วันเสาร์, ธันวาคม 12, 2563

อ่าน 10 คดี 112 แล้วจะเข้าใจว่า ทำไมที่ต้อง #ยกเลิกม112


The Momentum
@themomentumco


แม้มาตรา 112 จะถูกจำกัดความเฉพาะการดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทน แต่การดำเนินคดีนอกตัวบททำให้ขอบเขตของการใช้ #ม112 อยู่ในสถานะที่ประชาชนไม่สามารถคาดเดาได้ จนทำให้เกิดการเรียกร้องให้ #ยกเลิกม112

The Momentum
November 24 at 6:31 AM ·

ย้อนรอย 10 คดี 112 ที่อยู่นอกเหนือการคาดเดาของประชาชน
.
หลายสิบปีที่ผ่านมา การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ถูกใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้อง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ เอาไว้ ให้อยู่ในสถานะ ‘เคารพสักการะ’ และ ‘ล่วงละเมิดมิได้’ ตามรัฐธรรมนูญ​ มาตรา 6
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริง กฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมีปัญหาตั้งแต่การกำหนดโทษ ซึ่งถูกแก้ไขหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ให้ ‘รุนแรง’ เกินไป รุนแรงกว่าคดีฆ่าคนตาย ทำให้ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่สามารถขอประกันตัวได้ รวมถึงตีวงเงินประกันตัวสูงถึง 1 แสน – 5 แสนบาท จนถึงการที่ใครก็สามารถแจ้งความผู้อื่นด้วยกฎหมายมาตรานี้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ตำรวจ หรืออัยการ หรือสำนักพระราชวังเป็นผู้แจ้ง ส่งผลทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายนี้ถูกใช้เพื่อการ ‘กลั่นแกล้งทางการเมือง’
.
ยิ่งช่วงใดก็ตามที่การเมืองร้อนแรง มาตรา 112 จะถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้น สัมพันธ์กับเหตุการณ์ และบริบททางการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ
.
ยกตัวอย่างเช่นปี 2552 ในชั้นตำรวจ คดีหมิ่นสถาบันฯ เพียงปีเดียวมีมากถึง 104 คดี ส่วนปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่มีการรัฐประหารนั้น มี 99 คดี ปี 2558 มี 116 คดี ปี 2559 มี 101 คดี ก่อนจะค่อยๆ หายไปในปี 2560 – 2561
.
หากอ้างอิงปากคำจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโส ที่ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ ‘งดใช้’ มาตรา 112 และให้คดีดังกล่าวต้องผ่าน ‘ดุลพินิจ’ ของอัยการสูงสุดเท่านั้น ก่อนจะสั่งฟ้อง นอกจากนี้ยังได้รับการยืนยันอีกครั้งจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ‘ทรงพระเมตตา’ ไม่ให้ใช้มาตรานี้อีกต่อไป
.
แต่หลังจากการชุมนุมของคณะราษฎรที่ ‘พุ่งเป้า’ ไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวลืออยู่หลายครั้งว่า จะมีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ใหม่ กระทั่งสุดท้าย นายกฯ ยืนยันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าเป็นเรื่องจริง โดยเหตุที่ต้องนำกลับมาใช้ใหม่นั้น เป็นเพราะเสียงเรียกร้องของประชาชนที่มิอาจทนได้
.
แม้ว่าตัวบทกฎหมายความผิดมาตรา 112 จะถูกจำกัดความอยู่เฉพาะการดูหมิ่นหรือการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และให้การคุ้มครองเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทผู้สำเร็จราชการเท่านั้น แต่การดำเนินคดีนอกตัวบท ทำให้ขอบเขตของกฎหมายมาตรา 112 อยู่ในสถานะที่ประชาชนคาดเดาไม่ได้
.
The Momentum ได้รวบรวมความผิดมาตรา 112 ที่อยู่นอกเหนือการคาดเดาของประชาชนจำนวน 10 คดีดังนี้
.
1.เสียดสีคุณทองแดง
.
ฐนกร ศิริไพบูลย์ พนักงานโรงงานอายุ 27 ปี ได้คัดลอกและแชร์ภาพแผนผังทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์บนเฟซบุ๊ก จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2558 และควบคุมตัวไว้ในสถานที่ปิดลับ 7 วัน ภายหลังถูกควบคุมตัว เขาถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่ม สาเหตุมาจากการโพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงคุณทองแดง และกดไลก์ภาพที่เข้าข่ายการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี และได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวในเรือนจำ 86 วัน
.
ปัจจุบันคดีถูกโอนจากศาลทหารมาสู่ศาลพลเรือน และยังไม่สิ้นสุด
.
2. อากง SMS
.
อำพล ตั้งนพกุล (อากง) อายุ 61 ปี (ในวันที่ถูกจับ) ถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS จำนวน 4 ข้อความไปที่เบอร์นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 9 -20 พฤษภาคม 2553 โดยเนื้อหาดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ฯ แต่อำพลได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยให้เหตุเหตุผลส่งข้อความ SMS ไม่เป็น
.
สำหรับหลักฐานที่ใช้ยืนยันความผิดคือ รหัสประจำเครื่องโทรศัพท์ หรือหมายเลข imei ที่ทางกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้กล่าวพิสูจน์นั้นตรงกับเลขโทรศัพท์ที่จำเลยใช้ ศาลจึงตัดสินให้อำพลมีความผิดลงโทษจำคุก 20 ปี ก่อนที่อำพลจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับระหว่างจำคุกในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555
.
3. แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10
.
เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2559 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ได้แชร์บทความพระราชประวัติพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ของบีบีซีไทย และได้คัดลอกข้อความบางส่วนของบทความมาโพสต์ประกอบบนสเตตัสเฟซบุ๊ก
.
พันโทพิทักษ์พล ชูศรี รักษาการหัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 23 (ตำแหน่งและยศในขณะนั้น) เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไผ่ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
.
ไผ่ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 5 ปี แต่ให้การสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี 2562 ทำให้นักโทษที่เหลือระยะเวลารับโทษไม่ถึงหนึ่งปีได้รับการปล่อยตัว ไผ่จึงได้ออกจากคุกก่อนกำหนด 23 วัน
.
4. ไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนฉายภาพยนตร์
.
โชติศักดิ์ อ่อนสูง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เข้าไปชมภาพยนตร์ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 และไม่ได้ยืนทำความเคารพระหว่างที่บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนฉายภาพยนตร์
.
การกระทำครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจต่อผู้ชมคนหนึ่ง จึงได้เกิดการด่าทอ ขว้างปาสิ่งของ และขับไล่นักศึกษาทั้งสองออกจากโรงภาพยนตร์ ซึ่งในขณะเกิดเหตุ ผู้ชมภายในโรงภาพยนตร์ได้ช่วยกันปรบมือโห่ขับไล่นักศึกษาทั้งสองคนด้วย
.
ภายหลังโชติศักดิ์ได้เข้าแจ้งความที่สถานี ปทุมวัน ให้ดำเนินคดีกับผู้ชมคนดังกล่าวในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายหมิ่นประมาท และทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดฯ และทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณสถาน
.
ขณะที่ผู้ชมภาพยนตร์ที่ถูกแจ้งความข้อหาทำร้ายร่างกาย ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ให้ดำเนินคดีกับโชติศักดิ์และเพื่อน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาจากกรณีที่คนทั้งสองไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์
.
ภายหลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะพยานหลักฐานมีไม่เพียงพอ จนสามารถชี้ชัดได้ว่า ทั้งคู่มีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อีกทั้งผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
.
5.ออกข้อสอบที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
.
ปี 2550 ผศ. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ออกข้อสอบอัตนัย วิชาอารยธรรมไทย ตัวอย่างคำถามเช่น “ท่านคิดว่าสถาบันกษัตริย์มีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และต้องปรับตัวอย่างไรให้เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย”
.
หลังจากนั้น อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรรายหนึ่ง กล่าวหาว่า ผศ.บุญส่ง หมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ และขอให้ ผศ.บุญส่ง ส่งกระดาษคำตอบของนักศึกษามาด้วยแต่ ผศ.บุญส่งปฏิเสธเพราะเป็นการละเมิดสิทธินักศึกษา ภายหลังตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้อง
.
6. ทำท่าทางประกอบปราศรัยที่มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
.
ยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) เป็นนักแสดงตลกและเป็นแกนนำคนสำคัญของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน
.
ตอนหนึ่งของการปราศรัย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 ยศวริศได้พูดประกอบท่าทางในลักษณะชี้นิ้วขึ้นฟ้าที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
.
ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลระบุว่าแม้ยศวริศ จะไม่ได้ระบุว่าคำพูดดังกล่าวหมายถึงใคร แต่เมื่อพิจารณาจากท่าทางที่ยศวริศทำประกอบ โดยยศวริศแสดงท่าทางด้วยการเอามือหนึ่งชี้ขึ้นฟ้า ขณะที่อีกมือหนึ่งปิดปากตนเอง เป็นการสื่อให้เห็นว่ากำลังพูดถึง ‘บุคคลที่สูงส่งยิ่ง’ แต่ขณะที่จำเลยกล่าวปราศรัยโจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น กลับไม่มีการแสดงท่าทางดังกล่าว
.
7.ขายซีดีสารคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
.
เอกชัย หงส์กังวาน จำหน่ายซีดีสารคดีจากช่องเอบีซี ออสเตรเลีย เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมแจกจ่ายเอกสารจากเว็บไซต์วิกิลิกส์ ในที่ชุมนุมของกลุ่ม ‘แดงสยาม’ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 ทำให้เอกชัยถูกกล่าวหาโดย พันตำรวจโทณฐกร คุ้มทร้พย์ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 และขายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต
.
เอกชัยต่อสู้ถึงเจตนาของการเผยแพร่เนื้อหาเหล่านี้เพื่อให้ประชาชนทราบว่า ต่างชาติมองประเทศไทยอย่างไร และเนื้อหาไม่ได้ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี เพราะเชื่อว่าเนื้อหาเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และปรับ 1 แสนบาทฐานขายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน เพราะให้การเป็นประโยชน์
.
8.หาเสียงเข้าข่ายหมิ่นประมาท
.
13 กรกฎาคม 2529 วีระ มุสิกพงศ์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวีระกานต์) รมช.มหาดไทยในขณะนั้น ได้ปราศรัยช่วยผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยทำการโฆษณาหาเสียงผ่านทางเครื่องขยายเสียงเพื่อสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์
.
สรุปข้อความตอนหนึ่งของการหาเสียงว่า “หากตนเลือกเกิดเองได้ จะไปเกิดในพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ”
.
ต่อมา เชิดชัย เพชรพันธ์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งของพรรคสหประชาธิปไตย เขตกรุงเทพมหานคร ได้ทำการกล่าวหาว่า วีระกานต์ ทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่ามีความผิดมาตรา 112 จำนวน 2 กระทงรวมจำคุก 4 ปี อย่างไรก็ตาม หลังจำคุกได้หนึ่งเดือน วีระก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
.
9.หมิ่นพระนเรศวรมหาราช
.
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโสได้ร่วมอภิปรายในเวทีวิชาการหัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง’ จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 11 ธันวาคม 2550 ระหว่างการอภิปราย สุลักษณ์พูดถึงประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ โดยระบุทำนองว่า ‘การทำยุทธหัตถีอาจไม่มีจริง’
.
ภายหลังการอภิปราย สุลักษณ์ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระนเรศวร ดูหมิ่นสถาบัน แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ฟ้องร้องได้ สุดท้ายอัยการไม่สั่งฟ้อง
.
10.หมิ่นพระเกียรติรัชกาลที่ 4
.
ณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์ ได้จัดรายการวิทยุชุมชน ‘ช่วยกันคิดช่วยกันแก้’ ออกอากาศในวันที่ 5 เมษายน 2548 กระจายเสียงในพื้นที่ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
.
เนื้อหาสรุปได้ว่า ณัชกฤชทำการดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ว่ามีการปกครองที่ไม่ดี ไม่มีอิสระ ต้องเป็นทาส ซึ่งคำพูดเหล่านี้ศาลตัดสินว่าทำให้รัชกาลที่ 4 เสียพระเกียรติ ส่งผลให้ประชาชนไม่เคารพสักการะ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง
.
ภายหลังศาลได้ตัดสินให้ จำคุก 4 ปี แต่จำเลยให้การสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง 1 ปี รวมทั้งให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง
.
เรื่องและภาพ : The Momentum Team
.
#TheMomentum #คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ #กฎหมายอาญามาตรา112 #คดี112 #หมิ่นสถาบัน #ข่าวการเมือง