วันจันทร์, พฤษภาคม 17, 2564

พระราชพินัยกรรมที่ “แปลก และ ไม่เหมือนใคร” ของ ร 6" โดยในตัวพินัยกรรมมิได้เขียนถึงการมอบหรือแบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ทายาทหรือผู้ใด แต่กลับเป็นพินัยกรรมที่เขียนถึงวิธีการจัดทำพิธีศพของตนเอง



น้ำเงินเข้ม
May 13 at 6:00 AM ·

โดยปกติทั่วไป การทำพินัยกรรมมักจะเป็นการเขียนในเรื่องของการมอบ หรือแบ่งทรัพย์สมบัติอันเป็นมรดกของผู้ตายให้แก่ทายาท แม้แต่ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ก็ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “พินัยกรรม” หมายถึง “คำสั่งของบุคคลที่กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน หรือในการต่าง ๆ ...”
.
แต่...มีพินัยกรรมอยู่ฉบับหนึ่งที่ถือว่า “แปลก และ ไม่เหมือนใคร” โดยในตัวพินัยกรรมมิได้เขียนถึงการมอบหรือแบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ทายาทหรือผู้ใด แต่กลับเป็นพินัยกรรมที่เขียนถึงวิธีการจัดทำพิธีศพของตนเอง
.
แปลกแต่จริง! และเจ้าของพินัยกรรมฉบับแปลกนี้ก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
.
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงอยู่ในฐานะองค์รัชทายาทผู้สืบทอดราชบังลังก์ ก็ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นองค์พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงัศ์จักรีในทันที
.
ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุได้ 30 พรรษา และยังไม่มีพระชายาหรือพระมเหสี พระองค์ทรงใช้เวลาเกือบทั้งพระชนม์ชีพไปกับงานราษฎร์งานหลวง จนหลงลืมไปว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรัชทายาทสืบราชบังลังก์ต่อไป
.
และกว่าจะทรงนึกขึ้นได้วันเวลาก็ล่วงเลยมาถึงตอนปลายรัชกาลเสียแล้ว
.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระโรคประจำตัว และพระสุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรงมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ เมื่อเจริญพระชันษามากขึ้นพระวรกายก็เริ่มทรุดโทรมลง และพระองค์ก็ทรงตระหนักถึงพระชนม์ชีพที่อาจจะดำรงอยู่ได้ไม่นานนัก
.
และในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 ขณะพระชนมายุ 40 พรรษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำพระพินัยกรรมขึ้นฉบับหนึ่ง อันเป็นพระพินัยกรรมฉบับแปลกที่มีแต่การกล่าวถึงการทำพิธีพระศพของพระองค์เอง
.
ในการทำพระพินัยกรรมนี้ อยู่ในขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ พระราชวังพญาไท ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าเฝ้าฯ อันประกอบไปด้วย
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง
พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดเล็ก
พระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล) อธิบดีกรมชาวที่
พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) อธิบดีกรมมหาดเล็ก
และ
พระยาราชสาส์นโสภณ (สอาด ชูโต)
.
พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสรับสั่งกับการทำพินัยกรรมฉบับนี้ว่า…
.
ในเวลานี้ข้าพเจ้ากำลังมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ จึงขอสั่งข้อความไว้ดังต่อไปนี้
#1 ถ้าข้าพเจ้าสวรรคตลง ณ แห่งใดแห่งหนึ่ง นอกจากในพระบรมมหาราชวัง ให้เชิญพระบรมศพโดยเงียบ ๆ เข้าไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิมาน ให้จัดการสรงน้ำพระบรมศพในพระที่นั่งจักรพรรดิมาน แล้วจึงให้เชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
#2 ในเวลาตั้งพระบรมศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และในเวลาอื่น ๆ ต่อไปนี้ตลอด ห้ามมิให้มีนางร้องไห้* ถ้าผู้ใดรักใคร่ข้าพเจ้าจริงปรารถนาจะร้องไห้ ก็ให้ร้องไห้จริง ๆ เถิด อย่าร้องอย่างเล่นละครเลย
#3 ในการทำบุญ 7 วันทุก 7 วันไปจนถึงงานพระเมรุ ขอให้นิมนต์พระที่ข้าพเจ้าชอบพอมาเทศน์ อย่าให้นิมนต์ตามยศ และนอกนั้นให้นิมนต์พระมหาเปรียญที่ท่าทางจะเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาต่อไป
#4 งานพระเมรุให้กำหนดภายหลังวันสวรรคตโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ ถ้าจะทำในฤดูแล้งแห่งปีสวรรคตแล้วยิ่งดี เพราะถ้าเก็บพระบรมศพไว้นานจะเป็นการสิ้นเปลืองเปล่า ๆ
#5 ในการทำบุญ 7 วัน เมื่อไว้พระบรมศพก็ดี และในงานพระเมรุก็ดี ขอให้จัดการทำพิธีกงเต็ก ถ้าไม่มีใครศรัทธาทำให้ข้าพเจ้า ขอให้ทายาทของข้าพเจ้าหานักพรตอานัมนิกาย จีนนิกาย มาทำให้ข้าพเจ้า
#6 ส่วนงานพระเมรุ ขอให้รวบรัดตัดกำหนดการลงให้น้อย คือ ตัวพระเมรุให้ปลูกตรงถาวรวัตถุ ใช้วัตถุนั้นเองเป็นพลับพลาทรงธรรม
#7 ก่อนที่จะยกพระบรมศพไปสู่พระเมรุ ให้มีงานศราทธพรต** ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทวันเดียว
#8 ญาติวงศ์ของข้าพเจ้าและข้าราชการกระทรวงกรมต่าง ๆ ถ้ามีความประสงค์จะทำบุญให้ข้าพเจ้า ก็ทำเสียให้เสร็จในขณะที่ตั้งพระบรมศพอยู่ก่อนงานพระเมรุ ส่วนงานพระเมรุขอให้เป็นงานหลวงอย่างเดียว
.
#9 สังเค็ต*** ขอให้จัดของที่เป็นประโยชน์สำหรับพระสงฆ์ที่จะได้รับไป และให้เลือกพระสงฆ์ที่จะได้สังเค็ตนั้นว่าจะใช้สังเค็ตจริง จะไม่เอาไปขาย
#10 ส่วนของแจกขอให้เลือกเป็นหนังสือสองอย่าง อย่างหนึ่งเนื่องด้วยกิจการที่ข้าพเจ้าได้ทำประโยชน์มาแล้วแก่แผ่นดิน อีกอย่างหนึ่งขอให้เป็นหนังสือที่จะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา
#11 ในการแห่พระบรมศพตั้งแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปถึงวัดพระเชตุพน ให้ใช้พระยานมาศตามประเพณี จากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุ ขอให้จัดแต่งรถปืนใหญ่เป็นรถพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางในระยะที่สุดนี้อย่างทหาร
#12 ในขบวนแห่นี้ นอกจากทหาร ให้จัดมีเสือป่าและลูกเสือเข้ามาสมทบขบวนด้วย และขอให้นักเรียนโรงเรียนพระบรมราชูปถัมภ์ได้เข้าขบวนด้วย
#13 การโยนโปรย ขอให้งด ไม่ต้องมีทุกระยะ และประคองพระบรมโกศขอให้งดด้วย
#14 การอ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพ ถ้าสิ้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส และพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ขอให้นิมนต์พระญาณวราภรณ์ (ม.ร.ว.ชื่น) วัดบวรนิเวศน์ หรือพระราชสุธี (อุปโม) วัดราชาธิวาส แต่ถ้าแม้ท่านทั้งสองจะทำไม่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว จึงให้นิมนต์พระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์สูงกว่ารูปใด ๆ ในคณะธรรมยุตินิกาย
#15 ในการถวายพระเพลิง เมื่อแตรทหารบกบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีจบแล้ว ขอให้รวมแตรสั้นเป่าเพลงสัญญาณนอน
#16 ส่วนงานบรมอัฐิ ขอให้ทำตามระเบียบที่เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5)
#17 พระอังคาร ขอให้บรรจุใต้ฐานพระพุทธชินสีห์ในวัดบวรนิเวศวิหารส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งขอให้กันเอาไว้ไปบรรจุใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่พระปฐมเจดีย์ ในโอกาสอันเหมาะสมซึ่งไม่ติดต่อกับงานพระเมรุ
.
และทั้ง 17 ข้อที่กล่าวมานี้ คือพระพินัยกรรมที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกระทำไว้ก่อนกาลสวรรคต เพียง 5 ปีเท่านั้น
.
โดยก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตเพียงไม่กี่เดือน ได้ทรงนำพระพินัยกรรมฉบับนี้มาเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชมรดก และการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งพระราชพินัยกรรมที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นทั้งหมดทั้งมวลนี้ บรรดาเหล่าข้าราชบริพารทั้งหลายก็ได้สนองพระเดชพระคุณตามพระราชประสงค์ครบถ้วนทุกประการ
.
.
ที่มา: หนังสือ เรื่องเล่าชาววัง ของ กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร
++++++++++++++++++++++
หมายเหตุ:
.
*นางร้องไห้ เป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 และยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน เป็นการเกณฑ์บรรดานางขับกล่อมโหยหวนด้วยอารมณ์โศกเศร้า เพื่อถวายพระเกียรติยศในงานพระบรมศพ
.
**ศราทธพรต คือ พิธีทำบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
.
***สังเค็ด ในปทานานุกรมได้ให้คำนิยามว่า “ทานวัตถุที่ถวายแก่สงฆ์เมื่อเวลาปลงศพ มีตู้ โต๊ะ เป็นต้น รวมกันถวายแก่พระสงฆ์ผู้เทศน์หรือบังสุกุล”

https://www.facebook.com/SuperDeepBlue/posts/257704422818009