วันเสาร์, พฤษภาคม 08, 2564

8 พฤษภาคม 2564 9 ปี การตายของอากง ขอเชิญชวนประชาราษฎรทั้งหลายมาร่วมกันรำลึกถึงอากงและเป็นสัจจพยาน พิธีเสกสถาปนา "ลานอากง" หน้าศาลฎีกา สนามราษฎร์ ในเวลา 17.00 น.



พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen
8h ·

#ยืนหยุดขังday46
8 พฤษภาคม 2564 พิธีเสกสถาปนา "ลานอากง"
วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 คือวันที่คุณอำพล ตั้งนพกุล หรือที่เรียกกันว่า "อากง" เสียชีวิตในเรือนจำกลางคลองเปรมระหว่างต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอาญาในคดี 112 อากงถูกนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ฟ้องร้องในคดีความมาตรา 112 กล่าวหาว่าอากงส่ง SMS มาให้เขา มีข้อความดูหมิ่นกล่าวร้ายกษัตริย์
.
ถึงแม้อากง ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 61 ปี จะปฏิเสธว่าส่ง SMS ไม่เป็น อีกทั้งหมายเลข IMEI ของโทรศัพท์ที่ส่ง SMS กับโทรศัพท์ของอากงก็ไม่ได้ตรงกันทุกตัว แต่สุดท้ายผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์ก็ยังตัดสินลงโทษอากงเป็นเวลา 20 ปี อากงติดคุกเพียงไม่นานก็เสียชีวิตในเรือนจำด้วยโรคมะเร็งตับ ต้องพรากจากป้าอุ๊ ภรรยาผู้เป็นที่รัก และลูกหลานทั้งหลายไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
.
ในวันครบรอบปีที่ 9 แห่งการเสียชีวิตของอากง ผู้ตกเป็นเหยื่อคดี 112 อย่างไม่เป็นธรรม พลเมืองโต้กลับเห็นว่าควรมีอนุสรณ์สถานเพื่อ "เป็นเครื่องสำแดงถึงความอยุติธรรมขนานใหญ่หลวงของกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้" (ตามคำแถลงขององค์การนิรโทษกรรมสากลในขณะนั้น) พวกเรามีมติพร้อมกันว่า ลานหน้าศาลฎีกาเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีชื่อเรียกว่า "ลานอากง" เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจศาลให้ดำรงอยู่ในความยุติธรรม อย่าให้เป็นที่อับอายแก่ชาวไทยและชาวโลก
.
จึงขอเชิญชวนประชาราษฎรทั้งหลายมาร่วมกันเป็นสัจจพยานในพิธีเสกสถาปนาลานอากง หน้าศาลฎีกา สนามราษฎร์ ในเวลา 17.00 น. โปรดมาก่อนเวลาเล็กน้อยเพื่อให้ทันฤกษ์งามยามราษฎร โปรดลงทะเบียนใต้ภาพเช่นเคย
#พลเมืองโต้กลับ #ลานอากง #ปล่อยเพื่อนเรา
.....

Voice TV
8h ·

20 ข้อ MUST READ รำลึก ‘อากง’ เสียชีวิต 8 พ.ค.2555
1. “อำพล ตั้งนพกุล, อำพล ตั้งนพกุล ติดต่อที่ทำการแดนครับ ปล่อยตัว! ” เสียงประกาศลั่นแดน 8 ในวันที่อากงเสียชีวิตแล้ว เป็นธรรมเนียมของเรือนจำที่จะประกาศปล่อยตัวนักโทษโดยเชื่อว่าดวงวิญญาณของพวกเขาจะเดินทางออกจากที่คุมขัง
2. “บ๊ายบายนะอาเจ็ก ค่อยๆ เดินนะ เขาให้เจ็กกลับบ้านแล้ว ป้าอุ๊คอยอยู่ตรงโน้น เจ็กไปหาเขานะ” ธันย์ฐวุฒิ อดีตผู้ตัองโทษ 112 ที่ดูแลอากงใกล้ชิดในเรือนจำเคยเขียนจดหมายเล่าว่าเขาทำอย่างไรในวันนั้น และยังบอกเล่าถึงสภาพที่อากงต้องปวดท้องอยู่หลายวันกว่าจะได้ไป รพ.ราชทัณฑ์
3. "อากง" กลายเป็นคำเรียกตามพาดหัวข่าวจนเป็นที่รับรู้ของสังคม เพราะอานนท์ นำภา หนึ่งในทีมทนายความของอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี (ตอนโดนจับ) มักจะเรียกลูกความเช่นนั้น เป็นคำเรียกตามอย่างหลานๆ ของอำพล
4. อากง เป็นคนชั้นล่างที่อาศัยอยู่ย่านสำโรง เมื่ออายุเยอะก็ผันตัวจากพนักงานขับรถมาเป็นคนแก่เลี้ยงหลาน 4-5 คน คอยรับส่งไปโรงเรียน
5. เพื่อนนักโทษของอากงเคยเขียนจดหมายเล่ามุมมองของเขาต่ออากงว่า
“จากการพูดคุยกันตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมยืนยันได้เลยว่าอากงไม่ใช่ทั้งเหลืองทั้งแดง ไม่สลิ่มด้วย แกเล่าให้ผมฟังว่าแกชอบไปตามงานชุมนุมต่างๆ เพราะสนุกดี และบางครั้งก็มีของให้กินฟรีๆ ด้วย แกเริ่มไปงานชุมนุมครั้งแรกก็คือชุมนุมพันธมิตร ที่แกยังได้รับแจกเสื้อเหลืองพร้อมลายเซ็นจำลอง ศรีเมือง ติดมือกลับบ้านด้วย หลังจากนั้นก็ไปงานชุมนุมของเสื้อแดงที่แกก็ได้เสื้อแดง ผ้าโพกหัวกลับบ้านโดยไม่ต้องเสียเงิน อากงมักใช้เวลาหลังจากรับหลานๆ กลับจากโรงเรียน ช่วยงานบ้านป้าอุ๊เสร็จแล้วค่อยไปงานชุมนุม เมื่อหายเบื่อแล้ว 2-3 ชั่วโมงก็นั่งรถกลับบ้าน อากงไม่มีพื้นฐานความรู้ทางการเมืองใดๆ เลย อยู่บ้านทีวีเสื้อแดงก็ไม่รู้จัก ไม่เคยเปิดดู หนังสือพิมพ์ก็ไม่อ่านเพราะสายตาไม่ดี ดังนั้น เวลาพวกผมคุยกันเรื่องการเมืองแกจะตั้งใจฟัง แล้วมีคำถามมาถามเราอยู่บ่อยๆ”
6. คดีของเขาเกิดขึ้นในบริบทปี 2553 ช่วงที่สถานการณ์การล้อมปราบคนเสื้อแดงกำลังไต่ระดับความรุนแรงถึงขีดสุด ก่อนหน้านั้นก็มีการใช้มาตรา 112 กับผู้คนจำนวนมากแล้วจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เข้มข้นหลังการรัฐประหาร 2549
7. ราวกลางเดือนพฤษภาคม 2553 เลขานุการส่วนตัวของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจว่า เขาได้รับ SMS จากบุคคลนิรนามที่มีข้อความหมิ่นประมาทให้ร้ายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถรวม 4 ข้อความ
8. เดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน ตำรวจบุกจับกุมอำพลที่บ้านพัก แจ้งข้อหา 112 ศาลไม่ให้ประกันตัว เขาติดคุกอยู่ราว 63 วัน ก่อนศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ประกันตัว ซึ่งนับเป็นคนส่วนน้อยมากที่ได้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี อย่างไรก็ตาม เขาเป็นอิสระอยู่ช่วงสั้นๆ เมื่ออัยการสั่งฟ้องคดีในชั้นศาล อำพลก็ต้องกลับมาติดคุกใหม่และไม่ได้ประกันตัว แม้จะมีการยื่นขออีกหลายครั้ง
9. ระหว่างถูกจำคุก เพื่อนนักโทษได้เขียนจดหมายบอกเล่าสภาพที่ค่อนข้างเลวร้ายในช่วงเวลานั้น เนื่องจากการเมืองขัดแย้งรุนแรงและผู้คุมในบางแดนมีทัศนคติที่ไม่ดีอย่างยิ่งต่อผู้ต้องขังคดี 112 จึงปล่อยให้มีการทำร้ายร่างกายกัน แม้อากงไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายเพราะอายุมาก แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งให้ทำงานหนัก ปั่นถ้วยกระดาษวันละ 2,500 ใบ เพื่อนนักโทษทนไม่ไหวต้องมาช่วยกันทำ สถานการณ์นี้ถูกแก้ไขให้ดีขึ้นเมื่อเรื่องแดงออกสู่สังคม
10. ในการต่อสู้คดี ยุคดังกล่าวคดี 112 ถือเป็นคดีร้ายแรงที่ผู้คนหวาดกลัว ไม่อยากข้องเกี่ยวด้วย การหาพยานผู้เชี่ยวชาญของทนายความจำเลยเพื่อมาอธิบายข้อต่อสู้ทางเทคโนโลยีค่อนข้างเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างมาก เพราะติดต่อบริษัทไหน ติดต่อใครก็ไม่มีใครยอมมา
11. เดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นปีน้ำท่วมใหญ่ ศาลพิพากษาคดีอากงผ่านระบบเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ ระหว่างจำเลย,ศาล,และทนาย-ญาติ โดยพิพากษาลงโทษ 4 กรรม จำคุกกรรมละ 5 ปี รวมเวลา 20 ปี ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า อากงหูไม่ค่อยดี แม้การพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วก็ยังสอบถามทนายถึงผลของคำตัดสินว่าเป็นอย่างไร
12. คำพิพากษาคดีอากงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะการตัดสินลงโทษโดยใช้ "พยานแวดล้อม" ในการลงโทษ คำพิพากษาส่วนหนึ่งระบุว่า
"ในประเด็นที่จำเลยนำสืบอ้างว่าส่งข้อความไม่เป็นและไม่ทราบว่าหมายเลขโทรศัพท์ของ สมเกียรติ เป็นของใคร และไม่เคยนำซิมการ์ดหมายเลขอื่นมาใช้กับโทรศัพท์ของตน เป็นเพียงข้ออ้างที่จำเลยรู้เห็นเพียงคนเดียว ทั้งยังมีเอกสารระบุว่ามีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขของจำเลยมีการส่งข้อความเป็นส่วนใหญ่ ทั้งมีการส่งข้อความจำนวนมาก พยานหลักฐานที่นำสืบมาจึงไม่น่าเชื่อถือ
แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08-1349-xxxx ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ สมเกียรติ โดยตรง แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงย่อมจะต้องปกปิดการกระทำ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานแวดล้อม ซึ่งจากพยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดโดยไม่มีข้อพิรุธ จึงมีน้ำหนักว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรด้วย"
13. สถิตย์ ไพเราะ อดีตผู้พิพากษาเคยบรรยายครั้งหนึ่งที่เนติบัณฑิตยสภา ให้ความเห็นว่า คำพิพากษาในคดีนี้บอกว่า “แม้โจทก์ยังไม่สามารถนำสืบพยานอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความตามฟ้อง” ... แล้วไปลงโทษจำเลยนั้นขัดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่า ให้ชั่งน้ำหนักพยาน อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและจำเลยเป็นผู้กระทำ
"คำว่าแน่ใจก็คือ ชัดแจ้ง เมื่อคุณบอกว่าไม่ชัดแจ้งคุณไปลงโทษได้อย่างไร ยิ่งตอนท้ายยิ่งเขียนผิดใหญ่เลย “แต่เป็นการยากที่โจทก์จะสืบด้วยประจักษ์พยาน” มีกฎหมายใดที่บอกว่าเป็นการยากแล้วจะลงโทษจำเลยได้เลย หลักมีอันเดียวคือ พยานโจทก์ต้องแน่ใจว่าจำเลยกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็น ประจักษ์พยานหรือพยานแวดล้อม ไม่ใช่ว่าพยานแวดล้อมแล้วมั่วลงโทษได้นะครับ และคำพิพากษานี้ก็จะอยู่ไปจนตายเพราะคำพิพากษานี้ไม่ได้แก้ เนื่องจากอากงตายไปแล้ว จะถูกวิจารณ์ชั่วกาลปาวสานเพราะศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่ได้แก้ อย่างนี้ผมเข้าใจว่าถ้าขึ้นศาลสูง ศาลสูงไม่ปล่อยไว้หรอกเพราะมันผิดกฎหมาย ขัดมาตรา 227 อย่างชนิดที่ว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตกเลย"
14. องค์คณะที่พิพากษาคดีอากงมีหลายคน แต่คนหนึ่งที่ถูกขุดคุ้ยมากล่าวถึงในเวลานี้คือ ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และยังเป็นเลขาธิการประธานศาลฎีกา เนื่องจากเป็นผู้ลงนามคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำราษฎรหลายครั้ง ขณะที่ประธานศาลฎีกาก็ถูกขุดคุ้ยประวัติทางการเมืองที่เคยร่วมม็อบ กปปส.อย่างเปิดเผย อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่า การตรวจสอบผู้พิพากษาดังกล่าวล้ำเส้นเกินไปแล้วเมื่อเปิดเผยชื่อของคนในครอบครัวผู้พิพากษาด้วย
15. เรื่องน่าสนใจอีกประการคือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ลี้ภัยผู้ทรงอิทธิพลในเวลานี้ ในเวลานั้นเขาเป็นอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และนักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และทนไม่ไหวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจนต้องขอเข้าเยี่ยมอากงที่เรือนจำด้วยตัวเองสักครั้ง และหลังจากได้พูดคุยกับหลายส่วน สุดท้ายเขาเป็นตัวตั้งตัวตีสร้างแคมเปญ 'ฝ่ามืออากง'
16. หลังอากงถูกพิพากษาโดยศาลชั้นต้นในเดือนพฤศจิกายน 2554 ทนายความจำเลยกำลังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดี ระหว่างนั้น ****** วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 อากงก็เสียชีวิตที่ รพ.ราชทัณฑ์
17. การชันสูตรระบุว่า อากงเสียชีวิตเพราะมะเร็งตับระยะลุกลาม อย่างไรก็ตาม ความตายของเขาอยู่ในความดูแลของราชทัณฑ์ ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2556 ภรรยาอากงได้ยื่นฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายกับราชทัณฑ์ โดยแจ้งเป้าหมายว่า ไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการสร้างมาตรฐานให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วและทัดเทียมกับคนที่อยู่นอกเรือนจำจะได้ไม่มีผู้ประสบเหตุอย่างกรณีของนายอำพลอีก
18. ในคำฟ้องระบุว่า ในช่วงวันที่ 4-8 พฤษภาคม 2555 ที่อากงรักษาตัวใน รพ. เป็นวันหยุดราชการ ไม่มีการจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อช่วยชีวิตผู้ต้องขังป่วยเมื่อฉุกเฉิน แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ต่ำกว่ามาตรฐานโรงพยาบาลรัฐภายนอกเรือนจำทั่วไป ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 51
19. เดือนตุลาคม 2559 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาว่าให้ยกฟ้องราชทัณฑ์ เนื่องจากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ต่อโจทก์ ตอนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า
"แพทย์และพยาบาลให้การดูแลรักษาผู้ตายมาตลอด ต่างใช้วิจารณญาณและความรู้ความสามารถตามหลักวิชาอย่างเต็มความสามารถ แม้ไม่สามารถช่วยฟื้นคืนชีพผู้ตายได้สำเร็จ การที่แพทย์พยาบาลใช้หรือไม่ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่าง เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าในการช่วยฟื้นคืนชีพ ย่อมอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และพยาบาลอย่างดีแล้วว่าจะสามารถอุปกรณ์การแพทย์ชนิดใดได้หรือไม่ในช่วงวิกฤต แม้แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์จะเห็นต่างก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว”
“ส่วนประเด็นว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเป็นการขัดรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงที่รับฟังจากพยานหลักฐานของจำเลย ไม่ปรากฏว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง.... การจำกัดปริมาณผู้เยี่ยม เวลาเยี่ยม การส่งผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ แม้แต่การติดต่อสื่อสารที่จำเลยไม่อาจใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เหล่านี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการขัดต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงสถานะตัวบุคคลของคนนั้นๆ ด้วยว่าตนเองอยู่ในสถานะเช่นใดก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานเหล่านั้น เพียงแต่ว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การรักษาพยาบาลยังคงมีอยู่ไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิแต่อย่างใด”
20. ในวันรับศพ นอกจากภรรยาของอากงจะกล่าวกับสามีผ่านโลงศพว่า "กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว" เธอยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่า
"นักโทษการเมืองไม่ใช่คู่ต่อสู้ของใคร เขาคือผู้ได้รับผลกระทบจากการเมือง อย่าเอาเขามาเป็นเชลย ปล่อยพวกเขาเถอะ ไม่เช่นนั้นจะมีคนเดินตามอากงต่อไปเรื่อยๆ คนแล้วคนเล่า"
ขณะที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กล่าวไว้อาลัยในงานศพอากงด้วยการวิพากษ์สังคมไทยที่ไม่มี moral courage “ความกล้าหาญทางจริยธรรม”
“ผมเคยพูดเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรม หรือ Moral Courage ไปแล้ว ความไม่ถูกต้อง ไม่ว่าเกิดกับใครก็ตาม หรือเกิดกับฝ่ายตรงข้ามก็ตาม เราต้องมีความกล้าหาญในฐานะมนุษย์ที่จะออกมาบอกว่ามันไม่ถูก แต่คนใหญ่คนโต นักวิชาการ ผู้มีชื่อเสียงต่างๆ พากันเงียบหมด...”
“มันเป็นความเสื่อมทางศีลธรรม แต่มันก็ตลกที่ยุคนี้เป็นยุคที่มีเสียงเรียกร้องเรื่องศีลธรรมเต็มไปหมด”
“สมัย 6 ตุลา นักศึกษาถูกฆ่า คนไม่แคร์ หรือคนสะใจก็มี แต่มันสั้นมาก แม้พวกเราอยู่ในคุกก็รับรู้อารมณ์ของสังคมได้ ผ่านไปไม่นาน คนธรรมดาก็เริ่ม guilty (รู้สึกผิด) ภายใน 2 ปี มีการนิรโทษกรรมคนก็โล่งอกกันว่าไอ้พวกนี้ได้ออกจากคุก แต่มาดูปัจจุบัน มีคนตายเป็นร้อยคน คนยังด่าเผาบ้านเผาเมือง ต่อให้คุณไม่ชอบแดงยังไง แต่ไม่สลดใจกับการที่มีคนตายมากขนาดนี้ คุณต้องถามตัวเองแล้ว” (สมศักดิ์กล่าวในงานศพ บริบทปี 2555)
ที่มา : ประชาไท , iLaw
#อากง
#VocieOnline