วันศุกร์, มีนาคม 08, 2567

ค่าแรงปรับขึ้น 'ไม่เป็นธรรม ไม่แน่นอน' แฉกลุ่มทุนใหญ่-รัฐบาลแทรกแซงกระบวนการขึ้นค่าแรง - พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคก้าวไกล อภิปราย


ค่าแรงปรับขึ้น 'ไม่เป็นธรรม ไม่แน่นอน' แฉกลุ่มทุนใหญ่-รัฐบาลแทรกแซงกระบวนการขึ้นค่าแรง : Matichon TV

Mar 6, 2024 

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนร่าง พรบ.คุ้มครองแรงงาน ทั้ง 3 ฉบับ ชี้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ใช้กันทั่วโลก แต่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่เป็นธรรม ไม่แน่นอน ผันผวน สถิติ 20 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงแทบไม่ปรับขึ้นเลย แฉกลุ่มทุนใหญ่ และรัฐบาล พยายามล็อบบี้และแทรกแซงกระบวนการกำหนดค่าจ้างต่อคณะกรรมการค่าจ้างฯ

https://www.youtube.com/watch?v=tvqYzLelScQ
.....

พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu
·
1d

[ คลิปอภิปรายเต็ม: ระบบค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นแบบอัตโนมัติ - เศรษฐกิจที่แรงงาน-ผู้ประกอบการเติบโตไปพร้อมกัน ]
.
วันนี้ ผมได้อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ทั้ง 3 ฉบับ โดยเน้นเรื่องข้อเสนอเกี่ยวกับ “ระบบค่าแรงขั้นต่ำ” ที่อยู่ในร่างที่ถูกเสนอโดย สส. เซีย จำปาทอง
.
ค่าแรงขั้นต่ำเป็น เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ถูกใช้กันใน 160+ กว่าประเทศทั่วโลก
.
หากเรามองมาที่ประเทศไทย “2 คำ” ที่อธิบายได้ดีถึงปัญหาเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมา คือคำว่า “ไม่เป็นธรรม” & “ไม่แน่นอน”
.
[ 1. ปัญหาความ “ไม่เป็นธรรม” ของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ]
.
ไม่ว่าจะมองย้อนไปที่ “อดีต” มองมาที่ “ปัจจุบัน” หรือ มองไปสู่ “อนาคต” เราจะเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศเรานั้น “ไม่เป็นธรรม” ต่อแรงงาน และมีส่วนในการทำให้หลายปัญหา (ทั้ง หนี้สินครัวเรือน ความเหลื่อมล้ำ หรือแม้กระทั่งวิกฤตเด็กเกิดน้อย) หนักขึ้นกว่าเดิม
.
[ 1.1. ความไม่เป็นธรรม หากมองย้อนไปที่ “อดีต” ]
.
หากเราจะมองย้อนไปที่ข้อมูลใน “อดีต” เราจะเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้นในประเทศเรานั้นถูกปรับขึ้นในอัตราที่ “น้อยกว่า” การเติบโตทางเศรษฐกิจ มาโดยตลอด
.
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (หากผลของอัตราของเงินเฟ้อออกไป)
- รายได้โดยรวมของประเทศหรือ GDP เพิ่มขึ้นเกือบ 20%
- แต่ค่าแรงขั้นต่ำนั้นแทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย (10 ปีที่แล้ว ค่าจ้างขั้นต่ำซื้อไข่ได้กี่ฟอง / มาถึงปีนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังซื้อไข่ได้จำนวนฟองเท่าเดิม)
.
ตรงนี้หมายความว่า แม้เศรษฐกิจในภาพรวมโตขึ้นจากการทำงานของพวกเราทุกคน แต่แรงงานบางคนกลับไม่ได้รับ “ดอกผล” หรือ “ส่วนแบ่ง” จากการพัฒนาดังกล่าว
.
[ 1.2. ความไม่เป็นธรรม หากมองมาที่ “ปัจจุบัน” ]
.
หากเราจะมองมาที่สภาพความเป็นอยู่ใน “ปัจจุบัน” เราจะเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้น ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
.
คณะกรรมการค่าจ้าง เคยชี้แจง ในประกาศเมื่อปี 2562 ว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้น ควรจะต้องคำนวณจากฐานคิดว่า: “ค่าแรงระดับไหน ที่เพียงพอต่อการทำให้คนทำงาน 1 คนดำรงชีพอยู่ได้” แต่เราก็รู้ดี ว่าคนทำงาน 1 คน มักไม่ได้ดูแลแค่ตนเองแต่ต้องดูแลอีกหลายคนในครอบครัว
.
ดังนั้น หากเราคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ จากฐานคิดว่า “ค่าแรงระดับไหน ที่เพียงพอต่อการทำให้คนทำงาน 1 คน เลี้ยงดูทั้งตนเองและครอบครัวได้” (หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” หรือ Living Wage) เราจะค้นพบว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เพียงพอสำหรับคนทำงานที่มีลูกที่ต้องดูแล 2 คน (หากยกเป็นตัวอย่าง) ต้องเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว
.
[ 1.3. ความไม่เป็นธรรม หากมองไปสู่ “อนาคต” ]
.
หากเราจะฝากความหวังไว้กับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน “อนาคต” ก็ต้องบอกว่าเราฝากความหวังได้ยาก ตราบใดที่คณะกรรมการค่าจ้างยังคงเลือกใช้สูตรคำนวณเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นสูตรที่นักวิชาการและ กมธ. พัฒนาเศรษฐกิจ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่ามีการฝังความไม่เป็นธรรมเข้าไปในสูตรจนทำให้ค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับขึ้น น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
.
[ 2. ปัญหาความ “ไม่แน่นอน” ของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ]
.
แต่นอกจากความไม่เป็นธรรมแล้ว เรายังเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความ “ไม่แน่นอน” สูง
.
หากเราย้อนดูสถิติตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
- มี 12 ปี ที่ค่าแรงขั้นต่ำแทบไม่ถูกปรับขึ้นเลยหรือ < 2%
- มี 6 ปี ที่ค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับขึ้นเล็กน้อยระหว่าง 2-10%
- และมีแค่ 2 ปีที่ค่าแรงขั้นต้ำถูกปรับขึ้นเกิน 10%
(โดยปรับขึ้นที่ 40% ในปี 2555 และ อีก 22% ในปี 2556)
.
ผมเข้าใจดีว่าหากค่าแรงไม่ถูกปรับขึ้นมานาน การปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หากจะแก้ความไม่เป็นธรรมในอดีต
.
แต่ความผันผวนและความไม่แน่นอน ที่เกิดขึ้นจากการที่ค่าแรงสลับไปมาระหว่างช่วงที่ไม่ขึ้นเลย กับช่วงที่ขึ้นแบบก้าวกระโดด ไม่ส่งผลดีต่อทั้งแรงงานที่ต้องมานั่งลุ้นทุกปีและผู้ว่าจ้างที่วางแผนธุรกิจได้ยาก
.
[ ต้นตอของปัญหา คือการใช้ “ดุลพินิจ” ที่มากเกินไป ]
.
ปัญหาเรื่อง ความไม่เป็นธรรม และ ความไม่แน่นอน เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงในประเทศเรา มีสาเหตุสำคัญ มาจากการที่เราเปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง มีพื้นที่ในการใช้ “ดุลพินิจ” มากเกินไปในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ
.
หากสมมุติปีไหนที่กลุ่มทุนใหญ่ ออกโรงกันเต็มที่ในการกดดันและแทรกแซงกระบวนการกำหนดค่าแรง คณะกรรมการค่าจ้างก็อาจอ่อนข้อ และตัดสินใจไม่ปรับขึ้นค่าแรง หรือปรับขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
.
แต่หากสมมุติปีไหนมีการเลือกตั้ง และพรรคต่างๆเกทับกันเรื่องนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ คณะกรรมการค่าจ้างก็อาจถูกรัฐบาลบีบ ให้ขึ้นค่าแรงแบบกระชากเพื่อรักษาสัญญาที่หาเสียงไว้ได้
.
[ ข้อเสนอ: ระบบค่าแรงขั้นต่ำ ที่ปรับขึ้นแบบอัตโนมัติ]
.
เพื่อแก้ปัญหา “ความไม่เป็นธรรม” และ “ความไม่แน่นอน”
ของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ฉบับนี้ จึงพยายามลด “ดุลพินิจ” ที่มีอยู่และกำหนด “หลักเกณฑ์” และ “หลักประกัน” ให้ชัดว่าค่าแรงขั้นต่ำ จะต้อง “ปรับขึ้นโดยอัตโนมัติ” อย่างน้อยกี่ % ต่อปี โดยใช้สูตรคำนวณที่อ้างอิงตัวชี้วัดที่สำคัญ (เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น) ซึ่งเรายังปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมได้ในชั้นกรรมาธิการ
.
แนวคิดเรื่อง “ระบบปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบอัตโนมัติ” ไม่ได้เป็นแนวคิดที่ใหม่ แต่เคยถูกเสนอโดยสถาบันวิจัยบางสำนักและถูกใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นระบบที่เราเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
- แรงงงานไม่ต้องลุ้นปีต่อปี ว่ารายได้จะโตทันรายจ่ายหรือไม่
- ผู้ประกอบการก็คาดการณ์ต้นทุน และวางแผนธุรกิจไปข้างหน้าได้
- เศรษฐกิจในภาพรวมก็จะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเติบโตสำหรับทุกคน
.
[ คลายข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อการจ้างงาน และ SME ]
.
สำหรับใครที่กังวลว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปีจะทำให้เกิดการจ้างงานน้อยลง ผมก็ต้องเรียนว่า นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักกลับคาดการณ์ว่า ผลกระทบดังกล่าวไม่น่าจะแรงมากนักสำหรับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากผู้ว่าจ้างโดยรวมยังมีอำนาจเหนือแรงงาน เพราะ
- โครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังผูกขาดหรือแข่งขันกันไม่สมบูรณ์
- การรวมตัวกันของแรงงานที่ยังอ่อนแอ
.
สำหรับใครที่กังวลว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี จะกระทบ SME มากกว่าทุนใหญ่ ผมก็ต้องยืนยันว่าเพราะพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับ SME
เราถึงเสนอระบบการปรับขึ้นค่าแรงอัตโนมัติ เนื่องจากเรารู้ว่าสิ่งที่น่ากังวลที่สุดสำหรับ SME ไม่ใช่ค่าแรงที่ทยอยขึ้นทุกๆปี แต่คือค่าแรงที่ขึ้นแบบกระชากในปีเดียว และผมก็ต้องยืนยันเพิ่มเติมว่าพรรคก้าวไกลเราไม่ได้ต้องการทำเรื่องค่าแรงแบบโดดๆ แต่เราต้องการทำคู่ขนานกับการเติมทุน-เติมตลาด-เติมแต้มต่อให้ SME สามารถต่อกรและแข่งกับรายใหญ่ได้
.
[ การเลือกระบบเศรษฐกิจ ที่แรงงานและผู้ประกอบการเติบโตไปพร้อมกัน ]
.
ระบบค่าแรงขั้นต่ำ ที่ปรับขึ้นแบบอัตโนมัติ คือการยืนยันหลักการสำคัญว่า
- ค่าแรงขั้นต่ำควรปรับขึ้นตามเกณฑ์ที่เป็นธรรมกับแรงงาน ไม่ใช่ปรับขึ้นตามอำเภอใจทุนใหญ่รายใดหรือผู้มีอิทธิพลคนใด
- ค่าแรงขั้นต่ำควรปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ “ถูกกดให้นิ่งอยู่หลายปี และกระชากขึ้นนานๆที
.
การลงมติเห็นชอบกับ “ระบบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบอัตโนมัติ” ใน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน วันนี้
.
จึงไม่ได้เป็นการเลือกข้างระหว่างแรงงาน กับ ผู้ประกอบการรายย่อย
.
แต่คือการเลือกระบบเศรษฐกิจที่แรงงานและผู้ประกอบการเติบโตไปพร้อมกัน