วันพฤหัสบดี, มกราคม 07, 2564

2 โพสต์ของ Ilaw ที่ไม่ควรพลาด - เปลี่ยนความโกรธเป็นตัวอักษร รวมป้ายเด็ด-วลีดังในม็อบปี 2563 - พักม็อบแต่ไม่พักรบ : สารพัดป้ายข้อความและห่อศพนักกิจกรรม


iLaw
15h ·

"ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส"
.
วลีนี้ปรากฏครั้งแรกเป็นชื่อแฟลชม็อบเมื่อ 8 สิงหาคม 2563 โดยคณะเยาวชนปลดแอก หรือ Free Youth นัดรวมพลที่สกายวอล์ก ปทุมวัน หลังไมค์ ภานุพงศ์ จาดนอก และอานนท์ นำภา ถูกตำรวจจับและตั้ง 8 ข้อหาจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อ 18 ก.ค. 2563


iLaw
15h ·

เปลี่ยนความโกรธเป็นตัวอักษร รวมป้ายเด็ด-วลีดังในม็อบปี 2563
.
การชุมนุมในปี 2563 จุดติดและลุกลามรวดเร็วจนรวมกลุ่มคนได้อย่างหลากหลายภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ไม่ว่าจะต่อสู้กับอะไร ด้วยเป้าหมายไหน สิ่งที่โดดเด่นมากของม็อบในช่วงปีนี้ก็คือ อารมณ์ขัน และ ความคิดสร้างสรรค์
.
การแสดงออกแสบๆ คันๆ ที่เราเคยพบเห็นในโลกโซเชียลอยู่เสมอไม่ได้จบอยู่แค่เพียงหน้าจอ แต่ถูกถ่ายทอดออกมายังป้ายต่างๆ ที่ปรากฏในที่ชุมนุม วิวัฒนาการของภาษาเขียนก้าวกระโดด มีลักษณะเฉพาะแบบที่คนหลายรุ่นต้องแอบถาม google ว่า คำนี้แปลว่าอะไร
.
นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม ปี 2563 กระแสการการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยพัดโหมแรงขึ้นตามความโกรธของผู้คน แม้มาตรการล็อคดาวน์การแพร่ระบาดของ covid-19 ก็ไม่สามารถยับยั้งการแสดงออกต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมได้ เมื่อลองไล่เรียงดูตลอดทั้งปีแล้ว เราจะพบป้ายแห่งความหวัง พลังความสร้างสรรค์ กระทั่งอมตะวาจาในอดีต ปะปนอยู่ในการชุมนุมเสมอ



iLaw
15h ·

"แม้ดอกไม้ถูกเด็ดจนกุดก็ไม่อาจหยุดฤดูใบไม้ผลิ

และซี่กรงอาจขังดวงดาวได้ แต่ไม่อาจขังแสงดาวได้"
.
30 ตุลาคม 2563 ประโยคนี้ถูกกล่าวหลังจากที่เพนกวิน หรือ พริษฐ์ ชีวารักษ์ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเป็นประโยคที่เขายกขึ้นมาพูดหลังจบการปราศัยบ่อยครั้ง



iLaw
15h ·

"I HEAR TOO"
.
ฉันก็ได้ยินเหมือนกัน…..? ประโยคไวรัลที่โด่งดังในโลกโซเชียลนี้มามาจากเสียงตะโกนก้องของผู้ชุมนุมในเดือนตุลาคม มันมักมาพร้อมกับเพลง 1 2 3 4 5 I love you ของ เอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ ที่ถูกแปลงประโยคหลังจากเพลงรักจึงกลายเป็นเพลงการเมือง
.
ผู้สื่อข่าวของช่อง Voice TV เคยรายงานข่าวการชุมนุมโดยอธิบายประโยคนี้ไว้ว่า “ตอนนี้ผู้ชุมนุมตะโกนเป็นภาษาอังกฤษกันนะฮะ ‘I Hear Too’ คือว่าฉันได้ยินด้วย” แต่หากฟังดีๆ ดูเหมือนผู้ชุมนุมที่ร้องเพลงนี้กันประจำจะไม่ได้แปลความเช่นนั้น



iLaw
15h ·

"ของอร่อยที่สุดก็คือ ภาษีประชาชน"
.
ม็อบวิ่งกันนะแฮมทาโร่ เมื่อ 26 กรกฏาคม 2563 มีแนวความคิดจากการแทนตัวเองเป็นเหมือนหนูในการ์ตูนเรื่องแฮมทาโร่ที่วิ่งอยู่ในกรงที่กำลังจะพัง เมื่อต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงจึงต้องออกมาแสดงออก
.
นอกจากผู้ชุมนุมจะออกมาวิ่งรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วยังมีเนื้อเพลงที่สื่อถึงสารของการออกมาเรียกร้องนี้ด้วยโดยแปลงเนื้อ “เมล็ดทานตะวัน” เป็น “ภาษีประชาชน” รวมทั้งวลี “ภาษีกู ภาษีกู ภาษีกู” ที่ผู้ชุมนุมร่วมตะโกนพร้อมกัน เพื่อสะท้อนว่าภาษีไม่ควรเป็นอาหารหลักของใคร แต่ควรนำมาพัฒนาประเทศ



iLaw
15h ·

"สิทธัตถะไม่มี 112 คนยังนับถือ 2500 กว่าปี"
.
จากม็อบหน้า SCB หรือธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ เมื่อ 25 พฤศจิการยน 2563 เป็นม็อบที่ยกระดับขึ้นอีกขั้นในการตั้งคำถามเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ มาพร้อมอารมณ์ขุ่นมัวจากที่เพิ่งโดนสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา
.
สำหรับมาตรา 112 อันที่จริงแล้วถูกนำมาเขียนบนป้ายประท้วงบ่อยครั้งตั้งแต่กลางปีจนถึงปลายปี ในเดือนธันวาคม มีการพูดถึงมาตรานี้มากขึ้นหลังมีผู้โดนแจ้งข้อหามากมายในช่วงหลัง โดยพูดในรูปแบบหลากหลาย ทั้งงานเสาวนา Mobfest “ยกเลิกม.112 สิ แล้วจะเล่าให้ฟัง” เมื่อ 10 ธันวาคม 2563 การขึงป้ายผ้าที่เขียนคำว่า ยกเลิก 112 ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งได้เริ่มครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2563 โดยกลุ่ม DemHope หรือคณะประชาธิปไตยเพื่อความหวัง



iLaw
15h ·

"เราหมดศรัทธาฯ"
.
การกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในป้ายประท้วงของชุมนุมนั้นปรากฏอยู่ให้เห็นเป็นปกติในช่วงครึ่งปีหลังนี้เอง ในช่วงกลางปีนั้นผู้ที่เริ่มพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาคือ Tiwagorn Withiton โดยเขาสกรีนเสื้อด้วยคำว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปยังโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ต่อมา 19 กรกฏาคม 2563 แฟลชม็อบที่ท่าแพร เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ชุมนุมที่ชูป้ายประท้วงเขียนข้อความถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
.
เดือนสิงหาคม 2563 เพดานการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกยกระดับขึ้นสูงกว่าเก่า โดยทั้งผู้ร่วมปราศัยที่กลายมาเป็นแกนนำอย่าง อานนท์ นำภา, รุ้ง หรือ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และเพนกวิน หรือ พริษฐ์ ชิวารักษ์
.
เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ เสกคาถา ปกป้องประชาธิปไตย โดยอานนท์ นําภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นปราศรัยถึงปัญหาและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวกับการเมืองไทย 10 สิงหาคม 2563 ในม็อบธรรมศาสตร์จะไม่ทน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง
.
ดูเหมือนอารมณ์มวลชนจำนวนมากก็ไปในแนวทางเดียวกัน โดยหาได้มีความหวาดกลัวไม่ อาจเป็นเพราะที่ผ่านมาถูกปิดกั้นอย่างหนัก จนกระทั่งถึงเวลาที่มีคนเริ่มต้น ผู้คนจึงร่วมกันแสดงออกซึ่งความเห็นความรู้สึกอย่างเปิดเผย
.
สังเกตจากป้ายประท้วงในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่มีถ้อยคำล้อเลียนเกี่ยวพันกับสถาบัน เช่น “ใช่ๆ เราจำได้ มึงฉีดน้ำใส่กูอีกแล้ว” หรือกระทั่งวันที่ 18 พฤศจิกายน 2653 ม็อบราษฎรก็ปรากฏข้อความ “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” เขียนด้วยตัวอักษรสีขาวขนาดใหญ่ บนพื้นถนนแยกราชประสงค์ โดยข้อความนี้ปรากฏหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาเพียงวันเดียว



iLaw
15h ·

"Do you hear the people sing?"
.
ตั้งแต่ต้นปี ในการชุมนุมหลายครั้งเรามักจะได้ยินบทเพลงจากหนัง/ละครเวทีเรื่อง Les Misérables ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสบ่อยครั้ง เป็นบทเพลงที่ผู้ชุมนุมร่วมกันร้องก่อนประกาศยุติการชุมนุมอยู่เสมอ
.
ที่จริงแล้ว บทเพลงนี้ถูกนำมาใช้ขับร้องหลายครั้งด้วยกลุ่มคนที่แตกต่างกันทำให้เกิดความหลายอันหลากหลาย ตั้งแต่หลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ในม็อบ กปสส.ปี 2556 หรือในการประท้วงของฮ่องกงที่ต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของจีนแผ่นดินใหญ่
...
ชมภาพทั้งหมดได้ที่
https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10164861922190551
...



iLaw
11h ·

พักม็อบแต่ไม่พักรบ : สารพัดป้ายข้อความและห่อศพนักกิจกรรม
ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 นักกิจกรรมประกาศพักยกการชุมนุมและจะกลับมาอีกครั้งในปี 2564 แม้ไม่มีการนัดหมายชุมนุมครั้งใหญ่ๆ ในที่สาธารณะ แต่ข้อเสนอที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการยังคงปรากฏให้เห็นผ่านข้อความบนป้ายผ้าและสิ่งของที่สื่อเหตุการณ์ทางการเมือง โดยนำไปติดตามสถานที่สาธารณะที่มีคนสัญจรผ่านไปมาจำนวนมากอันเป็นการหล่อเลี้ยงกระแสการรับรู้ในสังคม เท่าที่สามารถเก็บข้อมูลได้ป้ายที่พบมากที่สุดเห็นจะเป็นป้าย "ยกเลิกมาตรา 112" ตามมาด้วยป้ายข้อความที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองและข้อเรียกร้องในการชุมนุม เช่น สิทธิแรงงาน การทำแท้งถูกกฎหมาย เป็นต้น
ป้ายยกเลิก 112 โผล่กลางห้างหรู
17 ธันวาคม 2563 เวลา 19.56 น. ที่ห้างสรรพสินค้า สยามพารากอน กลุ่ม Democracy Hope ประกอบด้วยบุคคลในชุดนักเรียนมัธยมศึกษาและชุดซานตาคลอสนำป้ายข้อความจำนวนสามป้าย เขียนข้อความว่า “แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน” “ยกเลิกมาตรา 112” และ “ห้างสินค้าราคาแพง แรงงานราคาถูก” ไปแขวนไว้ที่ระเบียงชั้นสี่ของห้าง จากนั้นไม่ถึงสองนาทีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างได้เข้ามาแกะออก ขณะเดียวกันคนในชุดซานตาคลอสถ่ายรูปชูสามนิ้วและผละออกไปได้
หลังจากนั้นปรากฏป้ายเรียกร้องให้ยกเลิก 112 อีกหลายครั้ง เช่น วันที่ 23 ธันวาคม 2563 มีภาพของป้ายผ้ายกเลิก 112 ติดบนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ริมถนนมอเตอร์เวย์และวันที่ 2 มกราคม 2564 พบป้ายผ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ นอกจากนี้ในทวิตเตอร์ยังมีการเผยแพร่ภาพกระดาษเขียนข้อความ ยกเลิก 112 ตามที่สาธารณะอีกด้วย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในช่วงกลางดึกของวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ระหว่างที่กลุ่มสี่กุมารรวมตัวกันเขียนข้อความ “ยกเลิก 112” และ “112” ที่มีการขีดฆ่าตัวเลขเพื่อนำไปติดในพื้นที่ใกล้เคียง มีสายตรวจผ่านมาและตามมาด้วยตำรวจในและนอกเครื่องแบบ 15 นาย โดยมีการถ่ายภาพขณะเขียนป้ายไว้และให้ตัวแทนกลุ่มสองคน หนึ่งในนั้นมีเยาวชนวัย 17 ปีไปทำประวัติที่สน.ปทุมวัน โดยไม่มีการชี้แจงว่า เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายใด เมื่อทำประวัติเสร็จสิ้นแล้ว รองผู้กำกับการสน.ปทุมวันบอกต่อทั้งสองว่า จะปรับเงิน 5,000 บาทในข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯและก่อความเดือดร้อนรำคาญ ก่อนเปลี่ยนใจยังไม่ดำเนินคดี
ประเด็นนี้สืบเนื่องจากการที่รัฐหันกลับมาใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการปราบปรามเสรีภาพการแสดงออกอีกครั้ง หลังมีแนวทางไม่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2561 โดยเดือนเมษายน 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพิ่งจะกล่าวว่า ในหลวงทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้ 112
เซ็นทรัลเวิลด์...ที่นี่เสื้อแดงไม่ได้เผา
20 ธันวาคม 2563 ที่ทางเข้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ กลุ่ม Democracy Hope นำป้ายข้อความสามป้ายได้แก่ “ที่นี่เสื้อแดงไม่ได้เผา” “112 Abolish” และ “ห้างสินค้าราคาแพงแรงงานราคาถูก” ไปห้อยไว้ที่ระเบียง โดยเป็นรณรงค์เรื่องการยกเลิกมาตรา 112 และแรงงานอีกครั้งหลังจากรณรงค์ที่สยามพารากอนไปก่อนหน้าแล้ว ความแตกต่างในรอบนี้ คือ มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง นับตั้งแต่ปี 2553 คนเสื้อแดงกลายเป็นจำเลยสังคมและถูกตีตราด้วยวาทกรรมคนเสื้อแดง "เผาบ้านเผาเมือง" จากเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ หลังเหตุการณ์ทหารนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง
ปี 2562 เป็นปีที่มีคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับกรณีเพลิงไหม้ วันที่ 1 มีนาคม 2562 ศาลแพ่ง รัชดาฯ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คดีเซ็นทรัลเวิลด์ฟ้องเรียกเงินประกันภัย ระบุทำนองว่า ในการนำสืบของบริษัทประกันภัย จำเลยในคดีนี้ไม่ได้สืบให้ขัดว่า เพลิงไหม้เกิดจากการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด และการที่แกนนำปราศรัยเรื่องการเผานั้นเป็นการปราศรัยเพื่อไม่ให้มีการสลายการชุมนุม รวมทั้งขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ แกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้ว และวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำนปช.ฐานก่อการร้าย ทำให้เสียทรัพย์และฝ่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนหนึ่งระบุว่า หากมีการสลายการชุมนุมหรือรัฐประหารให้ประชาชนทำการเผาเป็นการปราศรัยก่อนหน้าเหตุเพลิงไหม้หลายวันและหลังจากนั้นไม่มีการวางเพลิงตามคำปราศรัย จนกระทั่งแกนนำประกาศยุติการชุมนุมจึงมีการวางเพลิงขึ้น
การชุมนุมในปี 2563 เป็นการชุมนุมที่คนรุ่นใหม่ต้อนรับคนเสื้อแดงให้เข้าร่วมขบวน เริ่มชัดเจนขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 กิจกรรมเสาหลักจะหักเผด็จการของสปริงมูฟเมนท์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนนิสิตกล่าวขอโทษคนเสื้อแดงและอ่านคำปราศรัยเสียงจากดินถึงฟ้าของณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำนปช.ที่เคยกล่าวไว้ในปี 2551 บทบาทที่โดดเด่นของคนเสื้อแดงในการชุมนุม 2563 คือ การสนับสนุนและดูแลเยาวชนคนรุ่นใหม่
แรงงานข้ามชาติก็คน เป็นกระดูกสันหลังของชาติ
29 ธันวาคม 2563 มีการนำป้ายผ้าข้อความ “แรงงานข้ามชาติก็คน” ไปติดไปที่สะพานลอยย่านบางแค สืบเนื่องจากการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบแรกๆ นั้นส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวพม่า แม้จะไม่สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อรายที่หนึ่งได้ แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้เกิดขึ้นจากการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ ประกอบกับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติ
หลังตรวจพบ พฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ คือ การล้อมรั้วลวดหนามหีบเพลงที่ตลาดกลางปลา สมุทรสาคร ไม่ให้คนงานที่อยู่อาศัยออกมาด้านนอก นายจ้างต้องส่งน้ำส่งอาหารเข้าไป หรือ การนำแรงงานข้ามชาติไปทิ้งไปอีกจังหวัด ลักษณะดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจจนนำมาสู่การตอกย้ำด้วยข้อความว่า แรงงานข้ามชาติก็เป็นคนและต้องปฏิบัติบนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สิทธิแรงงานเป็นประเด็นที่มีการปราศรัยในที่ชุมนุม 2563 มาระยะหนึ่งแล้ว การชุมนุมที่มีแก่นในการเรียกร้องเรื่องแรงงานและร่วมขบวนไปกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษานั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2563 การชุมนุมของสมัชชาแรงงานที่แสดงความเห็นด้วยต่อข้อเรียกร้องของนักศึกษาและผลักดันข้อเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการเข้าไปในการชุมนุมด้วย โดยเรื่องราวของแรงงานปรากฏในหลากหลายประเด็น ดังนี้
พนักงานบริการ - ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ระบุว่า ถ้าหากยกเลิกกฎหมายนี้ได้ พนักงานบริการจะเป็นแรงงานในระบบที่เสียภาษีและได้รับการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่พวกเขาในฐานะคนทำงาน ทุกคนสามารถเลือกที่จะประกอบอาชีพได้ตามเจตจำนงของตัวเอง ในปี 2563 พนักงานบริการเป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการรับมือโควิด 19 สถานบริการถูกระงับการให้บริการและคนทำงานเหล่านี้ไม่ได้รับการชดเชยเนื่องจากไม่ใช่แรงงานในระบบประกันสังคม
สนับสนุนตั้งสหภาพแรงงาน – ตัวแทนจากสหภาพแรงงานนักออกแบบปราศรัยบนเวทีการชุมนุมหลายครั้ง ตั้งข้อสังเกตถึงสภาพการทำงานและค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม เงินเดือนถูกกำหนดโดยคนไม่กี่คนที่เอื้อให้เจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์ในสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรมจากมูลค่าสินค้าส่วนเกินที่แรงงานเป็นผู้ผลิต เรียกร้องให้จัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับนายทุน
แขวนห่อศพกลางกรุง ย้ำประเด็นการสังหารโหดนักกิจกรรม
27 ธันวาคม 2563 มีการนำผ้าขาวที่ห่อคล้ายศพเขียนข้อความว่า สุรชัย แซ่ด่าน ไปห้อยไว้ที่สะพานพุทธ วันถัดมามีการนำห่อผ้าลักษณะคล้ายกันเขียนข้อความว่า ดีเจซุนโฮ ไปห้อยไว้กลางแยกอโศก เป็นชื่อของนักกิจกรรมสองคนจากฃทั้งหมด เก้าคน ที่ถูกอุ้มหายระหว่างการลี้ภัยทางการเมือง สองคนพบเป็นศพห่อไว้อย่างมิดชิด สภาพถูกทารุณกรรมอย่างโหดเหี้ยม
กรณีของอิทธิพล สุขแป้นหรือดีเจซุนโฮ ข้อมูลจากจดหมายของผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า ดีเจซุนโฮเป็นผู้นำกลุ่มเชียงใหม่ 51 คนเสื้อแดงในเชียงใหม่และเป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชน หลังรัฐประหารดีเจซุนโฮถูกเรียกรายงานตัว แต่เขาลี้ภัยไปลาว ระหว่างปี 2557-2558 เขายังวิพากษ์วิจารณ์ทหารผ่านยูทูปและเฟซบุ๊ก เวลาดังกล่าวผู้ที่เกี่ยวข้องกับเขาถูกทหารเข้าเยี่ยมและบอกว่า ตอนนี้กำลังสืบสวนคดี 112 ของดีเจซุนโฮอยู่
วันที่ 19 มิถุนายน 2559 เป็นวันสุดท้ายที่ดีเจซุนโฮติดต่อกับบุคคลใกล้ตัว ต่อมา วันที่ 22 มิถุนายน 2559 มีรายงานว่า เขาถูกพบเห็นขณะที่รับประทานอาหารที่ร้านอาหารและขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านของเขาในช่วงเที่ยงคืน ในช่วงค่ำมีชายคนหนึ่งได้ยินเสียงร้องในพื้นที่นั้น ก่อนจะพบรถและรองเท้ากีฬาข้างหนึ่งของเขาห่างจากร้านอาหารไปหนึ่งกิโลเมตร
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับดีเจซุนโฮได้รับข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ไทยจับตัวเขาไปไว้ที่ค่ายทหารในจังหวัดเพชรบูรณ์ แต่เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่กลับปฏิเสธการจับกุม อย่างไรก็ตามคสช.ยอมรับว่า มีการติดตามการเคลื่อนไหวของดีเจซุนโฮจริงแต่ไม่ได้มีการจับกุมหรือคุมขัง จนถึงสิ้นปี 2563 ยังไม่ทราบชะตากรรมของดีเจซุนโฮ
กรณีของสุรชัย แซ่ด่านและพวก วันที่ 12 ธันวาคม 2561 ก่อนหน้าการเยือนลาวของรัฐบาล คสช. เพียงหนึ่งวัน มีรายงานว่า สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ สหายภูชนะ และไกรเดช ลือเลิศ หรือ สหายกาสะลอง สามผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในกรุงเวียงจันทร์หายตัวไป ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2561 พบศพบริเวณตลิ่งตลาดนัดไทย-ลาว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม วันที่ 28 ธันวาคม 2561 พบศพที่สอง ที่ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และวันที่ 29 ธันวาคม 2561 พบศพที่สามที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นำไปสู่การตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ภายหลังการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอพบว่า ดีเอ็นเอของสองในสามศพตรงกับสหายคนสนิทของสุรชัยสองคน
อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อถกเถียงว่า ศพที่ลอยมาติดริมน้ำโขงมีสองหรือสามศพกันแน่ โดยทางตำรวจระบุว่า ระหว่างรอตรวจสอบศพที่สอง ศพได้หลุดตามน้ำไปจึงทำให้เชื่อว่า ศพที่พบบริเวณตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และศพที่พบบริเวณตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เป็นศพเดียวกัน ทำให้ตำรวจเชื่อว่า มีเพียงสองศพเท่านั้น ขณะที่ปราณี ภรรยาของสุรชัยเชื่อว่า มีสามศพและศพของสุรชัยถูกทำลายไปแล้ว จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าว่า สุรชัยอยู่ที่ใด

https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10164862330575551