วันอังคาร, ธันวาคม 15, 2563

‘ข้างหลังภาพ’ คณะราษฎร ณ กรุงปารีส (bis)



‘ข้างหลังภาพ’ คณะราษฎร ณ กรุงปารีส (bis)

ที่มา นักเรียนไทยโพ้นทะเล
โดย Atithep Chaiyasitdhi

December 12, 2020

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง ” ‘ข้างหลังภาพ’ คณะราษฎร ณ กรุงปารีส” ของคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ โดยในบทความนี้คุณนริศได้สืบค้นเรื่องราว ‘ข้างหลังภาพ’ ของภาพถ่ายหมู่คณะราษฎร ณ กรุงปารีสที่คนรู้จักดีมาโดยละเอียด

ผู้เขียนเองได้มีส่วนในการค้นคว้าเรื่องราว ‘ข้างหลังภาพ’ นี้อยู่ด้วย นั่นคือการระบุจุดที่ภาพหมู่นี้ถูกถ่ายขึ้น ดังที่คุณนริศเขียนเล่าไว้ในบทความแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าคงจะเป็นการดี หากได้เล่าเกร็ดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้นหาเรื่องราวข้างหลังภาพนี้ จึงขอยืมชื่อบทความของคุณนริศมาใช้ โดยได้เติมคำว่า (bis) ลงไป


ศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. ๒๕๖๓

ตอนที่ผู้เขียนมาถึงปารีสใหม่ๆ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้เอ่ยกับผู้เขียนว่ามันมีรูปภาพหมู่คณะราษฎรอยู่รูปหนึ่งที่ทุกคนรู้จักดี แต่ไม่รู้กันว่ารูปนี้ถ่ายขึ้นที่ไหน อาจารย์สมศักดิ์ได้เคยใช้เวลาว่างเดินตามหาสถานที่ดังกล่าวอยู่นาน โดยมีสมมติฐานว่าภาพนี้ควรถูกถ่ายใกล้ๆ กับย่านการศึกษาที่เรียกว่า “ย่านละติน” (Quartier Latin) ซึ่งสมาชิกคณะราษฎรหลายคนศึกษาอยู่


ภาพถ่ายนักเรียนและข้าราชการไทยในปารีสซึ่งต่อมาจะกลายเป็นสมาชิกคณะราษฎร ปี ค.ศ. ๑๙๒๖

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือฉากหลังของภาพนี้ มีป้ายรถไฟใต้ดินอยู่ ซึ่งในสมัย ค.ศ. ๑๙๒๐ มีสถานีรถไฟใต้ดินอยู่เพียงไม่กี่สาย ดังนั้นหากเราค่อยๆ เดินตามแผนที่สถานีรถไฟใต้ดินในปี ค.ศ. ค.ศ. ๑๙๒๐ ไปเรื่อยๆ เราน่าจะหาจุดดังกล่าวได้ในที่สุด (ข้อสำคัญที่สุดคือ อาคารต่างๆ ในกรุงปารีสมักได้รับการดูแลรักษาให้คงสภาพเดิม ดังนั้นโอกาสที่ตึกจะเปลี่ยนไปก็อาจจะน้อย)

แผนนี้ฟังเหมือนง่าย แต่ผู้เขียนใช้ช่วงเวลาว่างจากการทำงานตามหาจุดถ่ายภาพนี้อยู่ถึง ๒ ปี จนกระทั่งได้พบสถานที่ถ่ายภาพดังกล่าวในที่สุด ที่ใช้เวลาถึง ๒ ปีก็เพราะจุดถ่ายภาพนี้ห่างจากย่านการศึกษาตามสมมติฐานเดิมมาก โดยอยู่คนละฟากแม่น้ำแซน (Seine) เลยทีเดียว

ความน่าสนใจของจุดถ่ายภาพแห่งนี้ก็คือมันอยู่ใกล้กับสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส! บริเวณ Place du Trocadéro ตรงหัวถนนเคลเบอร์ (Avenue Kleber) ที่นำไปสู่ประตูชัย (Arc de Triomphe) (ซึ่งมาคิดย้อนหลังก็ไม่แปลกอะไร เพราะหลวงศิริราชไมตรี หนึ่งในสมาชิกก่อตั้งของคณะราษฎร ก็ทำงานเป็นนักการทูตอยู่ที่นั่น)



บริเวณนี้ นักท่องเที่ยวทั่วไปจะรู้จักกันดีว่าเป็นหนึ่งในจุดชมวิวสำคัญของหอไอเฟล แต่ในสมัยที่คณะราษฎรมาถ่ายรูปนั้น บริเวณนี้ไม่ได้เหมือนในปัจจุบัน เพราะมีอาคารขนาดใหญ่ที่เรียก “ปาเลส์ เดอ โทรคาเดโร” (Palais du Trocadéro) ซึ่งสร้างสำหรับงานเวิร์ลด์ส์แฟร์ (World’s Fair) ในปี ค.ศ. ๑๘๗๘ ตั้งอยู่

หลังจากที่ผู้เขียนระบุสถานที่โดยอาศัยหลักฐานแวดล้อมคือรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่อยู่ในภาพเทียบกับสถานที่จริงได้ไม่นาน ก็มีโอกาสได้เห็นภาพปกนิตยสาร ไท-สัปดาห์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๘ ประจำวันจันทร์ที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ โดยบังเอิญ (อาจารย์ณัฐพล ใจจริงซึ่งเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับผู้เขียนแชร์ภาพนี้มาพอดี) ผู้เขียนตื่นเต้นมาก เพราะในภาพนั้นมีสมาชิกคณะราษฎรบางส่วนแต่งกายในชุดแบบเดียวกันกับที่อยู่ในภาพหมู่ด้านบน ที่สำคัญที่สุดในภาพซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารไท-สัปดาห์นั้นมีแท่นปูนที่อยู่ด้านหลัง มีข้อความว่า “TROCADERO” อย่างชัดเจน ข้อนี้ยิ่งเสริมให้ข้อสันนิษฐานของผู้เขียนมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น


ภาพปกนิตยสาร ไท-สัปดาห์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๘ ประจำวันจันทร์ที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙


พิกัดตามภาพปกของนิตยสาร ไท-สัปดาห์ในเวลาปัจจุบัน

จากข้อมูลเพิ่มเติมในนิตยสาร ไท-สัปดาห์ ทำให้เรารู้ว่าเหตุการณ์วันนั้นคืองานฉลองวันชาติของฝรั่งเศส วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ และทำให้ผู้เขียนและคุณนริศฯ สามารถระบุตัวตนบุคคลในภาพหมู่บางส่วนได้ จากนั้นคุณนริศได้ไปสืบค้นต่อทั้งจากนิตยสาร ไท-สัปดาห์ฉบับอื่นๆ ชีวประวัติบุคคลสำคัญ และบันทึกส่วนตัวของคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์จนสามารถระบุตัวตนของบุคคลในภาพได้ทั้งหมด สามารถติดตามอ่านได้ในบทความของคุณนริศในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

เมื่อสามารถระบุทั้งตัวตนและสถานที่ได้อย่างมั่นใจแล้ว ผู้เขียนได้ไปยังสถานที่จริงอีกครั้งหนึ่งและพยายามหามุมกล้องที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ข้อนี้ทำให้พบว่าในอดีต บริเวณที่เป็นม้านั่งน่าจะยื่นเข้าไปในส่วนที่เป็นถนนในปัจจุบัน แม้จะไม่สามารถได้มุมกล้องเดียวกันอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ผู้เขียนได้ลองนำเอาภาพหมู่คณะราษฎรมาซ้อนทับบนภาพถ่ายจากสถานที่จริงด้วยมุมกล้องที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จำเป็นไปได้ดังนี้