วันจันทร์, พฤษภาคม 10, 2564

“ความยุติธรรมมาสาย เป็นการไม่ให้ความยุติธรรม”


การออกมา รับผิดต่อการที่เคยเป็นผู้จับกุม อากง แล้วให้สัมภาษณ์สาดเสียผู้ต้องหาทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ความผิด ของอดีตผู้บังคับการกองปราบฯ ที่ว่า “เวลาผ่านไป ความเข้าใจของสังคมก็เปลี่ยนตามไปด้วย” มีนัยให้เห็นการผิดผีผิดไข้ในยุคนี้จะแจ้ง

คำ “ขออภัยต่อดวงวิญญาณอากงและครอบครัว รวมถึงขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ทุกคน ที่อาจจะเกิดจากการทำงานในหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาแล้วด้วย” ของ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ

พร้อมกับการ “ตระหนักแล้วว่าการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้และมาตราอื่นๆ ตลอดจนกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีแต่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน รัฐบาล และสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่ำแย่ลง”

ย่อมชี้ถึงความเหมาะสม ถูกต้อง และจำเป็น ในการเรียกร้อง/รณรงค์ ให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรืออย่างน้อยๆ ปรับแก้เนื้อหาบางอย่างให้มีความเป็นธรรม และสอดรับกับโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งรัฐชาติที่อารยะล้วนยอมรับ สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์

เขาเอ่ยถึง ความผิดพลาดในอดีต “ที่อยู่ในวังวนของการครอบงำ ในอาณัติ การที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งภายใต้รัฐราชการ อันเป็นการจำกัดสิทธิพลเมืองบางอย่าง” ที่สมควรได้รับการแก้ไข กลับมีแต่การย้อนรอยถอยหลัง ไปใช้ ม.๑๑๒ เพื่อปิดปาก ข่มขู่ กลั่นแกล้ง ทางการเมืองยิ่งขึ้น

ด้วยการกักขังกลุ่มแกนนำคณะราษฎรคนรุ่นใหม่ ที่ทำการชุมนุมเรียกร้องให้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนตัวผู้นำและรัฐบาล กับทำการปฏิรูปพระราชอำนาจและที่ทางในสังคมของสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยแท้จริง

นับเป็นสิบกลับถูกศาลอาญาบีบคั้นทรมาน เก็บกักตัวในคุกและปฏิเสธการให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราว ตามหลักนิติธรรม ‘Rule of Law’ ไม่ใช่นิติมาร หรือ ‘Rule by Law’ ดังเช่นเป็นอยู่ ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนติดเชื้อโควิด-๑๙ ซึ่งกำลังระบาดระลอกใหม่ขณะนี้

แม้นมีแน้วโน้มว่าหลังจากการกลั่นแกล้งไม่ให้ประกันมานับสิบครั้งเป็นเวลาหลายเดือน ท้ายที่สุดพอมีความหวัง (อาจจะลมๆ แล้งๆ) ได้ว่า ผู้ถูกข้อหา ๑๑๒ ที่ยังเหลืออยู่ในคุก อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชีวารักษ์ ชัยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ภาณุพงศ์ จาดนอก ฯลฯ จะได้ประกันวันพรุ่งนี้

แต่ก็เป็นเพียงผ่อนคลายแรงกดดันของเสียงประณามจากประชาชนชักหนาหูยิ่งขึ้น ถึงความ อยุติธรรม ในระบบศาลไทย หากแม้มิใช่ความอหังการของตุลาการและราชทัณฑ์ ดังที่มีเสียงก่นด่าระงมอยู่ในเวลานี้ ก็หนีไม่พ้นความงี่เง่าละเลยหลักมนุษยธรรมของระบบศาล


justice delayed is justice denied” ทนายแจม Sasinan Thamnithinan ในข่ายทนายสิทธิมนุษยชน เขียนระบายความอัดอั้นตันใจ เมื่อมารดาของลูกความของเธอในคดี ๑๑๒ รายหนึ่ง เพียรพยายามยื่นประกันและเฝ้ารอการปล่อยตัวชั่วคราวของ ฟ้า พรหมศร วีระธรรมจารี

“ศาลอนุญาตให้ประกัน และต้องติด EM จึงยังไม่สามารถปล่อยตัวฟ้าในวันเดียวกันได้ ต้องรอศาลเปิดทำการวันธรรมดา ซึ่งก็คือวันอังคารที่ ๑๑ นี้” แต่เมื่อวาน (๙ พ.ค.) อนิจจาแม่ของฟ้าเกิดอุบัติเหตุล้ม เส้นเลือดในสมองแตก ต้องรักษาตัวโรงพยาบาลในห้องไอซียู

ก่อนหน้านั้นโฆษกศาลแถลงว่า “การประกันตัวไม่มีวันหยุด แถมสมัยนี้ยื่นได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง” ทำให้ทนายแจมต้องโต้ว่า “ไม่จริงนะคะ เราพร้อมประกันตั้งแต่วันศุกร์แล้วค่ะ นายประกันพร้อม ทนายพร้อม เงินพร้อม พ่อแม่พร้อม ที่ไม่พร้อมคือระเบียบของศาลเอง”

เนื่องจากระเบียบอันหยุมหยิมในพีธีรีตองของระบบศาลไทย กำหนดว่าผู้ได้รับประกันปล่อยตัวที่ต้องติดเครื่องเฝ้ายามประจำตัวที่ข้อเท้า (เครื่องอีเอ็ม) ต้องไปปรากฏตัวต่อศาล แต่ราชทัณฑ์ไม่ให้เบิกตัวจากที่คุมขังได้ในวันหยุด ต้องรอวันราชการ

เช่นนี้นี่เอง คำคมที่ว่า “ความยุติธรรมล่าช้า เท่ากับปฏิเสธความยุติธรรม” ความหมายตรงกับ “ความยุติธรรมมาสาย เป็นการไม่ให้ความยุติธรรม” ฉันใดฉันนั้น

(https://www.facebook.com/jammyjamlawyer/posts/3810420595751227, www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=961054301362528&id=466894930778470 และ https://mgronline.com/daily/detail/9540000160360)