ฝากแชร์ ตอนนี้สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ กำลังล่า 15,000 ชื่อเสนอ #กฎหมายชนเผ่าพื้นเมือง อย่างที่รู้กันว่าพี่น้องชนเผ่าของไทยเดือดร้อนจากปัญหาเชิงนโยบายเยอะ เช่น ที่ดิน สัญชาติ เลือกปฏิบัติ
— ㅋㅊ (@minnnunaaa) December 25, 2020
เอกสารเหมือนตอนยื่นกม.ใดๆ ที่ผ่านมาเลย รีโพสต์ได้ค่ะ
โหลด+อ่านร่าง https://t.co/9g3fO3l73A pic.twitter.com/zBfDcwvYvl
ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …
ความเป็นมา
ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ประสบกับสารพัดปัญหา ทั้งเรื่องที่ดิน สิทธิในสัญชาติ การเข้าถึงระบบการศึกษาที่ ปัญหาการสูญหายของอัตลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรม สาเหตุล้วนมาจากกฎหมายและนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม จึงนำสู่การยกร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. … เพื่อหวังเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์และกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ยังประสบปัญหาและสถานการณ์อยู่มากมาย ทั้งในเรื่องนโยบาย กฎหมายและมาตรการที่ถูกนำไปปฏิบัติแบบไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชนและขัดกับหลักเจตนารมณ์ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่รัฐบาลไทยร่วมรับรองไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ จนทำให้เกิดการเลือกปฎิบัติ มีการข่มขู่ จับกุม คุมขัง และปรับไหมอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะสูญเสียอัตลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรมท้องถิ่นตนเองไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งกระแสโลกาภิวัตน์และกระบวนการพัฒนาประเทศที่มีพลังดึงดูดเยาวชนและคนวัยทำงานออกจากชุมชนไปสู่เมืองมากขึ้น เพื่อให้มีมาตรการขจัดการเลือกปฏิบัติ มีการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมทั้งสร้างหลักประกันการยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และมีกลไกหนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพแกนนำทั้งหญิง ชาย และเยาวชนของชนเผ่าพื้นเมืองให้สามารถแก้ไขปัญหาของตนเอง ตลอดจนให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติที่ยั่งยืน และสามารถกำหนดวิถีชีวิตตนเองได้จริง
ด้วยความจำเป็นข้างต้น จึงทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองจำนวน ๑๗ กลุ่มชาติพันธุ์จากทุกภูมิภาคได้มีการรวมตัวกันครั้งแรกในนาม “เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.)” ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยจัดเวทีสัมมนาวิชาการและกิจกรรมรณรงค์ให้รัฐและสาธารณชนยอมรับและเคารพสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะการร่วมกันจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทุกปี และในการจัดงานมหกรรมฯ พ.ศ.๒๕๕๓ ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อจัดตั้ง “สภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย” ขึ้น และเมื่อวันที่ ๙ – ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ทาง คชท. ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการว่าด้วยเรื่อง “จากแนวคิดสู่รูปธรรมของสภาชนเผ่าพื้นเมือง” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนำมาสู่การแต่งตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติสภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. … โดยคณะทำงานยกร่างฯ ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็น ออกแบบโครงสร้างร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และดำเนินการยกร่างกฎหมาย หลังจากนั้นได้มีการนำร่างกฎหมายดังกล่าวปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญ รับฟังความเห็นจากชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ และนำมาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.นี้ จนกระทั่งได้มีการนำเสนอและได้รับความเห็นชอบจากเวทีสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (ครั้งแรก) ในงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๘ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗ และต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ทาง คชท. ได้ยื่นหนังสือเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินการร่างกฎหมายของประชาชนและเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการให้มีกฎหมายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่ง คปก. ได้ดำเนินการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว รวมถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างรอบด้าน ซึ่งต่อมา คปก.ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องแผนการให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ในขณะนั้น และเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ผู้แทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) และภาคี ได้ยื่นหนังสือให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นกลไกพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาของชนเผ่าพื้นเมือง และผลักดันให้รัฐสภาได้รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้เป็นกฎหมายส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยโดยเร็ว แต่ในที่สุดได้เป็นส่วนหนึ่งใน กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เท่านั้น จึงนำมาสู่การระดมรายชื่อเพื่อร่วมยื่นเสนอกฎหมายโดยประชาชนในครั้งนี้
หลักการและเหตุผลของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.สภา
เพื่อยืนยันสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และยืนยันการรับรองสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเองที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคี รวมถึงปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่กำหนดให้รัฐบาลที่จะต้องส่งเสริม คุ้มครอง และปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอยู่ในประเทศของตน
เพื่อให้สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เป็นกลไกหลักในการส่งเสริม ประสานงาน และแก้ไขปัญหากลุ่มประชากรชนเผ่าพื้นเมืองได้อย่างทั่วถึงทุกด้าน
เพื่อให้รัฐสนับสนุนกลไกการจัดกระบวนการและประสานความร่วมมือในการสร้างหลักประกันในการขจัดการเลือกปฏิบัติและอคติทางชาติพันธุ์ และสนับสนุนให้รัฐสามารถจัดทำนโยบายและแผนงานที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืนของชนเผ่าพื้นเมืองในไทย
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สภาฯ
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีทั้งหมด ๔๐ มาตรา แบ่งออกเป็น ๗ หมวด ได้แก่ (๑) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (๒) หน้าที่และอำนาจของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (๓) โครงสร้างการบริหารสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (๔) คณะผู้อาวุโสสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (๕) สำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (๖) กองทุนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และ (๗) บทเฉพาะกาล
โหลด+อ่านรายละเอียดร่างได้ที่ https://bit.ly/2KrHxhi