วันพุธ, มีนาคม 01, 2566

เรื่องประกาศให้เลิกการชุมนุมหน้าศาลฎีกา เคสนี้น่าสนใจมาก พูดง่าย ๆ ศาลเป็น “คู่กรณี” เป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ในความขัดแย้งนี้ ศาลจะออกคำสั่งให้สลายการชุมนุมเพื่อต่อต้านตนเองหรือไม่


Pipob Udomittipong
15h
“คดีนี้น่าสนใจมาก เพราะผู้ชุมนุม ชุมนุมหน้าศาล เรียกร้องต่อศาล ในขณะเดียวกันกลไกพ.ร.บ.ชุมนุมฯก็ออกแบบมาให้ศาลคุ้มครองเสรีภาพของผู้ชุมนุม ออกแบบให้ศาลถ่วงดุลกับตำรวจ แล้วศาลจะคุ้มครองประชาชนให้พูดในสิ่งที่ศาลไม่ต้องการฟังหรือเปล่า”
พูดง่าย ๆ ศาลเป็น “คู่กรณี” เป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ในความขัดแย้งนี้ ศาลจะออกคำสั่งให้สลายการชุมนุมเพื่อต่อต้านตนเองหรือไม่ ถ้าดูตามความเอียงที่ผ่านมา ก็เป็นไปได้นะ

May Poonsukcharoen
17h
มีข้อสังเกตเรื่องประกาศให้เลิกการชุมนุมหน้าศาลฎีกาเล็กๆตามนี้ค่ะ
.
1. ตร.อ้างอำนาจตามมาตรา 11 พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมาตรา 11 เป็นขั้นตอนในการแจ้งการชุมนุมและสรุปสาระสำคัญสำหรับการชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุมยืนหยุดขังแจ้งตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.66 หนึ่งเดือนมาแล้ว มันเลยระยะเวลาตามมาตรา 11 พ.ร.บ.ชุมนุมฯมาแล้ว
.
2. แม้จะเลยระยะเวลาการแจ้งการชุมนุมมาแล้ว แต่หน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะของตร.ก็ยังมีอยู่ตลอด ซึ่งอาจจะประกาศให้แก้ไขการชุมนุมได้ ตรงนี้จะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 21 (2) มีการประกาศให้แก้ไขเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ให้แก้ไขภายใน 7.00 น. ของวันที่ 28 ก.พ. โดยจนท.อ้างเหตุให้แก้ไขในกรณีของ มาตรา 8 (กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงาน) / ผู้ชุมนุมลงมาบนพื้นผิวจราจร / มีป้ายข้อความหมิ่นประมาท
.
3.แน่นอนว่าเมื่อมีการชุมนุม ต้องมีการใช้พื้นที่ ในสถานที่ ที่กลุ่มเป้าหมายสามารถ "เห็นและได้ยิน" เสียงที่ผู้ชุมนุมต้องการสื่อสาร อาจมีการใช้พื้นที่ผิวจราจรบ้าง แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้กีดขวางทางเข้าออกของศาลฎีกา ศาลฎีกาและหน่วยงานรัฐยังสามารถเปิดทำการได้โดยปกติ ตรงนี้ข้อเท็จจริงไม่ถือว่ากีดขวางทางเข้าออก ไม่ได้รบกวนการปฏิบัติงาน และการใช้พื้นผิวจราจรบ้างแต่ไม่ได้ปิดถนนเพราะเหตุสภาพการชุมนุมที่มีคนมาร่วมมากเป็นบางช่วงเวลาก็ย่อมทำได้
.
4. ในส่วนของป้ายข้อความต้องบอกว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ นั้นดูแล "การใช้พื้นที่สาธารณะ" ไม่ได้ควบคุมไปถึง "เนื้อหา" ของการชุมนุม ป้ายประท้วงเป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของการชุมนุม หากตร.เห็นว่าข้อความนั้นผิดกฎหมายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทใคร ตร.สามารถดำเนินการในเรื่องหมิ่นประมาทได้เลย แต่ไม่ใช่เหตุที่นำมากล่าวอ้างเพื่อสั่งให้เลิกการชุมนุม
.
5.การชุมนุมหน้าศาลฎีกานั้นยังเป็นการชุมนุมโดยสงบ ที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ และตามข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอยู่
.
6.ตอนนี้เลยระยะ 11.00 น.ตามประกาศให้เลิกการชุมนุมในวันที่ 28 ก.พ.แล้ว โดยขั้นตอนตามกฎหมาย จนท.ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลออก "คำบังคับ" ให้เลิกการชุมนุม ซึ่งตรงนี้ศาลต้องออกหมายเรียกให้ผู้จัดการชุมนุมไปร่วมการไต่สวนการออกคำบังคับนี้ด้วย
.
7. หากศาลเห็นว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบก็จะยกคำร้องของตร. แต่หากศาลเห็นว่าผู้ชุมนุม ชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะออกคำบังคับให้เลิกการชุมนุม / ผู้ชุมนุมยังมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามาตรา 22
.
8.กรณีผู้ชุมนุมไม่ออกตามคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่ต้อง "ประกาศพื้นที่ควบคุม" กำหนดระยะเวลาให้ออกจากพื้นที่ชุมนุม ตามมาตรา 23
.
9.ถ้าพ้นระยะเวลากำหนดให้ออกจากพื้นที่ควบคุม เจ้าหน้าที่จึงจะมีอำนาจดำเนินการใช้เลิกการชุมนุม
.
10. เราว่าคดีนี้น่าสนใจมาก เพราะผู้ชุมนุม ชุมนุมหน้าศาล เรียกร้องต่อศาล ในขณะเดียวกันกลไกพ.ร.บ.ชุมนุมฯก็ออกแบบมาให้ศาลคุ้มครองเสรีภาพของผู้ชุมนุม ออกแบบให้ศาลถ่วงดุลกับตำรวจ แล้วศาลจะคุ้มครองประชาชนให้พูดในสิ่งที่ศาลไม่ต้องการฟังหรือเปล่า