49-66 การเมืองตลกร้าย...ประเทศไทยติดหล่ม!
.
เกมเตะตัดขา เสียบสกัดก้าวไกล หรือแม้แต่ถีบก้าวไกลออกจาก “8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล” หากเป็นเกมการเมืองปกติ หลายฝ่ายคงพอยอมรับได้
.
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น มีการใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเหมือนตระเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า, มีการใช้องค์กรอิสระ และใช้การตีความกฎหมายแบบแปลกประหลาดรุมจัดการ เหมือนจองกฐิน หรือสหบาทา ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยที่รับรู้เรื่องราวรู้สึกรับไม่ได้
.
และหากมองย้อนกลับไป กระบวนการลักษณะนี้ได้ก่อวิกฤติการเมืองมาแล้วหลายครั้ง กระทั่งกลายเป็นบาดแผลใหญ่ในสังคมการเมืองไทย นำมาซึ่งความขัดแย้ง แตกแยกจนยากประสาน
.
เหตุการณ์ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นต้นเหตุหนึ่งของวิกฤติทั้งหมด นั่นก็คือการรัฐประหารปี 49
.
จะว่าไปการรัฐประหารกับสังคมไทยก็อยู่คู่กันมาตลอด แต่การรัฐประหารปี 49 แตกต่างจากครั้งอื่นๆ เพราะมีการใช้กลไกกฎหมาย กลไกรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระในร่างใหม่ คือ “ตุลาการรัฐธรรมนูญ” ซึ่งตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร และไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ (เรียกไม่เหมือนกัน) ในการจัดการพรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองที่มีอิทธิพลสูงสุดในขณะนั้น
.
วิธีการจัดการก็คือ “ยุบพรรค” จากข้อกล่าวหาจ่ายเงินซื้อพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อหนีการบอยคอตเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์
.
การยุบพรรค มีบัญญัติในกฎหมายอยู่แล้ว แต่คณะรัฐประหารไปเพิ่มเติมกฎหมาย ให้ยุบพรรคแล้วตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคด้วยเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งปกติเรื่องแบบนี้ เขาไม่ตัดสินย้อนหลังกัน (เพราะกฎหมายมาบัญญัติเป็นโทษในภายหลัง ขณะกระทำผิด ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติเอาไว้)
.
สุดท้ายก็มีการยุบพรรค และตัดสิทธิ์จริงๆ โดยใช้กฎหมายย้อนหลัง ทำให้นักการเมืองดัง 111 คน ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ถูกตัดสิทธิ ตัดตอนออกจากการเมืองไทยทั้งหมด (เรียกกันว่า บ้านเลขที่ 111)
.
การตัดสินใจในครั้งนั้น ทำให้มีการตั้งคำถามถึงคำวินิจฉัย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง จนกลายเป็นวิกฤติศรัทธา
.
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การยุบพรรค และตัดสิทธินักการเมืองสำคัญ 111 คน ออกจากวงการเมือง ทำให้การเมืองไทยอยู่ในสภาพบิดเบี้ยว นักการเมืองแถว 2 แถว 3 เกรดบี เกรดซี ขยับมามีอำนาจ
.
ส่วนเกรดเอ แถว 1 แทนที่จะหยุดงานการเมือง ก็กลับไปรวมตัวกัน ไม่สลายหายไปไหน รอวันกลับมาล้างแค้น ทำให้สิ่งที่คณะรัฐประหารลงทุนทำ ต้อง “เสียของ - เสียเปล่า”
.
ต่อมามีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารเมื่อปลายปี 50 ปรากฏว่าพรรคพลังประชาชน พรรคใหม่ของไทยรักไทยที่ถูกยุบพรรค ชนะเลือกตั้ง กลับเข้ามามีอำนาจอีก
.
บริหารประเทศได้ไม่นาน ศาลรัฐธรรมนูญก็สั่งให้นายกฯของพรรคพลังประชาชน คือ คุณสมัคร สุนทรเวช ต้องหลุดจากตำแหน่ง เพียงเพราะข้อหา “ทำกับข้าวออกทีวี” โดยอ้างเหตุผลว่า “เป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน”
.
แต่รัฐบาลพลังประชาชนก็ไม่ได้ล้ม โดยคุณทักษิณส่ง “น้องเขย” คือ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาเป็นนายกฯแทน แต่ก็โดนม็อบล้อมทำเนียบรัฐบาล จนเข้าทำงานไม่ได้เลย
.
สุดท้ายม็อบยึดสนามบิน ทำประเทศเป็นอัมพาต และศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอีก 3 พรรค หนึ่งในนั้นคือ “พลังประชาชน” ทำให้การเมืองเปลี่ยนขั้ว พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน พลิกมาเป็นรัฐบาล
.
แต่การเปลี่ยนขั้วมาจากการ “จัดรัฐบาลในค่ายทหาร” มีกองทัพเข้าไปแทรกแซง ทำให้เกิดรอยด่างอีกครั้งในสังคมการเมืองไทย ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมายยุบพรรค, ปลดนายกฯแบบงงๆ และกองทัพก็แทรกแซงการเมือง ส่งผลให้องค์กรตุลาการ และกองทัพ เผชิญกระแสวิจารณ์และวิกฤติศรัทธา
.
รัฐบาลประชาธิปัตย์อยู่ในอำนาจมาอีกราวๆ 2 ปีกว่าก็ยุบสภา “พรรคเพื่อไทย”พรรคใหม่ของไทยรักไทยกับพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง เข้ามามีอำนาจอีก
.
คราวนี้ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค แต่พรรคเพื่อไทย “ทำตัวเอง” ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ทำให้มีม็อบต่อต้านทั่วประเทศ แต่แทนที่ม็อบจะจบลงด้วยการไปเลือกตั้งหลังยุบสภา ปรากฏว่า “กลุ่ม กปปส.” ที่นำโดย คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ยอมเลิก เสนอข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” จนบานปลาย บ้านเมืองไม่มีทางออกเกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีกครั้ง
.
รัฐประหารรอบนี้ เมื่อ 22 พ.ค.2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางแผนมาอย่างดี และอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน รวมเวลา 9 ปีกว่า
.
การอยู่ได้ถึง 9 ปีมาจากการวางแผนสืบทอดอำนาจอย่างเนียนๆ ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 (การยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเลือกตั้งใหม่ยืดเวลาได้ถึง 5 ปี ร่างเสร็จก็คว่ำ เพื่อร่างใหม่ กระทั่งออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน)
.
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีค่ายกลสำคัญ คือ สว.250 เสียง ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. กลายเป็น “พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสภา” โดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้งๆ ที่ตามหลักการปกติ ผู้ที่มีอำนาจเลือกนายกฯ ควรเป็น ส.ส.ที่มาจากประชาชน
.
ผู้ที่เชียร์ 250 สว. มักจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมา และประเด็นอำนาจ สว.เลือกนายกฯ มีใน “คำถามพ่วง” ที่ผ่านประชามติด้วย
.
แต่ต้องยอมรับว่า “คำถามพ่วง” ยืดยาว และถามแบบงงๆ ประชาชนจำนวนมากอยากเลือกตั้ง ก็เลยรับร่างรัฐธรรมนูญไป โดยไม่รู้ว่ามี “ยาพิษ” ซ่อนอยู่
.
โดยเฉพาะการให้อำนาจ สว.เลือกนายกฯ ซึ่งให้อำนาจในบทเฉพาะกาล 5 ปี ซ่อนนัยเลือกนายกฯได้ 2 สมัย ไม่ใช่สมัยเดียวเหมือนที่เข้าใจกันทีแรกว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน
.
นี่คือ “ค่ายกลกฎหมาย” ที่วางหลุมพรางเอาไว้ ทำให้ สว.เลือกนายกฯได้ 2 คน 2 ครั้ง 2 รัฐบาล (และมากกว่านั้นก็ได้ หากรัฐบาลอายุสั้น)
.
เลือกครั้งแรก บล็อกโหวตสืบทอดอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในนามพรรคอันดับ 2 คือพลังประชารัฐ แพ้เลือกตั้ง ทว่าได้เป็นพรรคแกนนำจัดดั้งรัฐบาล “บิ๊กตู่” ได้เป็นนายกฯ และเป็นรัฐบาล เพราะมี “พรรค สว.” ตุนเสียง 250 เสียงไว้ก่อนในกระเป๋า พรรคการเมืองน้อยใหญ่จึงเทไปเข้าพวก
.
เลือกครั้งที่ 2 สกัดคุณพิธา จากพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้งมา จนตกเวที ปิดสวิตช์ไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่รณรงค์มาหลายปีว่าจะปิดสวิตช์ สว. สุดท้ายกลับโดนปิดสวิตช์เสียเอง
.
ซ้ำร้าย สว.ยังแผลงฤทธิ์ ตีความและลงมติในการประชุมรัฐสภา 19 ก.ค.66 ให้ข้อบังคับการประชุมฯ มีศักดิ์ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ กระทั่งคุณพิธา ไม่สามารถได้รับการเสนอชื่อโหวตนายกฯซ้ำได้ เพราะถือว่าเป็นญัตติที่ตกไปแล้ว
.
ถือเป็นอีกครั้งที่การตีความกฎหมาย และมีการใช้กฎหมายฝืนกระแส ฝืนความรู้สึก ฝืนหลักการ จนก่อวิกฤติศรัทธาอีกรอบ (แม้จะมีหลายเสียงยืนยันว่าเป็นอำนาจเด็ดขาดของฝ่ายนิติบัญญัติ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือวินิจฉัยไม่ได้ก็ตาม)
.
และกังวลกันว่าจะนำมาสู่ “ม็อบนอกสภา” ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ฉุดประเทศให้ดำดิ่งอยู่ในวังวนความขัดแย้งต่อไป
.
ต้องถามว่าระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ สรุปบทเรียนกันบ้างหรือยัง โดยเฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจ ฝ่ายที่กุมกลไกรัฐทั้งหลาย?
.
ผมไม่เคยสนับสนุนพรรคก้าวไกล แต่เห็นด้วยกับเขาอยู่อย่างหนึ่งคือ ถึงเวลาทำประเทศให้เป็นปกติ เพราะความปกติ เคารพกติกาที่เป็นปกติ จะแก้ความขัดแย้งได้ ไม่ใช่ต้องมาคิดแทน กลัวแทนชาวบ้าน, คิดแทน กลัวแทนสถาบันหลักของชาติอยู่ร่ำไป
.
---------------------
.
ที่มา : คอลัมน์โหมโรง ปกหลัง นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับจันทร์ที่ 24 ก.ค.66