คุณภาพชีวิตไทยยังติดลบไม่เหือดหายในสมัยประชารัฐ
ต่างกับวิกฤตน้ำที่กำลังเหือดแห้ง (บางแห่งว่า ‘แม่กลอง’ เหลือแค่ข้อเท้า) “ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น มีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปี”
ทั่นโปรเฟสเซ่อโฆษกบอกว่านายกฯ พูดเอง
ไม่ต้องมองย้อนกลับไปไกลถึง ๕ ปี ๖ ปี
เมื่อปีก่อนนี่เอง ๒๕๖๑ หลังจากที่เลขาธิการ สทนช. หรือสำนักจัดการน้ำแห่งชาติแจ้งว่า
“ยุทธศาสตร์ชาติด้านการบริหารจัดการน้ำที่ดำเนินการมาใน
๒-๓ ปีที่ผ่านมา
ยังไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้”
นายกฯ คนเดียวกัน (จากรัฐบาลเก่าที่ไม่ได้ผ่านเลือกตั้ง)
ก็จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำขึ้นอีกสี่ชุด พร้อมทั้งขยายเวลาทำงานออกไปอีกเท่าตัวเป็น
๒๐ ปี ฟาดงบประมาณเหนาะๆ ๖ หมื่นล้านบาท มาวานนี้ประยุทธ์รับทราบการจัดตั้ง ‘ศูนย์เฉพาะกิจ’ แก้ปัญหาน้ำอีกแล้ว
นั่นมาพร้อมกับ ‘ค่าฝุ่นพิษพุ่ง’ วันนี้ (๖
มกรา) พบว่าฝุ่นละออง ‘พีเอ็ม ๒.๕’
ในอากาศของ กทม. เกินค่ามาตรฐานถึง ๙ เขต ได้แก่ บางคอแหลม บางกอกน้อย คลองเตย
คลองสาน ปทุมวัน บางขุนเทียน ภาษีเจริญ บึงกุ่ม และลาดกระบัง
ปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่
๓๙-๕๘ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่มีรายงานโดยเอกชน (Richard Barrow @RichardBarrow) จากสมุทรปราการว่าเมื่อตอน ๘.๑๐ นาฬิกา
อ่านค่าเอคิวไอได้ ๑๘๓ ที่โรงเรียนศิริวิทยา ปากน้ำ (ค่าเฉลี่ยตลอดวันอยู่ที่ ๑๗๓)
ยังไม่ปรากฏในขณะนี้ว่าจะมีการถลุงงบฯ
ในเรื่องนี้กันเท่าไหร่
แต่กรณีวิกฤตฝุ่นละอองในอากาศนี่เมื่อใกล้จะปลายปีที่แล้วเป็นปัญหาใหญ่มาก
กทม.และหน่วยงานสาธารณสุขพยายามแก้ไขเฉพาะหน้าด้วยการฉีดน้ำขึ้นฟ้ากันสนุกสนาน
ตอนนี้คงทำไม่ถนัดแล้วละมัง
เพราะนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.ออกแถลงแจ้งว่าต้องประหยัดน้ำกันอย่างเต็มที่
แม้แต่ที่รัฐบาลออกโครงการปล่อยน้ำจืดไล่น้ำเค็ม
ก็ต้องระวังให้เหลือพอใช้ไปถึงเดือนพฤษภา
ทว่าต้นเหตุจริงๆ
ที่ฝุ่นกลับมาออกฤทธิ์อีกน่าจะเพราะว่า การเผาขยะเพื่อแปรรูปตามโรงงานเถื่อนบ้าง
ไม่ถูกหลักควบคุมมลพิษบ้างยังอูฟูอยู่รอบๆ กรุงเทพฯ
ในเมื่อไทยเป็นประเทศนำเข้าขยะอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเลยทีเดียว
วานนี้พรรคอนคตใหม่ประกาศจะซักฟอกรัฐมนตรีมหาดไทย
ผู้เป็นตัวการปล่อยให้นำเข้าขยะโจ๋งครึ่ม ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านมาเลย์ อินโดฯ ล้วนใช้นโยบายสกัดกั้นกันแล้วอย่างได้ผล
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อตั้งข้อสันนิษฐาน
ว่ามันเป็นผลงานจากการที่
คสช.ใช้อำนาจวิเศษมาตรา ๔๔ ให้เปิดโรงงานกันโดยไม่ต้องคำนึงผังเมืองและระบบนิเวศน์
“ทั้งที่กรมควบคุมมลพิษ และกรมการกงสุล ออกมาบอกว่าจะยุติการนำเข้าขยะแล้ว
และมีผู้ประกอบการเพียง ๒ ราย ซึ่งเป็นนักลงทุนจีน
...หากการนำเข้าขยะมีกฎหมายห้าม
แต่ทำไมจึงยังสามารถนำเข้า และเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น หมายความว่าต้องมีไอ้โม่ง
หรือขาใหญ่ที่เปิดทางไว้ให้”
แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ
กลับเป็นห่วงเรื่อง ‘แจกหมอน’ ให้ประชากรไว้หนุนนอน ทีแรกของบประมาณไว้
๑๘,๐๐๐ ล้านบาท โดนวิจารณ์หนักว่ามรึงจะบ้าหรือ
เศรษฐกิจยิ่งเฉาหนักอย่างนี้ยังจะหาเรื่องถลุงเงินอีก
ธรรมนัส พรหมเผ่า
อ้างว่าตั้งใจช่วยชาวไร่ยาง ซึ่งกำลังร้องลั่นด้วยความปวดกะโหลกที่ราคายางเหลือ ‘สี่โลร้อย’ ดังที่เคยหวาดหวั่นกันเมื่อไม่นานมานี้เอง
ทั่นรองฯ ณ ออสเตรเลีย คำนวณสาระตะว่าถ้าแจกหมอน ๓๐ ล้านใบที่ผลิตจากยางพารา
จะดึงราคายางได้ถึงโลละ ๖๕ บาท
ในเมื่อเงินยังไม่มี (หรือโดนเจ้านายเหยียบตีน-ขัดขาก็ไม่รู้)
จึงเปลี่ยนแผนเล็กน้อย จะเอาแค่ ๓ ล้านใบก่อน
เพื่อที่จะดึงเงินจากงบกลางเอามาได้ง่ายๆ ขอแค่ ๔ พันล้านบาทสำหรับช่วง ๑๐
เดือนตั้งแต่ ๑ กุมภาถึง ๓๐ พฤศจิกา ๖๓ แล้วค่อยว่ากันใหม่
(https://www.matichon.co.th/economy/news_1864012, https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_261956, https://news1005.mcot.net/view/5e128dafe3f8e40aef40c147
และ https://www.thebangkokinsight.com/267261/)
แต่มีคนจับผิดได้ ‘ไทกร พลสุวรรณ @Thaikorn1’ ดูตัวเลขแล้วบ่นว่า
“ท่าจะหนักกว่าเดิม” เพราะถ้าแจก ๓๐ ล้านใบด้วยงบหมื่นแปดพันล้าน เท่ากับใช้งบฯ
๖๐๐ บาทต่อหมอนหนึ่งใบ นี่เปลี่ยนเป็น ๓ ล้านใบ ๔,๐๐๐ ล้าน
เท่ากับค่าผลิตหมอนแจกแผนใหม่ของธรรมนัส
ฟาดงบฯ ไปใบละ ๑,๓๓๐ บาท ผู้ผลิตได้เฮ #ไทกร บอกว่า “เก็บเงินงบกลางไว้ช่วยประชาชนที่ประสบภัยแล้งดีกว่าครับ”