทุ่ง สู่ วัฒน์ วรรลยางกูร บนเส้นทางนักเขียน
.
แน่นอน เรารู้จักเขาในชื่อ วัฒน์ วรรลยางกูร แต่เดิมทีตอนที่เขาเกิดเมื่อ 12 มกราคม พ.ศ. 2498 ชื่อของเขาคือ วีรวัฒน์ วรรลยางกูร
.
ในวัยเด็ก ชีวิตวัฒน์ไม่ค่อยอบอุ่นนัก เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน ความเงียบเหงาในบ้านที่จังหวัดลพบุรี ถูกเติมเต็มด้วยหนังสือ โดยเฉพาะช่วงเรียนจบ ม.4 ซึ่งเขามาอาศัยอยู่กับยาย บ้านที่แทบไร้เสียงใด ๆ ปราศจากไฟฟ้า มีเพียงแสงตะเกียง เรียกร้องให้เขาหยิบหนังสือที่พ่อซื้อเก็บไว้มาอ่าน และทำให้เขาได้รู้จัก ศรีบูรพา, มาลัย ชูพินิจ, อ. อุดากร, อิงอร และนักเขียนอีกมากมายตั้งแต่ตอนนั้น
.
ไม่เพียงหนังสือเล่ม เขายังได้อ่านนิตยสารมวยของตา ซึ่งในนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องหมัด ๆ มวย ๆ ยังมีนวนิยายให้อ่านอย่างต่อเนื่องด้วย นิตยสารอีกเล่มเขาได้อ่านเป็นประจำคือ “คุณหญิง” ซึ่งมีคอลัมน์ “แวดวงกวี” และนี่เองเป็นเมล็ดพันธุ์วรรณกรรมที่ค่อย ๆ หยั่งรากลึกลงในใจเด็กชายวีรวัฒน์
.
จากเด็กผู้หลงใหลการอ่าน ตัวหนังสือของเขาเริ่มวาดลวดลาย จากกลอนจีบสาวและหนังสือลายมือที่ทำอ่านกันเองในห้อง ก่อนจะปรากฏในหนังสือโรเนียวของโรงเรียน วัฒนู บ้านทุ่ง เป็นนามปากกาแรกที่เขาใช้ในการเขียนเรื่องสั้น จากนั้นเขาเริ่มพาผลงานออกนอกรั้วโรงเรียน โดยการส่งต้นฉบับทั้งเรื่องสั้นและบทกลอนไปยังนิตยสารชื่อดัง อาทิ ชัยพฤกษ์ และ ฟ้าเมืองไทย แม้ในช่วงแรกงานจะลงตะกร้า ไม่ได้รับการตีพิมพ์ แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ มุ่งมั่นส่งไปอีกเรื่องแล้วเรื่องเล่า จนวันหนึ่งเขาก็ได้รับข่าวดี
.
“คนหากิน” เป็นเรื่องสั้นหนึ่งในสี่เรื่องที่เขาเขียนส่งนิตยสาร “ยานเกาะ” ถึงบรรณาธิการจะช่วยแก้ไขให้เป็นอันมาก แต่หัวใจของเด็กชายวีรวัฒน์ก็พองฟูด้วยความดีใจ บัดนี้เส้นทางการเป็นนักเขียนของเขาเริ่มต้นขึ้นแล้ว
.
จากเรื่องสั้นเรื่องแรก ตามมาด้วยบทกลอนที่ส่งประกวดใน “ชัยพฤกษ์” และเรื่องสั้น “มุมหนึ่งของเมืองไทย” ในคอลัมน์ “เขาเริ่มต้นที่นี่” นิตยสารฟ้าเมืองไทย พอถึงจุดนี้ชื่อนักเขียนหน้าใหม่ วัฒน์ วรรลยางกูร ก็โลดแล่นไปทั่ววงการ มีผลงานทั้งใน ฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง ลลนา ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นที่สถิตของนักเขียนสุดยอดฝีมือทั้งสิ้น
.
เดิมที วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นเพียงนามปากกา แต่เพราะมักมีปัญหาเรื่องการนำเช็คไปขึ้นเงิน เขาจึงตัดปัญหาด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก วีรวัฒน์ เป็น วัฒน์ คำเดียวโดด ๆ ไปเสียเลย
.
เส้นทางชีวิตและเส้นทางนักเขียนของเขา อาจไม่เป็นแบบที่เรารับรู้กัน หากไม่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2516 และ 2519 มันเป็นแรงเหวี่ยงที่มีพลังมหาศาล ชนิดเปลี่ยนชีวิตเขาทั้งชีวิต ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นกับหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยในเวลานั้น
.
#นักศึกษา นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์
.
เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เกิดขึ้นช่วงที่ วัฒน์ วรรลยางกูร มาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เขาเพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมที่ลพบุรี และกำลังจะย้ายไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ
.
เมื่อเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2517 พลังคนหนุ่มสาวกำลังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในสังคม ความรักในการเขียนดึงดูดให้วัฒน์เข้าไปคลุกคลีกับเพื่อนใหม่ในแผนกวรรณศิลป์ ก่อนชักนำเขาเข้าไปทำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่นี่เองที่เขามีโอกาสได้ลับคมงานเขียน ทั้งเรื่องสั้น บทกวี สารคดี อีกทั้งยังได้เขียนข่าว บทความ และนวนิยายเรื่องแรกในชีวิต
.
“ตำบลช่อมะกอก” เป็นนวนิยายที่มีต้นทางมาจากคอลัมน์ “ช่อมะกอก” ซึ่งเขาเขียนโดยใช้นามปากกา ชื่นชอบ ชายบ่าด้าน ในเวลาต่อมา นวนิยายเรื่องนี้กลายเป็นในหนึ่งในหนังสือต้องห้าม ด้วยเนื้อหาที่ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อสิทธิ์บนที่ดิน ระหว่างชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง กับชนชั้นศักดินาที่พยายามจะฮุบเอาไป
.
ด้วยวัยเพียง 19 ปี วัฒน์มีผลงานนำหน้านักเขียนร่วมรุ่นทุกคน ไม่เพียงนวนิยาย “ตำบลช่อมะกอก” เท่านั้น เขายังมีรวมเรื่องสั้นออกมาถึง 2 เล่มคือ “นกพิราบขาว” ในปี 2518 และ “กลั่นจากสายเลือด” ในปี 2519 ขณะที่เส้นทางการเขียนกำลังสดใสนี่เอง ได้เกิดโศกนาฎกรรม 6 ตุลาคม 2519 ที่ วจนา วรรลยางกูร ลูกสาวของเขาเคยบอกไว้ว่า มันคือปมในชีวิตพ่อ
.
#สหายร้อยและการต่อสู้ครั้งใหม่
.
การล้อมปราบนิสิต นักศึกษา และประชาชนอย่างโหดเหี้ยม ต่อด้วยปฏิบัติการกวาดล้างซึ่งขยายวงกว้าง เป็นระเบิดลูกมหึมาของสังคม วัฒน์เป็นคนหนึ่งที่ไม่รอช้า หลบหนีจากเมืองสู่ไพร ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีชื่อใหม่ที่รู้กันดีว่า สหายร้อย
.
เมื่อแรกเข้าไป เขาไม่ได้อยากทำหนังสือพิมพ์ ตั้งใจที่จะทำงานมวลชนมากกว่า เพราะอยากได้ข้อมูลมาเขียนเรื่องที่เข้มข้นด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับคนจน แต่ด้วยชื่อเสียงที่มีอยู่เดิม ทำงานมวลชนได้เพียง 6 เดือน เขาก็ถูกดึงตัวมาเป็นบรรณาธิการ “ธงปฏิวัติ” แต่ถึงจะไม่ใช่ความตั้งใจแรก วัฒน์ก็ทำอย่างเต็มที่ โดยไม่รู้ล่วงหน้าว่า หนังสือเล่มนี้เองที่จะกลายมาเป็นจุดแตกหัก ระหว่างเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
.
ด้วยการทำงานที่ไม่ได้กินเวลามากมายอะไรนัก เพราะ “ธงปฏิวัติ” ออกแบบราย 2 เดือน แต่ละฉบับมี 28 หน้า พิมพ์รูปแบบโรเนียว ทำเพียงสองวันก็เสร็จ วัฒน์จึงยังสามารถทำงานเขียนที่เขารักได้อย่างเต็มที่ ในช่วงที่เข้าป่าเขาเขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายได้เป็นจำนวนมาก มีผลงานรวมเล่มออกมาถึง 3 เล่ม ได้แก่ รวมเรื่องสั้นและบทกวี “ข้าวแค้น” ในปี 2522 กับ “น้ำผึ้งไพร” ในปี 2523 ส่วนเล่มที่ 3 เป็นนวนิยายที่สะท้อนแนวคิดของเขาได้อย่างชัดเจน นั่นก็คือ “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” พิมพ์ครั้งแรกในปี 2524 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเขามาถึงจุดหักเหอีกครั้ง
.
ในเวลานั้นวัฒน์เป็นเช่นเดียวกับสหายทั้งหลาย ที่ชักไม่พอใจการนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อมีสื่ออย่าง “ธงปฏิวัติ” อยู่ในมือ เขาก็ใช้เป็นพื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ ปรากฏพอหนังสือออกไปกลับสร้างความไม่พอใจให้แก่กองทหารบางหน่วย ถึงขั้นเตรียมยกพวกมาถล่มยังสำนักพิมพ์ 74 ซึ่งเป็นหน่วยที่เขาอยู่ วัฒน์เคยเล่าว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดแต่กับเขา แม้แต่กรรมการกลางอย่าง นายผี - อัศนี พลจันทร หรือ เปลื้อง วรรณศรี ซึ่งเคยแสดงความคิดเห็นต่อพรรค ก็โดนแรงกดดันมาไม่น้อย
.
เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ บวกกับนโยบาย 66/23 ที่สร้างความมั่นใจ วัฒน์จึงตัดสินใจสลัดชุดทหารประชาชน กลับคืนสู่นาครมาพร้อมอัศนา หรือเล็ก คู่ชีวิตซึ่งพบรักกันกลางป่า ก่อนที่ครองคู่และมีลูกด้วยกันสามคน ได้แก่ วนะ, วสุ และ วจนา ทั้งคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา จนอัศนาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552
.
#นับหนึ่งอีกครั้งบนทางสายอาชีพ
.
หลังกลับสู่เมืองหลวง วัฒน์ก็ได้เริ่มต้นชีวิตนักหนังสือพิมพ์อีกครั้ง โดยเข้าทำงานในหนังสือพิมพ์ “มาตุภูมิ” “ไฮคลาส” และ “ถนนหนังสือ” โดยลึก ๆ แล้ว งานอย่างเดียวที่เขาอยากทำคือ การเป็นนักเขียน เพราะเหตุนี้เอง หลังอยู่ในกองบรรณาการหนังสือต่าง ๆ มาได้ประมาณปีเดียว วัฒน์ก็ลาออกมาเป็นนักเขียนเต็มเวลา
.
วัฒน์ประเดิมเส้นทางอาชีพด้วยนวนิยาย “คือรักและหวัง” และ “จิ้งหรีดกับดวงดาว” ในนิตยสารลลนา “บนเส้นลวด” ในสตรีสาร “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ในบางกอก และ “เทวีกองขยะ” ในมติชนสุดสัปดาห์ สลับการเขียนเรื่องสั้นและบทกวีออกมาอย่างต่อเนื่อง จนมีผลงานระดับเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย “คือรักและหวัง” (พิมพ์ปี 2525 เข้ารอบปี 2528) “ปลายนาฟ้าเขียว” (พิมพ์ปี 2532 เข้ารอบปี 2534) “ฉากและชีวิต” (พิมพ์ปี 2539 เข้ารอบปี 2540) และ “สิงห์สาโท” (พิมพ์และเข้ารอบในปี 2543) รวมเรื่องสั้น “ลูกพ่อคนหนึ่ง (ถากไม้เหมือนหมาเลีย)” (2530) และรวมบทกวีนิพนธ์ “เงาไม้ลายรวง” (พิมพ์ปี 2534 เข้ารอบ 2535)
.
แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่คอวรรณกรรมแล้ว ผลงานของวัฒน์ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดคงไม่มีเล่มไหนเกิน “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ที่ เป็นเอก รัตนเรือง นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2544 กวาดรางวัลทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติไปมากมาย ถึงแม้นวนิยายเรื่องนี้จะไม่ได้นำเสนอภาพการต่อสู้ หรือชีวิตผู้ยากไร้ เหมือนอีกหลายเรื่องของเขา แต่ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ก็สะท้อนอีกด้านในความเป็น วัฒน์ วรรลยางกูร นั่นก็คือ การเป็นผู้รักเสียงเพลง
.
นอกจากเชี่ยวชาญงานเขียนทุกประเภทแล้ว วัฒน์ยังมีผลงานเพลงที่ได้รับการยอมรับอยู่ไม่น้อย หนึ่งในบทเพลงสำคัญที่ยังคงก้องอยู่ในใจผู้คนมาจนทุกวันนี้คือ “จากลานโพธิ์ถึงภูพาน” ซึ่งเนื้อเพลงที่เขาแต่งได้สะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของนักต่อสู้ในเวลานั้นอย่างแจ่มชัด
.
ดินสอโดมธรรมศาสตร์ เด่นสู้ศึก
ได้จารึก หนี้เลือด อันเดือดดับ
6 ตุลา เพื่อนเรา ล่วงลับ
มันแค้นคับ เดือดระอุ อกคุไฟ
เรามีเพียงมือเปล่ามันล้อมปราบ
ระเบิดบาป กระสุนบ้า มาสาดใส่
เสียงเหมือนแตรงานศพ ซบสิ้นใจ
สนามหญ้าคลุ้งกลิ่นไอ คาวเลือดคน
มันตามจับ ตามฆ่า ล่าถึงบ้าน
อ้างหลักฐาน จับเข้าคุก ทุกแห่งหน
เราอดทน ถึงที่สุด ก็สุดทน
จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นภูพาน
.
การทำงานเขียนอย่างต่อเนื่อง มีผลงานร่วม 40 เล่ม อีกทั้งผลงานเหล่านั้นยังเด่นชัดถึงอุดมการณ์ที่ไม่เคยแปรเปลี่ยน ในปี 2550 กองทุนศรีบูรพาจึงประกาศยกย่องให้ วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ 19 ซึ่งวัฒน์ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งได้รับรางวัลว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง เพราะว่ารางวัลศรีบูรพาเป็นรางวัลที่นักเขียนมอบให้กับนักเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ศรีบูรพา’ เป็นนักเขียนที่ได้จุดแรงบันดาลใจด้านงานประพันธ์ตั้งแต่ผมยังเป็นนักเรียน” (จากบทสัมภาษณ์ “วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2550” โดย พรชัย จันทโสก หนังสือพิมพ์ จุดประกาย วรรณกรรม ปีที่ 20 ฉบับที่ 6638 วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2550)
.
#การเดินทางครั้งสุดท้าย
.
เกียรติยศด้านการเขียนของ วัฒน์ วรรลยางกูร ควรถึงระดับศิลปินแห่งชาติ หากเขาไม่ยืนอยู่อีกฝั่งของรัฐบาล ด้วยการเข้าร่วมกับประชาชนคนเสื้อแดง ต่อเนื่องด้วยการต่อต้านการรัฐประหารแบบสู้ไม่ถอย
.
ในปี 2557 หลังการมาถึงของรัฐบาล คสช. เพียงสองวัน วัฒน์ได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัว แต่เขาไม่ยอมรับคำสั่งนั้น จึงมีคำสั่งซ้ำมาอีกหนึ่งฉบับ ก่อนคำสั่งเรียกรายงานตัวจะเปลี่ยนเป็นหมายจับ ฐานกระทำความผิดมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จากการจัดแสดงละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ซึ่งทางการเห็นว่า มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
.
คดีที่ได้รับทำให้วัฒน์ไม่ลังเลที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ โดยเดินเท้าเข้าประเทศกัมพูชา ก่อนจะเดินทางต่อไปยัง สปป.ลาว นั่นเป็นช่วงที่เขาโดนหมายจับ ขณะที่นักแสดงนำของเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” คือ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ ภรทิพย์ มั่นคง ต้องถูกลงโทษจำคุก 5 ปี แต่ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง โดยไม่รอลงอาญา หลังรับสารภาพในคดีเดียวกัน
.
ในระยะแรกที่พำนักในต่างประเทศ วัฒน์ยังไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ จนในปี 2559 เมื่อวิทยุใต้ดินผ่านยูทูบในนาม “สถานีไทยเสรีเพื่อสาธารณรัฐไทย” โดยโกตี๋ หรือ สหายหมาน้อย และชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ลุงสนามหลวง ถือกำเนิดขึ้น วัฒน์จึงได้เข้าร่วมในนาม ‘สหายร้อยสิบสอง’ จัดรายการวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง ร่วมกับลุงสนามหลวงและสหายยังบลัด อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการก่อเกิดของวงดนตรี ‘ไฟเย็น’ อีกด้วย
.
กลางปี 2560 เกิดเหตุร้ายกับกลุ่มผู้ลี้ภัย โกตี๋ถูกอุ้มหายไปตัว จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครพบศพ ถึงอย่างนั้น สหายร้อยสิบสอง ยังดำเนินรายการวิทยุใต้ดินต่อ จนในปี 2561 เขาจึงออกจากกลุ่มวิทยุใต้ดิน หลบไปอยู่นอกนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเขียนหนังสือตามที่ตั้งใจไว้ แต่เพียงไม่นานหลังจากนั้น การหายตัวไปของ สุรชัย แซ่ด่าน กับลูกน้องอีกสองคน ก็เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า การซ่อนตัวอยู่ใน สปป.ลาวนั้น ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป
.
วัฒน์ใช้เวลาทำเรื่องขอลี้ภัยถึงครึ่งปี ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ปี 2561 จนถึงกลางเดือน พฤษภาคม ปีถัดมา จึงได้เดินทางออกจากนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว สู่นครปารีส ซึ่งเป็นบ้านหลังสุดท้ายในชีวิตเขา วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้เปิดตัว “สมาคมนักประชาธิปไตยไร้พรมแดน” พร้อมกับต้อนรับสมาชิกใหม่คือ วัฒน์ วรรลยางกูร ซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงได้ไม่นานนัก
.
ชีวิตต่างแดนใช่ว่าจะสุขสบาย หลังกลายเป็นผู้ลี้ภัย เขามีรายได้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากหนังสือที่จัดพิมพ์ซ้ำ อีกทั้งยังล้มป่วยตั้งแต่ปีแรกที่ไปฝรั่งเศส จากการมีเนื้องอกที่ตับ เขาต่อสู้กับโรคนี้ยกแล้วยกเล่า เดินเฉียดเส้นตายมาหลายหน จนลูก ๆ ต่างหวังว่า ปาฏิหาริย์จะมีจริง
.
แต่ถึงจะป่วยหนัก วัฒน์ก็ไม่เคยหมดไฟเขียนหนังสือ ผลงานเล่มสุดท้ายของเขาเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ตลอด 7 ปีที่ใช้ชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัย ต้นฉบับส่งถึงสำนักพิมพ์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ น่าเสียดายที่เขาไม่มีโอกาสได้เห็นหนังสือเล่มนี้ ประมาณสามทุ่มครึ่งของวันที่ 21 มีนาคม ตามเวลาในฝรั่งเศส นักเขียนนักอุดมการณ์นาม วัฒน์ วรรลยางกูร ได้จากทุกคนไปอย่างไม่มีวันกลับ
.
กว่า 7 ปีนับจากที่เขาต้องหลบหนี ห่างจากบ้านและลูก ๆ อันเป็นที่รัก อาจถึงเวลาแล้วที่เขาจะได้กลับบ้านเสียที
.
เรื่อง: จรูญพร ปรปักษ์ประลัย
ภาพ: สํานักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
.
.
อ่านบทความในรูปแบบเว็บไซต์ได้ที่: (https://thepeople.co/wat-wanlayangkoon/)
.
#ThePeople #Culture #วัฒน์วรรลยางกูร