ภาษาไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง
May 8 at 10:35 PM ·
#หยิบมาเล่า จากแบบเรียนภาษาไทย เล่ม ๒ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ของกระทรวงศึกษาธิการ (พิมพ์ครั้งที่ ๑๙ พ.ศ. ๒๕๑๗)
เรื่อง หญิงหม้ายกับบุตร
ความเบื้องต้น เรื่องหญิงหม้ายนี้ คัดมาจากหนังสืออ่านธรรมจริยา เล่ม ๕ ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
หญิงหม้ายคนหนึ่งจอดแพที่พระนครศรีอยุธยา มีความประสงค์จะให้บุตรได้เล่าเรียนมีความรู้ จึงพาบุตรมาส่งที่สถานีรถไฟ จะให้ลงมาอยู่กับลุง และเรียนหนังสือในโรงเรียนที่กรุงเทพฯ
หญิงคนนี้เป็นคนจน ตั้งแต่สามี ถึงแก่กรรมแล้ว ก็ได้อาศัยการค้าขายเลี้ยงตัวมา บัดนี้เก็บเล็กประสมน้อย ได้เงินพอตัดเสื้อตัดกางเกงให้บุตร และเหลืออีกนิดหน่อยก็สำหรับเป็นค่ารถไฟ และค่าหนังสือเท่านั้น
เมื่อพาบุตรมาตามทางจึงพูดแก่บุตรว่า "อายุเจ้าครบ ๑๒ ปี เมื่อวานนี้ ถ้าจะครบเอาพรุ่งนี้ก็จะดีทีเดียว จะได้เสียค่ารถไฟแต่เพียงครึ่งหนึ่ง เหลืออีกครึ่งหนึ่งเก็บเอาไว้ซื้ออะไรกินที่บางกอก แต่นี่อายุเต็ม ๑๒ ปีเสียแล้ว จะต้องเสียเต็มราคาเท่ากับผู้ใหญ่ แม่ก็ไม่มีเงินจะให้สำหรับเจ้าไปซื้ออะไรกินอีก"
บุตรแหงนดูมารดาแล้วอ้อนวอนว่า "นอกจากค่าหนังสือและค่ารถไฟนี้ แม่จะไม่ให้ฉันมีเงินติดตัวไปบ้างสักนิดหน่อยหรือ" พูดดังนั้นแล้วก็ทำตาแดงๆ มารดามีความเวทนา แทบจะให้เงินที่เหลืออยู่ไปแก่บุตรทั้งหมด แต่หากจนใจให้ไม่ได้ เพราะมีบุตรเล็กๆ ที่ต้องเลี้ยงอีกหลายคน จึงมิได้ให้
พอไปถึงสถานีไปขอซื้อตั๋วให้บุตรสำหรับไปกรุงเทพฯ เจ้าพนักงานขายตั๋วแลเห็นรูปร่างเด็กเป็นเด็กเล็กจึงถามว่า
"ตั๋วเด็กครึ่งราคาหรือจ๊ะ"
หญิงหม้ายนิ่งอยู่สักครู่หนึ่ง ทำให้บุตรใจเต้นนึกว่ามารดาจะตอบแต่กระอ้อมกระแอ้มค่อยๆ ว่า "จ้ะ" หรือนิ่งเสียเป็นแต่เพียงพยักหน้ารับก็ได้ แต่มารดาก็หาได้ทำดังนั้นไม่ นิ่งอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วกลับตอบว่า
"ไม่ใช่จ้ะ อายุเกิน ๑๒ ปีแล้ว ตามข้อบังคับของกรมรถไฟ เห็นจะต้องเสียเต็มราคาเหมือนผู้ใหญ่กระมัง"
เจ้าพนักงานก็ขายตั๋วอย่างสำหรับผู้ใหญ่ให้ หญิงหม้ายรับส่งให้บุตร แล้วกล่าวโดยยิ้มย่องว่า
"ลูกเอ๋ย นี่แน่ะ ตั๋วกับคำจริง เก็บเอาใส่กระเป๋าไว้เถิด ดีกว่าได้เงินสองสามสลึง เพราะพูดปดหลอกลวงเขา
พอส่งบุตรขึ้นรถไฟและลาจากกันเสร็จแล้ว รถไฟก็ออก บุตรรู้สึกในใจว่าที่มารดาบอกความจริงแก่เขานั้น เป็นการถูกแล้ว ยิ่งเมื่อถึงกลางทางคนตรวจตั๋วมาขอดูตั๋ว ยิ่งรู้สึกว่ามารดาทำถูกยิ่งขึ้น เพราะถ้าถือตั๋วครึ่งราคา อันเป็นตั๋วไม่แสดงความจริงแล้ว จะแลดูหน้าคนตรวจตั๋วได้อย่างไร แต่นี่มีตั๋วที่แสดงความจริง ได้ชื่อว่าเป็นผู้เดินทางอันสุจริตแท้แล้ว จะดูหน้าใครๆ ก็ได้ ไม่ต้องมีความสะทกสะท้าน
เมื่อคนตรวจตั๋วส่งตั๋วคืนให้ แล้วพยักหน้าบอกว่า "ถูกต้องแล้ว"
คำนี้ดังก้องอยู่ในใจของเด็กนั้น ทำให้ไม่ลืมคำจริงของมารดาเลย
เมื่อรถไฟมาถึงกรุงเทพฯ เวลาค่ำ และเด็กนี้ได้พบกับลุงผู้มาคอยรับอยู่แล้ว จึงเดินตามลุงออกจากสถานี้ไป เวลาส่งตั๋วคืนให้ที่ทางออก ถึงแม้ว่ากระเป๋าไม่มีเงินติดเลย ก็ได้รับความรู้สึกอิ่มใจเป็นอย่างยิ่ง ในการที่ไม่ได้หลอกลวงปิดบังเงินค่าโดยสารของกรมรถไฟไว้ครึ่งหนึ่ง
ต่อมาภายหลัง เมื่อเด็กคนนั้นจะแสดงสิ่งใดที่ไม่จริง ก็นึกถึงคำของมารดาที่สถานี และคำว่าถูกต้องแล้ว ของคนตรวจตั๋วในรถไฟได้เสมอ ทำให้แสดงความเท็จออกไม่ได้
บทเรียนใดในโรงเรียนทั้งหมดที่ได้เรียนนั้น ไม่มีอะไรจะมีราคามากกว่าบทเรียนที่ได้รับจากมารดา และใส่มาในกระเป๋าแทนเงินที่จะโกงกรมรถไฟได้ เมื่อครั้งขึ้นรถไฟจากสถานีพระนครศรีอยุธยามาแต่เล็กๆ นั้นเลย