วันพฤหัสบดี, มีนาคม 07, 2567

การใช้อำนาจ "คุกคามประชาชน" ภายใต้ "รัฐบาลเพื่อไทย" ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา



2 เดือนแรกของปี: สถานการณ์เจ้าหน้าที่รัฐติดตาม-คุกคามประชาชน ไม่น้อยกว่า 40 กรณี ไม่พบการเปลี่ยนแนวทางการใช้อำนาจภายใต้รัฐบาลใหม่

5/03/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปี 2567 สถานการณ์การติดตามคุกคามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง ยังมีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามข้อมูลพบไม่น้อยกว่า 40 กรณี และยังมีกรณีการข่มขู่คุกคามในลักษณะบุคคลไม่ทราบฝ่ายอีกอย่างน้อย 4 กรณี

รูปแบบที่พบมากที่สุด คือการไปติดตามถึงบ้านหรือที่ทำงาน พบไม่น้อยกว่า 17 กรณี และการไปติดตามสอดแนมระหว่างกิจกรรมหรือบริเวณที่พักอาศัย ไม่น้อยกว่า 8 กรณี นอกจากนั้นมีกรณีการเรียกมาพูดคุยและโทรติดต่อสอบถามข้อมูล รวมกันไม่น้อยกว่า 5 กรณี และยังมีกรณีการเข้าแทรกแซง รบกวน ปิดกั้นกิจกรรม ไม่น้อยกว่า 8 กรณี

หากย้อนนับตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566 เป็นต้นมา ภายหลังการโปรดเกล้าฯ ให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันแล้ว เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนเศษ มีรายงานกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามคุกคามประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่า 118 กรณีแล้ว (ย้อนอ่านรายงานสถานการณ์รอบปี 2566)

กล่าวได้ว่าในประเด็นการใช้อำนาจในรูปแบบที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐคอยเข้าติดตามไปบ้านนักกิจกรรมหรือประชาชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง หรือที่ตกเป็นเป้าหมายติตดามความเคลื่อนไหว ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางให้เห็นได้ชัดเจนนัก

.
การคุกคามเกี่ยวเนื่องกับการเสด็จของสมาชิกราชวงศ์/บุคคลสำคัญลงพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 11 กรณี

ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจไปติดตามนักกิจกรรมและประชาชนที่จัดหรือร่วมชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด อันเนื่องมาจากมีการเสด็จของสมาชิกในราชวงศ์ ยังมีรายงานไม่น้อยกว่า 8 กรณี และยังมีการติดตามเพราะกรณีการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราชวงศ์ อีก 3 กรณี

ที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567 รอง ผกก.สส.สภ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม เดินทางไปที่บ้านของประกอบ วงศ์พันธุ์ ผู้เคยถูกดำเนินคดีคาร์ม็อบนครพนม เพื่อขอถ่ายรูปถ่ายรายงานตามคำสั่ง เนื่องจากกรมสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จมาในจังหวัด โดยที่เจ้าตัวก็ไม่ทราบเรื่องการเสด็จมาก่อน


ภาพเจ้าหน้าที่ไปบ้านของประกอบ ที่จ.นครพนม เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567

.
ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีรายงานตำรวจไปติดตามบัณฑิตที่จบการศึกษาและเคยเคลื่อนไหวทางการเมือง ในช่วงที่จะมีการรับปริญญา เช่นเดียวกันที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่ก่อนพิธีรับปริญญา ทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ให้ทางคณะรัฐศาสตร์ เรียกนักศึกษาที่มีรายชื่อเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองไปพูดคุยกับคณบดีและอาจารย์ สอบถามว่าจะมีกิจกรรมทางการเมืองในช่วงรับปริญญาหรือไม่

รวมทั้งที่จังหวัดกำแพงเพชร ในช่วงปลายมกราคม ก่อนการเสด็จของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ตำรวจได้โทรติดต่ออดีตผู้เคยลงสมัครนายกฯ อบจ. ในนามคณะก้าวหน้า สอบถามความเคลื่อนไหวทางการเมือง และต่อมายังเดินทางไปถ่ายรูปที่บ้าน ทั้งที่บ้านของอดีตผู้สมัครรายนี้ และบ้านภรรยาของเขาด้วย อ้างว่าต้องนำภาพไปรายงานตามคำสั่ง

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีกรณีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามสอดแนมแกนนำกลุ่มราษฎรเชียงราย ระหว่างที่มีการเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในงานรับปริญญาของ ม.แม่ฟ้าหลวง อีกด้วย

ส่วนกรณีบุคคลสำคัญอื่น ๆ พบกรณีในช่วงต้นเดือนมกราคม สองอดีตผู้สมัคร สส. ก้าวไกลในจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ถูกตำรวจไปขอถ่ายรูปถึงบ้าน ระบุว่าเป็นการมาทำงานย้อนหลัง ทำให้คาดกันว่าเกี่ยวเนื่องกับเหตุที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และแกนนำพรรคพลังประชารัฐมาลงพื้นที่เพชรบูรณ์ ในช่วงอาทิตย์ดังกล่าว

รวมทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีรายงานกรณีประชาชนรายหนึ่งที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองและทำกิจกรรมยืนหยุดขังเป็นประจำ ได้ถูกชายแปลกหน้าไปคอยวนเวียนติดตามถึงที่ทำงานอย่างผิดปกติ ในช่วงวันเดียวกับที่ เศรษฐา ทวีสิน ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

.

ภาพเหตุการณ์ที่บ่อวิน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 (ภาพจากผู้ใช้ X)

.
การติดตามประชาชนที่อยู่ใน “รายชื่อเฝ้าระวัง” ตามรอบ/เคยแชร์-โพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

นอกจากการติดตามไปบ้านผู้เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยทราบสาเหตุว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นการเสด็จหรือเดินทางมาของบุคคลสำคัญแล้ว ยังมีสถานการณ์ที่ตำรวจไปบ้านของนักกิจกรรมและอดีตผู้ลงสมัคร สส. ของพรรคก้าวไกล โดยไม่ได้มีสาเหตุแน่ชัด แต่ถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับการมาติดตาม “บุคคลในรายชื่อเฝ้าระวัง” ของเจ้าหน้าที่ตามรอบ โดยพบกรณีไม่น้อยกว่า 5 กรณี

ในช่วงต้นเดือนมกราคม พบว่ามีกรณีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เคยทำกิจกรรมทางการเมือง ถูกตำรวจไปตรวจสอบความเคลื่อนไหวถึงบ้าน อ้างว่ามีรายชื่อเป็นบุคคลเฝ้าระวัง และยังสอบถามว่าอยากจะทำบันทึกคำให้การว่าได้หยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปแล้วหรือไม่ เพื่อทางเจ้าหน้าที่จะได้ทำเรื่องนำรายชื่อออก แต่บัณฑิตรายนี้ปฏิเสธไป โดยในช่วงเดียวกันยังมีนิสิตมหาวิทยาลัยเดียวกันอีก 2 ราย ถูกตำรวจติดตาม โดยรายหนึ่งไปหาที่บ้านในต่างจังหวัด อีกรายพยายามโทรสอบถามข้อมูลจากเจ้าของหอพักด้วย

ช่วงกลางเดือนมกราคม ยังมีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 2 ราย และคดียังไม่สิ้นสุด ระบุว่าได้ถูกตำรวจมาติดตามถึงบ้าน โดยรายหนึ่งตำรวจระบุตนว่าเป็รชุดสืบสวนไปตามหาทั้งที่บ้านตามทะเบียนบ้าน คอนโด และที่ทำงาน อ้างทำนองว่าประชาชนรายนี้ไม่ได้ไปตามนัดของศาล ทั้งที่ไม่ได้มีการนัดหมายใด ๆ แต่อย่างใด ทำให้ไม่ทราบวัตถุประสงค์แน่ชัดของเจ้าหน้าที่ ส่วนประชาชนอีกราย มีตำรวจระบุว่าเป็นสันติบาลไปหาถึงบ้าน อ้างว่าได้รับคำสั่งมาให้ติดตามในพื้นที่นี้ ก่อนพูดคุยสอบถามความเป็นอยู่ ความคืบหน้าของคดี และขอถ่ายรูปไป

นอกจากนั้น ในรอบสองเดือนนี้ ยังมีรายงานกรณีของประชาชนอย่างน้อย 2 ราย ที่ถูกตำรวจไปติดตามพูดคุยด้วย เหตุเนื่องจากเคยโพสต์หรือแชร์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยมีการให้ลบข้อความออก

.

ภาพเหตุการณ์ที่บ่อวิน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 (ภาพจากผู้ใช้ X)

การคุกคามประชาชน ที่ร่วมตั้งจุดลงชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีการรณรงค์ในประเด็นการลงชื่อเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน นั้น ก็ได้มีรายงานกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปติดตามประชาชนที่ตั้งจุดลงชื่อ หรือจัดกิจกรรมเกี่ยวกับประเด็นนี้ รวมไม่น้อยกว่า 7 กรณี
กรณีแรก ประชาชนผู้ตั้งโต๊ะจุดลงชื่อที่บ้านในจังหวัดพิษณุโลก ได้ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย ไปหาถึงบ้าน พร้อมพูดคุย และถ่ายรูปเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ขณะที่ผู้ปกครองไม่อยู่บ้าน ส่วนประชาชนอีกรายในจังหวัดเดียวกันที่ตั้งจุดลงชื่อ พบว่ามีชายหัวเกรียนมาจอดถ่ายรูปหน้าบ้าน

กรณีเครือข่ายแรงงานภาคตะวันออก ซึ่งตั้งโต๊ะจุดลงชื่อที่บ่อวิน จังหวัดชลบุรี ได้มีชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบเข้าติดตามการลงชื่อ พร้อมกับถ่ายรูปรายงานผู้บังคับบัญชา

ส่วนที่จังหวัดตาก มีประชาชนเครือข่ายชาติพันธุ์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล 4 นาย เดินทางไปหาถึงบ้าน เพื่อสอบถามข้อมูล หลังได้ตั้งจุดลงชื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนไว้ 4-5 วัน

.

ภาพชุดเจ้าหน้าที่ไปบ้านของสมาชิกเครือข่ายชาติพันธุ์ที่ร่วมตั้งจุดลงชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567

.
นอกจากนั้น ยังมีรายงานกรณีการจัดกิจกรรมเสวนาและฉายภาพยนตร์ที่ร้านหนังสือในจังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าไปแสดงตัวขอติดตามกิจกรรม ทำให้ทางผู้จัดต้องตัดสินใจไม่ฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ไกลบ้าน” ที่บอกเล่าเรื่องราวของวัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ลี้ภัยทางการเมือง

หลังกิจกรรมดังกล่าว ยังมีรายงานว่ามีตำรวจเดินทางไปที่บ้านของเจ้าของร้าน พร้อมกับพยายามพูดคุยขอไม่อยากให้มีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันในจังหวัดอีกด้วย ทำให้เกิดข้อกังวลต่อการจัดกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ ตามมา

สถานการณ์นี้ยังไม่นับกรณีที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปติดตามสอดแนม หรือถ่ายรูปจุดลงชื่อหรือการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกรายงานหรือไม่ได้มีการแสดงตัวอีกด้วย

ภาพเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกักตัวพี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ไว้ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567

.
การปิดกั้นการทำกิจกรรม – จนท.รัฐไปหาถึงบ้านคนร่วมกิจกรรม

ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา ยังมีสถานการณ์การละเมิดสิทธิที่เกี่ยวกับการออกมาแสดงออกทางการเมือง หรือร่วมกิจกรรมทางการเมือง และถูกคุกคาม-ปิดกั้น-ควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐอยู่อีกด้วย

กรณีที่ชัดเจน ได้แก่ กรณีของสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ผู้ลี้ภัยที่ถูกบังคับสูญหายในประเทศกัมพูชา ซึ่งจะเดินทางไปติดตามทวงถามความคืบหน้าในเรื่องของน้องชาย ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ขณะฮุนเซนเดินทางมาพบ ทักษิณ ชินวัตร นั้น ก็ได้ถูกตำรวจสกัดกั้นไม่ให้เดินทางไป พร้อมกับถูกตำรวจกักตัวไว้ไม่ให้เดินทางไปไหน โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายเป็นเวลากว่าชั่วโมง พร้อมยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามหลังจากนั้น

กรณีของ “แนน” นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ส หลังจากเมื่อเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2567 ได้ไปร่วมดูแลความปลอดภัยของ “ตะวัน” ที่แถลงข่าวบริเวณสถานีบีทีเอสสยาม หลังจากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาถึงบ้านในจังหวัดอุบลราชธานี โดยพบกับแม่ และลูกสองคนที่อยู่ในวัย 10 ขวบ พยายามสอบถามข้อมูล และขอถ่ายรูปบัตรประชาชนของแม่ จนทำให้ลูกตกใจกลัว ร้องไห้อยู่หลายชั่วโมง

ในช่วงศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดี “ล้มล้างการปกครอง” ของพรรคก้าวไกล จากการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ตำรวจยังมีการ “เชิญ” ประชาชนที่ไปถือป้ายแสดงออกทางการเมืองออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าการถือป้ายข้อความหรือป้ายรูปภาพเป็นการกดดันศาล หรืออาจถึงขั้นละเมิดอำนาจศาล ทั้งที่ป้ายเป็นเพียงรูปภาพของพิธา พร้อมข้อความ Respect my vote

ขณะที่หลังสถานการณ์การจับกุมผู้สื่อข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระ จากกรณีถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการพ่นสีวัดพระแก้ว ทำให้เกิดการแสดงออกของนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมยืนหยุดขัง บริเวณคณะฯ ก็พบว่ามีตำรวจในและนอกเครื่องแบบหลายนายเข้ามาในมหาวิทยาลัยและติดตามกิจกรรม อ้างว่ามาดูแล “ความสงบเรียบร้อย” และเข้าถ่ายรูปผู้ทำกิจกรรม โดยที่หากพิจารณาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ นั้น ไม่ได้มีการบังคับใช้ภายในสถานศึกษา ทำให้ตำรวจไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีสถานการณ์ชุมนุมปักหลักของกลุ่ม P-move เพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาของชุมชนและการจัดการที่ดิน ก็ถูกกองบัญชาการตำรวจนครบาลออกประกาศลงวันที่ 2 ก.พ. 2567 ห้ามชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาลในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร อ้างว่าอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนผู้สัญจรและกีดขวางทางเข้าออกทำเนียบฯ ได้

รวมทั้ง เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ก็ได้ถูกตำรวจตั้งแผงเหล็กปิดกั้นถนน ไม่ให้เคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และยุติการดำเนินคดีทางการเมือง แม้จะได้แจ้งการชุมนุมและลักษณะกิจกรรมเอาไว้แล้ว โดยมีตัวแทนของรัฐบาลออกมารับหนังสือบริเวณหน้าแผงเหล็กแทน

นอกจากนั้นยังมีรายงานกรณีบ้านของสมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ส ได้ถูกตำรวจ สน.วังทองหลาง หรือหน่วยอื่น ๆ ไปติดตามเป็นประจำ และคอยถ่ายรูปรายงานผู้บังคับบัญชาอย่างต่อเนื่อง

.

ภาพตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าไปติดตามกิจกรรมของนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 (ภาพจากผู้ใช้ X)

.
การล่าแม่มด–ข่มขู่คุกคามหลังการปลุกปั่นกรณีขบวนเสด็จ

ในเดือนกุมภาพันธ์ ภายหลังเกิดเหตุการณ์กรณีของตะวัน-แฟรงค์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเรื่องการรบกวนขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ ได้มีการปลุกปั่นด้วยข้อมูลข่าวสารถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นเรื่องรุนแรงเกินจริง แล้วยังมีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว ทั้งชื่อบิดา-มารดาของทานตะวัน หรือทะเบียนรถยนต์ ในโลกออนไลน์

ทั้งยังมีการข่มขู่คุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ต่อบุคคลอื่น ๆ โดยมีรายงานเพจเฟซบุ๊กที่โพสต์ภาพสภาพฝุ่นควันที่อยู่ในระดับสีม่วง ได้ถูกนำข้อมูลส่วนตัวผู้ทำเพจมาเปิดเผยในสื่อ ทั้งชื่อและรูปถ่ายส่วนตัว ทั้งยังมีบุคคลส่งข้อความมาข่มขู่ทำร้ายด้วย

รวมทั้งกรณีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ถูกชายลึกลับโทรศัพท์มาข่มขู่ที่สำนักงาน ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับตะวันและแฟรงค์ พร้อมกล่าวถึงการใช้อาวุธปืนเข้ามาอีกด้วย

.
https://tlhr2014.com/archives/65204