วันศุกร์, มกราคม 17, 2563

#ปารีณา กลับมาเป็น trends คนจนที่ถูกจับข้อหาบุกรุกป่า คิดอย่างไรกับคดีที่ดินของปารีณา




กว่าหนึ่งเดือนหลังจากมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบที่ดินเขาสนฟาร์มของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ใน ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี วันนี้ (2 ธ.ค. 2562) กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ น.ส.ปารีณา ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส ) ข้อหาบุกรุก แผ้วถางและยึดครองพื้นที่ป่า

ความเคลื่อนไหวของกรมป่าไม้ มีขึ้นในขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปฏิบัติ "สองมาตรฐาน" ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้กำลังคุกรุ่น เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าตั้งคำถามว่าเหตุใดการดำเนินคดีนักการเมืองจึงเป็นไปอย่างล่าช้า ขณะที่ชาวบ้านกลับถูกตั้งข้อหาอย่างง่ายดาย และหลายรายถูกตัดสินจำคุกไปแล้วด้วยซ้ำ แม้ที่ดินที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกจะมีขนาดเล็กกว่ามากและแม้ชาวบ้านจะยืนยันว่าครอบครองที่ดินมาก่อนการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ก็ตาม



"เหมือนจะฆ่าคนจนให้ตาย" "มันสองมาตรฐานชัดเจน" บางประโยคที่ชาวบ้านซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าระบายความรู้สึกกับบีบีซีไทย

ดังนั้น แม้กรมป่าไม้จะเดินหน้าเอาผิด ส.ส.ปารีณา ในวันนี้ แต่ดูเหมือนว่าความคับข้องใจที่ "คนจน" มีต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะไม่ได้คลี่คลายลง บีบีซีไทยพูดคุยกับชาวบ้าน 2 คนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ คนหนึ่งเพิ่งได้รับการประกันตัวออกมาจากคุกได้ไม่นาน อีกคนหนึ่งจะต้องขึ้นศาลฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ ว่าพวกเธอรู้สึกอย่างไรต่อคดีที่ดินของนักการเมือง

ชาวบ้านไทรทอง : ทำไมเพิ่งมาตรวจสอบ ?

หนึ่งในกรณีที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับคดีที่ดินของ น.ส. ปารีณา คือ กรณีชาวบ้านไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ จำนวน 14 คน ถูกศาลตัดสินจำคุกตั้งแต่คนละ 5 เดือน ถึง 4 ปี พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหลายแสนบาท จนถึงสูงสุด 1.5 ล้านบาท หลังอุทยานแห่งชาติไทรทองฟ้องร้องดำเนินคดีจากนโยบายทวงคืนผืนป่าจากคำสั่ง คสช. เมื่อปี 2557

นิตยา ม่วงกลาง หญิงชาวบ้านนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินและชาวบ้านรวม 13 คน เดินเข้าเรือนจำชัยภูมิจากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยนิตยาอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 2 เดือน กว่าที่เธอจะได้รับการประกันตัว

สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
คำบรรยายภาพก่อนศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ในคดีของนิตยา ม่วงกลาง ชาวบ้านได้จัดให้มีการผูกข้อมือเพื่อส่งกำลังใจแก่ผู้ต้องคดี


นิตยา ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการทำกินบนที่ดินจำนวน 10 ไร่ ตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่างในการปฏิบัติที่ชาวบ้านได้รับจากการตรวจสอบที่ดินเพื่อทวงคืนผืนป่า

"บอกว่าทวงคืนผืนป่ากับนายทุน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ยากจนยากไร้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดกับคนยากจนที่ถือครองที่ดิน บางคนไม่ถึง 10 ไร่ พอ 1,700 ไร่ ขึ้นมาเป็นข่าว ทำไมไม่ตรวจสอบตั้งแต่ปี 57 ทำไมต้องมาตรวจสอบเพราะคำพูดของคุณปารีณาเอง"

ชาวบ้านชุมชนซับหวายร้องเรียนสิทธิในที่ทำกินตาม มติ ครม. มาตั้งแต่ปี 2555-2556 จนมีการตั้งคณะทำงาน แต่กระบวนการนี้ก็ถูกล้มกระดานในปี 2557 เมื่อมีคำสั่ง คสช. เรื่องนโยบายทวงคืนผืนป่าออกมา ทำให้ไม่เกิดการพิสูจน์สิทธิจนนำมาสู่การดำเนินคดีกับชาวบ้าน 14 ราย


สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
คำบรรยายภาพชาวบ้านบ้านซับหวายหรือ "ชาวบ้านไทรทอง" 14 คน ถูกพิพากษาจำคุกทั้งหมด แต่รอลงอาญา 1 คน


"เขา (ปารีณา) ร้องให้มีการรังวัดที่ดินใหม่ เขาก็ได้รับสิทธิ แต่ของชาวบ้านแค่ตรวจสอบสิทธิข้อพิพาท ร้องมาตั้งแต่ปี 2556 เรายังไม่เคยได้รับสิทธินั้น" นิตยากล่าว


เสียงจากชาวบ้านซับหวาย ไทรทอง น้ำตาคนจนหลังถูกทวงคืนผืนป่า


แม้ว่าข้อยกเว้นในคำสั่ง คสช. จะระบุชัดว่าไม่ให้ดำเนินการกับผู้ยากไร้ แต่คดีความยังเกิดกับชาวบ้าน เนื่องจากรัฐบอกว่า ชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านซับหวายต่อสู้มาโดยตลอด จนกระทั่งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ตัดสินไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และชาวบ้านต้องเดินเข้าเรือนจำ แต่ผลสรุปของคณะทำงานเพิ่งตรวจสอบเสร็จออกมาเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ว่าชาวบ้านทั้ง 14 คน เป็นผู้ยากจนยากไร้

"กระบวนการพวกนี้มันไม่ได้ช่วยให้เราพ้นผิดจากการเข้าไปอยู่เรือนจำ เราถูกประกันตัวในชั้นฎีกา จะได้รับอิสรภาพไหม เราก็ยังไม่รู้ว่าศาลฎีกาจะตัดสินออกมาอย่างไร"

ชาวบ้านแม่กวัก : ใครก็ดูออกว่านี่คือสองมาตรฐาน

วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อม วัย 52 ปี เป็นชาวบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง เธอถูกเจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์ป่าที่ 13 (แม่โป่ง) ยึดสวนยางพารา 10 ไร่ พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหา "ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำไม้ เก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต" เหตุเกิดเมื่อเดือน ก.ย. 2561 และศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ธ.ค.นี้

นางวันหนึ่งบอกกับบีบีซีไทยว่า ที่ดินผืนนี้เธอได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ครอบครัวของเธอใช้ทำกินมาตั้งแต่ก่อนทางการจะประกาศให้ที่ตรงนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่งเมื่อปี 2514 เสียอีก

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2558 เธอถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้สั่งให้โค่นต้นยางทิ้งทั้งหมด ทำให้เธอถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว และยังไม่มีเงินมาใช้หนี้ที่กู้มาลงทุนปลูกยาง

"เราไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นแล้ว สวนยางนี่เป็นสิ่งสุดท้ายที่จะใช้หาเงินส่งลูกเรียน ลูกขอเงินไป รร.วันละ 50 บาท ก็ยังแทบไม่มีให้" เธอเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ


มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
คำบรรยายภาพเมื่อปี 2558 วันหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้สั่งให้โค่นต้นยางทิ้งทั้งหมด ต่อมาในปี 2561 เจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์ป่าที่ 13 (แม่โป่ง) ได้ยึดสวนยางพารา 10 ไร่ พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินป่าสงวน


เมื่อถูกสั่งห้ามทำกินในที่ดิน เธอจึงเปลี่ยนไปทำงานรับจ้าง แต่สุดท้ายรายได้ก็ไม่เพียงพอจะส่งลูกทั้งสองเรียน เด็ก ๆ ต้องออกจากโรงเรียนเมื่อจบชั้น ม.3

เมื่อถามถึงคดีที่ดินของ ส.ส.ปารีณา วันหนึ่งตอบอย่างรวดเร็วว่า "มันเหลื่อมล้ำกันเกินไป พอคดีของเรา เจ้าหน้าที่ทำอย่างรวดเร็วมากเลย เราเคยไปคุยกับเจ้าหน้าที่ เขาบอกว่าถ้าผมยกเว้นคุณ ก็เท่ากับว่าผมทุบหม้อข้าวของตัวเอง รัฐบาลบอกว่านโยบายทวงคืนผืนป่าต้องตรวจสอบก่อนว่าเป็นคนจนหรือเป็นนายทุน แต่นี่เขาไม่ตรวจสอบเลย เขาเร่งดำเนินคดีมากเลย สั่งให้เราตัดต้นยาง เป็นคนจนมันอยู่ยาก"
"มันสองมาตรฐานจริง ๆ ใคร ๆ ก็มองออก เหมือนเขาจะฆ่าคนจนให้ตาย ถ้ากับคนจนนี่เขาเอาเป็นตายเลย ไม่กี่วันก็ดำเนินคดีจับเข้าคุกแล้ว ใช้เวลาไม่ถึงอาทิตย์ แต่คนมีอันจะกินอย่างปารีณา ทำไมปล่อยทิ้งไว้มานานโดยไม่ทำอะไร" วันหนึ่งตั้งคำถาม

อธิบดีกรมป่าไม้ยัน "ไม่ได้มีหลายมาตรฐาน"

ในการแถลงข่าววันนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ระบุว่า จากตรวจสอบที่ดินเขาสนฟาร์มของ น.ส.ปารีณา พบว่ามีการรุกล้ำที่ป่าสวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี 30 ไร่ และอยู่ในแนวเขตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 อีก 16 ไร่ รวมบุกรุกป่า 46 ไร่ กรมป่าไม้จึงได้มอบหมายให้คณะทำงานตรวจสอบเรื่องนี้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ บก.ปทส. ในความผิด 4 ข้อหา คือ

1.ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า เข้ายึดถือและครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตตามความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54

2. ยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถางทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาต ตามความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14

3.เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง เผาป่า ทำด้วยประการใด ให้เป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินในที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9

4.การกระทำผิดหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ ตามความผิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97

นอกจากนี้นายอรรถพลยังได้ชี้แจงข้อกล่าวหาจากภาคประชาชนที่มองว่ากรมป่าไม้ดำเนินคดีกับคนจนแต่ละเว้นคนรวยว่า กรมป่าไม้ไม่ได้ประวิงเวลา ไม่ได้มีหลายมาตรฐาน และไม่ได้ปฏิบัติต่อ น.ส.ปารีณาแตกต่างจากประชาชนทั่วไปที่จะต้องถูกตรวจสอบเรื่องการบุกรุกถือครอบครองที่ดินป่าไม้

"ประชาชนทุกคนที่ถูกตรวจสอบเรื่องของการครอบครองที่ดิน ทุกคนมีสิทธิที่จะแย้งสิทธิ มีสิทธิที่จะยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม หรือมีสิทธิที่จะคัดค้านนะครับ...เราไม่ได้มีการประวิงเวลาหรือจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใด เรายังคงมาตรฐานเดิมในการบังคับใช้กฎหมายตามแผนหยุดยั้งการทำลายป่าและฟื้นฟูป่า"

อธิบดีกรมป่าไม้ยืนยันด้วยว่า เจ้าหน้าที่ใช้เวลา "ไม่ถึงอาทิตย์" ในการตรวจสอบและร้องทุกข์กล่าวโทษ

อ่านบทความเต็มต่อที่
https://www.bbc.com/thai/thailand-50627940