วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 27, 2566

ระบอบทักษิณ จาก ‘ผีประชาธิปไตย’ สู่ ‘พันธมิตรใหม่’ ฝ่ายอนุรักษนิยม - ‘ระบอบทักษิณ’ ถูกเขียนบทใหม่เพื่อต่อกรพรรคก้าวไกล


Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส
17h
·
บทความชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ในวันที่ ทักษิณ ชินวัตร ประกาศกลับไทย 10 สิงหาคม - อย่างบังเอิญ

ภาพการ ‘ชนมินต์ช็อก’ ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิม นอกจากจะทำให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่ผู้สนับสนุน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์บางอย่างที่น่าสนใจ นั่นคือ ภาพที่เปลี่ยนไปของเพื่อไทยในสายตาอนุรักษนิยม

ท่าทีของกลุ่มอนุรักษนิยม ที่มีแนวคิดกษัตริย์นิยม (royalist) เปลี่ยนเป็นยอมรับพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นพันธมิตรทางการเมือง ทั้งที่ในอดีตเคยหวาดกลัวสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 2 ทศวรรษ และนำไปสู่การทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง

อะไรทำให้ความหวาดกลัว ความเกลียดชังต่อระบอบทักษิณ ที่กินเวลานานเกือบ 20 ปี หายไปอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ในมุมหนึ่งอาจจะสะท้อนว่า ระบอบทักษิณเริ่มเสื่อมถอยลง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนความจริงว่า ระบอบทักษิณเป็นเพียงสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อหลอกหลอนสังคมไทยให้ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย

และเมื่อศัตรูทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมเปลี่ยนไปเป็น ‘พรรคก้าวไกล’ ระบอบทักษิณก็ถูกเขียนบทใหม่ให้เป็นพันธมิตรทางการเมือง ฝ่ายอนุรักษนิยมพยายามดึงฝ่ายตรงข้ามของศัตรูใหม่ให้กลายเป็นมิตร เหมือนคำเปรียบที่ว่า ‘The enemy of my enemy is my friend’

คำอธิบายของปรากฏการณ์ไม่น่าเชื่อสายตานี้คืออะไร อ่านต่อได้ที่นี่

https://plus.thairath.co.th/topic/speak/103510
.....
ระบอบทักษิณ จาก ‘ผีประชาธิปไตย’ สู่ ‘พันธมิตรใหม่’ ฝ่ายอนุรักษนิยม

25 ก.ค. 66
ณัชปกร นามเมือง
Thairath Plus

Summary
  • ท่าทีของกลุ่มอนุรักษนิยมเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่เคยมองพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายตรงข้าม กลับกลายเป็นพันธมิตรทางการเมือง โดยวาทกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นคือ เหลืองกับแดงต้องร่วมมือกันโค่น ‘ส้ม’ หรือศัตรูรายใหม่อย่างพรรคก้าวไกล
  • ในความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘สงครามสีเสื้อ’ นั้น ล้วนมีสารตั้งต้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ และ ‘ผีทักษิณ’ จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และการทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง
  • ปรากฏการณ์ ‘ชนมินต์ช็อก’ ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิม จึงได้รับเสียงตอบรับอย่างเป็นมิตรจากฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งมีท่าทีโอบรับพรรคเพื่อไทยมาเป็นพันธมิตรทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยม
ปรากฏการณ์ ‘ชนมินต์ช็อก’ ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิม ประกอบไปด้วย พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนากล้า ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองอย่างรุนแรง ทั้งต่อฝ่ายที่สนับสนุน และต่อต้านการจัดตั้งรัฐบาลจาก 8 พรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตย

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด คือ ท่าทีของกลุ่มอนุรักษนิยม ที่มีแนวคิดกษัตริย์นิยม (royalist) หรือที่เรียกว่า ‘ราชาชาตินิยม’ ที่เปลี่ยนเป็นยอมรับพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นพันธมิตรทางการเมือง ทั้งที่ในอดีตเคยหวาดกลัวสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 2 ทศวรรษและนำไปสู่การทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง

การที่ความหวาดกลัวต่อระบอบทักษิณหายไปอย่างรวดเร็วของฝ่ายอนุรักษนิยม ในมุมหนึ่งอาจจะสะท้อนว่า ระบอบทักษิณเริ่มเสื่อมถอยลง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนความจริงว่า ระบอบทักษิณเป็นเพียงสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อหลอกหลอนสังคมไทยให้ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย และเมื่อศัตรูทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมเปลี่ยนไป ระบอบทักษิณก็ถูกเขียนบทใหม่ให้เป็นพันธมิตรทางการเมืองเพื่อต่อกรกับพรรคก้าวไกล



‘ระบอบทักษิณ’ ผีที่ถูกสร้างเพื่อต่อต้านประชาธิปไตย

ในความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘สงครามสีเสื้อ’ นั้น ล้วนมีสารตั้งต้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ หรือกลไกรักษาอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งคำดังกล่าวเปรียบเสมือนภูตผีที่หลอกหลอนสังคมไทยให้หวาดกลัวนักการเมือง ไปจนถึงการหวาดกลัวต่อระบอบประชาธิปไตย ก่อนจะปูทางไปสู่การโค่นล้มนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งถึง 4 คน และการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง

แม้ไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนว่าระบอบทักษิณเป็นอย่างไร แต่ความหมายตั้งต้นมาจาก ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นิยามว่า ระบอบทักษิณ คือ ‘ระบอบอาญาสิทธิทุนนิยมจากการเลือกตั้ง’1 กล่าวคือ เป็นระบอบการเมืองที่กลุ่มทุนรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จผ่านการเลือกตั้ง หรือใช้การเลือกตั้งเป็นฐานสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทุน-ผู้มีอิทธิพล ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

ภายใต้แนวคิดเรื่องระบอบทักษิณ ทำให้แนวคิดเรื่องเผด็จการรัฐสภา หรือทรราชของเสียงข้างมาก (the tyranny of majority) ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณอย่างมาก โดยฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ มองว่า ทักษิณ ชินวัตร ทำการบิดเบือน ฉวยใช้อำนาจรัฐเพิ่มโอกาสให้ฝ่ายตนชนะการเลือกตั้ง เช่น การดูดดึงตัวนักการเมือง การพยายามควบรวมพรรคเพื่อผูกขาดอำนาจทางการเมือง ไปจนถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจากคนใกล้ชิด การแทรกแซงองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล และใช้อิทธิพลในการกดดันสื่อมวลชนและนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลทักษิณซึ่งครองเสียงข้างมากยังถูกวิจารณ์ว่า ละเลยหลักนิติรัฐ กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีกรือเซะ-ตากใบ รวมถึงการทำสงครามยาเสพติด ที่นำไปสู่การวิสามัญผู้ต้องหา อีกทั้งยังพยายามแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว จนเกิดเป็นข้อกล่าวหา ‘ขายชาติ’ จากการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือการขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกิจการโทรคมนาคม ให้กับกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ พร้อมข้อครหาเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี



อย่างไรก็ดี แม้กลไกในการรักษาอำนาจของรัฐบาลทักษิณจะถูกเรียกว่า ‘ระบอบ’ แต่ระบอบทักษิณก็เป็นผลพวงมาจากการปฏิรูปการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งรัฐบาลทักษิณไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ หากเพียงแต่อาศัยกลไกตามรัฐธรรมนูญในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ดังนั้น ระบอบทักษิณจึงอาจจะไม่ได้มีอยู่ และการรับมือกับระบอบทักษิณที่แท้จริง คือการสร้างมาตรการควบคุมการใช้อำนาจของเสียงข้างมากที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ เป็นหนึ่งในคนที่เสนอวิธีการรับมือกับทรราชเสียงข้างมากไว้ว่า ต้องกำหนดให้ต้องใช้เสียงข้างมากเป็นพิเศษในการลงมติบางกรณีที่สำคัญ หรือการปฏิรูปองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญให้มีผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเสียงข้างมาก และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล2

เมื่อระบอบทักษิณได้กลายเป็นภูตผีปิศาจ ทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมที่มีแนวคิดชาตินิยมสุดขั้วและแนวคิดกษัตริย์นิยมสุดขั้ว อาศัยคำดังกล่าวเพื่อต่อต้านระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมกับการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ3 เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปฏิเสธอำนาจจากการเลือกตั้ง และกลายเป็นกลุ่มที่สร้างบันไดไปสู่การรัฐประหาร เริ่มตั้งแต่การเสนอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน มาตรา 7 การบอยคอตการเลือกตั้ง จนนำไปสู่ปรากฏการณ์ตุลาการภิวัฒน์ เพื่อล้มการเลือกตั้งในปี 2549 ก่อนจะจบลงด้วยการรัฐประหาร

แต่เนื่องจากนโยบายแบบรัฐบาลทักษิณได้ยึดครองหัวใจของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรากหญ้าที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล เช่น การพักหนี้เกษตรกร การตั้งกองทุนหมู่บ้าน นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) หรือนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท รักษาทุกโรค) ทำให้รัฐบาลภายใต้วิธีคิดแบบทักษิณ ยังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง

แต่ทุกชัยชนะของพรรคการเมืองใต้ร่มทักษิณต้องเผชิญหน้ากับการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้วาทกรรม ‘ระบอบทักษิณ’ และมีการนำตุลาการภิวัฒน์มาใช้โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาจนถึงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตามมาด้วยการบอยคอตและล้มการเลือกตั้ง ตามมาด้วยการรัฐประหารอีกครั้งในปี 25574 และนำไปสู่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่พยายามจะขัดขวางพรรคเพื่อไทยไม่ให้กลับมาเป็นรัฐบาล



‘ระบอบทักษิณ’ ถูกเขียนบทใหม่เพื่อต่อกรพรรคก้าวไกล

หลังการเลือกตั้งในปี 2566 ทั้ง 8 แปดพรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ด้วยเสียง 312 เสียง จาก 500 เสียง แต่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่ประสบความสำเร็จในการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีได้

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 วางกลไกไว้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือหมายความว่า การจะเป็นนายกรัฐมนตรีของแปดพรรคร่วมต้องอาศัยเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากการคัดเลือกของคณะรัฐประหารหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเห็นชอบด้วยหรือไม่ก็ต้องได้เสียงจากพรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลมาเห็นชอบด้วย

แต่จากท่าทีของพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนากล้า รวมถึง สว. ต่างส่งสัญญาณว่า จะไม่ลงมติเห็นชอบให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล และอาจจะไม่ลงมติเห็นชอบให้กับพรรคที่ยังจับมือร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังนั้น แปดพรรคร่วมจึงถูกบีบให้ต้องเลือกว่าจะอยู่ร่วมกับพรรคก้าวไกล หรือปล่อยมือจากพรรคก้าวไกล

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ปรากฏการณ์ ‘ชนมินต์ช็อก’ ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิมถูกตอบรับอย่างเป็นมิตรจากฝ่ายอนุรักษนิยม กล่าวคือ ท่าทีโอบรับพรรคเพื่อไทยมาเป็นพันธมิตรทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยม คือ การพยายามเขียนบทใหม่ให้กับระบอบทักษิณที่เคยเป็นชนวนความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า 2 ทศวรรษให้เป็นทางออกสำหรับสังคมไทย

จะเห็นได้ว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยจากพรรคทุนสามานย์ให้กลายเป็นหัวหอกของฝ่ายอนุรักษนิยม เพื่อต่อกรกับพรรคก้าวไกลที่ถูกสร้างภาพให้เป็นพรรคสุดโต่ง เป็นพรรคที่มีเป้าหมายล้มล้างสถาบันกษัตริย์ และมีนโยบายสลายทุนผูกขาด กระจายอำนาจ ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งกระทบต่อกลุ่มนายทุน ขุนศึก ศักดินา

พูดง่ายๆ ว่า เป้าหมายของฝ่ายอนุรักษนิยม คือการพยายามสลายขั้วพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย โดยพยายามโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคอันดับหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตย ให้ปราศจากพันธมิตรทางการเมือง

สุดท้ายแล้ว การเขียนบทใหม่ให้พรรคการเมืองในระบอบทักษิณเป็นพันธมิตรของฝ่ายอนุรักษนิยม และการผลักพรรคก้าวไกลให้เป็นพรรคล้มล้างสถาบันกษัตริย์ จึงไม่ต่างจากการฉายหนังซ้ำที่เคยกระทำกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาจนถึงพรรคเพื่อไทย เพียงแต่ผู้ร้ายในสายตาของฝ่ายอนุรักษ์ได้เปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกลเป็นที่เรียบร้อย



อ้างอิง:
1. เกษียร เตชะพีระ, "ระบอบทักษิณ", ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2547.
2. เกษียร เตชะพีระ, "ทางแพร่งและพงหนาม ทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย", มติชน 2551 หน้า 109-111.
3. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, “จากมือตบถึงนกหวีด: พัฒนาการและพลวัตของขบวนการต่อต้านทักษิณ”, กรุงเทพมหานคร : ILLUMINATIONS, 2563.
4. ปิยบุตร แสงกนกกุล. พิมพลักษณ์, “ศาลรัฐประหาร : ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร”, นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2560.