วันอังคาร, พฤษภาคม 02, 2566

ประวัติศาสตร์ไทยเมื่อไพร่ไม่ยอมทำงานในวันอาทิตย์


Starless Night - Harit Mahaton
12h

ประวัติศาสตร์ไทยเมื่อไพร่ไม่ยอมทำงานในวันอาทิตย์

เนื่องในวันแรงงาน ผมอยากพูดถึง น้อยสุริยะ กับ หนานชัย ในฐานะคนไทยที่สู้เพื่อสิทธิ์หยุดงานสองคนแรก

การหยุดงานประจำสัปดาห์เสาร์อาทิตย์เรารับมาใช้จากโลกสากล มีที่มาจากศาสนา ยิว-คริสต์ ซึ่งกำหนดไว้ในบัญญัติ 10 ประการว่า ในหนึ่งสัปดาห์ต้องมีวันหยุด 1 วัน ในบทบัญญัติของโมเสส เขียนอธิบายว่า การหยุดนี้ต้องรวมถึงลูกจ้าง และทาสในสังกัดทั้งหมดด้วย

ชาวยิวนับวันหยุดเป็นวันเสาร์เพราะถือเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์ ส่วนชาวคริสต์นับเอาวันอาทิตย์เพราะถือว่าเป็นวันที่พระเยซูคืนชีพ

วันหยุดเลยถูกเรียกว่า Holiday คือ มาจาก Holy-day วันที่ถูกแยกไว้เพื่อพระเจ้า

ธรรมเนียมที่เรียกว่า "วันหยุดสุดสัปดาห์" นี้คนไทยไม่มีในตอนแรก โดย น้อยสุริยะ กับ หนานชัย เป็นสองคนแรกที่ยืนยันจะหยุดวันอาทิตย์
.
.
คนไทยเราอาจจะไม่รู้ว่าประเทศไทยเคยกีดกันทางศาสนาอย่างไร เพราะแบบเรียนประวัติศาสตร์มักจะสอนว่าสยามเปิดกว้างกับทุกศาสนามาตั้งแต่โบราณ

อย่างไรก็ตาม การเปิดกว้างนั้นคือ "เปิดกว้างให้คนต่างชาติที่นับถือศาสนาของตัวเอง" ในแง่ว่า ถ้าเป็นฝรั่งก็นับถือคริสต์ เป็นแขกก็นับถืออิสลาม แต่ถ้าเป็นไทยคือนับถือพุทธ-ถือผี

ดังนั้นสมัยก่อนจึงมีกฎหมายห้ามไม่ให้เผยแพร่ศาสนากับคนไทย - พวกมิชชั่นนารีจึงต้องเน้นเผยแพร่ศาสนากับคนจีนในไทย หรือเดินทางออกไปยังหัวเมืองอื่นๆ ที่ไม่มีกฎหมายห้าม

น้อยสุริยะ กับ หนานชัย เป็นชาวเชียงใหม่ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสตโดยการเผยแพร่ของหมอแมคกิลวารี

แต่ในเดือนกันยายน ปี 1869 เจ้าเมืองเชียงใหม่ เจ้ากาวิโรรส ได้เกณฑ์ให้ไพร่ไปทำงาน

น้อยสุริยะ กับ หนานชัย ปฏิเสธจะทำงานในวันอาทิตย์ เนื่องจากข้อปฏิบัติของศาสนา

เจ้ากาวิโรรสเรียกทั้งสองคนมาถามว่า วันอาทิตย์ก็ต้องกินข้าว น้ำก็ไหลเข้านา คนอื่นเขาก็ทำ จะมาหยุดได้ยังไง

น้อยสุริยะ กับ หนานชัย ยังคงปฏิเสธที่จะทำงานในวันอาทิตย์

เจ้ากาวิโรรสโกรธจัดสั่งประหารทั้งสองคนข้อหาขัดคำสั่ง ในวันที่ 14 กันยายน 1869 ทั้งสองถูก ใส่ขื่อประจารก่อน 20 ชั่วโมง จากนั้นถูกประหารด้วยการทุบตีด้วยไม้ นานชัยถูกทุบตาย ส่วนน้อยสุริยะถูกทุบ 6 ครั้งก็ยังไม่ตาย คนสมัยนั้นคงคิดว่ามีของ จึงเลยใช้หอกแทงใส่ตามวิธีประหารผู้ที่เชื่อว่ามีคาถาอาคม

สั่งประหารไปแล้ว เจ้ากาวิโรรส ก็กำชับไม่ให้ใครบอกแมคกิลวารี กว่าจะรู้เรื่องก็สองสัปดาห์ล่วงมาแล้ว หมอแมคกิลวารีจึงร้องเรียนไปยังสยาม ที่นี้เรื่องเลยกลายเป็นการเมืองระดับภูมิภาค

ประการแรกคือเวลานั้น ร.5 พึ่งครองราช อำนาจยังไม่มั่นคง จะยอมให้มีใครท้าทายอำนาจไม่ได้
ประการที่สองคือสถานะของเชียงใหม่ว่าจะขึ้นต่อสยามหรือไม่ ก็ยังไม่มั่นคง
ประการที่สามคือตอนนั้นในยุคล่าอาณานิคม อังกฤษอยู่ที่พม่า และฝรั่งเศสอยู่เวียดนาม และดัชที่อินโดนิเซีย - สหรัฐอเมริกาควรจะเป็นพันธมิตรและอาจใช้คานอำนาจได้ ไม่ควรมามีเรื่องหมองใจแบบนี้ - โดยเฉพาะข้ออ้างเรื่องฆ่าบาทหลวงเป็นเรื่องที่ ฝรั่งเศสใช้อ้างบุกโจมตีจีนมาแล้ว

ราชสำนักสยามจะปล่อยให้เจ้ากาวิโรรสทำอะไรขัดจากอำนาจของสยามไม่ได้ เพราะขุนนางเจ้าเมืองท้องถิ่นอาจจะเห็นว่าเชียงใหม่แข็งเมือง กษัตริย์สยามทรงพระเยาว์และเอาบ้าง หรืออังกฤษอาจจะใช้เหตุนี้บอกว่า เชียงใหม่เป็นเอกราช ไม่ขึ้นกับสยาม แล้วเคลมเอาเชียงใหม่
จึงต้องตัดสินใจแสดงให้เห็นว่าคำอนุญาตคุ้มครองของราชสำนักสยาม นั้นครอบคลุมเชียงใหม่ ตัดสินใจเรียกเจ้ากาวิโรรสไปพูดคุย
เจ้ากาวิโรรสทั้งแค้น ทั้งเสียหน้า ป่วยเสียชีวิตระหว่างทางกลับเชียงใหม่

การร้องเรียนของพวกหมอสอนศาสนาต่อราชสำนักไทยยังดำเนินต่อไป จนกระทั้ง 8 ตุลาคม 1878 หลัง ร.5 บรรลุนิติภาวะแล้ว ราชสำนักไทยก็ออกกฎหมายมีผลทั่วราชอาณาจักร อนุญาตให้เผยแพร่ศาสนาต่างๆ และเปลี่ยนศาสนาได้ตามเสรี ห้ามไม่ให้บังคับใครเข้าพิธีซึ่งขัดต่อหลักศาสนาเช่นพิธีบูชาผีต่างๆ และห้ามขัดขวางการใช้สิทธิ์หยุดวันสบาโต

ส่วนชาวไทยอื่นๆ ได้หยุดวันอาทิตย์หลังจากนั้น เมื่อ ร.5. กลับมาจากเสด็จประพาสยุโรป ในปี 1898 ก็ทรงโปรดให้ราชการเปลี่ยนจากหยุดวันพระไปหยุดวันอาทิตย์แทนตามอย่างสากล - จึงเกิดเป็นทำเนียมให้เอกชนหยุดวันอาทิตย์ตามไปด้วย

ความตายของ น้อยสุริยะ กับ หนานชัย ดูเป็นเรื่องผ่านๆในประวัติศาสตร์ไทย แต่ที่จริงแล้วเป็นจุดกำเนิดของเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาของคนไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของการหยุดวันอาทิตย์
 
https://www.facebook.com/photo/?fbid=764846608338776&set=a.200573654766077