วันจันทร์, พฤษภาคม 22, 2566

4 ปี สยามอยู่ไหน

·
PHOTO STORY: ‘มูลนิธิผสานวัฒนธรรม’ รำลึก 4 ปีการสูญหาย ‘สยาม ธีรวุฒิ’ ทั้ง ปราศรัย - ละคร - เล่นดนตรี - จุดเทียน
วันนี้ (21 พ.ค. 66) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดกิจกรรมรำลึก 4 ปีการสูญหาย สยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง ที่บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
เริ่มต้นด้วยการกล่าวปราศรัยจากเสียงของเด็ก และเยาวชน ในหัวข้อ “เยาวชน เสรีภาพในการแสดงออก และความรุนแรงโดยรัฐ” พูดถึงการถูกบังคับสูญหายในประเทศไทยที่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากการทำรัฐประหาร
ต่อมาเป็นการแสดงละครจากกลุ่ม B-Floor พูดถึงการถูกปิดปาก และไม่ได้ใช้สิทธิใช้เสียงหากทำให้ผู้มีอำนาจไม่พอใจ ป่านการแสดงละครเวทีที่ใช้ถุงดำครอบหัว เป็นสัญลักษณ์ในการปิดปาก สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ก่อนที่จะมีการแสดงดนตรีสดจากวงสามัญชน และน้ำ จากวงคีตาญชลี
ก่อนที่ในช่วงท้ายเป็นการจุดเทียนรำลึกถึง สยาม ธีรวุฒิ โดยมีประชาชน และนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนมาร่วมจุดเทียน อาทิ ตะวัน - ทานตะวัน, บุ้ง - เนติพร, เพนกวิ้น - พริษฐ์ และเก็ท - โสภณ
เรื่อง : สริตา เรืองจิต
ภาพ : พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #สยามธีรวุฒิ #มูลนิธิผสานวัฒนธรรม


The Reporters
10h
· 
SEMINARS: มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดเสวนา "4 ปี การบังคับสูญหายสยาม ธีรวุฒิ : เส้นทางการตามหาความยุติธรรมและแนวทางใหม่ใต้พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย" ด้าน ‘แม่สยาม’ ขอความเป็นธรรมให้ลูก หวัง รัฐบาลใหม่ แก้ปัญหาอย่างจริงใจ
วันนี้ (21 พ.ค. 66) มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจัดเสวนาเรื่อง "4 ปี การบังคับสูญหายสยาม ธีรวุฒิ: เส้นทางการตามหาความยุติธรรมและแนวทางใหม่ใต้ พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย" ร่วมเสวนาโดย กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ, มนทนา ดวงประภา ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, พรพิมล มุกขุนทด ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และรณกรณ์ บุญมี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
กัญญา ระบุว่า สยาม ธีรวุฒิ ลูกชาย ถูกแจ้งดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแสดงละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในระหว่างนั้นตนเองได้ให้ลูกชายหนีออกไปอยู่ที่ต่างประเทศ หลังจากเดินทางหนีออกไปต่างประเทศได้ติดต่อกับมาบ้าง ครั้งล่าสุดคือติดต่อได้ในประเทศเวียดนาม จนถึงตอนนี้ก็หายไป 4 ปีแล้ว ยื่นเรื่องให้ทุกหน่วยงานก็ไม่มีความคืบหน้า
“ลูกของแม่หายไป 4 ปีแล้ว ไม่ทราบว่าใครจะช่วย ไม่รู้ว่าใครจะทำให้เราเจอ ปีหน้าก็ 5 ปีแล้ว คงไม่เจอ สยามหายไปจากชีวิตแม่จริง ๆ เจ็บปวดนะ ถ้าเกิดแบบนี้กับใคร เขาก็คงเสียใจเหมือนแม่ รับไม่ได้จริง ๆ อยากได้ลูกกลับคืนมา เสียน้ำตาแทบทุกวัน”
มนทนา ระบุว่าหลังรัฐประหาร 2557 เกิดการลี้ภัยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากนักกิจกรรมกลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับตัวเอง จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ที่หนีออกไปกว่า 100 คน ในช่วงเวลาดังกล่าว การถูกบังคับให้สูญหายมีทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ มีข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ ระบุว่าประเทศไทย ลาว กัมพูชา การบังคับให้บุคคลสูญหายของผู้ลี้ภัย เกิดจากความร่วมมือกันของรัฐ ทั้งการอยู่นิ่งเฉย การร่วมมือกัน สิ่งที่รัฐควรทำให้ประชาชนรู้คือที่อยู่ ชะตากรรมของผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องตอบได้ หรือยื่นมือเข้าไปช่วย ญาติต้องได้สิทธิในการได้รับการเยียวยา หรือเงินชดเชย
มนทนา ระบุต่อว่าตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 62 ที่ติดต่อกับสยามไม่ได้ และรู้ว่าถูกจับกุมในประเทศเวียดนาม แม่ของสยามไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่วันแรก แต่ก็ไม่ได้ความคืบหน้า จนเมื่อปี 65 ได้มีการขอใช้สิทธิความเป็นผู้เสียหาย พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ซึ่งคณะอนุกรรมการยกคำร้อง เนื่องจากว่าไม่ปรากฎว่า สยาม เป็นอันตรายหรือพบว่าเสียชีวิต โดยใน พ.ร.บ. กำหนดไว้ว่าต้องมีศพ หรือหลักฐาน แต่การถูกบังคับสูญหายไม่มีแบบนั้นอยู่แล้ว ควรมีการอะลุ้มอล่วยกับผู้ลี้ภัย ซึ่งจากกรณีนี้มีสัญญาณทั้งการที่สยามไม่ติดต่อกลับมาเลย โดยที่ตกลงไว้ว่าจะติดต่อทุก 3 เดือน และการถูกจับกุมเรื่องเข้าเมืองผิดกฎหมายในช่วงสุดท้าย ซึ่งไม่มีบันทึกการจับกุม หรือสถานกักกัน
พรพิมล ระบุว่า พ.ร.บ. ทรมาน อุ้มหายที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมานี้ เบื้องต้นทางญาติได้ทำหนังสือร้องทุกข์ไปถึงอัยการระบุว่าเกิดอะไรขึ้นกับสยาม ธีรวุฒิ และสุรชัย แซ่ด่าน ได้ใส่รายละเอียดข้อหา การที่จะทราบว่าใครเป็นผู้อุ้ม หรือกระทำผิด ถือเป็นเรื่องยากมาก เพราะบางทีอาจมีการทำเป็นกระบวนการ มีการจ้างวานด้วย ซึ่งคำร้องของอัยการ ต้องการให้มีการระบุชื่อของผู้กระทำความผิดในครั้งนั้นเลย ทางเราจึงได้โต้แย้งไป เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และขอให้ใส่มูลเหตุจูงใจ ใครที่เกี่ยวข้องหรือเป็นคู่ขัดแย้ง ซึ่งขณะนี้อัยการได้เรียกญาติไปให้การณ์เพิ่มเติมบ้างแล้ว
“ขอแจ้งเป็นข้อมูลว่ากรณีเหล่านี้แจ้งเป็นเคสแรก ๆ ที่ได้ยื่นเรื่องต่ออัยการ แต่อัยการกดดันให้พูดรายชื่อผู้ที่ทำผิดออกมา ซึ่งผู้ที่ทำผิดคือเจ้าหน้าที่รัฐ การรวมพยานหลักฐานจึงทำได้ยาก หรือไม่สามารถทำได้ ส่วนเรื่องความเสียหาย หรือพยานที่เกิดขึ้นในที่เกิดเหตุ จะรวบรวมหลักฐานไว้ เพื่อในวันหนึ่งที่ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่ทำผิดจริง จะได้เรียกค่าเสียหายได้ในอนาคต”
ทั้งนี้ พรพิมล ยังกล่าวอีกว่าการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลใหม่ มาพร้อมกับความหวังใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มาพร้อมกับการเป็นประชาธิปไตยที่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนมากขึ้น จึงเป็นอีกความหวังที่ประกอบสร้างกัน ในการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกำชับกำกับดูแลเจ้าหน้าที่รัฐให้ทำหน้าที่ตัวเองให้มากขึ้น
ด้านรณกรณ์ ระบุว่าเรื่องนี้มี 3 ส่วนคือด้านสิทธิมนุษยชน การดำเนินคดีอาญา และการดำเนินคดีทางแพ่ง โดยด้านสิทธิมนุษยชน เราไม่รู้ว่าผู้ต้องหาคือใคร แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำได้เลย คือการเยียวยาก่อนที่จะไปถึงการดำเนินคดีทางอาญา หรือทางแพ่ง รัฐบาลต้องมีความจริงใจ แข็งแรงทางเจตจำนงทางการเมือง ไม่ควรมีการทำให้คนหวาดกลัวในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้ความเห็นทางการเมืองจะต่างกัน
รณกรณ์ กล่าวว่า คำว่าอุ้มหาย ตาม พ.ร.บ. นี้ ไม่ใช่แค่การอุ้มแล้วหายไปเลย มันมีที่ปฏิเสธความผิด ปกปิดว่าไม่ได้จับตัวไป ทั้งที่จับตัวไป แม้จะปล่อยตัวในตอนหลัง ก็ถือว่าเป็นความผิดที่สำเร็จไปแล้ว เพราะฉะนั้น คำว่า “อุ้มหาย” จึงไม่ใช่แค่หายไปถาวร แต่หายไปชั่วคราวก็ผิด พ.ร.บ. นี้ ซึ่งเป็นคดีอาญาที่มีโทษสูง และการทำผิดของทหาร จะถูกตัดสินที่ศาลพลเรือน ซึ่ง พ.ร.บ. นี้ ไม่ว่าจะทำความผิดที่ประเทศไหน ก็สามารถส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้โดยไม่ติดเงื่อนไข
“ไม่ว่าการอุ้มหายจะเกิดหลังหรือก่อนบังคับใช้ พ.ร.บ. นี้ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่สืบสวนจนกว่าจะรู้ผู้กระทำและชะตากรรม ซึ่งได้ขยายอำนาจให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติ หรือคู่สมรสเท่านั้น แต่คือญาติด้านไหน หรือผู้เลี้ยงดูก็สามารถฟ้องได้”
รณกรณ์ กล่าวว่ารัฐต้องดำเนินคดี แก้ไขเยียวยาฟื้นฟู ทั้งจิตใจและร่างกายของผู้ลี้ภัย และครอบครัว ทำให้ญาติรู้ชะตากรรม และดำเนินคดีอาญา ชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น และทำให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ส่วนตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ถ้าทำได้ก็อยากให้ตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง และเยียวยา หากพบว่ามีความเสียหายจริง พร้อมทั้งเข้าร่วมอนุสัญญาอุ้มหายกับ UN ให้เร็วที่สุด ด้วยความจริงใจ