ไครียะห์ ระหมันยะ (ยะห์) นักเรียนชั้น ม.6 ที่ลุกขึ้นสู้กับ ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ’ เพื่อปกป้องบ้านเกิด
Credit: Warasiri (Punnlada) Kotcharat
รู้จัก ‘ไครียะห์’ : เมื่อลูกสาวแห่งทะเลพูดความจริงต่ออำนาจ
“หนูโดนตำรวจไปหาที่โรงเรียน จนทำให้เพื่อนร่วมห้อง เพื่อนในโรงเรียน และคุณครู ต่างก็กลัวกันหมด เราโดนคุกคามมาเยอะมาก พ่อหนูเองจะไปไหน ก็โดนรถสะกดรอยตามตลอด และมีกล้องวงจรปิดติดอยู่ที่สี่แยกของหมู่บ้าน ซึ่งแต่ก่อนหน้านี้ไม่มีเลย”
นักเรียนหญิงที่กำลังศึกษาอยู่ ชั้น ม.6 เล่าถึงชีวิตที่เปลี่ยนไป หลังออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ เพราะไม่อยากเห็นบ้านเกิดริมทะเลที่อุดมสมบูรณ์ กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม
แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารแวะเวียนมาหาที่บ้านของเธอ จนบางคนกลัวจะเกิดเรื่องเลวร้ายกับเธอวันใดวันหนึ่ง แต่สิ่งที่เธอกลัวที่สุดคือ..
“กลัวอย่างเดียว กลัวว่าเขาจะสร้างสำเร็จ”
นี่คือความคิดของ ยะห์ – ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกชาวประมงจากหมู่บ้านเล็ก ๆ จาก อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ผู้เคลื่อนไหวให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. ที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในชื่อโครงการ “จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”
เด็กมัธยมปลาย กับชีวิตที่ไม่ธรรมดา
ยะห์เพิ่งจะอายุครบ 18 ปี ชีวิตของเธออาจต่างกับเด็ก ม.ปลาย ทั่วไป เธอปรากฏตัวในสื่อทั่วประเทศครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 พร้อมสมญานาม “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” ยะห์และแม่ไปปูเสื่อและกางมุ้งค้างคืนหน้าบันไดศาลากลางจังหวัดสงขลานานเกือบ 50 ชั่วโมง เพื่อรอคำตอบหลังยื่นจดหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น เพราะเวทีจำกัดสิทธิการเข้าร่วมของคนในพื้นที่ และยังจัดในช่วงโรคระบาดและช่วงเดือนรอมฎอนถือศีลอด
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2563 ยะห์เดินทางจากสงขลา มาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง ขอให้ยกเลิกมติ ครม. เรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและโลกโซเชียล จนเกิดแฮชแท็ก #SAVECHANA ในทวิตเตอร์
ยะห์ยังเขียนจดหมายถึงเกรตา ทุนแบร์ย นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม แลกเปลี่ยนปัญหาที่ชุมชนของเธอเผชิญ ในฐานะที่เป็นคนวัยเดียวกันและมีจุดยืนร่วมกันด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่งผ่านสถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนสวีเดนที่มาลงพื้นที่สัมภาษณ์
ทำไมลูกชาวประมงคนหนึ่งกลายเป็นนักเคลื่อนไหว ที่ถูกจับตามองจากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ สังคมออนไลน์ สื่อไทยและต่างประเทศ ? อะไรผลักให้ชีวิตมาถึงจุดนี้ ? มาทำความรู้จัก “ไครียะห์” มากขึ้นไปพร้อมกัน
ร่างกายต้องการทะเล: ที่หมู่บ้านนี้ ทะเลคือชีวิต
หากขับรถจากตัวเมืองสงขลาราว 30 นาที จะเจอกับชายหาดที่ทอดยาวในอำเภอจะนะ ที่มีทุ่งหญ้าเขียวขจีและต้นไม้ให้ร่มเงากับนักท่องเที่ยวที่มากางเต้นท์พักผ่อน ริมหาดมีหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งปักหมุดใน google map ด้วยชื่อชวนน้ำลายไหลว่า “หาดสวนกง สวรรค์คนกินปู” ชุมชนบ้านสวนกง คือบ้านที่ฟูมฟักเลี้ยงดูยะห์มา
“บ้านหนูอยู่ริมชายหาด เดินไม่ถึง 50 ก้าวก็ถึงทะเล ตอนเด็ก ๆ พอกลับจากโรงเรียน หรือเสาร์อาทิตย์ ก็จะมาเล่นน้ำทะเล สร้างปราสาทบนชายหาด หาเปลือกหอยตามชายหาดมาทำโมเดลเล่นกัน เอาใบไม้มาเล่นขายของกัน
ช่วงคลื่นสงบ บางทีโลมาจะโผล่มาว่ายน้ำเล่นหน้าบ้าน หนูเห็นตอนนั่งทำการบ้านอยู่หน้าบ้าน คนที่ออกทะเลเขาเห็นเกือบทุกวัน เขาไม่คิดว่าเป็นเรื่องพิเศษ เพราะอยู่กับมันมานาน แต่พอคนข้างนอกมาเห็น เขาก็ถ่ายรูปกันค่ะ”
คนในชุมชนบ้านสวนกง 99.9% รวมถึงพ่อแม่ของยะห์ ทำอาชีพประมง ใครที่ไม่มีเรือก็ทำประมงได้ด้วยการวางอวนริมฝั่ง หรือส่องไฟฉายริมฝั่งตอนกลางคืนเพื่อแทงปลานำไปขาย ปกติยะห์จะช่วยพ่อแม่ลากเรือ แกะปูออกจากอวน และขายสัตว์น้ำที่จับได้
“ทะเลไม่ได้หล่อเลี้ยงคนในชุมชนอย่างเดียว แต่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ และทั้งภูมิภาค เพราะเรือประมง ขายสัตว์น้ำไปสู่ตลาด ร้านอาหาร ส่งเข้ากรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ ถ้าส่งไปแพใหญ่ ๆ ประจำจังหวัดสงขลา เขาก็ส่งต่อไปที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้”
ทะเลคือหัวใจของผู้คนในหมู่บ้านสวนกง แต่ความอุดมสมบูรณ์ที่เลี้ยงปากท้องคนทั้งหมู่บ้าน ก็เคยถูกทำลายมาแล้วในอดีต
ประวัติศาสตร์ที่ไม่ยอมจำนนของคนจะนะ
ชาวบ้านทยอยเอาเรือลงทะเล เพื่อออกหาปลาหลังพระอาทิตย์ขึ้น Credit: Warasiri (Punnlada) Kotcharat
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานของชาวบ้านบ้านสวนกงและชาวจะนะ มีส่วนหล่อหลอมไครียะห์ขึ้นมา นับตั้งแต่ปี 2536 ที่ชาวบ้านลุกขึ้นช่วยกันฟื้นฟูทะเล หลังเรือประมงขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องมือทำลายล้าง เข้ามากวาดต้อนทรัพยากรปลาน้อยใหญ่ไปจนหมดทะเลจะนะ
ชาวบ้านยังเคยรวมตัวคัดค้านนายทุนจากจังหวัดสตูล ที่มาลงทุนสร้างโป๊ะ ซึ่งเป็นเครื่องมือจับปลาผิดกฎหมายในช่วงนั้นจนสำเร็จ และเมื่อมีการขุดเจาะสำรวจดินใต้ทะเล อ.จะนะ เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 ชาวบ้านได้รู้มาว่าโครงการนี้จะเป็นประตูสู่นิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นตามมา แล้วตามไปยื่นหนังสือคัดค้านจนสำเร็จอีกเช่นเคย
“เวลาพ่อไปประชุมที่ไหน หนูจะติดตามพ่อไปรับฟังด้วย หนูเป็นเด็กที่ขี้สงสัย เวลามีประเด็นไหนที่สนใจก็จะถามพ่อระหว่างขับรถกลับบ้าน และพูดคุยกันในรถ” ไครียะห์เล่าถึงพ่อ ซึ่งเป็นนายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ
นอกจากนี้อำเภอจะนะ ยังอยู่ไม่ไกลจากอำเภอเทพา ซึ่งมีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเพื่อต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเข้มแข็งมาต่อเนื่อง
การร่วมเดินขบวนที่ไม่มีวันลืม
ปลายปี 2560 ยะห์เข้าร่วมเดินขบวนคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พร้อมกับชาวบ้าน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่อำเภอเมืองสงขลา
“เราโดนสลายการชุมนุม ชาวบ้านมีแค่ 50 คน แต่มีนายตำรวจ 500 กว่าคน มีกองปราบจลาจล เขาถือโล่และไม้กระบองด้วย ทั้งที่ชาวบ้านแค่จะมายื่นหนังสือกับนายกฯ ว่าไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
วันนั้นเราโดนคดี พ่อหนูโดนจับด้วย หนูเห็นกับตาว่าตำรวจ 10 คน รุมพ่อหนูแค่คนเดียว ตอนนั้นมีผู้หญิงพยายามช่วยพ่อหนู แต่ช่วยไม่ได้ เพราะตำรวจตัวใหญ่มาก หนูยังตัวเล็ก หนูโดนทำร้ายเหมือนกัน หนูไลฟ์สดตลอดทางเพื่อให้พี่น้องของเราปลอดภัยจากการถูกทำร้าย แต่โดนนายตำรวจคนหนึ่งปัดโทรศัพท์จนพัง”
ความทรงจำของการต่อสู้ครั้งนั้น เกิดเป็นคำถามในใจจำนวนมากถึงความถูกต้องและยุติธรรมในสังคมว่า เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ยังไง ในเมื่อเธอและชาวบ้านแค่เดินเท้าไปเพื่อยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
“ตอนพ่อออกมาจากคุก เห็นโซ่ที่ล่ามมือพ่อและพี่น้องของเรา มันกับเหมือนโซ่ที่ล่ามคนมีคดีฆ่าร้อยศพ ซึ่งจริงๆแล้วเราจะไปยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีแค่นั้น เรายังโดนฟ้องคดีข้อหาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกีดขวางทางจราจร เขาบอกว่าเราพกพาอาวุธในพื้นที่สาธารณะ อาวุธของเราก็คือ ธงสีเขียว ที่เป็นสัญลักษณ์ว่าเรารักสิ่งแวดล้อม และไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน แค่นั้นเอง”
เรื่องนี้อยู่ในความรู้สึกของยะห์มาตลอด และเหมือนถูกซ้ำเติมอีกครั้งเมื่อ คณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ให้อำเภอจะนะเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม ที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของเธอ
ถ้าไม่สู้วันนี้ ก็ไม่เหลืออนาคตให้คนรุ่นต่อไป
ยะห์กับเพื่อนวัยเดียวกันในหมู่บ้าน นั่งชมธรรมชาติหาดสวนกง ที่ไม่รู้ว่าจะอยู่กับเขาอีกนานเท่าใด Credit: Warasiri (Punnlada) Kotcharat
แม้การเคลื่อนไหวจะทำให้ถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐ คนมากมายยังบอกว่าสู้อย่างไรก็แพ้ แต่ยะห์มองว่าที่ผ่านมาก็มีกรณีที่ชาวบ้านต่อสู้จนประสบความสำเร็จมาแล้ว จึงยังมีความหวัง
“เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และอยากที่จะให้รุ่นหลานเหลนของเราเจอสภาพแวดล้อมที่ดีแบบเราด้วย นี่คือสิ่งยึดเหนี่ยวของเรา”
ไครียะห์ยังสะท้อนว่า โลกโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีการไลฟ์สด มีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวของเธอและชาวบ้านให้ยังคงอยู่ในกระแส และเข้าถึงคนจำนวนมากที่อยู่ห่างไกลได้เยอะขึ้น อีกทั้งยังช่วยเป็นเกราะป้องกันตัว หากถูกคุกคามก็สามารถใช้กล้องมือถือมาเป็นอาวุธ ไลฟ์สดให้คนอื่นๆ รู้ รวมถึงโลกอินเทอร์เน็ตยังพาเธอให้ได้รู้จัก เกรียตา ทุนแบร์ย นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน วัย 16 ปี ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับเธอ
“เราติดตามข่าวของเกรต้าและชื่นชมมาก เขาเป็นเด็กคนนึงที่อายุไล่เลี่ยกับเรา และมีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หยุดเรียนแล้วมาต่อสู้ประเด็นสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน คนแบบนี้หาได้ยาก เขาเป็นไอดอลเลย เราเขียนจดหมายหาเขาเพื่อเล่าเรื่อง ระบายความรู้สึก เล่าประสบการณ์สู่กันฟัง กับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน”
เช่นเดียวกับที่เกรียตา ทุนแบร์ยาวไว้ในที่ประชุม UN Climate Summit เมื่อปีที่ผ่านถึง ความฝันที่ถูกขโมยไปจากความเผิกเฉยและคำหลอกลวง เพื่อยื้อเวลาในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก ไครียะห์เองก็มีความฝันว่าสักวันจะได้เดินท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ และศึกษาเล่าเรียนในด้านจิตวิทยา เพื่อนำมาใช้ต่อยอดกับการพัฒนาบ้านเกิดของเธอ
แต่ในช่วงวัยที่เธอน่าจะได้ใช้อย่างสนุกสนาน โดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องที่ใหญ่โตเกิน กว่าเรื่องเรียนและอนาคตข้างหน้า ไครียะห์กลับตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่รอให้ใครมากำหนดอนาคตที่เธอไม่ต้องการให้
“สิ่งที่เห็นเหมือนกันเวลาไปทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ คือ เยาวชนทุกคนมีความฝันเป็นของตัวเอง แต่แทนที่เยาวชนคนนั้นจะได้ไปทำความฝันให้เป็นจริง เขาก็ยอมทิ้งความฝันและลุกมาต่อสู้เพราะจำเป็น”