วันอังคาร, มกราคม 12, 2564

"รัฐธรรมนูญใหม่ต้องถอดบทเรียนจากอดีต" - อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์



iLaw
18h ·

"รัฐธรรมนูญใหม่ต้องถอดบทเรียนจากอดีต" คำเตือนจากนักประวัติศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์คนสำคัญของเมืองไทย กล่าวในงานเสวนา 'New Constitution New Consensus: ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างฉันทามติใหม่ เพื่ออนาคตสังคมไทย' ว่า รัฐธรรมนูญใหม่ต้องถอดบทเรียนจากอดีตไม่ซ้ำรอยเดิม รัฐธรรมนูญไม่ควรจะออกแบบด้วยความคิดความเชื่อที่รังเกียจการเมือง และต้องส่งเสริมให้สถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน เช่น สภาผู้แทนราษฎร หรือ การปกครองส่วนท้องถิ่น เข้มแข็งและแข็งแรงให้มากยิ่งขึ้น
รัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่รังเกียจการเมือง
ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า ช่วงเวลาปัจจุบันเป็นช่วงเวลาสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องคิดเรื่องรัฐธรรมนูญให้ดี เพราะถ้าโยนเรื่องนี้ไปให้สภาตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียวก็อาจจะเป็นการโยนให้ "หมาแดก" หรือเข้าทางฝ่ายผู้มีอำนาจเต็มประตู แต่ในฐานะนักประวัติศาสตร์ทำให้เขามีข้อห่วงกังวลอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือ ไม่ต้องการให้การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญซ้ำร้อยกับสมัยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่อาศัยผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันศึกษาวิจัย และนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับที่ "รังเกียจการเมือง" ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีความตั้งใจตั้งแต่ต้นที่จะลดปริมาณของการเมืองให้ออกจากการเมืองไทย และนำอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า "คนดี" หรือ "ผู้เชี่ยวชาญ" มาครอบตัวการเมืองเอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด เช่น การกำหนดให้วุฒิสมาชิกห้ามสังกัดพรรคการเมือง ต้องหย่าการเมือง แต่ให้ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกองค์กรอิสระทั้งหลาย แล้วต่อมา พอมีการรัฐประหาร คณะรัฐประหารก็เข้าไปแทรกแซงกระบวนการได้มาซึ่งวุฒิสภาทำให้เกิดเป็นปัญหา ดังนั้น ต้องระมัดระวังไม่ให้ซ้ำร้อยเดิม
ศ.ดร.นิธิ กล่าวถึงความกังวลประการที่สองว่า การตั้งใจสร้างองค์ความรู้เพื่อให้รัฐธรรมนูญตอบโจทย์ในอนาคตจะเป็นปัญหา ถ้ารัฐธรรมนูญเข้าไปกำหนดเรื่องการเขียนนโยบาย เพราะถ้าเขียนนโยบายไว้ในรัฐธรรมนูญจะทำให้แก้ไขได้ยาก
ศ.ดร.นิธิ เสนอว่า รัฐธรรมนูญที่ดีแทนที่จะคิดถึงอนาคต ควรจะคิดถึงความผิดพลาดในอดีต และต้องเรียนรู้ว่าเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามีองค์กรหรือกลไกมากมายที่ขัดขวางประชาธิปไตยไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เริ่มต้นตั้งแต่เจ้า กองทัพ ตุลาการ กระบวนการยุติธรรม กลุ่มทุน การคอรัปชั่น สรรมถภาพในการบริหารประเทศ อำนาจกำกับควบคุมของประชาชน สื่อที่ไม่มีคุณภาพ และวัฒนธรรมที่ช่วยกดขี่
รัฐธรรมนูญต้องเพิ่มอำนาจ "สภาผู้แทนราษฎร"
ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า ประชาชนในประเทศไทยไร้อำนาจอย่างยิ่ง โดยสิ่งที่สะท้อนปัญหานี้อย่างชัดเจนที่สุดคือ "สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย" เพราะไม่มีสภาที่ไหนในโลกนี้ที่ไม่มีบทบาทอะไรเลยเท่ากับประเทศไทย ทั้งที่ สภาคืออำนาจของประชาชน ประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงออกผ่านระบบสภา
ศ.ดร.นิธิ เสนอว่า รัฐธรรมนูญต้องให้อำนาจแก่สภามากขึ้น ที่ผ่านมาก่อนหน้า 24 มิถุนายน 2475 สถาบันการเมืองที่สำคัญมีเพียงสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบราชการ กองทัพ และตุลากร แต่หลังการปฏิวัติ 2475 แม้ว่าคณะราษฎรจะยึดอำนาจแล้ว ก็แทบไม่ได้แตะต้องกับสถาบันสำคัญทั้งสี่อย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นตุลาการ ก็ไม่แตะต้อง หรือ กองทัพก็ทำเพียงไล่คนที่ไม่น่าไว้วางใจออกและเอาคนของตัวเองเข้าไปเป็นผู้บังคับบัญชา ไม่ได้แตะต้องตัวโครงสร้างของกองทัพ ดังนั้น สภาจะต้องเข้าไปกำกับควบคุมให้ได้ เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งหมดของทั้งสี่อย่างต้องผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า อย่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 พระมหากษัตริย์ไม่ได้สืบราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลอย่างเดียว แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรด้วย หรืออย่าง ผบ.ทบ. ซึ่งมีกำลังคนและอาวุธในการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของคน สภาผู้แทนราษฎรต้องให้ความเห็นชอบ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ หรือข้าราชการระดับสูง สภาผู้แทนราษฎรต้องให้ความเห็นชอบ
เช่นเดียวกับองค์กรอิสระ คำถามสำคัญขององค์กรอิสระ คือ "อิสระจากใคร" ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กำหนดให้เป็นอิสระจากรัฐบาล และในขณะเดียวกัน ก็เป็นอิสระจากประชาชนด้วย ซึ่งไม่ถูกต้อง การเป็นอิสระจากรัฐบาลทำได้ แต่เป็นอิสระจากประชาชนไม่ได้ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบ แต่ควรจะลดความเป็นการเมือง โดยใช้กลไกอย่างให้พรรคฝ่ายค้านหรือพรรครัฐบาลให้ความเห็นชอบแบบเดียวกับการเลือกอนุญาโตตุลาการ คือถ้าฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้เสนอ ฝ่ายค้านไม่รับก็ได้ ไม่เกี่ยวกับการโหวต คุณต้องเสนอชื่อคนที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับทั้งคู่ จึงจะผ่าน
ในขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจให้แก่ประชาชน นอกจากบทบาทหรืออำนาจทางการเมืองในระบบแล้ว สิ่งที่ประชาชนจะลงมาทำหรือบริหารเองได้ก็คือท้องถิ่น ต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ไม่ใช่แค่อำนาจและงบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่ต้องกระจายการจัดการทรัพยากรไปให้คนในท้องถิ่นได้จัดการได้เองด้วย
รัฐธรรมนูญใหม่ ส.ว. มีได้ แต่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า ในมุมมองส่วนตัวเห็นว่าวุฒิสภาไม่ควรมี แต่ถ้าจะมีต้องมาจากการเลือกตั้ง และหน้าที่ของวุฒิสภาต้องไม่มีอำนาจในการเข้ามาตรวจสอบสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นทำหน้าที่เป็นพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่น เพิ่มงบประมาณในการพิมพ์หนังสือ ออกวิทยุ ทำรายการโทรทัศน์ นำเอาประเด็นต่าง ๆ ที่กำลังจะกลายเป็นกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรมาบอกกับสังคม มาฟ้องสังคม มาบอกให้สังคมคิดอีกด้านหนึ่ง มาชวนให้สังคมมองประเด็นปัญหาให้กว้างขึ้น แต่อำนาจในการยับยั้ง ควรเป็นอำนาจในทางพิธีกรรม วุฒิสภาต้องเป็นผู้ถ่วงดุลสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ใช่การถ่วงดุลโดยอำนาจทางกฎหมาย แต่ถ่วงดุลผ่านสังคม ผ่านประชาชน