วันอังคาร, พฤษภาคม 09, 2566

4 ปัจจัยทำ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” จุดไม่ติด - โรดแมปทีม “ลุงป้อม” ใน จม. ที่ไม่ได้เผยแพร่

เลขาธิการ พปชร. ระบุว่า พปชร. จะก้าวข้ามความขัดแย้งซึ่งเป็นตัวบ่อนทำลายและขวางการพัฒนาประเทศ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงเป็น “หัวใจของการพัฒนาประเทศ” ในระหว่างเปิดปราศรัยที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 29 เม.ย.

4 ปัจจัยทำ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” จุดไม่ติด

การเสนอตัวเป็น “ผู้นำก้าวข้ามความขัดแย้ง” ไม่ได้ทำให้คะแนนนิยมของ พล.อ. ประวิตรกระเตื้องขึ้นตามการสำรวจของโพลสำนักต่าง ๆ ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งหัวหน้าพรรค พปชร. ไม่มีชื่อติดอันดับต้น ๆ บุคคลที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกฯ

ทีมยุทธศาสตร์เลือกตั้ง พปชร. ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ วิเคราะห์กับบีบีซีไทยว่า สาเหตุที่แคมเปญ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ยังจุดไม่ติด เกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก

หนึ่ง ข้อเสนอของพรรค พปชร. ถูกกดทับ-ตอบโต้ด้วยวาทกรรม “มีลุงไม่มีเรา” ของพรรค ก.ก. ทำให้ “ลุงป้อม” ไม่อยู่ในฐานะคนกลางอีกต่อไป

สอง สังคมไม่รู้-ไม่เห็น “โรดแมปก้าวข้ามความขัดแย้ง” เนื่องจาก พล.อ. ประวิตร งำประกาย-อุบไต๋เอาไว้ โดยบอกเพียงว่า “ก็ลองเลือกผมดูแล้วกัน ก็จะได้เห็นว่าผมทำอย่างไรให้ประชาชนได้อยู่รวมกันอย่างสันติ”

สาม บรรดาลูกพรรค พปชร. ที่ถูกขนานนามว่า “ตัวตึง” ทั้งหลาย แสดงท่าที “ขัดแย้ง-แบ่งขั้ว” อยู่เนือง ๆ ไม่ว่าบนเวทีดีเบต หรือในวงให้สัมภาษณ์/แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ทำลายนโยบายหลักของตัวเอง และไม่ช่วยให้ พปชร. ได้คะแนนนิยมเพิ่มเติม

สี่ สังคมมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีกับการเสนอตัวเป็นผู้คลี่คลายความขัดแย้งของนักการเมืองในอดีต ไม่ว่าจะเป็น “โซ่ข้อกลาง” หรือ “พรรคทางเลือกที่ 3” ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ

ล่าสุด สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ตั้งข้อสังเกตในระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษบีบีซีไทยถึงบทบาทผู้นำก้าวข้ามความขัดแย้งว่า “เพ้อ ๆ ไปหน่อย” พร้อมตั้งคำถามว่า “ไอ้คนที่อาศัยว่าจะเป็นคนกลาง น่าไว้ใจหรือเปล่า”

มีรายงานว่า ในระหว่างการประชุมแกนนำพรรค พปชร. เมื่อ 2 พ.ค. ฝ่าย เสธ.การเมืองของ พล.อ. ประวิตร เสนอให้เขาเปิดเผยรายละเอียด “โรดแมปก้าวข้ามความขัดแย้ง” ต่อสาธารณะในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อยืนยันในบทบาท “ไม่ขัดแย้ง-พร้อมปรองดอง” โดยเชื่อว่าจะสามารถดึงคะแนนเสียงจากฝ่ายอนุรักษนิยมอ่อน ๆ ที่ยังเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจได้ แต่ไม่ได้รับการสนองตอบ

“แกนนำพรรคบางส่วนกังวลว่าระยะเวลามันกระชั้นชิดเกินไป หากสื่อสารแล้วสังคมไม่เข้าใจ กระแสอาจตีกลับ หรืออาจต้องมาตามอธิบาย ตามแก้ไข แล้วทำให้เสียสมาธิในการพูดถึงนโยบายอื่น ๆ” แหล่งข่าวจาก พปชร. กล่าว

ข้อสรุปที่ผู้นำและแกนนำพรรค พปชร. เห็นตรงกันคือ การสื่อสารด้วยข้อความที่ว่า “การก้าวข้ามความขัดแย้งเป็น ‘นโยบายเหนือนโยบาย’” หากไม่ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน หรือพรรคการเมืองไหนมาเป็นรัฐบาล ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งบรรดาแกนนำพรรค พปชร. ที่ไปขึ้นเวทีดีเบตในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา อาทิ อุตตม สาวนายน ประธานคณะจัดทำนโยบายพรรค พปชร และ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. ก็เริ่มสื่อสารด้วยวลีดังกล่าวแล้ว

โรดแมปทีม “ลุงป้อม” ใน จม. ที่ไม่ได้เผยแพร่

สัญญา สถิรบุตร ที่ปรึกษาส่วนตัวหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวยอมรับกับบีบีซีไทยว่า ได้จัดเตรียมข้อมูลและแผนการสื่อสารโรดแมปก้าวข้ามความขัดแย้งเอาไว้ 6 ตอน แต่จังหวะเวลาไม่เอื้ออำนวยนัก เพราะ “เป็นเรื่องใหญ่มาก การอธิบายอาจต้องใช้เวลา” และ “คนในพรรคบางส่วนอาจไม่สบายใจ”

สัญญา เป็นหนึ่งในทีมสื่อสารความคิดการเมืองของหัวหน้าพรรค พปชร. ผ่านแฟนเพจ “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” และเป็นมือยกร่าง “จดหมายเปิดใจลุงป้อม” มาแล้วนับ 10 ฉบับ

สำหรับเนื้อหาในจดหมายที่ไม่ได้เผยแพร่ เป็นการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการก้าวข้ามความขัดแย้ง ด้วยการ “คืนระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพให้ระบอบประชาธิปไตย” ทำให้ 3 อำนาจอธิปไตย - นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ – ทำงานได้อย่างเต็มที่และไม่ขัดแย้งกัน โดยไล่เรียงสภาพปัญหาของอำนาจ 3 ฝ่าย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
  • ฝ่ายนิติบัญญัติ “หลงหน้าที่” : ส.ส. ต้องเบี่ยงเบนบทบาทฝ่ายนิติบัญญัติ ไปเป็นกลไกของระบบอุปถัมภ์ในรูป “บ้านใหญ่” หรือ “ธุรกิจการเมือง” เพื่อหาทุนมาสร้างบารมี รักษาคะแนนนิยมจากประชาชน เพราะต้องทำหน้าที่แทนกลไกราชการที่ล้มเหลวในภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทกับหน้าที่พื้นฐานคือ การตราและแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม
  • อำนาจฝ่ายบริหาร “บิดเบี้ยว” : เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติหลงทิศ ทำให้ฝ่ายบริหารไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายที่ดีพอในการบริหารประเทศสู่ความสำเร็จ ซ้ำกฎระเบียบที่เน้นตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหาความผิดพลาด จนขาดความคล่องตัวในการตัดสินใจแก้ปัญหาให้ประชาชน ยังส่งเสริมระบบอุปถัมภ์เพื่อรักษาอำนาจ และวัฒนธรรมสอพลอเพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
  • อำนาจฝ่ายตุลาการ “ในกรอบจำกัด” : การทำหน้าที่ของฝ่ายตุลาการถูกจำกัดด้วยกฎหมายที่ล้าหลัง และถูกผู้บริหารขยาย “องค์กรผู้ตัดสินถูกผิด” ออกนอกศาลสถิตยุติธรรม เช่น องค์กรอิสระ เพื่อความคล่องตัวในการวินิจฉัยตัดสินข้อพิพาทด้วย “ทัศนคติส่วนตัว” หวังประคองการบริหารจัดการประเทศให้เรียบร้อย แทนที่จะยึดหลักนิติธรรมตามองค์ประกอบของกฎหมาย

สัญญา สถิรบุตร เข้ามาเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 11 พ.ย. 2565 โดยเขาเป็น “ต้นร่างจดหมายเปิดใจ” ของ พล.อ. ประวิตร ก่อนส่งให้เจ้าตัวอ่าน-อนุมัติ แล้วนำออกเผยแพร่เป็นฉบับแรกเมื่อ 27 ก.พ. 2566

วิธีการในการก้าวข้ามความขัดแย้ง ตามข้อเสนอของที่ปรึกษาส่วนตัวหัวหน้าพรรค พปชร. จึงอยู่ที่ “2 รัฐ” คือ รัฐสภา กับ รัฐบาล

รัฐสภาต้องทำงานจริงจัง เพื่อสร้าง/แก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย และ “ไม่ใช้เสียงข้างมากเพื่อปกป้องนักการเมืองที่ทุจริต”

ส่วนรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกฯ ต้องหาทางบริหารจัดการกลไกราชการให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จน ส.ส. ไม่ถูกเรียกร้องให้มารับภาระแทน และจะได้ไปทำหน้าที่ที่ควรทำ

ที่มา บีบีซีไทย
วิเคราะห์ : “มีลุงไม่มีเรา” ขวาง “แลนด์สไลด์” เพื่อไทย หยุด “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ของ พปชร.
7 พฤษภาคม 2023