เลี้ยงลูกนอกบ้าน
May 6 at 12:17 AM ·
#สอนลูกในสังคมแห่งความบิดเบี้ยว
การเติบโตในสังคมไทย ที่หลายครั้ง ถูกเป็นผิด ผิดเป็นถูก คนโกงพ้นผิด คนติดคุกคือคนไม่มีอภิสิทธิ์ หลายครั้งขึ้นกับว่าคนทำผิดคือพวกของใคร คงทำให้หลายคนสงสัย
เราจะสอนลูกให้อยู่ในสังคมที่โหดร้ายนี้ยังไงกันนะ?
หมอมีคำแนะนำดังนี้นะคะ...
1. สอนใน “สิ่งที่ถูกต้อง” เสมอ ยิ่งความถูกผิดในสังคมไม่ชัด เรายิ่งต้องสอน “ให้เห็นชัด”
2. หลายครั้งของความบิดเบี้ยว เป็นจากไม้บรรทัดที่เบี้ยวบิด สอนลูก (และตัวเอง) ตั้งคำถาม กับคำว่า “ถูก” “ผิด” ที่ควรเป็นไปกับทุกมาตรฐาน
3. ยกตัวอย่างที่บิดเบี้ยวในสังคมมาเป็นตัวอย่างให้ลูกลองทำการคิดวิเคราะห์ กรณีชนคนตายไม่ต้องรับผิด เจ้าของบ่อนไม่ถูกจับ กรณีผงสลายกลายเป็นแป้ง ฯลฯ คนเหล่านี้มีคุณสมบัติอย่างไร สิ่งที่เขาทำจะส่งผลต่อตนเองและสังคมอย่างไร
4. ตั้งคำถามว่าสังคมแบบนี้ จะมีผลกับคนในสังคมอย่างไร ให้ลูกลองมองหาที่มา ของปัญหาแห่งความบิดเบี้ยวนั้น
5. สอนลูกว่าหลายครั้งความบิดเบี้ยว ไม่ใช่ปัญหาของปัจเจก แต่เป็นปัญหาของ “โครงสร้าง” โดยเฉพาะปัญหาของระบบอุปถัมภ์ในสังคม
6. โลกก็เป็นแบบนี้ โลกไม่ได้มีความยุติธรรมอยู่เสมอ แต่การยอมนิ่งเฉยให้กับความอยุติธรรม คือการ “ยอมรับ” ความอยุติธรรม
7. สอนลูกให้ “ส่งเสียง” อย่ายอมรับ อย่ายอมจำนน หรือเชื่อว่าเราจะไปทำอะไรได้ เสียงกระซิบอันมหึมา หลายครั้งอาจดังไกลกว่าเสียงตะโกน
8. สอนลูกให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี แบบที่สามารถมองตัวเอง แล้วรู้สึกเคารพตัวเองได้ การทำหน้าที่ที่ดีของคนๆ หนึ่ง ส่งผลต่ออีกหลายคนในสังคมเสมอ
9. ความยุติธรรม อาจไม่ได้มาในรูปแบบของการถูกลงโทษทางกฏหมาย แต่หลายครั้งมาในรูปความอับอายต่อตัวเองและสังคม
10. ชี้ให้ลูกเห็นความสำคัญของ “พลังของคนในสังคม” ช่วยลูกมองหา ว่าลูกจะเป็นคนเปลี่ยนสังคมแบบนี้ได้ที่ตรงไหน หลายครั้งมันเริ่มได้ที่ตัวเรา
11. อย่างไรก็ตาม มนุษย์ทุกคนมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา คนที่ยอมรับความผิดพลาด พร้อมเรียนรู้และแก้ไข คือคนที่สังคมควรให้อภัยและให้โอกาส (ส่วนคนที่ไม่มีความละอาย ก็ให้จดจำไว้ อย่าเลือกให้มาเป็นใหญ่ในสังคม)
12. ชีวิตที่มีทางเลือก คือชีวิตที่โชคดี หลายครั้งเราเปลี่ยนสังคมไม่ได้ หรือทำไปก็เท่านั้น เราเปลี่ยนตัวเองไปอยู่ในสังคมที่ดีได้ เตรียมเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองในยุค globalization
สำคัญคือ บอกลูกว่าจงอยู่ “แบบมีความหวัง”
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หลายครั้งเริ่มจากจุดที่ตกต่ำในสังคม
แล้วความเปลี่ยนแปลง... จะเกิดขึ้นเสมอ
#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
ผู้เชื่อว่าเด็กเรียนรู้ได้แม้ในสังคมที่ดูไร้ซึ่งความหวัง
เลี้ยงลูกนอกบ้าน
Yesterday at 11:07 AM ·
#สิ่งที่อยากให้ผู้เสพข้อมูลเพจได้รับรู้
หมอได้รับข้อความด้านล่าง หลังเขียนเรื่อง #สอนลูกในสังคมที่บิดเบี้ยว
หมอเข้าใจว่าลูกเพจหลายคนไม่อยากให้เพจเขียนอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนะคะ
แต่หมอก็ยังเขียนถึงเรื่องการเมืองอยู่บ่อยๆ เพราะส่วนตัว หมอเชื่อเสมอว่า เรื่องการเลี้ยงลูก คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเลี่ยงอะไรไม่ได้จริงๆ
เราจะมีเวลาเลี้ยงลูกได้แบบที่ควรมั้ย?
ลูกเราจะมีการศึกษาพื้นฐานที่ดีหรือเปล่า?
เราจะต้องเป็นพ่อแม่ที่หวังความกตัญญูของลูกยามแก่ หรือเป็นพ่อแม่ที่พึ่งตัวเองได้?
ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองทั้งสิ้น
และหมอก็เป็นหมอเวชศาสตร์วัยรุ่น วัยรุ่นกำลังมีปัญหาการเมืองกับผู้ใหญ่ในสังคม หมอดูวัยรุ่นจำนวนมากในคลินิก เพจนี้หลายครั้งจึงพูดแทนวัยรุ่น ในมุมที่หมอได้รับรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจ และเพื่อนให้เกิดมุมมองที่หลากหลายในสังคม
หมอเขียนถึงสิ่งที่หมอไม่เห็นด้วยกับวัยรุ่นก็หลายครั้ง
ที่สำคัญ หมอเชื่อว่า เราควรอยู่ในสังคม ที่ความเห็นที่แตกต่างกัน ควรสามารถพูดคุยกันได้แบบคนมีอารยะ
เพราะสังคมที่มีแต่คนคิดเหมือนกัน สังคมนั้นอาจตัองเตรียมถดถอยเข้าสู่หายนะ
แม้จะรู้ว่าหลายบทความอาจจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีดราม่ามากมาย หมอก็ยังเคารพสิ่งที่ตัวเองคิด และลงมือเขียนมันเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เสมอ
สิ่งที่หมออยากบอกลูกเพจท่านนี้ และอีกหลายๆท่าน ที่อาจจะคิดคล้ายกัน มีดังนี้นะคะ
1. หมอขอโทษนะคะ ที่อาจจะทำให้รู้สึกผิดหวัง แต่ความผิดหวังจากความคาดหวังของใคร หมอไม่สามารถรับผิดชอบมันได้จริงๆ
2. หมอไม่ใช่จิตแพทย์นะคะ หมอเป็นหมอเวชศาสตร์วัยรุ่น (เดี๋ยวจิตแพทย์เค้าจะเสียหาย )
3. เวลาอ่านบทความ อยากให้ลดอคติ ลดการตีตรา หรือลดการเหมารวมนะคะ (“สามกีบ” “สลิ่ม” “พวกอีลีท” นี่โดนมาหมดละ ) เพราะการตีตรา จะลดศักยภาพสมองส่วนคิดทำให้การวิเคราะห์แยกแยะเหตุผลของเราผิดเพี้ยน
4. พยายามมองที่ตรรกะ เหตุผล ของสิ่งที่เขียน หมอเป็นมนุษย์ที่ไม่สามารถเขียนสิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอ เราจึงต้องตั้งคำถาม โต้แย้งกันด้วยตรรกะเหตุผล เพจนี้ไม่ลบความเห็นใคร เพราะเชื่อว่าการเห็นอะไรที่ต่างกันสร้างการเรียนรู้และเติบโตให้กับเรา (หมอก็เติบโตขึ้นมากจากคอมเมนท์ของลูกเพจ)
5. อย่ารีบสรุป หรือ เชื่อว่าใครเป็นอะไรฝั่งไหน ถ้าคุณไม่ได้รู้จักเขาในทุกด้าน
6. หมอไม่สามารถเขียนบทความบทความเดียวแล้วครอบคลุมเรื่องทุกเรื่อง ไม่สามารถเขียนเรื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน นั่นไม่ใช่หน้าที่ของคนเขียนบทความ นั่นเป็นหน้าที่ของคนทำสารคดี
7. ถ้าจะอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ อย่าลืมอ่านประวัติศาสตร์จากหลายๆ ที่ หลายอันไม่ได้อยู่ในตำรา จะเปิดหูเปิดตาสร้างความรอบรู้ให้ตัวเรา
8. ตั้งคำถามกับข้อมูลที่ได้รับจากฝั่งเดียวเสมอ พยายามศึกษาข้อมูลของหลายฝ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจมุมมองที่แตกต่างหลากหลายของคนในสังคม
9. ถ้าเคารพและศรัทธาใคร แต่เขาคิดอะไรต่างจากเรา ให้ตั้งคำถามและศึกษาว่าทำไมเค้าเชื่อ หรือให้คุณค่ากับสิ่งนั้น (หมอเรียนรู้และเติบโตขึ้นมาก จากการตั้งคำถามนี้กับคนที่หมอเคารพ )
10. เรียนรู้ที่จะเคารพความคิดที่แตกต่างหลากหลาย เพราะความคิดที่แตกต่าง เป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติ และเป็นเรื่องที่ควรรักษาไว้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม
11. เราสามารถเลือกติดตามเพจ ที่ไม่ทำให้เราเครียดจนอาจมีปัญหาทางสุขภาพจิตได้นะคะ นี่เป็นสิทธิของเราเลยค่ะ หมอเข้าใจและไม่มีปัญหาในเรื่องนี้จริงๆ
หมอขอบคุณหลายคนที่เข้าใจ และให้พื้นที่ที่ทำให้หมอยังทำหน้าที่แบบที่รู้สึกเคารพตัวเองได้อยู่นะคะ
สิ่งที่หมอเขียน ควรถูกตั้งคำถามเสมอ
อะไรที่เห็นด้วย ก็เก็บเกี่ยวไป ต่อยอดสิ่งที่เราได้เรียนรู้
อะไรที่ไม่เห็นด้วย ก็สามารถตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
แต่การส่งพลังงานเชิงลบ มากับข้อความลดทอนคุณค่าคนอื่น มันไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับใคร
และมันไม่เคยมีผล ทำให้หมอหยุดทำสิ่งที่ตั้งใจอยู่ได้จริงๆ
#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
ผู้ขอขอบคุณที่รับฟังสิ่งที่อยากชี้แจงมาตั้งนานแล้วนะคะ