วันพุธ, กรกฎาคม 26, 2566

"วิษณุ" บอก "สว." หมดอายุเลือกนายกฯแค่ 5 ปี ไม่มีอำนาจโหวตนายกฯ แล้ว แม้อยู่ในห้วงรักษาการ



วิษณุ เครืองาม บอก สว. หมดอายุเลือกนายกฯแค่ 5 ปี แม้อยู่ในห้วงรักษาการ ถามใครช่างคิดเลื่อนเลือกนายกรัฐมนตรี 10 เดือน คาดเห็นโฉม ครม.ใหม่สิงหาคมนี้

25 กรกฎาคม 2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุถึงกรณีข้อเสนอยืดการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไป 10 เดือน เพื่อรอให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. หมดวาระลง ว่า ตนไม่เคยได้ยิน ได้ยินแต่จากพรรคทั้งหลายพากันปฏิเสธ ไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และรัฐบาลเองก็ไม่อยากที่จะอยู่อย่างนั้น ซึ่ง แต่ละคนสมควรที่หมดเวลาแล้วก็ควรแยกย้ายกันไปทำมาหากิน

เมื่อถามว่าเป็นทางที่พรรคก้าวไกลต้องการยืดเวลาออกไป นายวิษณุ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคยพูดแล้วว่าหนทางนี้เป็นหนทางสุดท้ายที่ต้องคิด เพราะมีหนทางอื่น มีวิธีอื่น และมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะถ่วงเวลาไป อย่างนั้น เพราะการจะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ก็ลำบาก จะเสนองบประมาณเข้าสู่สภาก็ไม่ได้ และระหว่างนี้ยังคงต้องไปตอบกระทู้หากมีการถามมา

นายวิษณุ ยังถามกลับว่า จะไปลำบากทำแบบนั้นทำไม ในเมื่อมันไม่ได้ลำบากยากเย็นในการตั้ง เพียงแต่ หนักนิดเบาหน่อย ถอยหน่อย อะไรกันหน่อย มันก็สามารถทำได้ ซึ่งรัฐบาลรักษาการก็ไม่ได้ต้องการ ที่จะอยู่อย่างนั้น และฝ่ายเขาเองให้ก็ไม่ได้อยากให้อยู่แบบนั้นแบบนั้น รวมไปถึงประชาชน ก็ยิ่งไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อยากเห็นรัฐบาลไม่ว่าพรรคใดก็ตาม ช่วยมาเป็นรัฐบาลทีเถอะ

ส่วนหากสว.หมดวาระลงขั้นตอนต่อไปในนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ ระหว่างที่การคัดสรร สว.ชุดใหม่ สว.เดิมต้องรักษาการต่อไปก่อน แต่ไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะล็อกไว้ที่ 5 ปี ในวันที่ 11 พ.ค. 2567 ก็หมดวาระ แต่สว.ก็มีหน้าที่อื่น ที่ไม่ใช่การเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272

ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าจะใช้เวลาในการสรรหาสว.ชุดใหม่นานเท่าใด เพราะมีกฎหมายลูกว่าด้วยการคัดสรร สว.จากอาชีพ ไม่ได้คัดสรรตามจังหวัด โดยมีคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต.เป็นผู้จัดการ โดยเมื่อใกล้หมดวาระ ทางกกต.จะเป็นผู้วางไทม์ไลน์การสรรหา

ส่วนมีโอกาสที่จะแก้ไขจากการสรรหามาเป็นการเลือกตั้งแทนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แบบใหม่จะต้องเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เลือกโดยตรง เป็นการเลือกจากอาชีพ จากกลุ่มต่าง ๆ ส่วนหากจะเปลี่ยนวิธีใหม่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ใหญ่สุด ๆ จนอาจจะต้องทำประชามติกันเลย

โดยนายวิษณุ ยังอธิบายด้วยว่า บทบัญญัติในการสรรหาสว.แบบใหม่เขียนไว้ในหลายมาตรา เพราะฉะนั้นการแก้จะต้องรื้อ และคิดว่าคงไม่มีใครทำแบบนั้น นอกจากเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ขณะเดียวกันนายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการถกเถียงผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถ ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณีการใช้ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซ้ำได้เนื่องจากเป็นญัตติที่ถูกตีตกไปแล้วนั้น ว่า ตนไม่ขอตอบในเรื่องนี้ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แล้วก็เคารพ และเมื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็ต้องรอฟังจากศาล


เมื่อถามว่าทำให้ต้องยืดเวลา การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ออกไป นายวิษณุ กล่าวว่าก็เป็นธรรมดา โดยได้ยินว่าทางสภาฯมีการเลื่อนโหวตในวันดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งก็ถูกต้อง ส่วนจะเลื่อนไปนานแค่ไหนทางผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้รอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งในระหว่างนี้ เอาไว้ก่อนมีการคุ้มครองชั่วคราวไม่พอและต่อไปนี้ ต้องรอตามรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ใช้เวลานาน เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง แต่เราต้องให้เวลาพอสมควร ที่ให้อีกฝ่ายได้ชี้แจง

ส่วนปฏิทินการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่ดูเหมือนว่าจะมีการขยับไทม์ไลน์อออกไปคิดว่าอย่างช้าควรแล้วเสร็จเมื่อใดนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้เรายังรู้สึกเดือดร้อนทนไม่ไหวใครช่างคิดให้ขยับไปตั้ง 10 เดือน เพราะฉะนั้นคิดว่าถ้าจะขยับไปตอนนี้ ก็คงไม่มากโดยตนมองในแง่ดี น่าจะได้ในเดือนสิงหาคมน่าจะได้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลใหม่ แต่ยังทำงานไม่ได้ในระหว่างนั้น เพราะต้องตั้งครม. เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนรับตำแหน่งรวมไปถึง การแถลงนโยบายต่อสภาฯ ด้วย

เมื่อถามย้ำว่าหากไม่สามารถหาทางออกได้จริง ข้อเสนอนายกฯคนนอกมีความเป็นไปได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ยากมากการที่จะมีนายกฯคนนอก ต้องอาศัยเสียงตามมาตรา 272 วรรค 2 ต้องอาศัยเสียงจากสภาฯเกินกว่า 376 เสียง ซึ่งวุ่นวายยุ่งยากในขั้นตอน ไม่มีใครคิดไปถึงขั้นนั้น

ส่วนหากหลุดเดือนสิงหาคมไปรัฐบาลรักษาการต้องเตรียมอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอะไรต้องเตรียม เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายสามารถทำได้ แต่ต้องขอความเห็นชอบจากกกต.แต่เป็นห่วงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเกษียณอายุราชการหลายจังหวัด ปลัดกระทรวง อธิบดี ที่สามารถเสนอแต่งตั้ง ได้ตามปกติ แต่ต้องอาศัยการเห็นชอบจาก กกต. ส่วนงบประมาณก็ใช้งบกลางปีที่แล้วเหมือนคราวก่อน ส่วนงบทำการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนจะไปลงทุนโครงการอะไรไม่ได้ ยกเว้นเป็นโครงการผูกพันมาก่อน เสนองบประมาณเข้าสภาฯไม่ได้

เมื่อถามว่าตั้งแต่นายวิษณุ รับราชการมาเคยพบกับสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่ลำบากอย่างนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเองอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมากว่า 11 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้ง ก็มีเหตุการณ์แปลกไม่เหมือนกัน มีใจหายใจคว่ำ แต่มันก็ผ่านพ้นไปได้ และคิดว่าครั้งนี้ก็เช่นกัน เพียงแค่ไม่เหมือนวันนี้ เพราะคนละอย่างกัน อาจมองว่ามันแย่แล้วแต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้

ที่มา เนชั่นออนไลน์
25 กรกฎาคม 2566