วันพุธ, กรกฎาคม 05, 2566

ย้อนสัมพันธ์ วันนอร์-ทักษิณ บนเส้นทางการเมือง


วันมูหะมัดนอร์ ในคณะรัฐมนตรีนายทักษิณ ชินวัตร ระหว่างการเปิดทดสอบการบินครั้งแรกที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2548

ย้อนสัมพันธ์ วันนอร์-ทักษิณ บนเส้นทางการเมือง

4 กรกฎาคม 2023
บีบีซีไทย

วันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมืองมุสลิมจากชายแดนใต้ชาว จ.ยะลา วัย 79 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นสมัยที่ 11 และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานสภาแบบไร้คู่แข่งในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26

นี่คือการนั่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นสมัยที่ 2 นับจากปี 2539 ซึ่งขณะนั้นเขาเป็น ส.ส. ในสังกัดพรรคความหวังใหม่

ก่อนเข้าสู่สนามการเมืองและได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรกที่ จ.ยะลา ภายใต้สังกัดพรรคกิจสังคม เมื่อปี 2522 ภูมิหลังของนายวันมูหะมัดนอร์ คืออาชีพครู

ทั้งการเป็นครูใหญ่ แห่งโรงเรียนอัตตัรกียะห์ อิสลามียะห์ จ.นราธิวาส ตั้งแต่อายุ 20 ปี และเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยครูสองแห่ง โดยตำแหน่งสุดท้ายในวงการศึกษาคือ รองอธิการบดี สถาบันราชภัฏสงขลา

นี่จึงเป็นที่มา ที่คนในวงการเมืองต่างเรียกขาน ส.ส. มุสลิม จากชายแดนใต้คนนี้ว่า “อาจารย์วันนอร์”

คอการเมืองรุ่นเก่าอาจจะรู้จักนายวันมูหะมัดนอร์ ในฐานะแกนนำนักการเมืองมุสลิมกลุ่มวาดะห์ ซึ่งเป็นกลุ่ม ส.ส. ที่เขาก่อตั้งขึ้นร่วมกับนายวีระ มุสิกพงศ์ ขณะอยู่ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2529 แต่นั่นก็ไม่ใช่เพียงพรรคเดียว เพราะหลังจากนั้นเส้นทางทางการเมืองของ ส.ส. กลุ่มวาดะห์ ก็ผกผันเปลี่ยนรังไปอยู่หลายสังกัด เช่นเดียวกับเส้นทางของนายวันมูหะมัดนอร์



สำหรับบทบาทการเป็นฝ่ายบริหารในรัฐบาล นายวันมูหะมัดนอร์เป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (2537) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2 สมัย (2538 และ 2544 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์-รองนายกรัฐมนตรี (2547 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร)

ส่วนในสนามการเลือกตั้ง ส.ส. นักการเมืองมุสลิมชาวยะลารายนี้ เป็น ส.ส. มาแล้ว 11 สมัย (รวมการเลือกตั้ง ปี 2566) ภายใต้พรรคการเมืองหลายพรรค

แต่หากย้อนความเป็นมาของการเมืองร่วมสมัย กล่าวได้ว่า ก่อนการก่อตั้งพรรคประชาชาติในปี 2561 เส้นทางการเมืองของนายวันมูหะมัดนอร์ นับว่าเกาะเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในหลายช่วงตอน ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทย

เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนายวันมูหะมัดนอร์กับพรรคเพื่อไทยจากกรณีตำแหน่งประธานสภา ยังมีการให้ความเห็นจากนายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสภาในวันนี้ (4 ก.ค.) ด้วยว่า "อาจารย์วันนอร์ก็คือเพื่อไทย เป็นคนของเพื่อไทย เพราะท่านแยกมาจากที่นั่น และผมคิดว่ายังมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อไทย ดีกว่าก้าวไกล ในความรู้สึกผม ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะเริ่มก้าวที่หนึ่ง ดังนั้นก้าวที่สอง ที่สาม ก็พอดูออกกันแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

เขาขยายความว่า รู้จักนายวันมูหะมัดนอร์ตั้งแต่อยู่พรรคความหวังใหม่ และย้ายไปอยู่พรรคไทยรักไทย ดังนั้น จึงพอจะเข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น

เส้นทางการเมืองของ "วันนอร์" ส.ส. 11 สมัย จากชายแดนใต้

บทบาทและจุดเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญของนายวันมูหะมัดนอร์ อาจแบ่งออกได้เป็นช่วงต่าง ๆ ดังนี้
  • ปี 2535 นายวันมูหะมัดนอร์นำนักการเมืองกลุ่มวาดะห์ ร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก่อนได้รับการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นสมัยที่ 5 และเข้าสู่ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
  • ปี 2539 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 7 ในสังกัดพรรคความหวังใหม่ และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 24 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2539 - 27 มิ.ย. 2543 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่พรรคความหวังใหม่ ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 125 เสียง ถือเป็นชาวมุสลิมคนแรกของประเทศที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้
  • ปี 2540 วันที่ 11 ต.ค. 2540 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานรัฐสภา ได้เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นได้นำไปประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวกัน จึงมีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ถูกบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2540 เป็นต้นไป
  • ปี 2545 ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย (ทรท.) หลังจากมีการยุบรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรค ทรท. โดยก่อนหน้านั้นในปี 2544 นายวันมูหะมัดนอร์ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในนามพรรคความหวังใหม่
  • ปี 2549 เส้นทางการเมืองของนายวันมูหะมัดนอร์หยุดลงชั่วคราวจากการที่พรรค ทรท. ถูกยุบในปี 2549 ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี โดยหลังจากนั้น เขาได้เข้าไปสังกัดพรรคการเมืองหลายพรรค โดยพรรคสุดท้ายก่อนออกมาก่อตั้งพรรคประชาชาติคือพรรคเพื่อไทย
  • ปี 2555 เข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.)
  • ปี 2557 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 13 พรรค พท. (ต่อมาการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ)
  • ปี 2561 ก่อตั้งพรรคประชาชาติ

นายวันมูหะมัดนอร์ ระหว่างการเยือนบ้านเบ็ญจลักษณ์ เพื่อพบปะผู้ประสานงานตำบลของนายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส. ปัตตานี พรรคประชาชาติ เมื่อปี 2562

ส.ส. กลุ่มวาดะห์ จากประชาธิปัตย์-ความหวังใหม่ สู่ไทยรักไทย

บทความในฐานข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า เขียนถึงเส้นทางของนักการเมืองกลุ่มวาดะห์ว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2535 ที่ได้ ส.ส. มาหลายสมัย ในภายหลัง "ชื่อเสียงของกลุ่มวาดะห์ ต้องตกต่ำลงอย่างมาก" เมื่อพ่ายแพ้การเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2548 ซึ่งขณะนั้น ส.ส. กลุ่มนี้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทยที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค โดยไม่มีผู้สมัครของทางกลุ่มได้รับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตแม้แต่คนเดียว ทั้งที่เคยครองพื้นที่อย่างเหนียวแน่นมากว่า 20 ปี ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ ยังได้เป็น ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อ

สัมพันธ์ทักษิณ-วันนอร์ กรณีดาวเทียมไอพีสตาร์

นอกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย (ทรท.) และเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร 2 สมัย ได้แก่ รมว. คมนาคม (2544) และรองนายกฯ-รมว. เกษตรและสหกรณ์ (2547) สัมพันธ์ระหว่างนายทักษิณและนายวันมูหะมัดนอร์ ยังปรากฏในส่วนหนึ่งของคดีที่นายทักษิณถูกยึดทรัพย์ในปี 2553 ด้วย

ย้อนไปในวันที่ 26 ก.พ. 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์จำนวน 46,373 ล้านบาท ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ตกเป็นของแผ่นดิน จากพฤติการณ์อาศัยอำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของครอบครัวชินวัตร 5 กรณี ซึ่งบางกรณีมีชื่อของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้อนุมัติเห็นชอบโครงการและการดำเนินการต่าง ๆ

หนึ่งในนั้นคือ การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อปี 2545



จากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สรุปได้ว่า นายวันมูหะมัดนอร์ รมว.คมนาคม ในขณะนั้น ได้อนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ให้เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ทั้งที่ด้วยคุณสมบัติทางเทคนิคไม่สามารถเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ได้ตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งเรื่องนี้มีการอนุมัติในระดับคณะกรรมการประสานงานมาก่อนแล้ว และมีการเปลี่ยนแปลงรายงานการประชุมเพื่อให้ไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองได้ โดยที่ก็ไม่ได้มีการรับรองรายงานการประชุมแต่อย่างใด ก่อนที่จะส่งเรื่องให้นายวันมูหะมัดนอร์ รมว.คมนาคม อนุมัติ

คำพิพากษาระบุด้วยว่า พฤติการณ์เหล่านี้ "ทำให้ความมั่นคงในการสื่อสารดาวเทียมของชาติต้องเสียหาย" ไม่มีดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อเป็นสำรองดาวเทียมไทยคม 3 และการอนุมัติดังกล่าวไม่ชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทไทยคมไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน โดยไม่มีภาระกู้ยืมเงินหรือเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาลงทุนในการส่งดาวเทียมไทยคม 4 ทำให้รัฐเสียหาย 4,000 ล้านบาท

จากเพื่อไทย สู่ประชาชาติ เพราะชื่อ “ทักษิณ” ขายไม่ได้ในชายแดนใต้

ชีวิตทางการเมืองบทใหม่ในนามพรรคประชาชาติ (ปช.) ของนายวันมูหะมัดนอร์ เริ่มต้นขึ้นในปี 2561 เมื่อเขานำนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ออกจากพรรคเพื่อไทย (พท.) มาก่อตั้งพรรคประชาชาติ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเลขาธิการพรรค

การเกิดขึ้นของพรรคประชาชาติ ถูกมองว่าเป็น “การแยกเชิงยุทธศาสตร์” ของพรรคเพื่อไทย ดังที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เรียกว่าเป็นการ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ที่ใช้ยุทธศาสตร์นี้ในการเดินเกมเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เพื่อแตกพรรคออกเป็นพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พรรคเพื่อชาติ (พช.) โดยนายสุเทพมองว่าพรรคประชาชาตินั้นอยู่ในระนาบเดียวกับยุทธศาสตร์ "แบงก์ย่อย" ดังกล่าว

"กลวิธีที่เขาใช้ในวันนี้ก็คือเขาแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย คุณจะสังเกตเห็นว่าเขาจะมีพรรคเล็ก ๆ มากมาย เช่น พรรคของคุณวันนอร์ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เพราะชื่อของคุณทักษิณ ขายใน 3 จังหวัดไม่ได้แล้ว แต่แน่นอนทุกคนก็รู้ว่าคุณวันนอร์กับคุณทักษิณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างนี้เป็นต้น และมีพรรคอย่างนี้อีกมาก" นายสุเทพให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย เมื่อปี 2561

แม้ว่าการเลือกตั้งปี 2554 ชายแดนใต้จะไร้ ส.ส. สังกัดพรรคเพื่อไทย แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 ส.ส. กลุ่มวาดะห์ในนามของพรรคประชาชาติ คว้าชัยได้ถึง 6 ที่นั่ง


ป้ายหาเสียงที่บริเวณแยกมลายูบางกอก จ.ยะลา ก่อนการเลือกตั้งเดือน พ.ค. 2566

ชัยชนะของพรรคประชาชาติ ถูกมองจากนักวิเคราะห์ในชายแดนใต้ว่า เกิดจากการชูจุดขายเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิมของผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการได้มาซึ่งคะแนนเสียง

ในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แคมเปญรณรงค์หาเสียงหลักของพรรคประชาชาติ ยังเน้นกลุ่มฐานเสียงชาวมุสลิมมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ป้ายหาเสียงมีการใช้ข้อความรณรงค์อย่างเช่น "พรรคของเรา" เพื่อตอกย้ำความเป็นตัวแทนของคนในสามจังหวัดฯ และปฏิเสธนโยบายเกี่ยวกับกัญชาของพรรคอื่น ที่ผิดหลักศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตาม บีบีซีไทยพบว่าในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ พรรคเพื่อไทยก็ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในเขตเดียวกันกับพรรคประชาชาติด้วย

สำหรับผลการเลือกตั้งจำนวน 13 ที่นั่งในชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พรรคประชาชาติคว้าชัยชนะ ได้ ส.ส. ไปถึง 7 ที่นั่ง และยังได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 2 ที่นั่ง ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รวม ส.ส. ประชาชาติในการเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งสิ้น 9 คน
.....
ภัควดี วีระภาสพงษ์
8h
·
ขอโหมดโลกสวยบ้าง
หลายคนไม่มั่นใจวันนอร์ว่าเคยอยู่เพื่อไทย บางคนเรียกพรรคสาขาบ้างอะไรบ้าง
แต่เรามั่นใจ
เปล่า เราไม่ได้มั่นใจในตัววันนอร์เท่ากับมั่นใจในชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นฐานเสียงของพรรคประชาชาติ พวกเขาผ่านความทุกข์ความเจ็บปวดมาจนตาสว่างทางการเมืองพอสมควร พวกเขาคงไม่ทำตัวเป็นของตายของพรรคไหน และพรรคประชาชาติต้องตอบสนองฐานเสียงนี้ อย่างน้อยในเรื่องการปฏิรูปกองทัพและนิรโทษกรรม การกระจายอำนาจ ซึ่งก็เป็นจุดยืนที่มีร่วมกันกับพรรคก้าวไกลด้วย