วันจันทร์, กรกฎาคม 31, 2566

อธิบายแบบภาษาชาวบ้าน สรุปผลนิด้าโพล ความผิดพลาดของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้


วาฬฮีลใจ @iwhale

สรุปนิด้าโพลเป็นภาษาชาวบ้าน คนเห็นว่าก้าวไกลผิดพลาดเพราะ 
1. ไม่ยอมกลืนน้ำลาย ยกเลิกบางสิ่งที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชน แลกกับการสนับสนุนในสภาให้เป็นรัฐบาล 
2. เขี้ยวไม่ลากดินพอ ไม่เก่งเกมการเมืองในสภา 
3. ไม่ไหลตามน้ำ พวกเลยน้อย 
4. ไม่ยอมเล่นการเมืองแบบไทยๆ เหมือนที่ผ่านมา และอีกมาก ลดหลั่นกันลงไป 

แต่คน 30% บอกไม่ได้พลาดอะไร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ 
(30 ก.ค. 66)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความผิดพลาดของพรรคก้าวไกล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อผิดพลาดของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ พบว่า

42.98% ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย เพื่อให้ได้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น
30.46% ระบุว่า พรรคก้าวไกล ไม่มีข้อผิดพลาดใด ๆ ทั้งนั้น
27.56% ระบุว่า พรรคก้าวไกลสู้เกมการเมืองในสภาไม่ได้
11.68% ระบุว่า พรรคก้าวไกลทำตัวปิดกั้นตัวเอง ทำให้ไม่ค่อยมีพันธมิตรทางการเมือง
10.23% ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่เข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นจริงทางการเมืองแบบไทย ๆ
9.54% ระบุว่า พรรคก้าวไกลประมาทในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่พรรคเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี (นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์)
7.94% ระบุว่า พรรคก้าวไกลสร้างศัตรูทางการเมืองไว้มากในช่วงที่ผ่านมา
7.86% ระบุว่า ปัญหาจากพฤติกรรมของแฟนคลับ พรรคก้าวไกลทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนในรัฐสภา
7.56% ระบุว่า พรรคก้าวไกลฟังแฟนคลับของตนเองมากเกินไป
6.11% ระบุว่า พรรคก้าวไกลหลงไปกับตัวเลข 14 ล้านเสียง และ 151 สส. มากเกินไป
5.88% ระบุว่า กุนซือ นักวิชาการของพรรคก้าวไกลที่อยู่นอกพรรคฯ ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด
0.53% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง หากพรรคก้าวไกลต้องไปเป็นฝ่ายค้าน พบว่า

35.19% ระบุว่า จะมีการชุมนุมใหญ่แต่จะสามารถควบคุมได้
24.81% ระบุว่า จะมีการชุมนุมเพียงเล็กน้อยและสามารถควบคุมได้
23.66% ระบุว่า จะมีการชุมนุมใหญ่และไม่สามารถควบคุมได้
11.99% ระบุว่า จะไม่มีการชุมนุมใด ๆ
2.90% ระบุว่า จะมีการชุมนุมเพียงเล็กน้อยแต่จะไม่สามารถควบคุมได้
1.45% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนถึงความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีพรรคการเมืองใหม่ที่มีลักษณะบุคลากรและวิธีการดำเนินการทางการเมืองคล้ายกับพรรคก้าวไกลเกิดขึ้น แต่มีความประนีประนอมมากกว่า พบว่า

35.88% ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้
33.89% ระบุว่า เป็นไปได้มาก
19.54% ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย
9.62% ระบุว่า เป็นไปไม่ค่อยได้
1.07% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 66)