ส.ว. จอร์แดน สตีล-จอห์น
ส.ว. ออสเตรเลียเคยตั้งกระทู้ถาม กรณีเปลี่ยน 'หมายจับ' เป็น 'หมายเรียก' ส.ว.อุปกิตถูกครหาเอี่ยวทุนมินลัต
ส.ว. ออสเตรเลียเคยตั้งกระทู้ถาม กรณีเปลี่ยน 'หมายจับ' เป็น 'หมายเรียก' ส.ว.อุปกิตถูกครหาเอี่ยวทุนมินลัต
2023-03-13
ประชาไท
จากกรณี ทุนมินลัต นักธุรกิจใหญ่ผู้มีสายสัมพันธ์กับผู้นำเผด็จการพม่าที่ถูกจับในไทยพร้อมกับ ส.ว. อุปกิต ปาจรียางกูร แต่ทางการไทยกลับเปลี่ยน 'หมายจับ' ของศาลกลายเป็น 'หมายเรียก' จนทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตจากประชาไทก่อนหน้านี้ มีการค้นพบข้อมูลที่ว่า กรณีการจับกุมดังกล่าวนี้มีการตั้งกระทู้ถามและเป็นเรื่องที่รัฐสภาออสเตรเลียจับตามอง ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติด้วย
13 มี.ค. 2566 เมื่อไม่นานนี้ประชาไทได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ ส.ว. ของออสเตรเลีย จอร์แดน สตีล-จอห์น ตั้งกระทู้ถามต่อกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลียเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 เกี่ยวกับเรื่องกรณีทางการไทยเปลี่ยน "หมายจับ" กลายเป็น "หมายเรียก" ต่อ อุปกิต ปาจรียางกูร ส.ว. ไทยที่เคยถูกจับกุมพร้อมกับ ทุนมินลัต นักธุรกิจค้าอาวุธ-ค้ายาเสพติด จากพม่าที่มีสายสัมพันธ์กับผู้นำเผด็จการมินอ่องหล่าย
ในเอกสารเกี่ยวกับการตั้งกระทู้ถามดังกล่าวนี้ระบุถึงเรื่องที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของออสเตรเลีย เพนนี หว่อง ได้เดินทางเยือนไทยเพื่อพบปะกับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของไทย สมศักดิ์ เทพสุทิน เพื่อลงนามในการขยายความร่วมมือจนนำไปสู่การจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์” เมื่อต้นเดือน พ.ย. 2565 รวมถึงเรื่องที่ออสเตรเลียได้ยกระดับความร่วมมือกับทางการไทยในทางยุทธศาสตร์การต่อต้านการฟอกเงินและการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ
ทั้งนี้ในเอกสารกระทู้ของ สตีล-จอห์น ยังระบุถึงเหตุการณ์วันที่ 17 ก.ย. ที่ตำรวจไทยจับกุมทุนมินลัตและผู้ต้องหาอื่นๆ อีก 3 รายในข้อหาฟอกเงินและค้ายาเสพติด รวมถึง อุปกิต และลูกเขยของอุปกิตด้วย อย่างไรก็ตามในวันที่ 3 ต.ค. 2565 มีรายงานข่าวว่าศาลไทยได้ออกหมายจับอุปกิตในข้อหาฟอกเงินแต่กลับมีการถอนหมายจับในวันเดียวกัน ทำให้สตีล-จอห์น ตั้งคำถามว่า กระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลียได้รับทราบเรื่องดังกล่าวนี้หรือไม่
เนื้อหาเอกสารระบุอีกว่า "ทางกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลียมีข้อกังวลใดๆ ต่อการถอนหมายจับและความเป็นไปได้ที่ว่า มันจะกลายเป็นการคุกคามความเป็นอิสระของตุลาการไทยในคดีนี้หรือไม่" และระบุว่า "ทางการออสเตรเลียได้นำเรื่องนี้ไปหารือกับทางการไทยบ้างหรือไม่ ในบริบทที่ออสเตรเลียมีความร่วมมือกับทางการไทยในการขจัดอาชญากรรมข้ามชาติ"
ทางด้านคณะกรรมาธิการสามัญด้านการต่างประเทศ กลาโหมและการค้า ได้ตอบกลับกระทู้ของ สตีล-จอห์น ในเอกสารประเมินงบประมาณปี 2565-2566 ในหัวข้อชื่อ "ประเทศไทย - การฟอกเงินและข้อหายาเสพติด" ซึ่งมีการตอบข้อซักถามของกระทู้ 3 ข้อดังนี้
หนึ่ง คือเรื่องที่ว่าทางคณะกรรมาธิการได้รับทราบเรื่องนี้หรือไม่นั้น
คำตอบคือพวกเขารับทราบผ่านทางสถานทูตออสเตรเลียในไทย และผ่านทางการติดตามสื่อของไทย
สอง คณะกรรมการมีข้อกังวลใดๆ เกี่ยวกับการถอนหมายจับส.ว. ในแง่ที่ว่ามันอาจจะเป็นสิ่งคุกคามความเป็นอิสระทางตุลาการของไทยหรือไม่นั้น
ทางคณะกรรมการตอบว่า "มันเป็นเรื่องระบบตุลาการของไทยเอง"
สาม คือการที่ว่าออสเตรเลียได้นำประเด็นนี้ไปหารือกับทางการไทยในแง่ความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติหรือไม่นั้น
ทางคณะกรรมการตอบกลับว่า "ทางออสเตรเลียยังไม่ได้นำประเด็นนี้ไปหารือกับทางการไทย"
เรียบเรียงจาก:Question on notice no. 16 Portfolio question number: 16 2022-23 Budget estimates October and November Foreign Affairs, Defence and Trade Committee, Foreign Affairs and Trade Portfolio
ว่อนโซเชียล แฉถอนหมายจับ ส.ว.คนดัง เปิดใจ 'ตร.' เผยเป็นเอกสารจริง ผบ.ตร.ยันไม่มีมวยล้มต้มคนดู
เรื่องเล่าเช้านี้
Mar 12, 2023
ความคืบหน้ากรณีโลกโซเชียลแชร์ วิจารณ์ เอกสารหลุดของตำรวจ เป็นเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงของนายตำรวจที่เข้าขอหมายจับ ส.ว.คนดัง ซึ่งในเวลาต่อมามีการถอนหมายจับ โดยมีเอกสารทั้งหมด 7 หน้า แบ่งเป็น 27 ข้อ ลงชื่อ มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรสืบสวน สน.พญาไท นั้น
ล่าสุด พันตำรวจโท มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรสืบสวน สน.พญาไท ให้ข้อมูลทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ ว่า กรณีเหตุการณ์การขอหมายจับ และถอนหมายจับที่เกิดขึ้นนั้น ต้องไปถามทางผู้พิพากษาและทางศาล เพราะขั้นตอนของตำรวจคือขอหมายจับ
"ตนเองเป็นตำรวจรับราชการมาก็ไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้" มันเป็นเรื่องของผู้พิพากษา ผมลงรายละเอียดไม่ได้ ทุกอย่างที่ชี้แจงไปอยู่ในเอกสารแล้ว ที่บอกกับทีมข่าวได้แค่นี้ ไม่ใช่ตนไม่อยากตอบ แต่มันเป็นเรื่องวินัยไม่สามารถให้รายละเอียดข่าวได้
ตามปกติแล้ว การขอหมายจับ พนักงานสอบสวนจะเป็นคนขอ ศาลก็อนุมัติหมายจับหรือไม่ตามพยานหลักฐาน ที่ส่งไป ส่วนการถอนหมายจับ "พนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิไปถอนหมายจับได้เป็นหน้าที่ของศาล" ซึ่งการถอนหมายจับมี 2 กรณี คือ 1. จับผู้ต้องหาไปแล้ว หมายจับก็จะถอนไปโดยปริยาย 2. คือ ต้องไปถอนหมายจับที่ศาล ซึ่งมีผู้พิพากษาพิจารณา
กรณีนี้รายละเอียดทั้งหมด อยู่ในเอกสารที่หลุดมา และยืนยันว่า เอกสารที่หลุดมานี้ ไม่ได้ออกมาจาก ตร. ไม่รู้มาจากไหน
ส่วนตัว ยอมรับว่า "กังวลใจบ้างแต่ความรู้สึกก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร" และขอยืนยัน ในการทำหน้าที่พนักงานสอบสวนและพิมพ์สำนวนเอกสารคดีนี้ ทำตามขั้นตอนกฎหมายทุกประการ รายละะอียดก็ตามที่แชร์กันออกไป ซึ่งเรื่องนี้ผู้บังคับบัญชายังไม่มีการเรียกสอบถาม
ขณะที่ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. เปิดเผยจากกรณี พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินคดีกับเครือข่าย ทุนมินลัต จนเป็นข่าวที่เกิดขึ้นว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. รับทราบข้อมูลแล้ว จึงสั่งการให้จเรตำรวจแห่งชาติ ลงตรวจสอบข้อเท็จจริง การทำสำนวนคดี ความล่าช้า ความบกพร่อง ว่ามีหรือไม่อย่างไร หากพบให้ดำเนินการตามหน้าที่อย่างเด็ดขาด ทั้งอาญา วินัย และปกครอง
และในส่วนที่มีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีดังกล่าวหลุดมานั้น สั่งการให้ ผบช.น. ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว ว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ และรายละเอียดที่ปรากฏในเอกสารเป็นข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ เนื่องจากเนื้อหาในการกล่าวอ้าง เป็นการเปิดเผยขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดี ที่ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น และที่ผ่านมาไม่เคยได้รับรายงานจาก ผบช.น. ว่ามีเหตุการณ์เช่นที่บรรยายในหนังสือดังกล่าวเกิดขึ้น
พล.ต.ต.อาชยน กล่าวว่า ส่วนประเด็นการดำเนินคดีกับ เครือข่าย ทุนมินลัต คดีดังกล่าวเริ่มจาก พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สว.กก.2 บก.สส.บช.น. สืบสวนพบว่าบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องน่าจะมีส่วนกับการทำผิด ได้ยื่นขอหมายจับและศาลเพิกถอนหมายจับ ต่อมาจึงเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน บก.ปส.3 เมื่อวันที่ 4 ต.ค.65 และ บช.ปส. เห็นว่าเป็นเป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงเสนออัยการสูงสุดรับผิดชอบ เมื่อวันที่ 15 พ.ย.65 ต่อมาอัยการสูงสุดเห็นว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร มอบหมายให้ ผบก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแทน อัยการสูงสุด โดยมอบหมายให้พนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวนด้วยเมื่อวันที่ 21 พ.ย.65
ต่อมาหลังจากมีประเด็นคดี ทุนมินลัต เมื่อครั้งก่อน ผบ.ตร.เรียก ผบช.ปส. และ ผบก.ปส.3 มากำชับให้ควบคุมกำกับดูแลการทำงานของพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ให้ทำการสอบสวนอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ ไม่ละเว้นหรือช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งให้สนับสนุนการทำงานของพนักงานสอบสวนในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นอย่างเต็มที่ อย่าให้เกิดเป็นอุปสรรคในการทำงาน
และเมื่อวานนี้ (11 มี.ค.) สั่งการ ผบก.ปส.3 รายงานความคืบหน้าทางคดีในส่วนที่ไม่เสียต่อรูปคดีมาเป็นระยะ เพื่อที่จะไม่ให้สังคมคลางแคลงใจในความโปร่งใสของการทำงานของพนักงานสอบสวน ซึ่ง ผบ.ตร.ยืนยันว่าไม่มีใครมาสั่งการ กดดัน หรือเข้าแทรกแซงการทำสำนวนในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด และกำชับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏตามข้อเท็จจริงทุกประการ
พล.ต.ต.อาชยน กล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่าคดีดังกล่าว พงส.บช.ปส.3 หลังจากที่รับคำกล่าวโทษประมาณ 1 เดือนกว่าก็เร่งรวบรวมหลักฐาน ทำสำนวนมาตลอด พบว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด โดยไม่ได้มีการประวิงสำนวนเพื่อช่วยเหลือใครแต่อย่างไร และมีการส่งรายงานเพิ่มเติมตามคำร้องขอของอัยการสูงสุดมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ทางคดีมีความคืบหน้าไปมากแต่ยังไม่แล้วเสร็จอยู่ระหว่างการพิจารณาทางคดีร่วมกันของอัยการและตำรวจที่ทำคดีทำงานในรูปแบบคณะทำงาน ตำรวจไม่ได้ทำคดีฝ่ายเดียว โดยหารือร่วมกันกับพนักงานอัยการมาโดยตลอด
โดยในประเด็นคดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการเน้นย้ำมาตลอด ว่าต้องทำความจริงให้ปรากฏ ตามพยานหลักฐาน เอาคนผิดมาลงโทษ ต้องไม่มีการช่วยเหลือใคร เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน ซึ่ง ผบ.ตร.รับนโยบาย และติดตามความคืบหน้าคดีกับ ผบก.ปส.3 มาตลอด พร้อมจะเข้าช่วยเหลือหากอัยการและคณะพนักงานสอบสวนร้องขอ
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://ch3plus.com/news/political/we...