วันศุกร์, พฤษภาคม 07, 2564

'แย้งตรึม' คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีธรรมนัส 'Butler' รัฐบาลช่วยกันแบก


ชักอยากรู้ว่าเฮโรอินที่ ธรรมนัส ขนไปขายออสเตรเลียนั่น ใครนะเป็นยี่ปั๊ว คนรับใช้รัฐบาลถึงได้เรียงหน้าออกมาแบกรัฐมนตรีคนนี้กันใหญ่ อ้างแต่ตีความกฏหมายไม่สนจริยธรรม ซ้ำประกาศให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็น พ่องทุกคน ทุกกรณี

วิษณุ เครืองาม นี่จัดเป็น Butler ระดับเดียวกับ แรมโบ้ ละนะ หน้าที่แก้ต่างแก้ตัวท่าเดียว ไม่ต้องคำนึงศักดิ์ศรีและคุณธรรมกันแล้ว บอกว่า “ความเหมาะสมจริยธรรมถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ไม่สำคัญเท่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“กรณีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ได้กับทุกคน เพราะไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน และใช้ได้กับความผิดทุกกรณี” แม้กระทั่งความผิดคดียาเสพติด “ซึ่งอาจจะมีมลทินก็ได้” แต่ถือว่า “คำวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม” การเป็น ส.ส.เท่านั้น

จึงโดน นิติจุฬาฯจะไม่เป็นทาสคุณอีกต่อไป @lawcunotslave ท้วง “เดี๋ยวนะทั่น พ้นโทษมาแล้วเกิน ๕ ปี นี่มันลักษณะต้องห้ามมาตราไหนใน รธน.๖๐ ที่กฤษฎีกาวินิจฉัย คือลักษณะต้องห้ามตาม รธน. ๒๕๒๑...คนละเรื่องกับลักษณะต้องห้ามอันนี้”

เช่นกันกับ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรครัฐบาลแผนกหัวหมอ ช่วยยันความวิเศษของศาล รธน. “ขอย้ำว่าเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยออกมาก็ถือเป็นที่สุดแล้ว...มีผลผูกพันทุกองค์กร” สามารถตำรงตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรีต่อไปได้ ไม่ต้องสอบจริยธรรม

“ซึ่งพรรค พปชร.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี ๒๕๖๑...กรณี ร.อ.ธรรมนัส (พรหมเผ่า) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายสิบปีก่อนจะเป็นสมาชิกพรรค จึงไม่อยู่ในกรอบจริยธรรมตามข้อบังคับของพรรค” หากว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส จะยื่นร้อง ปปช. “ก็ร้องไป

...ต้องดูระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการกระทำละเมิดจริยธรรมในขณะดำรงตำแหน่งหรือไม่ ส่วนเหตุที่เกิดก่อนหน้านั้น เราเข้าไปดูไม่ได้” ง่ายดี งั้นเลยหมายความว่าการที่เมื่อครั้งยังใช้ชื่อ มนัสเขาเคยพัวพันคดีฆ่าคนตายก็ไม่นับ

การดี ศรีสุเมธ ขุดเอามาเล่าถึงคดีฆาตกรรม+ข่มขืน ดร.พูลสวัสดิ์ จิราภรณ์ ถูกตัดสินผิดทั้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุธรณ์ “แต่ใช้พลังภายในจนยกฟ้องชั้นฎีกา มนัสคนเดียวกันนี้เกี่ยวข้องกับการถล่มยิงพ่อค้า แม่ค้าคลองเตย ที่ตนเองมีเอี่ยวรับสัมปทาน

มนัสอีกแหละ ที่เกี่ยวข้องกับคดีจ้างวานให้วางเพลิงเผาโรงงานย่านรังสิต” ก่อนจะไปถูกจับในออสเตรเลียคดีขนยาเสพติดเข้าประเทศเขา หลังติดคุกระยะหนึ่งมีการส่งตัวกลับไทยตามคำร้องส่งผู้ร้ายข้ามแดน แล้วได้รับการฟอกผิดล้างมลทินได้อย่างน่าฉงน


มิใยที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับการโต้แย้งไม่เฉพาะในแง่จริยธรรม แต่ในการละเลยไม่วินิจฉัยด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย แม้กระทั่งการอ้างอิงตัวบท เลือกใช้ล้วนแต่ในส่วนที่เป็นประโยชน์แก่จำเลย ทำให้ผู้รู้เรื่องกฎหมายระดับคณะบดีนิติศาสตร์ต้องชี้ทางสว่าง

“คณบดีนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ชี้ปมผลแห่งคดี #ธรรมนัส ไม่คำนึงเจตนารมณ์กฎหมาย ทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคมที่มีต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” #TheStandardNews

นักกฎหมายอีกคนในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต “ยกความเห็นกฤษฎีกาปี ๖๓ แย้งคำตัดสินศาล รธน. ระบุคดียาเสพติดในสหรัฐใช้พิจารณาคดีในไทยได้ ไม่กระทบอธิปไตย” ทั้งนี้ดูได้จาก ความเห็นกฤษฎีกาที่ ๑๒๗๑/๒๕๖๓

“การพิจารณาให้ความเห็นในกรณีนี้ เป็นกรณีที่ใช้ผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมารับฟัง เป็นพยานหลักฐานในฐานะข้อเท็จจริง ในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการทหาร...มิใช่การรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ มาบังคับโทษในประเทศไทย”

ฉันใดก็ฉันนั้น การพิจารณาวินิจฉัยของศาล ไม่ว่าจะชั้นไหน ที่ใดๆ ในโลก สูงส่งอย่างไร มักปฏิบัติตามครรลองของการนำคำพิพากษาเดิมมาปรับใช้อยู่เสมอ ศาลรัฐธรรมนูญไทยซึ่งเป็นศาลทางการเมือง ไม่ควรทำให้มัวหมองด้วยการวินิจฉัยโดยธง

แม้ได้รับอำนาจเหลือล้นจากรัฐธรรมนูญ ก็ยังควรต้องเดินตามทำนองคลองแห่งจริยธรรมไว้เสมอ และพยายามคัดง้างต่ออำนาจอิทธิพลในทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการ ลุแก่อำนาจของผู้ปกครอง

(https://www.facebook.com/new.srukhosit/posts/10164961248030462, https://www.facebook.com/photo.php?fbid=4070992139625880&set=a.440635312661599&type=3 และ https://www.khaosod.co.th/politics/news_6382258)